Skip to main content
sharethis

นับเป็นครั้งแรกที่มีประเทศจำนวนมากออกแถลงการณ์ร่วมกันในประเด็นซินเจียง เมื่อ 22 ประเทศออกแถลงการณ์ร่วมประณามจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีอื้อฉาวค่ายกักกันปรับทัศนคติที่มีข้อมูลว่ามีผู้คนถูกคุมขังนับล้านคน เรียงร้องให้จีนอนุญาตผู้แทนของสหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบ 


ที่มาภาพประกอบ: futureatlas.com (CC BY 2.0)

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่กลุ่มประเทศ 22 ประเทศที่เป็นสมาชิกหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับสูงของสหประชาชาติออกแถลงการณ์ร่วมกันเรียกร้องให้จีนยกเลิกการคุมขังผู้คนตามอำเภอใจและเลิกใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในเขตปกครองซินเจียง นอกจากนี้ 22 ประเทศยังเรียกร้องให้จีนให้ความร่วมมือกับข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติในการเข้าถึงพื้นที่ซินเจียงด้วย

จอห์น ฟิชเชอร์ ผู้อำนวยการเจนีวาขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่ามี 22 ประเทศที่ต่อว่าจีนในเรื่องการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อชาวมุสลิมในซินเจียง ฟิชเชอร์มองว่าการออกแถลงการณ์ร่วมกันเช่นนี้ไม่เพียงแค่มีความสำคัญต่อประชาชนในซินเจียงเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญกับคนทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นในการทำให้ประเทศมหาอำนาจต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ

กลุ่มประเทศที่แถลงการณ์ร่วมกันเหล่านี้ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานที่ระบุถึงการจับคนคุมขังตามอำเภอใจ การสอดแนมไปทั่วพื้นที่ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบอื่นๆ ต่อชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมเชื้อสายอื่นๆ ในซินเจียง พวกเขาเรียกร้องให้จีนอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์อิสระจากยูเอ็นเข้าถึงซินเจียงได้และขอให้ข้าหลวงใหญ่คอยให้ข้อมูลด้านสถานการณ์ต่อคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมถึงฮิวแมนไรท์วอทช์ และสื่อต่างๆ ได้รายงานเรื่องเกี่ยวกับ "ค่ายกักกันปรับทัศนคตื" ในซินเจียง ที่มีการประเมินว่าทางการจีนคุมขังผู้คนเชื้อสายอุยกูร์และชาวมุสลิมเชื้อสายตุรกีชนชาติอื่นๆ ราว 1 ล้านคนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ในค่ายกักกันมีทั้งการปลูกฝังลัทธิความเชื่อทางการเมือง, การปฏิบัติอย่างเลวร้าย และบางครั้งก็มีการทารุณกรรม มีการวางระบบสอดแนมผู้ต้องขังละปฏิบัติกับพวกเขาเหมือนเป็นอาชญากร ซึ่งทางการจีนอ้างว่าไม่ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในค่ายกักกันนี้และอ้างว่าเป็นยุทธวิธีการต่อต้านการก่อการร้ายของจีน

ทั้งนี้เมื่อเดือน มี.ค. 2562 ที่่ผ่านมา ในการพิจารณาตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มประเทศสมาชิกยูเอ็น จีนพยายามปิดกั้นไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขา มีการพยายามชักใยการพิจารณาตรวจสอบ ให้คำตอบเป็นเท็จอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องสำคัญอย่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและหลักนิติธรรม รวมถึงมีการข่มขู่ผู้แทนของยูเอ็นโดยอ้าง "เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของพวกเรา" ไม่ให้มีการเข้าร่วมเวทีหารือเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในซินเจียง

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าการที่หลายประเทศในขณะนี้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างอิสระจากตัวแทนนานาชาติสะท้อนให้เห็นว่ามีความกังขาต่อการที่รัฐบาลจีนกล่าวอ้างถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในซินเจียง ประเทศ 22 ประเทศที่ร่วมเรียกร้องในครั้งนี้ได้แก่ ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยียม, แคนาดา, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ไอซ์แลนด์, ญี่ปุ่น, แลตเวีย, ลิทัวเนีย, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ ที่กำลังพิจารณาร่วมลงนามด้วย

"รัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มเล็งเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงเรื่องความทุกข์ของผู้คนหลายล้านคนในซินเจียง จากการที่ครอบครัวแตกแยกและอาศัยอยู่ด้วยความหวาดกลัว และรัฐบาลจีนก็เชื่อว่าพวกเขาสามารถก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้คนจำนวนมากได้โดยไม่มีใครโต้ตอบ" ฟิชเชอร์กล่าว "การออกแถลงการณ์ร่วมกันในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนคิดผิดที่นึกว่าตัวเองจะสามารถหลบหนีจากการตรวจสอบพิจารณาของนานาชาติได้ในกรณีการละเมิดสิทธิฯ ในซินเจียง และการกดดันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนกว่าการละเมิดสิทธิฯ อันน่าพรั่นพรึงจะจบลง"


เรียบเรียงจาก
UN: Unprecedented Joint Call for China to End Xinjiang Abuses, Human Rights Watch, 10-07-2019
https://www.hrw.org/news/2019/07/10/un-unprecedented-joint-call-china-end-xinjiang-abuses

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net