Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 มีการกำหนดนโยบายให้เจ้าของซิมโทรศัพท์มือถือทุกคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอชายแดนของจังหวัดสงขลา ต้องไปลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถืออีกครั้งหนึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ต.ค.2562 ในลักษณะของ 2 แชะอัตลักษณ์ คือต้องมีการถ่ายบัตรประชาชนและต้องถ่ายรูปหน้าตาผู้ลงทะเบียนลงในโปรแกรมขึ้นทะเบียนด้วย ทั้งนี้สำหรับคนในพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องเข้าพื้นที่สามจังหวัด ก็ต้องมีการลงทะเบียนซิมแบบ 2 แชะอัตลักษณ์นี้ด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นก็จะใช้มือถือในพื้นที่ไม่ได้เช่นกัน

เหตุผลสำคัญของ กอ.รมน.ภาค 4 การออกกฏนี้ก็คือ เพื่อการระบุตัวบุคคลที่ชัดเจน และสามารถป้องปรามการนำโทรศัพท์มือถือไปจุดระเบิด หรือสามารถใช้ประกอบการสอบสวนหาผู้กระทำผิดในกรณีความไม่สงบได้มากขึ้น และรวมถึงอาชญากรรมอื่นๆ ได้  อันนี้คงไม่มีใครเถียงว่าจะช่วยลดการประกอบระเบิดด้วยมือถือได้บ้าง แต่อาจไม่ได้ลดจำนวนครั้งที่เกิดระเบิดได้เพราะยังมีเทคโนโลยีการประกอบระเบิดมากมายทั้งจากรีโมท จากการตั้งเวลา หรือทุ่นระเบิด ซึ่งไม่ต้องใช้มือถือส่งสัญญาณ

เสียงอื้ออึงจากนโยบายนี้ของ กอ.รมน.นั้นได้ดังกระหึมในพื้นที่ชายแดนใต้มานับเดือน  ส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะความไม่เห็นด้วยนี้เป็นผลพวงส่วนผสมของความรู้สึกของคนชายแดนใต้ที่ถูกกฏ กติกา ตีตราโดยรัฐฝ่ายเดียวมาตลอด ถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐมาตลอด และเจ้าหน้าที่รัฐก็มีอคติต่อคนมุสลิมในพื้นที่มายาวนาน นอกจากนี้บางส่วนก็รู้สึกว่าเป็นมาตรการที่ขี่ช้างจับตั๊กแตน คนส่วนใหญ่ยุ่งยากแต่ได้ผลน้อยมาก หรือรู้สึกไม่มั่นใจในเรื่อง privacy หรือความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ลงทะเบียนไป ว่าจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อการอื่นๆ

สภาพกึ่งสงครามจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ที่เรื้อรังมาร่วม 15 ปีแล้วนั้น สถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มจะสงบโดยง่าย ทั้งนี้เพราะรากฐานปัญหานั้นไม่ใช่สถานการณ์การก่อการร้ายแยกดินแดน แต่คือความรู้สึกที่ถูกเลือกปฏิบัติและไม่มีความเป็นธรรม การสร้างสันติภาพชายแดนใต้ที่ยั่งยืน จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยมิติความมั่นคงเท่านั้น แต่ต้องสร้างความรู้สึกที่ดีของพลเมืองในชายแดนใต้ว่า “ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมด้วยความเป็นนิติรัฐที่เชื่อมั่นได้ของรัฐไทย” 

กรณี 2 แชะอัตลักษณ์นี้ หากนำนโยบายนี้มาบังคับใช้เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงโดยไม่แก้ปมความรู้สึกของคนชายแดนใต้นั้น ก็เป็นสิ่งที่สุ่มเสี่ยงที่คนทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่ผู้ร่วมขบวนการจะเกิดความรู้สึกขุ่นเคืองได้ แก้ปัญหาหนึ่งได้ อาจนำมาซึ่งความยืดเยื้อเรื้อรังของปัญหาใหญ่ก็เป็นไปได้  

กอ.รมน.นั้นได้อ้างระเบียบของ กสทช. ที่เป็นระเบียบที่ออกมาประกาศใช้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 โดยบังคับใช้กับประชาชนทั้งประเทศ แต่ไม่มีการบังคับใช้จริง ดังนั้นการที่จะนำระเบียบ กสทช.มาอ้างเพื่อเลือกปฏิบัติเฉพาะสามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลานั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง  ส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาการใช้ซิมโทรศัพท์ก่ออาชญากรรม การบังคับแต่คนชายแดนใต้ก่อนใครจึงตอกย้ำความรู้สึกไม่เป็นธรรมถึงความเป็นคนชั้นสองที่พลเมืองคนชายแดนใต้รู้สึกมาตลอด

หากจะบังคับให้คนชายแดนใต้ต้องลงทะเบียนซิมโทรศัพท์โดยกลไก 2 แชะอัตลักษณ์ ทางรัฐบาลและ กอ.รมน.ควรที่จะบังคับใช้ทั่วประเทศให้เท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เกิดความรู้สึกที่เป็นธรรม รัฐไทยยืนยันความเป็นรัฐเดี่ยวมิอาจแบ่งแยกได้มาตลอด แล้วทำไมนโยบาย 2 แชะอัตลักษณ์จึงแบ่งแยกจังหวัดชายแดนใต้จากประเทศไทยส่วนอื่น  

นโยบาย 2 แชะอัตลักษณ์ ไม่ได้มีปัญหาหลักๆ ในเชิงเหตุผลและความเหมาะสม เป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยป้องปรามอาชญากรรมได้  แต่ปัญหาอยู่ที่การเลือกปฏิบัติกับเฉพาะพลเมืองคนชายแดนใต้  การลดระดับความรุนแรงและสร้างบรรยากาศของสันติภาพ ต้องใส่ใจกับการเคารพสิทธิและสร้างความรู้สึกเชิงบวกกับรัฐไทย คนชายแดนใต้ต้องไม่ถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสอง 

2 แชะอัตลักษณ์ จะต้องไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ หากจะบังคับใช้จริงต้องประกาศบังคับใช้ให้เท่าเทียมทั้งประเทศ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net