Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


นักเขียนซีไรท์ท่านหนึ่งโพสในเฟซบุ๊กว่า หลายประเทศในตะวันตกรณรงค์ให้ลดการใช้คำพูดที่รุนแรงสร้างความเกลียดชังหรือ “hate speech” ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การใช้เฮตสปีชในโลกโซเชียลอย่างจริงจัง เพื่อสร้างกระแสให้สังคมปฏิเสธการใช้เฮตสปีช

ผมแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่สังคมก้าวหน้าเขาวิพากษ์วิจารณ์ “hate speech” ด้วยเหตุผล เพราะเขาเห็นคุณค่าของ “free speech” หรือ “เสรีภาพในการพูด” เขาจึงไม่คิดว่าจะต้องเอาผิดทางกฎหมายหรือไล่คนออกนอกประเทศ เพียงเพราะใช้เฮตสปีชที่ไม่ก่ออันตรายทางกายภาพต่อบุคคลอื่น หรือไม่ทำอันตรายต่อสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น 

ดังนั้น เขาจึงยืนยันเสรีภาพในการพูดอย่างสูงสุดตามหลักการที่ว่า “ถึงฉันจะเกลียดสิ่งที่คุณพูดมากเพียงใด ฉันก็จะปกป้องสิทธิที่จะพูดของคุณด้วยชีวิต” เมื่อยึดหลักการนี้ จึงควรวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลหรือประณามการใช้เฮตสปีชเท่านั้น ไม่ต้องเอาผิดทางกฎหมายหรือไล่คนที่ใช้เฮตสปีชออกไปจากสังคม ตราบที่เขาไม่ได้ทำ “อันตรายทางกายภาพ” หรือบังคับข่มขืนจิตใจใครที่เป็นการก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

โดยหลักเสรีภาพในการพูด มันจึงไม่ใช่ว่าคำพูดที่เราไม่ชอบ คำด่า โจมตี ประณาม หรือคำพูด ข้อเขียน การแสดงออกอื่นใดที่เราเห็นว่าน่ารังเกียจมันได้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเราแล้ว (อย่างที่ชอบคิดแบบนี้กันมากในบ้านเรา) เพราะลำพังเพียงคำพูด ตัวหนังสือ หรือการแสดงออกมันยังไม่ถือว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเราได้ หากมันยังไม่ได้มีความหมายเป็น “การกระทำ” ที่อาจเกิดอันตรายต่อสิทธิและเสรีภาพของเราขึ้นจริง

คำพูดจะมีความหมายเป็น “การกระทำ” ที่ละเมิดเราได้ มันย่อมขึ้นกับ “บริบท” หรือที่จริงคือบริบทเป็นตัวกำหนดความหมายของมัน เช่น ถ้าเราไปตระโกนคำโกหกในโรงหนังว่า “ไฟไม้ๆ!” นี่ไม่ได้มีความหมายเป็นเพียง “การพูดโกหก” เท่านั้น แต่มีความหมายเป็น “การกระทำ” ที่อาจก่ออันตรายทางกายภาพแก่ผู้อื่น เพราะอาจทำให้ผู้คนแตกตื่นวิ่งเหยียบกันตายได้ และคนที่ไปตระโกนเช่นนั้นย่อมมีจุดประสงค์ที่จะ “กระทำ” ให้เกิดความชุลมุนวุ่นวายขึ้น

เช่นเดียวกัน เมื่อเราโจมตีบุคคลใดในทางการเมืองด้วยคำพูดสร้างความเกลียดชังแล้วโชว์รูปภาพ ระบุที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เส้นทางสัญจรของเขาเป็นต้น นี่ย่อมไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงการพูดหรือการแสดงออกตามหลักเสรีภาพ แต่มีความหมายเป็น “การกระทำ” ที่อาจเป็นอันตรายต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นได้ ในกรณีเช่นนี้รัฐหรือสังคมย่อมมีสิทธิ์ระงับการกระทำเช่นนั้นของเราที่อาจเป็นอันตรายต่อคนอื่นได้

ทำไมเราจึงควรปกป้องเสรีภาพในการพูดหรือการแสดงออกแม้ในสิ่งที่เราไม่ชอบหรือเกลียด เหตุผลมีมากมาย เช่น เสรีนิยมสายคานท์ถือว่า เสรีภาพในการพูด(และเสรีภาพด้านอื่นๆ) เป็น “สิ่งมีคุณค่าในตัวมันเอง” เราไม่ได้ปกป้องเสรีภาพเพื่อปกป้องอารมณ์ความรู้สึกของเรา (ที่ไม่อยากฟังสิ่งที่ไม่ชอบ) หรือเพื่อความสงบสุขของส่วนรวมและเป้าหมายอื่นใด แต่เราปกป้องเสรีภาพเพราะเราเคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของตัวเองและทุกคนเสมอกันในการที่จะได้พูดในสิ่งที่อยากพูด ได้ฟังสิ่งที่อยากจะฟัง หากจะมีคำพูดที่เราไม่อยากฟัง เราก็เชื่อว่าตัวเราเองและทุกคนมี “วุฒิภาวะ” พอที่จะรับมือกับคำพูด การแสดงออกที่ไม่น่าฟังใดๆ ได้ ตราบที่มันไม่เป็นอันตรายทางกายภาพแก่ใคร การปิดกั้นเสรีภาพในการพูดจึงเป็นการไม่เคารพวุฒิภาวะเช่นนี้ของเราทุกคน

