Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กตัญญู (กตเวที) หมายถึง ผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นทำแก่ตนและทำคุณประโยชน์ตอบแทน สังคมไทยมักเจาะจงไปด้วยว่า ต้องทำตอบแทนต่อผู้นั้นโดยตรง ไม่ใช่การทำความดีทั่วไป กล่าวคือ แม้เขาจะทำประโยชน์เพื่อสาธารณะมากแค่ไหน แต่หากไม่ทำในนามพ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือเจ้านายที่เคยช่วยเหลือตน ก็ถือว่าเป็นคนไม่รู้จักบุญคุณหรืออกตัญญูนั่นเอง

กตัญญูในแบบพุทธเองมี 2 ลักษณะ แบบแรกเป็นความกตัญญูที่คับแคบในแบบนิยามของไทย คือ “ใครช่วยเหลือเรา ก็ต้องตอบแทนต่อผู้นั้น” การทำความดีในแบบแรกนี้จึงเป็นการทำเพื่อลงทุนหรือหวังผลประโยชน์ เช่น นิทานของนกยอดกตัญญูที่ออกไปหาอาหาร โดยบอกว่า อาหารที่นำกลับมาส่วนหนึ่งก็เพื่อชดใช้หนี้ (เอาไปให้พ่อแม่ ซึ่งเคยเลี้ยงดูตน) และเอาไปสร้างหนี้ (เอาให้แก่ลูกนก เพราะเมื่อตนแก่ และเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะเลี้ยงดูตัวเอง)

กตัญญูในแบบที่ 2 เป็นการทำความดีด้วยเจตนาที่อยากช่วยเหลือ ไม่จำกัดตัวบุคคล และไม่ได้เกิดจากความกลัวว่าจะถูกทวงบุญคุณเป็นต้น พุทธสอนเรื่องนี้ควบคู่กับ “บุพการี” ซึ่งแปลว่า ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน “ย้ำว่า ต้องไม่หวังผลตอบแทน” เพราะพุทธเรียกบุคคลเช่นนี้ว่า “บุคคลที่หายาก” นั่นเพราะคนทั่วไปมักทำความดีและตอบแทนผู้อื่นเพราะหวังผลทั้งสิ้น

กล่าวได้ว่า การช่วยเหลือมักตกอยู่ในนิยามแรก ซึ่งเป็นการทำเพื่อหวังผลคือการสรรเสริญ ชื่อเสียง หรือประโยชน์ในอนาคตเช่น

“มีลูกเพื่อลูกจะได้เลี้ยงดูตัวเองเมื่อแก่”

“สั่งสอนศิษย์ เพื่อตนจะได้มีชื่อเสียงหรือศิษย์จะได้สำนึกบุญคุณและมาตอบแทนตน”


กตัญญูไม่น่าจะมีปัญหา แต่การนิยามที่คับแคบเป็นปัญหา

นิทานในมังคลัตถทีปนี เล่าเรื่องชายหนุ่มที่หมอสั่งว่าให้ออกไปหากระต่าย เพื่อเอาเนื้อมาทำยารักษาแม่ แน่นอนว่า เขาทำเช่นนั้นเพราะความกตัญญู แต่เมื่อไปเจอกระต่ายในป่า ก็เกิดสงสารและเกิดความคิดขึ้นมาว่า “การฆ่าชีวิตหนึ่งเพื่อชดเชย/ช่วยชีวิตหนึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่ควร” เขาจึงตัดสินใจกลับบ้านโดยไม่มีเนื้อกระต่ายติดตัวไป แต่ผลที่ได้คือ เพราะอานุภาพของศีล (ความเมตตาและไม่ละเมิดชีวิตผู้อื่น) แม่ของเขาก็หายป่วย

นิทานเช่นนี้น่าสนใจหลายประเด็น อย่างน้อยที่สุดเป็นการยืนยันว่า หากยึดตามแนวคิดพุทธ การฆ่าสัตว์แม้จะอ้างว่า เพื่อเป็นอาหาร ดำรงชีพหรือทำยา ก็ไม่ควรทั้งสิ้น (อาจมองในฐานะการเคารพสิทธิต่อชีวิตผู้อื่น) สิ่งที่ตรงกับประเด็นนี้คือ ชายหนุ่มผู้นั้น ดูจะเป็นคน “อกตัญญู” ที่ไม่พยายามทำทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือแม่ แต่ผลกลับออกมาว่า สิ่งที่เขาทำถูกต้องและศาสนาส่งเสริมให้ทำ นั่นคือ หากต้องเลือกว่า จะช่วยคนที่มีบุญคุณกับเราโดยไปละเมิดชีวิตผู้อื่น ศาสนาก็ไม่เห็นด้วย

