Skip to main content
sharethis

 

เมื่อย้อนไป 74 ปีที่แล้ว การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่เพียงก่อให้เกิดการรณรงค์ ‘สันติภาพ’ ขึ้นทั่วโลก แต่คนไทยในยังได้เรียนรู้ถึงคุณค่าแห่งวีรกรรมคนกลุ่มหนึ่ง ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อประเทศชาติในนามขบวนการ ‘เสรีไทย’ อีกด้วย

โดยหนึ่งในผู้เขียนที่สะท้อนคุณูปการของขบวนการเสรีไทยยุคนั้นไว้ได้มากที่สุด ก็คือ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร นักเขียน นักวิชาการและเทคโนแครต ผู้ผลิตงานเขียนแสดงสภาพสังคมไทยตลอดสมัยดังกล่าวในรูปของสารคดีและงานวิชาการเป็นจำนวนมาก

ในโอกาสครบรอบ 74 ปี วันสันติภาพไทย เมื่อ 16 สิงหาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2488 ที่ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ณ เวลานั้น รับผิดชอบดูแลภารกิจลับของขบวนการเสรีไทย ได้ออก ‘ประกาศสันติภาพ’ ทางวิทยุไปทั่วโลกว่า สงครามที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เคยประกาศไว้กับสัมพันธมิตรคือสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเมื่อปี 2485 นั้น ถือเป็น ‘โฆษะ’ เพราะขัดต่อเจตจำนงของคนไทยที่ต้องการสันติสุข

ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล บุตรีของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เล่าว่า นับเป็นโชคดีของขบวนการเสรีไทยที่มีผู้นำที่รักสันติวิธี เชื่อว่าแนวทางนี้เท่านั้นที่จะหยุดยั้งท่าทีกระหายสงคราม ซึ่งครอบงำสังคมไทยผ่านกระแสอำนาจทหารนิยมในเวลานั้นได้

“สันติวิธีจึงเป็นทางเลือกอันดับแรกในการแก้ปัญหาของชาติ ขณะเดียวกันให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในเอกราชและอธิปไตย”

ปรีดี ช่วยฟื้นฟูเกียรติภูมิของชาติไทยไม่ให้ตกอยู่ในสถานะผู้พ่ายแพ้สงครามกับสัมพันธมิตร หยุดยั้งลัทธิชาตินิยมและการครอบงำของญี่ปุ่นด้วยแนวทางสันติวิธี

เวทีอภิปรายได้นำหนังสือของ ดร.วิชิตวงศ์ ที่ควรค่าแก่การแนะนำสาธารณชน คือเรื่อง ‘ตำนานเสรีไทย’ สารคดีบันทึกเรื่องราวของบุคคลและเหตุการณ์ระหว่างที่ขบวนการเสรีไทยดำเนินภารกิจใต้ดิน เพื่อทำให้การประกาศสงครามโดยฝ่ายรัฐบาลไทยที่มีต่อสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ และขับไล่ทหารญี่ปุ่นออกจากประเทศ โดยเป็นตำราที่เกิดจากการค้นคว้าถึง 7 ปีของ ดร.วิชิตวงศ์ ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2546 

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ อดีตนายทหารและนักเขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า ‘ตำนานเสรีไทย’ เปรียบเสมือน คัมภีร์ไบเบิล แห่งการเรียนรู้ขบวนการเสรีไทย โดยผู้อ่านจะพบเห็นคุณธรรมของคนไทยในยุคเสรีไทยหรือยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างชัดเจนผ่านตัวละครและเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ อาทิ ความรักชาติบ้านเมืองและความกล้าหาญของนักศึกษาไทยในสหรัฐอเมริกา 

เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จัดว่าเฉลียวฉลาดที่สุดของสังคมไทยในยุคนั้น ต่างก็ทำหน้าที่กู้ชาติด้วยความสมัครใจ ฝ่าฝืนคำสั่งรัฐบาลไทยที่ต้องการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา โดยป่าวประกาศเพื่อทำความเข้าใจให้แก่อเมริกันชนและรัฐบาลอเมริกาว่า คำประกาศสงครามดังกล่าวไม่ใช่มติความเห็นชอบของคนไทยทั้งมวล หากเป็นการตัดสินใจโดยคณะรัฐบาลเพียงกลุ่มเล็กกลุ่มเดียว 

แม้การฝ่าฝืนจะทำให้ตนเองถูกถอนสัญชาติไทยและถูกลอยแพ ก็ไม่ทำให้ความมุ่งมั่นที่จะกอบกู้ชาติลดละลงไป เด็กไทยเหล่านี้ยังฝึกฝนวิชาทหารไม่ว่าจะเป็นการใช้ปืนหรือการโดดร่ม เพื่อรอเวลาเข้าร่วมรบในสมรภูมิ 

