Skip to main content
sharethis

สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ ชี้อาเซียนภาคพื้นทวีปมีโอกาสมหาศาลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน แต่ก็ต้องคำนึงความเสี่ยง-ความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อสัมพันธ์กับจีน ที่ผ่านมาจีนลงทุนอย่างหนักในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อเป็นแหล่งป้อนทรัพยากร แต่ละประเทศย่านนี้ต้องคิดให้มากขึ้นในมิติการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย

13 ส.ค. 2558 - ในการสัมมนานานาชาติหัวข้อ "บทบาทของจีนในอาเซียนภาคพื้นทวีป" (International Seminar on China's role in mainland ASEAN) ซึ่งจัดที่อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 ส.ค. นั้น

 

ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ เตือนชาติอาเซียนคบจีนต้องคำนึงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ "จีน-อาเซียน: ความท้าทายใหม่และแนวโน้ม" ตอนหนึ่งกล่าวถึงจีนกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีแนวโน้มสัมพันธ์กันในทางเศรษฐกิจมากขึ้นในหลายมิติ โดยในปี ค.ศ. 2014 รัฐบาลจีนประกาศถึงแผนการ "เส้นทางสายไหมใหม่" (New Silk Road) ซึ่งมีวิสัยทัศน์เชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกเชื่อมเอเชียผ่านจากจีนไปสู่ยุโรป

ในด้านการค้าอาเซียนกับจีน ลงนามในสัญญาเขตการค้าเสรีมาตั้งแต่ ค.ศ. 2004 ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน และหากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ อาเซียน-จีน จะมีมูลค่าการค้าถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ใน ค.ศ. 2020

ข้อมูลในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2014 มูลค่าการลงทุนโดยตรง (FDI) ระหว่างอาเซียน-จีนอยู่ที่ 126.95 พันล้านเหรียญสหรัฐ จำแนกเป็นจีนลงทุนในอาเซียน 32.21 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอาเซียนลงทุนในจีน 91.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณามูลค่าการค้าระหว่างจีนกับชาติในอาเซียน เมื่อจำแนกรายประเทศแล้ว อันดับ 1 คือ มาเลเซีย 102 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนนำเข้าจากมาเลเซีย 55.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกไปมาเลเซีย 46.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อันดับ 2 เวียดนาม 83.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนนำเข้าสินค้าจากเวียดนาม 19.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจีนส่งออกสินค้าไปเวียดนาม 63.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อันดับ 3 สิงคโปร์ 79.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนนำเข้าจากสิงคโปร์ 30.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกไปสิงคโปร์ 48.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 4 มูลค่าการค้า 72.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนส่งออกสินค้าไปไทย 38.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากไทย 34.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสุทธิพันธ์เสนอว่า หากมีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในจีน เช่น การลดค่าเงินหยวน ประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักสุดคือประเทศที่มีปริมาณการค้ากับจีนในอันดับต้นๆ ขณะที่ไทยซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ในอาเซียนจะได้รับผลกระทบรองๆ ลงมา

ในประเด็นเรื่องความมั่นคง ปัญหาในทะเลจีนใต้ ถือเป็นความท้าทายใหม่ในภูมิภาค โดยชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโอบาม่า ประกาศยุทธศาสตร์ปักหมุดในเอเชีย (Pivot to Asia) รวมทั้งนโยบายปรับสมดุลในเอเชีย (Rebalance to Asia) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงโดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ขณะที่ญี่ปุ่น เพิ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กองกำลังป้องกันตนเอง (JSDF) สามารถปฏิบัติการทางทหารภายนอกประเทศด้วย ขณะที่ในมหาสมุทรอินเดีย ก็เริ่มเห็นการปรากฏตัวทางทหารของกองทัพเรืออินเดีย

ขณะที่จีน ซึ่งขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้นั้น หวัง ยี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เพิ่งกล่าวในที่ประชุมอาเซียนเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่มาเลเซีย ระบุว่าโครงการก่อสร้างในทะเลจีนใต้ยุติแล้ว อย่างไรก็ตามยังคงมีสิ่งก่อสร้างของจีนอยู่ในพื้นที่พิพาท

โดยสุทธิพันธ์ สรุปว่า ในขณะที่มีโอกาสมหาศาลจากการที่จีนขยายตัวเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้นและมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในความสัมพันธ์เช่นนี้