พระชื่อ อัตตทัตถะ (นิทานธรรมบทใน อัตตวรรค) เป็นคนที่ถูกกล่าวหาว่า “อกตัญญู” เพราะท่านมัวแต่ปฏิบัติธรรม ไม่ยอมมานั่งเฝ้าไข้พระพุทธเจ้า ขณะที่พระรูปอื่นๆ ราว 700 รูปมาคอยดูแลอยู่ใกล้ชิด อัตตทัตตะตอบว่า “เพราะท่านรักในพระพุทธเจ้า ท่านจึงตั้งใจปฏิบัติธรรม พระองค์สอนให้ละกิเลส และตนก็อยากทำให้ได้ก่อนที่พระองค์จะตาย (ปรินิพพาน)” ส่วนการดูแลก็ไม่จำเป็น เพราะพระจำนวนมากทำหน้าที่นั้นอยู่แล้ว สุดท้ายพระพุทธเจ้าตรัสว่า อัตตทัตถะเป็นคนที่รักพระองค์จริง เพราะการแสดงออกถึงความรักหรือกตัญญู คือการทำตามคำสอน ไม่ใช่การมาบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน

พระพยอม กัลยาโณ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อหลวงพ่อ ปัญญานันทะ มรณภาพและจะมีการจัดพิธีรดน้ำศพขึ้นที่วัดชลประทานฯ ว่า ท่านไม่สามารถไปร่วมงานได้ เพราะวันนั้นต้องไปเทศน์อีกที่ในเวลาเดียวกัน แต่ท่านก็เชื่อว่า “หากท่านปัญญานันทะพูดได้ ก็คงจะบอกให้ท่านเลือกไปเทศน์ มากกว่าจะให้มางานรดน้ำศพ เพราะตลอดชีวิตของท่านปัญญานันทะเองก็ให้ความสำคัญกับการสั่งสอนผู้คนมากกว่าพิธีกรรมอยู่แล้ว”

ที่จริง การเรียนนักธรรมในไทยยังสอนให้กตัญญูต่อ “วัตถุและสถานที่” อีกด้วย แน่นอนว่า นั่นไม่ใช่การต้องมากราบรถ บ้าน แก้วน้ำหรือสนามฟุตบอล เพื่อแสดงออก แต่เป็นการใช้สิ่งนั้นอย่างเห็นคุณค่า กตัญญูจึงเป็นการให้ความสำคัญ (appreciate) ที่มาพร้อมกับการเคารพ (respect) ในขณะที่อยู่กับคน/วัตถุนั้น มากกว่าจะการต้องกลับมาตอบเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว

เช่น การใช้ดินน้ำมันของห้องเรียนซึ่งเป็นของสาธารณะอย่างรู้คุณค่า เมื่อใช้เสร็จก็เก็บ/ทำความสะอาด เพื่อคนอื่นจะได้ใช้ต่อ ไม่มีใครคิดว่า เราค่อยกลับมาตอบแทนดินน้ำมันเมื่อเรียนจบเป็นต้น

เช่นเดียวกับการเรียนในห้อง หากตั้งใจเรียนและเคารพกติกาของห้อง เช่น ไม่พูดคุยขณะครูสอนหรือส่งการบ้านตามกำหนด นั่นเป็นความกตัญญูอยู่แล้ว (ไม่ต้องพูดถึงการที่เด็กต้องจ่ายค่าเทอม หรือรัฐเอาภาษีของคนไปจ่ายให้ครู เพราะนั่นยิ่งยืนยันว่า ครูไม่มีสิทธิ์ทวงบุญคุณด้วยซ้ำ เพราะเขาตอบแทนด้วยค่าจ้างตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว)

