Skip to main content
sharethis

องค์การสหประชาชาติ (UN) ขึ้นบัญชีดำกองกำลังพันธมิตรประเทศซาอุฯ-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่สู้รบกับกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ติดต่อกันเป็นปีที่สาม จากการที่กองกำลังพันธมิตรนี้สังหารเด็กและทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ที่มาภาพ: pexels

31 ก.ค. 2562 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 ก.ค.) สื่ออัลจาซีรารายงานว่า อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวไว้ในรายงานประจำปีที่ส่งให้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่ากองกำลังพันธมิตรซาอุฯ-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ก่อเหตุทำให้เด็กในเยเมนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 729 ราย เมื่อปี 2561 ซึ่งนับเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งในสถิติของเด็กทั้งหมดที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามเยเมนเมื่อปีที่แล้ว โดยในสถิติทั้งหมดของเด็กที่เสียชีวิตจากการสู้รบไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตามอยู่ที่ 576 ราย และเด็กที่พิการจากสงครามการสู้รบทั้งหมดอยู่ที่ 1,113 ราย

กูแตร์เรสบอกว่าการสูญเสียส่วนใหญ่มาจากการโจมตีใส่พื้นที่ๆ มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นและการโจมตีสิ่งปลูกสร้างของพลเรือนเช่นโรงเรียนและโรงพยาบาล

UN ได้ขึ้นบัญชีดำกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่าฮูตีสังหารและทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บรวม 398 ราย ขณะที่กองกำลังรัฐบาลเยเมนเองก็ทำให้เกิดความสูญเสียต่อเด็ก 58 ราย และเป็นอีกหนึ่งกองกำลังที่ถูกขึ้นบัญชีดำจาก UN

ในรายงานที่ชื่อ "เด็กในความขัดแย้งที่มีการสู้รบด้วยอาวุธ" (The Children in Armed Conflict) ยังระบุถึงกรณีที่อิสราเอลทำให้เด็กชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 56 ราย และได้รับบาดเจ็บ 2,674 ราย เป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามไม่ได้มีประกาศขึ้นบัญชีดำอิสราเอลไว้ในรายงานฉบับล่าสุดนี้

กูแตร์เรสกล่าวว่าจากที่ UN เริ่มนับจำนวนเด็กที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสงครามในปี 2548 มาจนถึงปัจจุบัน ในปี 2561 ถือว่ามีตัวเลขเด็กที่บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด พวกเขาทำการสำรวจใน 20 ประเทศ พบว่าประเทศอัฟกานิสถานและซีเรียเป็นประเทศที่ก่อความสูญเสียต่อเด็กมากที่สุดจากสงคราม โดยที่อัฟกานิสถานมีตัวเลขการสูญเสียอยู่ที่ 3,062 ราย นับเป็นร้อยละ 28 จากการสูญเสียพลเรือนทั้งหมด ส่วนในซีเรียนั้นเหตุเกิดมาจากการโจมตีทางอากาศและการทิ้งระเบิดปูพรม รวมถึงลูกหลงจากกระสุนล้วนแต่ส่งผลสูญเสียต่อเด็ก 1,854 ราย

สื่ออัลจาซีราระบุว่ารายงานของ UN ไม่ได้ขึ้นบัญชีดำเพื่อมีปฏิบัติการใดๆ แต่เพื่อเป็นการประณามให้อับอายโดยหวังว่าจะมีมาตรการออกมาเพื่อคุ้มครองเด็กจากความขัดแย้งเหล่านี้ ทั้งนี้รายงานเรื่องการสูญเสียเด็กในสงครามก็กลายเป็นข้อถกเถียงมาเป็นเวลานานแล้ว มีนักการทูตเปิดเผยว่าในช่วงไม่กีปีที่ผ่านมาทั้งซาอุฯ และอิสราเอลต่างก็พยายามกดดันอย่างหนักเพื่อให้พวกเขาไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ 

ทั้งนี้ในปี 2560 กูแตร์เรสพยายามลดข้อถกเถียงด้วยการแบ่งการขึ้นบัญชีดำเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือจัดขึ้นบัญชีดำไว้สำหรับกลุ่มที่มีมาตรการคุ้มครองเด็ก และประเภทที่สองกลุ่มที่ไม่มีมาตรการแบบนี้ นั่นทำให้พวกเขาจัดกองกำลังพันธมิตรซาอุฯ-UAE และกองกำลังรัฐบาลเยเมนไว้ในกลุ่มแรก และจัดให้กลุ่มกบฏฮูตี กองกำลังสนับสนุนรัฐบาลเยเมน และ กลุ่มอัลกออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาหรับไว้ในประเภทที่สอง นั่นทำให้ผู้ถูกจัดอยู่ในประเภทแรกของบัญชีดำนี้ดูมีภาพลักษณ์ดีกว่า

เรื่องนี้สร้างความผิดหวังให้กับหลุยส์ ชาร์บนโน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการ UN ที่องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ชาร์บนโนบอกว่าพวกเขาผิดหวังที่มีการจัดกองกำลังพันธมิตรซาอุฯ-UAE ไว้ในกลุ่มที่ดูดีกว่า ทั้งๆ ที่ฝ่ายกองกำลังนี้ไม่ได้มีพัฒนาการใดๆ ในการคุ้มครองเด็กเลย นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่ก่อเหตุเลวร้ายต่อเด็กมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงตอนนี้ 

เจมส์ เบย์ บรรณาธิการข่าวด้านการทูตของอัลจาซีรากล่าวว่ารายงานในเรื่องนี้ของ UN ถูกมองว่าเป็น "ปัญหาทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงจะยากต่อการจัดการ" ทำให้ประเทศทั้งหลายเหล่านี้ไม่อยากถูกจัดไว้ในบัญชีดำ 

เอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำ UN อับดุลเลาะห์ อัลมูอัลลิมี กล่าวว่ารายงานของ UN เล็งเห็นในเรื่องที่กองกำลังของพวกเขามีมาตรการใกนารคุ้มครองเด็ก แต่ก็ตั้งคำถามต่อแหล่งที่มาของรายงานว่ามีความแม่นยำจริงหรือไม่โดยกล่าวหาว่าตัวเลขยอดการสูญเสียในรายงาน "สูงเกินจริง"

เรียบเรียงจาก

UN again blacklists Saudi-led forces for Yemen child killings, Aljazeera, Jul. 28, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net