Skip to main content
sharethis

ปวิตร มหาสารินันทน์ ผอ.หอศิลปกรุงเทพฯ ร้องความเป็นธรรมในการถูกไล่ออก ชี้กรรมการไม่พอใจเหตุแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสนับสนุนงบประมาณของ กทม. เผยขอดูผลการประเมินการปฏิบัติงานมา 24 วันแล้วยังไม่ได้รับ ยันยอดผู้ชมหอศิลปฯสูงว่าทุกปีที่ผ่านมา 1.9 ล้านคน โลกโซเชียลผุดแคมเปญเรียกร้องหอศิลป์กรุงเทพฯ เปิดเผยประเมินผลการปฏิบัติงานของปวิตร

ผอ.หอศิลปกรุงเทพฯ ร้องความเป็นธรรมในการถูกไล่ออก 

24 ก.ย. 2562 วันนี้ สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า ปวิตร มหาสารินันทน์ ผอ.หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน หัวข้อว่า ขอเรียกร้องความเป็นธรรมและโปร่งใสในการถูก "ไล่ออก" โดยมีเนื้อหาสำคัญ อ้างถึงเหตุผลที่ไม่ผ่านการประเมินว่า กรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานไม่พอใจการแสดงความเห็นของ ปวิตร เรื่องการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสนับสนุนงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ในการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยในเนื้อหายังยืนยันผลการดำเนินงานของหอศิลป์ ที่ส่งให้ปีนี้มีจำนวนผู้ชมประมาณการสูงว่าทุกปีที่ผ่านมา 1.9 ล้านคน อีกทั้งปวิตร ได้กล่าวไว้ในจดหมายด้วยว่า ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการมูลนิธิเปิดเผยรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานของตนด้วย ซึ่งปวิตรเปิดเผยเพิ่มเติมแก่ The Standard ว่าแจ้งขอดูผลการประเมินมา 24 วันแล้วแต่ยังไม่ได้รับ

ปวิตร ยังตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการประเมินไม่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายพอ เมื่อ 5 ใน 8 คนเป็นศิลปินสายทัศนศิลป์ ทั้งๆที่หอศิลป์กทม.เป็นศูนย์รวมศิลปะหลายแขนง จึงเกิดคำถามต่อเหตุการณ์นี้ว่าเป็น การเมืองกทม. หรือ การเมืองวงการศิลปะ ซึ่งถ้าหากยังไม่มีความชัดเจน จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครชุดปัจจุบันได้แก่ บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย ประธานกรรมการมูลนิธิฯ, เยาวณี นิรันดร รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ, วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ, ปัญญา วิจินธนสาร กรรมการมูลนิธิฯ, อภินันท์ โปษยานนท์ กรรมการมูลนิธิฯ, ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการมูลนิธิฯ, ตรีศิลป์ บุญขจร กรรมการมูลนิธิฯ, อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ กรรมการมูลนิธิฯ, ก้องเกียรติ โอภาสวงการ กรรมการมูลนิธิฯ, สาระ ล่ำซำ กรรมการมูลนิธิฯ, ศักดิ์ชัย ยอดวานิช กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิฯ, ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ

 

เนื้อหาฉบับเต็มมีดังนี้

เรื่อง ขอเรียกร้องความเป็นธรรมและโปร่งใส ในการถูก “ไล่ออก”

เรียน เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ สื่อมวลชนทุกท่าน 

ก่อนอื่นผมขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเผยแพร่ข่าวสารกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอย่าง สม่ำเสมอ ทำให้ปัจจุบันนี้มีผู้เข้าชมกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครโดยเฉลี่ยวันละ 5,600 คน และ ประชาชนจำนวนมากก็กรุณาบริจาคเงินสมทบทุนช่วยเหลือ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศก็ มาร่วมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้รายจ่ายของหอศิลปกรุงเทพฯ ลดลงตามลำดับ จากปี 2560 จำนวน 75 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 63 ล้านบาท และปี 2562 นี้ประมาณการไว้ที่ 48 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนผู้เข้าชมงานปีนี้ ประมาณการว่าจะสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา คือ 1.9 ล้านคน

ผมขอเรียนให้ท่านทราบว่า ผมได้ถูกคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชุดใหม่ (ซึ่งเข้ารับตำแหน่ง อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2562 หลังจากชุดเก่าหมดวาระเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2561) “ไล่ออก” เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2562 (โดยให้ปฏิบัติงานวันสุดท้าย วันที่ 30 ก.ย.2562) ซึ่งเหตุผลหนึ่ง (จากการบอก เล่าด้วยวาจา) ก็คือ กรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานไม่พอใจการแสดงความเห็นของผมเรื่องการสนับสนุน งบประมาณของกรุงเทพมหานคร ในการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน อนึ่ง คณะกรรมการมูลนิธิได้ยื่น ข้อเสนอให้ผม “ลาออก” เพราะ “จะสวยกว่าอยู่แล้ว” ซึ่งผมขอปฏิเสธ และขอให้คณะกรรมการมูลนิธิเปิดเผย รายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานของกระผม โดยผมได้แนบรายละเอียดลำดับเหตุการณ์และหลักฐาน จดหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาเผยแพร่ข่าวนี้สู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่แท้จริง จักเป็นพระคุณยิ่ง

 