ตัวอย่างเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นอีกมิติหนึ่งของความกตัญญู คือ การไม่ทำตามความดีที่สังคมกำหนดให้ อาจไม่ได้แย่เสมอไป หรือไม่ควรถูกเรียกว่า “อกตัญญู” เพราะแต่ละคนนิยามความกตัญญูต่างกัน และหากยึดตามแนวคิดเรื่อง “บุคคลหาได้ยาก” ด้านบนก็จะพบว่า คนที่ทวงบุญคุณว่าผู้อื่นไม่ได้ตอบแทนตัวเองเป็นต้น เขาต่างหากที่ไม่ใช่ “บุพการี” เพราะการทำความดีของเขาคับแคบ หวังผลให้ผู้อื่นต้องมาสนองความต้องการในแบบของตัวเอง


อ้างคุณธรรมเพื่อไม่ต้องพัฒนาประเทศ

ครูเป็นอาชีพที่ถูกตราหน้าให้เป็นแม่พิมพ์ของคุณธรรม ในสังคมคนดีมีการย้ำว่า คุณธรรมสำคัญกว่าความรู้เสียด้วยซ้ำ นั่นคือ ครูสอนภาษาอังกฤษอาจไม่ต้องรู้ไวยากรณ์ ไม่ต้องพูดได้ แต่อ่านไปตามหนังสือก็ใช้ได้ เพราะเป้าหมายสำคัญอยู่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับศิษย์ได้ต่างหาก ซึ่งดีกว่าครูที่เก่งภาษาแต่กลับสูบบุหรี่ให้เด็กเห็น เพราะสังคมคนดีจะเชื่อว่า เด็กไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง เขาจะเลียนแบบครู ถ้าครูเป็นตุ๊ด เด็กก็จะกลายเป็นตุ๊ดไปด้วย

ครูในสังคมคนดีจึงถูกสอนว่า ควรไปทำงานในที่ห่างไกล ช่วยเหลือเด็กดอย รับเงินเดือนที่ต่ำ เพราะครูเกิดจากอุดมการณ์ และหากครูคนใดเรียกร้องให้รัฐขึ้นเงินเดือน เขาก็จะเป็นครูแบบทุนนิยมที่ไม่มีคุณธรรม ทำตัวเป็นเรือจ้าง ซึ่งท้ายที่สุด อาชีพครูจึงไม่ควรถูกพัฒนาสวัสดิการให้ดีขึ้น คุณธรรมก็ถูกเอามาสอนเพื่อป้องกันการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

เช่นเดียวกับสวัสดิการผู้สูงอายุ ที่รัฐไม่จำเป็นต้องคิดว่า ควรให้เงินผู้สูงอายุในระดับที่มากพอ (อาจราว 5000 บาท) สำหรับการเลี้ยงชีพ หรือการทำสถานพำนักผู้สูงอายุที่มีคุณภาพดีและเข้าถึงได้ง่าย โดยยก “ความกตัญญู” มาเป็นตัวแก้ปัญหาแทน เพราะลูกที่ดีควรทำงานหนักและเลี้ยงดูพ่อแม่ นั่นไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ และหากใครเอาพ่อแม่ไปไว้ในที่พักคนชรา ก็เท่ากับอกตัญญู ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การที่คนแก่ได้อยู่กับเพื่อนๆ ซึ่งอายุรุ่นเดียวกัน อาจลดความเหงาได้มากกว่าอยู่บ้านตามลำพัง หรืออยู่กับลูกที่ไม่มีเวลาให้ หรือ เป็นคนละ Generation


ปัญหาของความกตัญญู

การนิยามความกตัญญูที่คับแคบแบบไทย คือ ใครเคยช่วยเราและเราต้องกลับไปช่วยผู้นั้น ใช้ไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 อย่างคือ

1. การต้องกตัญญูในรูปแบบนั้น ส่งผลต่อคุณธรรมด้านอื่น เช่น หากเราเป็นหัวหน้าฝ่ายรับสมัครงาน ต้องเลือกผู้สมัคร 2 คนโดยที่คนหนึ่งเป็นเพื่อน (ซึ่งเชื่อกันว่ามีบุญคุณ) การรับเขาเข้าทำงานด้วยเหตุผลของการกตัญญูจึงทำลายความสุจริตในหน้าที่ไปเสีย และหากรับอีกคนด้วยเหตุผลที่ผู้นั้นมีความสามารถมากกว่า ก็ถูกสังคมคนดีทวงบุญคุณ จะเห็นว่า แนวคิดความกตัญญูไปสนับสนุนระบอบอุปถัมภ์ (patronage system) อีกทีหนึ่ง