นอกจากนี้ จีนยังคงลงทุนอย่างหนักเพื่อใช้ทรัพยากรจากอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น นำเข้าก๊าซ น้ำมัน จากพม่า ลงทุนด้านการเกษตร และป่าไม้ในลาวและกัมพูชา การใช้แม่น้ำโขงสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า แผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูงจากยูนนาน ไปประเทศลาวและไทย โดยแต่ละประเทศในอาเซียนภาคพื้นทวีปต้องเพิ่มมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในมิติเช่นนี้ โดยในกรณีของพม่าจะเห็นว่ามีการใช้ทรัพยากรในทุกรูปแบบทั้งการเกษตร การลักลอบตัดไม้ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายประชากรจีนเข้าสู่พม่า

สุทธิพันธุ์กล่าวว่า การพิจารณาความสัมพันธ์กับจีนเฉพาะสถิติตัวเลข ไม่ได้บอกถึงภาพรวมอะไร ประเทศในอาเซียนต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ที่สมบูรณ์จากความสัมพันธ์กับจีนเช่นนี้ และคิดให้มากขึ้นในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างอาเซียน-จีน

ขณะเดียวกัน ความริเริ่มของจีนเรื่อง "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (One Belt, One Road) จะก่อให้เกิดผลในการพัฒนาเศรษฐกิจขนานใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างจีนและประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป ซึ่งจะมีนัยสำคัญเกี่ยวพันกับเรื่องภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากนี้จีนเองก็ยังคงเพิ่ม "โพรไฟล์" ของตัวเองในเวทีโลก อย่างเช่นการก่อตั้ง ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) ซึ่งเหมือนเป็นการท้าทายสถาบันการเงินที่มีอยู่แล้วอย่าง ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) รวมทั้ง ธนาคารโลก

 

นักวิจัยศูนย์จีนศึกษาเผยยุทธศาสตร์จีนมุ่ง GMS หวังลดช่องว่างทางเศรษฐกิจมณฑลจีนตอนใน

ในช่วงนำเสนอหัวข้อ บทบาทของประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อยุทธศาสตร์ของจีน "GMS's Roles towards China's Strategy" โดย วรรณรัตน์ ท่าห้อง นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวรรณรัตน์นำเสนอตอนหนึ่งว่า สำหรับประเทศจีนทั้งประเทศ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งประกอบด้วย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน ถือเป็นส่วนที่เล็กแต่มีความสำคัญต่อจีน โดยมีความหมายต่อมิติทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญในฐานะประตูทางออกด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 ที่เติ้ง เสี่ยว ผิง เดินทางลงพื้นที่ประเทศจีนตอนใต้ และพบปัญหาที่สำคัญหนึ่งคือช่องว่างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากระหว่างพื้นที่ติดฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจีน กับพื้นที่ตอนในของจีน รัฐบาลจีนจึงมีเริ่มที่จะพัฒนาพื้นที่ตอนใน

ขณะที่ขนาดทางเศรษฐกิจของจีนใหญ่กว่าอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) 3 เท่า นอกจากนี้จำนวนประชากร และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนก็มากกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยจากอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในด้านที่ไม่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ถือเป็นประโยชน์ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของจีน

ตอนหนึ่ง วรรณรัตน์ ยกตัวอย่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างพม่า ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ และมีเส้นทางขนส่งพลังงานเข้าสู่มณฑลยูนนานของจีน เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมในจีน เช่น ทองแดง เหล็ก ยางพารา นอกจากนี้พม่ายังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรป้อนสู่ประเทศจีน โดนวรรณรัคน์ยกตัวอย่างสวนกล้วยขนาดใหญ่ในเขตปกครองตนเองเมืองลา ในพื้นที่รัฐฉานติดกับจีน ซึ่งผลผลิตที่ได้จากสวนกล้วยดังกล่าวจะเป็นการส่งออกไปยังจีน

ในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของจีนนั้น ตั้งแต่ ค.ศ. 1992 มณฑลยูนนานของจีนอยู่ในโครงการ GMS ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ในระหว่างปี ค.ศ. 1999 - 2008 จีนลงทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ด้านตะวันตกไปแล้ว 5.124 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในปี ค.ศ. 2009 ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เยือนยูนนานและตั้งเป้าหมายให้มณฑลยูนนานเป็นประตูทางออกที่สำคัญของจีน

