Skip to main content
sharethis

นักวิชาการเสนองานวิจัยและมุมมองต่อบทบาท 2 มหาอำนาจแห่งเอเชีย จีนและญี่ปุ่นบนเวที “บทบาทที่เพิ่มขึ้นของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในเอเชียตะวันออกและภูมิภาคอาเซียน : ร่วมมือหรือแข่งขัน?”  

10 ก.ค.2562 งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานว่า “Asia on the Rise?” หัวข้อสำคัญใน การประชุมวิชาการนานาชาติในระดับภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (AAS-in-ASIA) เมื่อ 1–3 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ จัดโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาคมเอเชียศึกษา (Association for Asian Studies : AAS) งานนี้มีนักวิชาการชั้นนำร่วมกันเสนองานวิจัยและมุมมองต่อบทบาท 2 มหาอำนาจแห่งเอเชีย จีนและญี่ปุ่นบนเวที “บทบาทที่เพิ่มขึ้นของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในเอเชียตะวันออกและภูมิภาคอาเซียน : ร่วมมือหรือแข่งขัน?”  

ศ.ไรอัน ฮาร์ทเลย์ (Ryan Hartley) แห่งมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ประเทศญี่ปุ่น มองบทบาทของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานใน ‘เมียนมา’ มานานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะรูปของเงินทุนความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance : ODA) 

“ญี่ปุ่นมุ่งมั่นแข็งขันที่จะปฏิรูปเมียนมาโดยให้เงินช่วยเหลือ เข้าไปลงทุน แม้กระทั่งช่วยกำหนดนโยบาย เพราะเมียนมาคือโอกาสใหม่ที่สำคัญที่สุดในอาเซียน” ศ.ไรอัน ฮาร์ทเลย์ ระบุ 

นับตั้งแต่ปี 2554 ปีแรกของการปฏิรูปการเมืองในเมียนมา ญี่ปุ่นได้เพิ่มเงินช่วยเหลือและยกหนี้เงินกู้ให้ มีการส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเชิงนโยบายและสร้างเครือข่ายข้ามองค์กรในหลายระดับ ตลอดจนนำเงินเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเขตอุตสาหกรรม ที่เห็นชัดคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (Thilawa) ซึ่งญี่ปุ่นหวังจะให้เป็นประตูเชื่อมโยงสู่มหาสมุทรอินเดีย ถือเป็นกิจการชิ้นแรกที่เห็นผลสำเร็จอย่างเด่นชัดที่สุด

ความช่วยเหลือและการลงทุนทางตรง (FDI) จากญี่ปุ่น จะหลั่งไหลเข้าสู่เมียนมาต่อไปตราบใดที่เชื่อกันว่าเมียนมา เอาจริงเอาจังในการปฏิรูปประเทศเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและเสรีนิยม กระนั้นในปีหลังๆ ญี่ปุ่นพบว่าเมียนมาดำเนินการปฏิรูปไปอย่างเชื่องช้า รู้สึกไม่เป็นที่น่าพอใจ เม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นจึงหดตัวลดลง

ศ.ไรอัน มองว่า ในทศวรรษนี้ญี่ปุ่นมีโจทย์ใหม่ที่ท้าทายก็คือการต้องแข่งขัน ตัดทอน อิทธิพลกับจีนที่กำลังขยายบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างรวดเร็วมายัง อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และนี่คือโจทย์ที่นักวิชาการที่ร่วมเวทีเสวนาชวนให้หาคำตอบเช่นกัน

“การผงาดขึ้นของจีน บั่นทอนความมั่นใจของญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อบทบาทของตนเองในภูมิภาคนี้” มุมมองจาก Maki Okabe จากสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO)

Maki Okabe เล่าว่า การผงาดขึ้นมาของจีนบั่นทอนความเชื่อมั่นของญี่ปุ่นในการรักษาสถานะผู้เล่นสำคัญในภูมิภาค คำถามคือญี่ปุ่นกำลังแข่งขันกับจีนอยู่หรือไม่ และหากใช่..ประเทศไทยจะวางตัวอย่างไรกับการแข่งขันดังกล่าว