2. การต้องมาตอบแทนผู้มีพระคุณทุกคน เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้จริง เช่น เราจะต้องดูแลพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ (อาจมีมากกว่า 50 คน) ต้องกลับไปดูแลเจ้าอาวาส พระ-เณรที่เคยช่วยเหลือเรา ตอบแทนบุญคุณป้าที่ขายขนมหน้าโรงเรียน คนทำงานเก็บกวาดขยะหน้าบ้าน ช่างสี/ช่างประปา หมอ/พยาบาล หรือกระทั่งชาวนาที่ทำให้เรามีข้าวกิน ซึ่งเราไม่เพียงแต่กลับไปกราบคนเหล่านั้น หากแต่ต้องช่วยให้เงิน หรือเอามาดูแล เพราะชีวิตที่อยู่รอดมาจนปัจจุบันเป็นเพราะการช่วยเหลือของพวกเขาทั้งสิ้น กล่าวคือ เมื่อเรียนจบหรือมีงานทำ ก็ไม่ต้องไปทำประโยชน์อื่นๆ เลย แค่จะต้องใช้เวลาที่มีทดแทนบุญคุณคนที่เคยช่วยเราก็ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นอีกแล้ว

ที่น่าตลกคือ เมื่อบางคนอ้างว่า เขาทำหน้าที่เพื่อปกป้องสถาบันหรือรักษาบ้านเมือง เท่ากับเขาได้ตอบแทนคุณแผ่นดินและตอบแทนทุกคนแล้ว คนไทยกลับยอมรับการกล่าวอ้างนี้ (ผมเองเชื่อว่า เหตุผลนี้ใช้ได้จริง) แต่ที่น่าสงสัยคือ ทำไมไม่มองว่า ชาวนา / คนงานก่อสร้าง / คนขับแท็กซี่ / พนักงานไฟฟ้า / กระเป๋ารถเมล์ / โสเภณี เป็นต้นก็ได้ตอบแทนบุญคุณต่อชาติและประชาชนทุกคนบ้าง เพราะเขาก็เป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมเช่นกัน ผมยกตัวอย่างนี้เพื่อสะท้อนว่า ทุกคน/ทุกหน้าที่ สามารถตีความว่ากำลังตอบแทนบุญคุณผู้อื่นอยู่ได้ทั้งสิ้น จึงไม่ควรมีใครถูกทวงบุญคุณว่า “อกตัญญู”

กตัญญูในมิติของการเห็นคุณค่าและปฏิบัติต่อเขาอย่างถูกต้องตั้งแต่ตอนนั้น เป็นความกตัญญูในตัวที่เสร็จสิ้นไปแล้ว เขาจึงสามารถมีอิสระที่จะสร้างประโยชน์ในที่อื่นๆ และแก่คนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องผูกติดกับคนในวงแคบ ย้ำว่า การต้องกลับมาตอบแทนเพราะเพื่อจะลบภาพความอกตัญญู ในทางพุทธไม่ถือว่าเป็น “กตัญญูกตเวที” เพราะบุคคลที่หายากเช่นนั้นต้องทำด้วยเจตนาที่อยากช่วยที่บริสุทธิ์ใจ

พ่อแม่หรือครูที่เป็นบุพการีจริง จึงมีเจตนาในการช่วยเลี้ยงดู ให้ความรู้ และให้อิสระภาพกับลูก/ศิษย์ เขาจะกลับมาตอบแทนหรือประกาศบุญคุณของตัวเองหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะคนเหล่านั้นจะมีความสุขกับการที่ลูก/ศิษย์ ได้เติบโตในแบบของเขาเอง หรือทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นในวงกว้าง มากกว่าจะมาทวงบุญคุณให้ต้องกลับมาดูแลตนหรือทอดผ้าป่าให้โรงเรียน ฯลฯ

 

 ภาพ: ถ่ายจากปกหนังสือ Riwayat Buddha Gotama หนังสือพุทธประวัติสำหรับครอบครัว พิมพ์โดย Ehipassiko อินโดนีเซีย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Journal of Religious Anthropology : JORA / วารสารมานุษยวิทยาศาสนา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net