Skip to main content
sharethis

อะไรบ้างอยู่ในเส้นตายของ ‘เบร็กซิท’ ที่ทำให้ชาวสหราชอาณาจักรร้อนรน เมื่อนายกฯ บอริส จอห์นสัน ตัดสินใจให้ระงับประชุมสภาที่จะทำให้สภาฯ ไม่ได้ทำงานรวม 5 สัปดาห์ แล้วเชิญสมเด็จพระราชินีมาเปิดประชุมสภาสมัยใหม่ อะไรที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในร่างข้อตกลงการถอนตัวออกจากอียู และพระราชินีทำเช่นนี้ถือว่าลงมายุ่งการเมืองหรือไม่

ธงสหราชอาณาจักร ธงอียู และภาพอาคารรัฐสภาสหราชอาณาจักรเป็นพื้นหลัง (ที่มาภาพ:pixabay)

29 ส.ค. 2562 เป็นที่โจษจันกันกว้างขวางในสหราชอาณาจักร เมื่อบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรตัดสินใจระงับการประชุมรัฐสภา เพื่อให้มีพิธีเปิดประชุมสภารอบใหม่หลังมีการหยุดประชุมรัฐสภาฤดูใบไม้ร่วงตามปกติ 3 สัปดาห์ และได้ส่งคำเชิญให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาให้พระราชดำรัสเปิด หลังสิ้นสุดการยืดระยะการระงับการปิดประชุมสภา (Prorogue) ซึ่งสมเด็จพระราชินีทรงตอบรับคำเชิญ 

สิ่งที่ทำให้เป็นข้อกังวลใหญ่คือความเร่งด่วนในเรื่องการนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า ‘เบร็กซิท’ ที่มีการลงประชามติไปแล้วเมื่อ 23 ก.ค. 2559 และมีกำหนดจะต้องออกจากอียูในวันที่ 31 ต.ค. 2562 หากเป็นไปตามกำหนดการของรัฐบาล ย่อมหมายความว่าสภาจะกลับมาทำงานหลังหยุดช่วงฤดูใบไม้ร่วงในวันที่ 2 ก.ย. และหลังจากนั้นจะระงับไปอีกราว 2 สัปดาห์ (ระหว่าง 9-12 ก.ย.) และกลับมาประชุมอีกครั้งในวันที่ 14 ต.ค. รวมเวลาที่รัฐสภาไม่ได้ทำงานทั้งสิ้น 5 สัปดาห์

ขณะนี้การทำงานของรัฐสภามีความสำคัญต่อ ‘เบร็กซิท’ มาก เพราะสภาจะต้องพิจารณาและลงมติรับรองให้มีเอกสารข้อตกลงการถอนตัว (Withdrawal agreement) ที่เป็นข้อตกลงที่จะอธิบายรายละเอียดทางกฎหมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพของคนอียูในสหราชอาณาจักร หรือคนสหราชอาณาจักรที่อยู่ในประเทศกลุ่มอียู มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจในการปรับตัวจากการออกจากระบบตลาดและภาษีเดียว (การนำเข้า-ส่งออกสินค้าเสรี เก็บภาษีเท่ากัน) ของอียู ไปจนถึงเงินที่สหราชอาณาจักรต้องจ่ายให้กับอียูในการถอนตัว นอกจากนั้นยังจะต้องมีการทำข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างปฏิญญาความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูอีกด้วย

ที่ผ่านมา ร่างข้อตกลงการถอนตัวถูกมติสภาตีตกไปแล้วถึง 3 ครั้งในสมัยรัฐบาลเธเรซา เมย์ หากถึง 31 ต.ค. สภาฯ ยังไม่มีมติรับรองร่างข้อตกลงฯ สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากอียูไปแบบไม่มีข้อตกลงรองรับหรือที่เรียกกันว่า ‘โนดีลเบร็กซิท (No deal Brexit)’ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะการออกจากระบบตลาดเดียวชั่วข้ามคืนนั้นอาจตามมาด้วยภาวะคอขวดในการตรวจสอบสินค้าเข้า-ออกสหราชอาณาจักร และอาจกระทบกับปากท้องของประชาชนสหราชอาณาจักรที่ปัจจุบันพึ่งพาอาหารจากอียูถึงร้อยละ 30 

รายละเอียดในร่างข้อตกลงฯ ที่เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดจนไม่สามารถมีมติรับรองในสภาได้ คือเรื่องของเขตแดนระหว่างพื้นที่รอยต่อระหว่างไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ที่เป็นสมาชิกอียูอันเป็นเขตแดนทางภาคพื้นดินแห่งเดียวที่มี หรือที่เรียกว่า Backstop ที่จะยังคงปล่อยให้พื้นที่รอยต่อนั้นไม่มีเขตกั้น ด่านตรวจ หรือการตรวจตราสินค้าระหว่างกันเหมือนเดิม นอกจากนั้น ไอร์แลนด์เหนือยังจะมีสถานภาพผูกพันทางกฎหมายบางส่วนในระบบตลาดเดียว หากสหราชอาณาจักรไม่สามารถมีข้อตกลงการค้าเสรีกับอียูได้หลังจากมีเบร็กซิท รายละเอียดเหล่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจกระทบถึงการคงอยู่ของสหราชอาณาจักรอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้หากไอร์แลนด์เหนือมีเอกสิทธิ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าส่วนอื่นๆ ของประเทศ