พล.อ.บัญชร เล่าว่า นักศึกษาไทยเหล่านี้มาจากพื้นเพที่หลากหลาย แต่สามารถรวมใจเป็นน้ำหนึ่งเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมือง ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเด็กเหล่านี้ก็คือทหารนั่นเอง เพราะได้กระทำการทุกอย่างเฉกเช่นทหารกล้าผู้ซึ่งกำลังเตรียมพร้อมเข้าสู่สงคราม

ขณะที่ภารกิจลับดำเนินไปในสหรัฐอเมริกาโดยการนำของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมทย์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น และนักศึกษาไทยที่เป็นกำลังสำคัญ ความเคลื่อนไหวของเสรีไทยในประเทศก็กำลังดุเดือดเข้มข้น โดยเฉพาะผู้นำขบวนการอย่าง ปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องดำเนินการทุกอย่างให้เป็นความลับที่สุด ไม่ให้ล่วงรู้ระแคะระคายถึงฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายสัมพันธมิตร รวมถึงทหารญี่ปุ่นที่ตั้งฐานอยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองในเวลานั้น จึงต้องทำการภายใต้ความเสี่ยงอย่างสุดยอดอยู่ตลอดเวลา 

“เสรีไทยหลายคนที่เคยไม่ลงรอยกันทางการเมืองในขณะที่บ้านเมืองยังเป็นปกติ ยอมทิ้งทิฐิมานะ ร่วมกันทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง แยกแยะเรื่องส่วนตัวและยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทุกคนต่างมุ่งมั่นจะทำภารกิจสำคัญครั้งนี้ให้ลุล่วงเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติไทย”

ความคิดความอ่านและสภาพการทำงานของเสรีไทยถือเป็นบทเรียนทางคุณธรรมที่มีคุณค่าสำหรับคนไทยในสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องความปรองดองและความเสียสละที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์และตัวละครของเสรีไทย ซึ่งเป็นขบวนการที่รวมเอาคนไทยจากหลายสาขาอาชีพ มีช่วงวัยและสถานะทางสังคมที่ต่างกัน แต่เต็มใจทำงานร่วมกันด้วยความกล้าหาญและสามัคคี

เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวเพิ่มเติมประเด็นการสร้างความปรองดองว่า ในสมัยนั้นทุกฝ่ายต่างหันหน้าเข้าหากันและร่วมมือกันทำงานเพื่อกอบกู้วิกฤตบ้านเมือง จึงอยากชวนตั้งคำถามว่า ความปรองดองเช่นนั้นสามารถเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้บ้างหรือไม่ 

“คนไทยปัจจุบันพูดกันมากเรื่องความปรองดอง จึงอยากให้ทุกคนศึกษาบทเรียนของบุคคลในหน้าประวัติศาสตร์ยุคเสรีไทย เพื่อจะได้เข้าใจถึงความหมายของคำว่าปรองดองที่แท้จริง

นอกจาก หนังสือ ‘ตำนานเสรีไทย’ แล้ว ดร.วิชิตวงศ์ ยังได้เขียนงานเกี่ยวกับเสรีไทยออกมาเป็นจำนวนหนึ่งไม่ว่าจะเป็น ‘ปรีดีหนี’ ซึ่งเป็นผลงานเกี่ยวกับเสรีไทยชิ้นแรกของท่าน จัดพิมพ์ในปี พ.ศ.2491 งานเขียนภาษาอังกฤษ ‘Pridi Banomyong and the Making of Thailand’s History’ ซึ่งประพันธ์ขึ้นขณะที่ทำงานวิจัยอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์และจัดพิมพ์ในปี 2522 ตลอดจนหนังสือที่จัดพิมพ์ออกมาล่าสุดในปี 2549 ชื่อว่า ‘อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์’ เป็นงานที่เขียนขึ้นภายหลังช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองร้อยปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในปี 2543  

การรำลึกถึงผลงาน ดร.วิชิตวงศ์ และงานเขียนที่เกี่ยวกับเสรีไทยของท่าน ยังช่วยกระตุ้นเตือนนักคิด นักเขียนและนักเล่าเรื่องในสื่อสมัยใหม่ หันมาสนใจผลิตงานด้านประวัติศาสตร์ไทยยุคสงครามโลก ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ ความเสียสละและความปรองดองของคนสมัยนั้น อันจะเป็นแบบอย่างและบทเรียนอันมีค่าสำหรับคนรุ่นลูกรุ่นหลานในสมัยนี้และอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net