สถิติทางการค้าและการลงทุนของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปรากฎว่า เติบโตอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปี ปริมาณการค้าอยู่ในระดับแซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว ขณะที่เม็ดเงินลงทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากลัว แม้แต่ประเทศไทยที่เคยเป็นฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นมายาวนาน ก็ได้แสดงความกระตือรือร้นดึงนักลงทุนจีนเข้ามาช่วยพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเธอใช้คำว่า....นี่เป็นยุทธศาสตร์ “เหยียบเรือสองแคม” ที่ไทยให้น้ำหนักต่อทั้งจีนและญี่ปุ่นในระดับที่เท่าเทียมกัน เห็นได้จากเดือนสิงหาคม 2561 รัฐบาลไทยเชิญนักลงทุนทั้งจากจีนและญี่ปุ่นเข้ามาดูงานและแสดงศักยภาพใน EEC

Maki กล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นดูเหมือนจะยอมรับความจริงว่าศักยภาพและอิทธิพลของจีนนั้นทรงพลังเกินกว่าที่ญี่ปุ่นจะไปต่อต้านหรือแข่งขัน จึงเป็นที่มาของการทบทวนยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ของญี่ปุ่น มุ่งแสวงหาความร่วมมือกับจีนแทนที่จะแข่งขัน เราจึงเห็นโครงการความร่วมมือใหม่ภายใต้ชื่อ China and Japan’s Business Cooperation in Third Countries ที่เริ่มขับเคลื่อนที่ EEC เป็นแห่งแรกและมีแนวโน้มจะขยายผลไปยังโครงการอื่นๆ ในภูมิภาคต่อไป

อาจารย์นรุตม์ เจริญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า การแข่งขันระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจะยังไม่หมดไปตราบใดที่ภูมิภาคนี้ยังมีผลประโยชน์อันอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทั้งสองประเทศ โดยการช่วงชิงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก คือพื้นที่แห่งการแข่งขันที่เห็นได้ชัด ญี่ปุ่นมีโอกาสใช้ประโยชน์จากท่าเรือดานังของเวียดนามและท่าเรือในเขต EEC ของไทยได้มากกว่า ทำให้จีนต้องมองหาแหล่งพัฒนาแห่งใหม่ และกัมพูชาคือตัวแปรสำคัญที่จีนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาท่าเรือ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองสีหนุวิลล์ ซึ่งจีนหวังจะขยายภาคการผลิตและส่งออก 

“ถ้าจีนมี Belt and Road ญี่ปุ่นก็มี Free and Open Indo-Pacific Initiative” อาจารย์นรุตม์ มองว่าการแข่งขันยังดำเนินไปอย่างเข้มข้นในเขตตะวันตกของเมียนมาติดกับมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศต่างกำลังลงทุนพัฒนาท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมริมชายฝั่งอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) ไปสู่เอเชียใต้ต่อไป 

ศ.เดวิด เบลค จากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ นำเสนอข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของอาจารย์ นรุตม์ในแง่ของการแข่งขันสร้างอิทธิพลด้วยการให้เงินอุดหนุนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยพื้นที่การแข่งขันที่สำคัญคือ “เขื่อน” และโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำในประเทศลาว ได้รับเงินช่วยเหลือจากทั้งจีนและญี่ปุ่นในจำนวนที่มาก 

“ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้เงินและส่งผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาภาคส่วนพลังงานน้ำของลาวมายาวนาน ก่อนจะชะลอตัวลงไปเมื่อไม่นานมานี้ หลังการเข้ามาของเงินทุนและความช่วยเหลือจากจีน ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

ในภาพรวม การเติบโตของเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และนโยบายเปิดเสรีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยเร่งเร้าให้สองขั้วมหาอำนาจอย่างจีนและญี่ปุ่น ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับบริบทความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากวิสัยทัศน์ที่จีนขับเคลื่อนนโยบาย หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง อย่างต่อเนื่อง ญี่ปุ่นได้ประกาศ Free and Open Indo-Pacific Initiative หวังจะทัดทานการขยายตัวของพญามังกรในภูมิภาค

ไม่ว่าจีนหรือญี่ปุ่นจะเป็น ‘หัวขบวน’ ในการพัฒนา ประเทศไทยยังสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากนโยบายนี้ได้ในทุกทาง เห็นได้จากการพัฒนา EEC ก็มีทั้งจีนและญี่ปุ่นมาแสดงบทบาทการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งสองชาติเข้ามามีบทบาท...จึงอาจกล่าวได้ว่า ณ จุดนี้ ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยยังคงเป็นศูนย์กลางและประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้อย่างมีนัยสำคัญต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net