ผุดแคมเปญเรียกร้องหอศิลป์กรุงเทพฯ เปิดเผยประเมินผลการปฏิบัติงานของปวิตร

ต่อกรณีนี้ ชยันต์ ไชยพร ผู้ตั้งแคมเปญ ‘หอศิลป์กรุงเทพฯ เปิดเผย รายงานประเมินผลการปฏิบัติงานของ อดีต ผอ. ผศ. ปวิตร มหาสารินันทน์’ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว มีใจความว่า “ผมขอสนับสนุน ผศ.ปวิตร ในประเด็นที่ว่า ในช่วงที่ ผศ.ปวิตร เข้ามาบริหารนั้น BACC หรือหอศิลป์กรุงเทพฯ มีผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ดี มีจำนวนกิจกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้จะได้รับเงินสนับสนุนจาก กรุงเทพมหานคร น้อยลง แต่ก็ยังมีความสามารถในการหารายได้ด้วยตนเอง รายละเอียดเหล่านี้ดูได้จากกราฟข้างล่าง ซึ่งรวบรวมมาจาก รายงานประจำปีและข้อมูลที่ได้รับจากทีมงานฝ่ายวิชาการของ BACC เอง

ดังนั้น อย่างน้อย ๆ ในส่วนของผลประกอบการและการจัดกิจกรรม ในสายตาของคนนอก การบริหารงานของ ผศ.ปวิตร ก็ดูไม่มีปัญหาบกพร่องอะไร และหากว่ากันตามจริง ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็เท่าที่ข้อมูลจะแสดงให้เห็น

ผมจึงขอสนับสนุน ผศ. ปวิตร มหาสารินันทน์ และเรียกร้องให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดใหม่ เปิดเผย รายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานของ ผศ. ปวิตร มหาสารินันท์ ในฐานะผู้อำนวยการ BACC เพื่อให้ไม่เกิดข้อกังขาต่อสาธารณชนผู้เป็นเจ้าของหอศิลป์กรุงเทพฯ อันเกิดมาจากความร่วมมือของ ภาครัฐ และ ภาคเอกชน ภายใต้ปฏิญญากรุงเทพมหานครว่าด้วยความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรม ร่วมกันเรียกร้องผ่าน Change.org >>> http://chng.it/ZF6SN7H7Fz

 

สรุปแหล่งที่มารายได้ของการดำเนินงาน



สีเข้ม - งบประมาณสนับสนุนจาก กทม.
สีอ่อน – หอศิลป์หาด้วยตนเอง

 

หอศิลปกรุงเทพฯไม่ได้รับงบจาก กทม. ตั้งแต่ปี 61 ต้องระดมเงินบริจาค รายจ่ายลดลงต่อเนื่อง

อนึ่ง ประมาณเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หอศิลป์ กรุงเทพฯ ปรากฏเป็นข่าวดังเมื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ออกมาประกาศว่า กทม.จะขอยึด ‘หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)’ ซึ่งเปิดดำเนินการมาในปีนี้เป็นปืที่ 10 มาดูแลเอง โดยอ้างว่าต้องการให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น จากที่ในปัจจุบันโต๊ะเก้าอี้ต่างๆ ไม่เพียงพอ ไม่คุ้มกับการที่ กทม.อุดหนุนงบให้ปีละ 40 ล้านบาท

ภาคประชาชนบางส่วนแสดงความเห็นคัดค้านต่อเรื่องดังกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามในการยึดคืนหอศิลป์จาก พล.ต.อ.อัศวิน ซึ่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ด้วยอำนาจพิเศษตามมาตรา เพราะต้องการยึดคืนพื้นที่แสดงออกทางการเมือง ที่หลังๆ หอศิลป์โดนมองว่าถูกใช้เพื่อจัดกิจกรรมที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจบ่อยครั้งขึ้น

หอศิลปกรุงเทพฯ ระบุว่า ที่ผ่านมาจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมปีละกว่า 400 รายการ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร ในหมวดเงินอุดหนุน 55% คิดเป็นเงินประมาณ 40,000,000 บาท และมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ จัดหารายได้เพิ่มเติมอีก 45%

งบประมาณปี 61 สภากรุงเทพฯ เห็นชอบงบประมาณในหมวดรายจ่ายอื่น เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ จำนวน 40,000,000 บาท ผ่านทางสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว แต่ตลอดระยะเวลาในปี 2561 สำนักวัฒนธรรมฯ ไม่ได้เบิกจ่ายงบประมาณให้กับหอศิลปกรุงเทพฯ ตามแผนงานที่ได้เสนอไป ทำให้การบริหารงานอาคารและกิจกรรมของหอศิลปกรุงเทพฯ เริ่มประสบปัญหา จนกระทั่ง กทม. ไม่อนุมัติงบประมาณในปี 2562

หลังจากนั้นทางหอศิลปกรุงเทพฯ ได้เปิดให้ประชาชนร่วมบริจาค องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศร่วมจัดกิจกรรม ซึ่งก็ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จ และทำให้รายจ่ายของหอศิลปกรุงเทพฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปวิตรกล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อ กทม. เลิกจ่ายเงินอุดหนุนประมาณ 45 ล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปี 2561 ดังนั้นหอศิลปกรุงเทพฯ ต้องใช้เงินจากรายได้ที่หาเองและเงินบริจาค จากเดิมที่เคยมีรายได้สองทางก็เหลือทางเดียว พื้นที่หอศิลปกรุงเทพฯ ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่สาธารณะและใช้เงินอุดหนุน เพราะมีพื้นที่หารายได้น้อยมากประมาณ 10% แต่การบริหารงานก็กำลังลงตัว โดยปีนี้ใช้งบประมาณไปเพียง 23% ของที่ตั้งไว้

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net