เพื่อนอาจารย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งเคยพูดทำนองว่า “บอกความจริงผมมาสิว่าปัญหาการสอนนักศึกษาของผมมันคืออะไร คุณไม่ต้องกลัวว่าผมจะไม่พอใจหรือโกรธ ผมโตแล้ว เรื่องอารมณ์ตัวเองผมรับผิดชอบเองได้ แต่การรับรู้ความจริงเป็นสิทธิของผมที่ควรถูกเคารพ” นี่คือเหตุผลที่แสดงถึง “การเคารพตัวเอง” คนที่เคารพตัวเองย่อมจะรู้ว่า คำพูดที่เราไม่อยากฟังหรือแม้แต่เฮตสปีชก็อาจมีความจริงอยู่ ขณะที่คำพูดสุภาพไพเราะอาจเต็มไปด้วยการโกหกตอแหลได้เช่นกัน 

ดังนั้น เราจึงต้องปกป้องเสรีภาพในการพูด เพราะเราเคารพความเป็นคนของตนเองและทุกคนเสมอกันที่จะได้พูด ได้ฟัง หรือรับรู้เรื่องใดๆ ไม่ว่าจะร้ายหรือดี บนความรับผิดชอบในการรับมือกับเรื่องนั้นๆ ด้วยตัวของเราเอง 

ในทัศนะของเสรีนิยมสายคานท์ เฮตสปีชใดๆ ไม่อาจทำลาย “ความนับถือตัวเอง” ของเราได้ เพราะตัวตนความเป็นมนุษย์ของเราเป็น “อิสระ” จากเงื่อนไขภายนอกใดๆ แม้กระทั่งสถานภาพทางสังคมของเราเอง ดังนั้น การด่า ประณามสถานะ บทบาท หรือการกระทำในฐานะเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของนาย ก จึงไม่อาจกระทบต่อตัวตนความเป็นมนุษย์ของนาย ก ที่เป็นเจ้าของสิทธิและเสรีภาพได้ แต่การยึดอำนาจและใช้กฎหมายขัดหลักนิติรัฐจัดการเอาผิดนาย ก ต่างหากที่เป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์ที่เป็นเจ้าของสิทธิและเสรีภาพของเขาอย่างร้ายแรง

แต่ก็ตลกที่บ้านเราดราม่ากันว่า “ด่านายกฯ” คือ “ด่าประเทศ” ด่าการแสดงออกผิดหลักการของนายพลคนหนึ่งคือ “ด่ากองทัพ” แต่มองการยึดอำนาจและใช้กฎหมายที่ขัดหลักนิติรัฐเล่นงานนายกฯ อีกคนเป็นการ “ทำเพื่อประเทศ” ไปๆ มาๆ ก็ไม่รู้ว่าประเทศคืออะไรแน่ เพลง “ประเทศกูมี” ด่าเผด็จการแท้ๆ ก็แถไปว่า “ด่าประเทศ” ไม่งงกับการแถซ้ำซากของตัวเองกันบ้างเลยหรือ

จะว่าไปลึกๆ แล้วสังคมเราขาดค่านิยม “เคารพความเป็นมนุษย์” หรือเคารพสิทธิเสรีภาพอย่างลึกซึ้งจริงจัง เราจึงนับถือตัวเองและนับถือกันและกันไม่ได้จริงๆ ทั้งระบบอำนาจรัฐและวัฒนธรรมทางสังคมมันจึงเละเทะมากขึ้นทุกวัน ท่องคำว่า “คนดี, ศีลธรรม, ความซื่อสัตย์, ไม่โกง” แต่การกระทำตรงกันข้ามและตรวจสอบไม่ได้ กลุ่มคนที่ผูกขาดอำนาจในระบบเช่นนี้นอกจากจะเหยียบย่ำความเป็นคนของคนประชาชนแล้ว ยังขาดความเคารพความเป็นคนของตัวเองอีกด้วย