ทั้งนี้เฉพาะมณฑลยูนนาน มีการอนุมัติงบประมาณกว่า 80.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐาน และตั้งเป้าหมายให้ยูนนานเป็นศูนย์กลางขนส่งในปี ค.ศ. 2015 ทั้งนี้ในปัจจุบันมณฑลยูนนานมีทางหลวงหลัก 7 เส้นทาง ในจำนวนนี้เป็นทางหลวงระหว่างประเทศเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน 4 เส้นทาง

ทั้งนี้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ไม่เพียงมีความสำคัญต่อมณฑลยูนนานในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ยังสำคัญในมิติอื่นอีกด้วย โดยติดอันดับ 1 ใน 10 คู่ค้าสำคัญของจีน ทั้งนี้ความสำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) สำหรับจีน ยังช่วยลดความแตกแต่างทางเศรษฐกิจของจีนระหว่างพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจีนที่มีความมั่งคั่งกับพื้นที่ตอนใน

 

นักวิชาการศูนย์แม่โขงศึกษาให้ภาพจีนในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ และหวังแหล่งวัตถุดิบป้อนแผ่นดินใหญ่

วัชรินทร์ ยงศิริ นักวิชาการศูนย์แม่โขงศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอหัวข้อ "บทบาททางเศรษฐกิจของจีนต่อกัมพูชา" (China's economic role in cambodia) ระบุว่าที่ผ่านจีนลงทุนในพม่า เป็นมูลค่ารวมแล้ว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันจีนยังสนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งในกัมพูชา เช่น ทางหลวงหมายเลข 7 จากพนมเปญไป จ.สตึงเตรง สร้างในปี ค.ศ. 2004 แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2008 โดยจีนให้เงินกู้ 60.98 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยถนนเส้นทางดังกล่าว สำหรับกัมพูชาคือเครือข่ายถนนสายใหม่ สำหรับจีนคือการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ และแร่ธาตุจากพื้นที่ตอนในของกัมพูชา

นอกจากนี้ยังมีการสร้างรถไฟจากพนมเปญ เชื่อมกับชายแดนเวียดนามด้านตะวันออกที่ จ.เตยนิญ (Tay Ninh) ระยะทาง 230 กม. โดยงบประมาณใช้แหล่งเงินกู้จากจีนรวม 712 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นค่าสำรวจเส้นทาง 2 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้จีนยังปรับปรุงเส้นทางรถไฟสายเก่าจากพนมเปญ ไปเมืองท่าสีหนุวิลล์ เพื่อขนแร่เหล็กจากพื้นที่ตอนในด้าน จ.พระวิหาร ลงมายังท่าเรือ

นอกจากนี้ที่ จ.สตึงเตรง บริษัทจากจีนก็เข้าไปลงทุนด้านเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปสำรวจและขุดเหมืองแร่ ขณะที่ในภาพรวมจีนยังเป็นประเทศรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ทั้งนี้การค้าระหว่างจีนกับกัมพูชา จีนได้เปรียบดุลการค้าเนื่องจากมีมูลค่าส่งออกมากว่า โดยสินค้าส่งออกสำคัญของจีนคือรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องจักรกล ขณะที่กัมพูชาส่งออก สินค้าเกษตร และยางพาราไปยังจีน

ในด้านความช่วยเหลือด้านการศึกษา จีนยังสนับสนุนให้ตั้งสถาบันขงจื้อ เพื่อสอนวิชาภาษาจีนแบบจีนแผ่นดินใหญ่ และยังสนับสนุนด้านการทหารแก่กัมพูชา เช่น ในปี ค.ศ. 1993 จีนสนับสนุนอุปกรณ์การทหารแก่กัมพูชาคิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ใน ค.ศ. 2000 จีนและกัมพูชา ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือทางการทหาร และช่วยก่อตั้งโรงเรียนฝึกทหารให้กับกัมพูชาด้วย

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซ็น เคยกล่าวว่า "และเช่นเคย รัฐบาลและประชาชนจีนได้สนับสนุนกัมพูชาในการพัฒนาในทุกมิติ การลงมือในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมจะช่วยลดปัญหาความยากจนให้กับประชาชนกัมพูชา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net