Skip to main content
sharethis

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ แจ้ง ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดี 'อภิชาต' ชูป้ายต้านรัฐประหาร 14 ส.ค.นี้

9 ส.ค.2562 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) แจ้งว่า  14 ส.ค.นี้ เวลา 9.00 น. ที่ศาลแขวงปทุมวัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ 1097/2559 และคดีหมายเลขแดงที่ 9075/2559  ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด กับ จ่าสิบเอกอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ในคดีความผิดต่อ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกและความผิดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง จากกรณีที่จ่าสิบเอกอภิชาต ชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร  

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากกรณีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ของจ่าสิบเอกอภิชาต ผู้ช่วยนักวิชาการปฎิรูปกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย เพื่อคัดค้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในวันที่ 28 เม.ย. 2558 ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวานในบ้านเมือง ไม่เลิกชุมนุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามหน้าที่ตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้  ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก มาตรา 216 และมาตรา 368

โดยคดีนี้ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.61 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่ามีความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 แต่ไม่ให้ลงโทษจำคุก ให้ลงเฉพาะโทษปรับ เพราะเห็นว่าเขาเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีการใช้กำลังรุนแรงก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความเสียหายใดๆต่อผู้อื่น ไม่ได้ต่อต้านขัดขวางหรือขัดขืนการจับกุม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าไม่ร้ายแรง และได้พิพากษายกฟ้องความผิดชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก เพราะเห็นว่าการชุมนุมของจำเลยเป็นไปโดยสงบ ไม่เข้าข่ายเป็นการมั่วสุมฯ ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน http://naksit.net/2019/01/casedata/

คลิปเหตุการณ์ อภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ ถูกทหารจับหลังชุมนุมค้านรัฐประหารที่หอศิลป์ กทม. ขณะที่มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 5 ร้ายเมื่อคืนวันที่ 23 พ.ค. 2557

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ชี้ไว้ในรายงานประจำปี "5 คดีสิทธิปี 2561 กับประเด็นที่กระบวนการยุติธรรมต้องทบทวนปี 2562" ด้วยว่า ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีนี้ยังคงยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร กล่าวคือ ศาลยังเห็นว่าเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติย่อมมีอำนาจที่จะออกประกาศหรือคำสั่งใดๆอันถือเป็นกฎหมายตามระบอบแห่งการรัฐประหารมาใช้ในการบริหารประเทศชาติได้  ส่วนสิทธิในการต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหารและหน้าที่พิทักษ์รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 69 และ 70 ที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้นั้น  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยไม่อาจยกรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างได้อีก จำเลยจึงยังมีความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558  ข้อ 12

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ยังคงเดินตามแนวทางของคำพิพากษาศาลฎีกาก่อนหน้านี้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกา 45/2496 และคำพิพากษาศาลฎีกา 1662/2505 โดยยอมรับว่าเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองสำเร็จแล้ว จึงมีสถานะเป็น “รัฐาธิปัตย์” ย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งอันมีผลเป็นกฎหมายขึ้นใช้บังคับได้  แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้  โดยการวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์ ได้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “รัฐาธิปัตย์” แต่ได้มีการประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่ขึ้นมาคือ ระบอบแห่งการรัฐประหาร ซึ่งไม่เคยปรากฏในคำพิพากษาฉบับก่อนหน้านี้เลย จะใกล้เคียงหน่อยก็คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 ที่ใช้ถ้อยคำว่า ระบบแห่งการปฏิวัติ

สำหรับประเด็นว่า ระบอบแห่งการรัฐประหาร คืออะไรนั้น ยังไม่ได้มีคำอธิบายที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในบทสัมภาษณ์ของสำนักข่าวประชาไท ว่า “ระบอบแห่งการรัฐประหารที่ใช้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ มันเป็นระบอบโดยตัวมันเองหรือจริงๆเป็นแค่ระบบ สำหรับผมการรัฐประหารไม่ใช่ระบอบ เรียกว่าระบบรัฐประหารน่าจะถูกกว่า มันเป็นระบบแห่งการรัฐประหาร ซึ่งสังกัดกับระบอบที่ครอบระบบอีกที ส่วนระบอบที่ครอบรัฐประหารคืออะไร ก็สุดสติปัญญาผมที่จะอธิบายได้” ซึ่งความเห็นดังกล่าวก็ค่อนข้างสอดคล้องกับถ้อยคำที่เคยปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 ที่ใช้คำว่า ระบบแห่งการปฏิวัติ ไม่ได้ใช้คำว่าระบอบ การที่ศาลอุทธรณ์ใช้คำว่าระบอบนั้น ย่อมมีนัยสำคัญอะไรบางอย่าง หรืออาจแสดงให้เห็นว่าศาลยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นระบอบหนึ่งไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net