ส่วนเหตุผลของเสรีนิยมสายประโยชน์นิยมถือว่า การปิดกั้นเสรีภาพในการพูด คือการ “ปล้นความจริง” ปล้นโอกาสและความก้าวหน้าของมนุษยชาติ เช่น การที่สังคมเราพูดความจริงของปัญหาการเมืองทุกด้าน ทุกแง่มุมไม่ได้ ก็เสมือนตกอยู่ในสภาพบังคับให้ความจริงถูกปล้น เท่ากับโอกาสในการแก้ปัญหาและการสร้างความก้าวหน้าของประชาธิปไตย “อย่างสันติ” ถูกปิดกั้นไปด้วย เพราะไม่สามารถนำความจริงของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทุกด้านมาอภิปรายถกเถียงและหาฉันทามติร่วมกันภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์ได้

การไม่มีเสรีภาพในการพูด จึงทำให้ความจริง ความชอบธรรม ศีลธรรม ประโยชน์ส่วนรวมเป็นเรื่องของ “อำนาจนิยม” สุดโต่ง เพราะขึ้นอยู่กับคนกลุ่มใดมีอำนาจกำหนดว่าอะไรคือความจริง ความชอบธรรม ถูกหรือผิดศีลธรรม และอะไรควรถือว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวม

ตัวอย่างชัดๆ เช่น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรย้าย “ถวิล เปลี่ยนสี” ถูกถอดจากตำแหน่งนายกฯ เลย แต่ยุคนี้ “กรรมการสรรหา สว.ได้รับการแต่งตั้งเป็น สว.เสียเอง” ยังไม่นับการใช้ ม.44 ย้ายข้าราชการอีกไม่รู้เท่าไร แต่บรรดาสื่อและนักศีลธรรมที่เคยโจมตีปัญหาศีลธรรมของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ก็ยังหลับหูหลับตาเชียร์เผด็จการต่อไปด้วยเหตุผลว่า เขาเป็น “คนดี ซื่อสัตย์ ไม่โกง” แถมกวีธรรมบางคนที่ชอบอ้าง “ธรรมคืออำนาจ” และวิจารณ์ศีลธรรมนักการเมืองมาตลอด ก็ถูกตั้งเป็น สว.ยกมือหนุนการสืบทอดอำนาจหน้าตาเฉย

พูดรวมๆ คือ เพราะปัญหาระดับพื้นฐานที่สุดของสังคมไทยคือ “การไม่มีเสรีภาพในการพูด” นี่แหละที่ทำให้รัฐประหารเกิดขึ้นได้เสมอ เกิดประวัติศาสตร์ล้อมปราบประชาชนกลางเมืองหลวงครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่มีผู้มีอำนาจสั่งสังหารประชาชนรับผิดชอบใดๆ เลย และจนถึงทำให้สังคมไทยมีวันนี้ วันที่ยังเต็มไปด้วยการล่าแม่มด ไล่คนคิดต่างออกนอกประเทศ มีนักโทษการเมือง นักโทษทางความคิด มีระบบการศึกษาที่บังคับยัดเยียดปลูกฝังอุดมการณ์รัฐที่เน้นทัศนคติสยบยอมเชื่อฟังชนชั้นปกครอง มากกว่าจะเน้นอุดมการณ์ ค่านิยม วัฒนธรรมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

การไม่มีเสรีภาพจึงทำให้เราสูญเสีย “สามัญสำนึก” ในการเคารพความความเป็นมนุษย์ของตนเองและทุกคนเสมอกัน ทำให้สังคมเราเป็นสังคมที่คนไม่เคารพตนเองและเชื่อถือกันและกัน ความจริง ความชอบธรรม ศีลธรรมถูกปล้นหรือถูกทำให้ไร้ความหมาย โอกาสการสร้างประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า สร้างสังคมที่มีความยุติธรรมด้านต่างๆ ถูกปล้นไป หรือถูกปิดกั้นโดยกลุ่มอำนาจนิยมที่ยกตัวเองเป็น “ชาติ” เป็น “ส่วนรวม” เป็น “เสาหลักศีลธรรม” ของชาติ ทำให้เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคล แต่ “ความรัก-ไม่รัก” ชนชั้นปกครองที่ควรเป็นเรื่องส่วนบุคคลกลายเป็นเรื่องสาธารณะ หรือเป็นเรื่องส่วนรวมไป

ดังนั้น การไม่มีเสรีภาพจึงทำให้เราสูญเสียมากกว่าที่คิด เพราะการไม่มีเสรีภาพคือ “ปัญหาแกนกลาง” ที่ทำให้สังคมการเมืองไทยตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของรัฐประหารไม่มีวันสิ้นสุด การปิดกั้นเสรีภาพจึงเป็นการปล้นความเป็นมนุษย์ ปล้นสิทธิหน้าที่ทางการเมืองของพลเมือง และปล้นศีลธรรมจากมโนสำนึกและการกระทำของประชาชน ที่เหลืออยู่มีเพียงศีลธรรมการแสดง หรือศีลธรรมอำนาจนิยม ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อไปวันๆ เท่านั้นเอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net