Skip to main content
sharethis

นิลส์ เมลเซอร์ ผู้รายงานพิเศษประเด็นการทารุณกรรมจากสหประชาชาติเปิดโปงการเซนเซอร์และโฆษณาชวนเชื่อในการรายงานข่าวเกี่ยวกับจูเลียน อัสซาจน์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้ เขาเคยพูดถึงเรื่องที่อัสซาจน์เหมือนจะถูกทารุณกรรมทางจิตใจและข่มเหง แต่กลับถูกปฏิเสธจากสื่อตะวันตกใหญ่ๆ หลายแห่งทำให้น่าสงสัยว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลัง

นิลส์ เมลเซอร์ (ที่มา: UN Photo/Eskinder Debebe)

3 ก.ค. 2562 ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว นิลส์ เมลเซอร์ ผู้รายงานพิเศษประเด็นการทารุณกรรมจากสหประชาชาติ (UN) เขียนบทความแสดงความคิดเห็นที่ชื่อ "กระชากหน้ากากการทารุณกรรมจูเลียน อัสซาจน์" เนื่องในวันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล (International Day in Support of Victims of Torture) 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา เขาส่งบทความให้กับสื่อตะวันตกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นเดอะ การ์เดียน เดอะไทม์ส ไฟแนนเชียลไทม์ส ซิดนีย์มอร์นิงแฮร์รัลด์ ดิออสเตรเลียน แคนเบอร์ราไทม์ส เทเลกราฟ นิวยอร์กไทม์ วอชิงตันโพสต์ สื่อในเครือมูลนิธิธอมป์สัน รอยเตอร์ และนิวส์วีค แต่สื่อเหล่านี้ไม่ยอมตีพิมพ์เผยแพร่บทความของเขาเลย

นั่นทำให้เมลเซอร์ผู้ที่เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลกในด้านกฎหมายกับการทารุณกรรมต้องเผยแพร่บทความของตัวเองลงในเว็บบล็อก Medium แทน เมลเซอร์ยังให้สัมภาษณ์ต่อรัสเซียไทม์สว่าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ปฏิเสธเขาด้วยหลายเหตุผล บางสำนักให้เหตุผลว่า "มันไม่เป็นเรื่องยอดนิยมมากพอสำหรับวาระข่าวของพวกเขา" บางสำนักให้เหตุผลว่า "มันไม่ได้เป็นขอบข่ายความสนใจหลักๆ ของพวกเขา"

เมลเซอร์กล่าววิจารณ์ท่าทีของสื่อเหล่านี้ว่า ผู้บริหารสื่อเหล่านี้ยินดีที่จะตีพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวของอัสซาจน์ก็ต่อเมื่อมันเป็นเรื่อง "แมวของเขา สเก็ตบอร์ดของเขา และ... ข้อกล่าวหาที่ว่าเขาป้ายของอุจจาระบนกำแพง... แต่เมื่อคุณมีงานชิ้นที่จริงจังที่พยายามถอดหน้ากากเรื่องเล่าทั่วไปในสังคมและนำเสนอข้อเท็จจริงในนั้น พวกเขากลับไม่สนใจ"

เรื่องนี้ทำให้สื่อเวิร์ลโซเชียลลิสต์ระบุว่าสื่อรัฐบาลตะวันตกและสื่อบรรษัทต่างๆ ต่อต้านอัสซาจน์เพราะเขาเปิดเผยหลักฐานอาชญากรรมสงครามของสหรัฐฯ ในสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สื่อเหล่านี้ไม่นำเสนอ

บทความของเมลเซอร์มีความสำคัญในเรื่องการเปิดโปงให้เห็นผลกระทบจากสื่อในการ "สังหาร" ภาพลักษณ์ตัวบุคคลของอัสซาจน์ จากกระบวนการใส่ร้ายป้ายสีซึ่งเผยแพร่ออกมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เมลเซอร์บอกว่า อัสซาจน์ "ไม่ใช่คนก่อเหตุข่มขืน" "ไม่ใช่แฮกเกอร์" แล้วก็ "ไม่ใช่สายลับจากรัสเซีย" ไม่ได้แม้กระทั่งเป็น "คนเห็นแก่ตัวหลงตัวเอง" แบบที่หัวหน้าผู้พิพากษา เอ็มมา อาร์บุธน็อต กล่าวหาไว้ในคำตัดสินเรื่องการฝ่าฝืนการประกันตัว