ซ้าย: เขตแดนระหว่างไอร์แลนด์ที่เป็นสมาชิกอียู กับไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักร (ที่มา: mapswire)

หากสภาเริ่มกลับมาประชุมในวันที่ 14 ต.ค. ย่อมหมายความว่ามีเวลาราว 2 สัปดาห์เท่านั้นก่อนที่จะเป็นโนดีลเบร็กซิท ทำให้ ส.ส. ในสภาจำนวนมากคัดค้านการระงับประชุมสภาอย่างหนักหน่วง หัวหน้าพรรคแรงงาน เจเรมี คอร์บิน และหัวหน้าพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย โจ สวินสัน มีจดหมายขอเข้าพบสมเด็จพระราชินีเพื่อขอเลื่อนการมีพระราชดำรัสเพื่อเปิดประชุมสภาไปก่อน

แม้นายกฯ สหราชอาณาจักร จะออกมายืนยันว่าการเปิดประชุมสภาในช่วงเวลานี้ไม่ใช่ความตั้งใจจะทำให้สหราชอาณาจักรออกจากอียูแบบไม่มีข้อตกลง แต่ ส.ส. หลายคนไม่ได้มีความเห็นเช่นนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร จอห์น เบอร์โควประณามการระงับประชุมสภาครั้งนี้ว่าเป็นความก้าวร้าวในทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Outrage) ฟิลิป แฮมมอนด์ นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอดีตรัฐมนตรีก็กล่าวว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง

อย่างไรก็ดี การระงับการประชุมสภาเพื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยใหม่เป็นอำนาจของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ และการที่สมเด็จพระราชินีตอบรับการมีพระราชดำรัสเปิดประชุมสภาก็เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่รัฐบาลต้องขออนุญาตระงับการประชุมสภาจากสมเด็จพระราชินี บีบีซีระบุว่า ตามหลักการที่ว่าสมเด็จพระราชินีไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นย่อมเป็นเรื่องคาดไม่ถึงมากกว่า หากพระองค์ทรงปฏิเสธคำขอของรัฐบาล

บีบีซียังรายงานว่า หาก ส.ส. ผ่านมติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ก่อน 10 ก.ย. ก็อาจจะนำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งหากวัดจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2560 พรรคอนุรักษ์ยังได้เสียงข้างมากแต่ว่าจำนวน ส.ส. ลดลง และในโพลสำรวจความคิดเห็นพบว่ากระแสพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงานนั้นมีความสูสี แม้ว่ากลุ่มที่สนับสนุนเบร็กซิทจะมีอยู่ในทั้งสองฝั่ง แต่ด้วยกระแสการเมืองที่พลิกผันก็ทำให้รูปแบบการออกจากอียูมีหลายความเป็นไปได้ อนาคตการเมืองของสหราชอาณาจักรและการได้ออกจากอียูหรือไม่ จะออกในรูปแบบใดจึงยังไม่มีความแน่นอน

สุพริศร์ สุวรรณิก ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนบทความว่าผลกระทบของเบร็กซิทต่อเศรษฐกิจไทยน่าจะมีจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการส่งออก-นำเข้าของไทยกับสหราชอาณาจักรนั้นมีน้อย (ร้อยละ 1.6 และ 1.2 ตามลำดับ) นักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรที่เข้ามาเที่ยวไทยก็มีเพียงร้อยละ 2.5 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด แต่ก็จะยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจของอียูที่เป็นผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินไทยน่าจะได้รับผลกระทบตามความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขรายละเอียดในความหมายของ 'Prorogue' เป็นเรื่องการยืดระยะการระงับประชุมสภา มิใช่คำกริยาของการมีพระราชดำรัสโดยสมเด็จพระราชินีหรือผู้แทน แก้ไขเมื่อ 24 ก.ย. 2562 เวลา 18.20 น.

แปลและเรียบเรียงจาก

Queen approves Boris Johnson request to suspend parliament, Independent, Aug. 29, 2019

Brexit and suspending Parliament: What just happened?, BBC, Aug. 28, 2019

มหากาพย์“เบร็กซิต”: แล้วเรื่องทั้งหมดจะจบอย่างไร?, สุพริศน์ สุวรรณิก, ธนาคารแห่งประเทศไทย , Jan. 11, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net