เมลเซอร์ระบุว่าตัวเขาเองก็เคยเชื่อ "โฆษณาชวนเชื่อ" ทำลายภาพลักษณ์อัสซาจน์มาก่อนเหมือนกัน แต่ต่อมาเขาก็มองว่ามันเป็นการพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่อัสซาจน์เปิดโปง "ครั้งหนึ่งเขาถูกลดทอนความเป็นมนุษย์จากการทำให้โดดเดี่ยว ถูกเย้ยหยันทำให้อับอาย เหมือนกับแม่มดที่พวกเราเคยจับมัดไว้กับเสาแล้วเผา มันง่ายที่จะลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของเขาโดยไม่กระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจจากประชาชนทั่วโลก"

เมลเซอร์สรุปว่า "มันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองอัสซาจน์เท่านั้น แต่เป็นการป้องกันเหตุล่วงหน้าในสิ่งที่อาจจะกลายเป็นการตอกฝาโลงให้กับประชาธิปไตยตะวันตก ... เพราะเมื่อการพูดความจริงกลายเป็นอาชญากรรม ในขณะที่คนมีอำนาจลอยนวลไม่ต้องรับผิด มันก็สายเกินไปแล้วที่จะกลับมาสู่หนทางที่ถูกต้อง พวกเราจะสูญเสียการแสดงความคิดเห็นของพวกเราให้กับการเซนเซอร์ และชะตากรรมของพวกเราจะตกอยู่ภายใต้ทรราชที่ไร้การควบคุม"

เวิร์ลด์โซเชียลลิสต์เว็บไซต์ยังกล่าวหาผู้บริการระดับสูงและกรรมการตรวจสอบสื่อตะวันตกต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการคัดกรองเนื้อหาสื่อ เช่น เดอะการ์เดียนเคยมีกรณีที่นักข่าวอิสระเปิดโปงว่ารองหัวหน้ากองบรรณาธิการ พอล จอห์นสัน ผู้ที่เป็นกรรมการที่ปรึกษาสื่อด้านการกลาโหมและความมั่นคง (D-Notice) ของกระทรวงกลาโหมอังกฤษเป็นคนที่เคยลงมติคัดค้านการตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวที่จะทำความเสียหายต่อฝ่ายความมั่นคงอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงชื่อของบุคคลในสื่ออีกหลายแห่งที่เป็นคณะกรรมการ D-Notice กระจายไปเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสื่อต่างๆ ตั้งแต่ไทม์สไปจนถึงฮัฟฟิงตันโพสต์

ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าหลังจากวันที่ 14 มิ.ย. เป็นต้นมาก็มีข่าวของจูเลียน อัสซาจน์น้อยลงมากหลังจากที่ผู้พิพากษาประกาศว่าจะให้มีการพิจารณาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้สหรัฐฯ ภายในเดือน ก.พ. ปีหน้า ซึ่งเวิร์ลด์โซเชียลลิสต์ตั้งข้อสงสัยว่าข้ออ้างเรื่องว่าข่าวเกี่ยวกับอัสซาจน์ไม่ใช่วาระข่าวที่ได้รับความนิยมจะถูกใช้เพื่ไม่ให้ผู้คนเผยแพร่ความรู้หรืออภิปรายกันเรื่องกฎหมายจารกรรมที่ถูกนำมาอ้างใช้ฟ้องร้องอัสซาจน์ โดยที่ข้อหาของอัสซาจน์อาจจะทำให้เขาต้องโทษจำคุกยาวนาน 175 ปี หรือแม้กระทั่งประหารชีวิต และการลงโทษเช่นนี้จะกลายเป็นภัยต่อเสรีภาพสื่อ

กรรมการบอร์ดนานาชาติของเวิร์ลด์โซเชียลลิสต์ยังเคยออกแถลงการเรียกร้องให้มีปฏิบัติการจากทั่วโลกยับยั้งไม่ให้มีการส่งตัวจูเลียน อัสซาจน์ ให้สหรัฐฯ และขอให้ร่วมมือกับพรรคสังคมนิยมเท่าเทียมของอังกฤษซึ่งเคยเรียกร้องเสรีภาพให้กับอัสซาจน์รวมถึงเสรีภาพสื่อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้เมลเซอร์เคยกล่าวว่าอัสซาจน์มีอาการแบบเดียวกับคนที่ถูกทารุณกรรมทางจิตใจ โดยบอกว่ามี "การจงใจและสมคบคิดร่วมกันในการข่มเหงทำร้ายเขามาเป็นเวลาหลายปี" และระบุว่าอัสซาจน์มีอาการวิตกกังวลและกลัดกลุ้ม รู้สึกว่าตกอยู่ภายใต้อันตรายจากรอบตัว

เรียบเรียงจาก

UN Rapporteur on Torture Nils Melzer exposes propaganda and censorship in Assange reporting, WSWS, Jun. 1, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net