Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อนาคตประชาธิปไตย เศรษฐกิจการเมืองไทยหลังครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร คสช ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่างซึ่งยังมีความไม่แน่นอนหรือขึ้นอยู่กับตัวแปรบางส่วน ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมทั้งภายในและภายนอกประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องแก้ปัญหาภายใต้หลักนิติรัฐ ใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นกลไกหาทางออกให้บ้านเมือง ไม่ใช้การรัฐประหารหรืออำนาจนอกระบบ เพราะการแก้ปัญหาด้วยวิธีการนอกกฎหมายและการใช้กำลังจะนำพาประเทศไปสู่วังวนของวิกฤติซ้ำซาก 

ภายใต้ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะทำให้ภาคการลงทุนชะลอตัว เงินทุนไหลออกเพิ่มเติม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลงได้ ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ที่ระดับ 2.8% ต่ำที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส การชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคส่งออกและภาคการลงทุน สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศจะดีกว่านี้หากประเทศเราจัดการเลือกตั้งได้อย่างเสรีและเป็นธรรม สามารถจัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้ในทันทีหลังทราบผลการเลือกตั้งที่ไม่บิดเบือน การเมืองเปลี่ยนผ่านจากระบอบรัฐประหาร ไปสู่ ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ แล้วสถานการณ์ควรจะค่อยๆคลี่คลายดีขึ้นในอนาคต ซึ่งมีความจำเป็นต้องผลักดันรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยต่อไป  

ความยืดเยื้อของการประกาศผลเลือกตั้งก็ดี ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลก็ดีล้วนไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เมื่อปะติดปะต่อข้อเท็จจริงต่างๆและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้ระบอบรัฐประหาร คสช ทำให้เราเชื่อได้ว่า การวางแผนและสมคบกันอย่างเป็นระบบเพื่อนำประเทศเข้าสู่สถานการณ์รัฐประหารและมีการวางแผนสืบทอดอำนาจ และ สถาปนาระบอบการปกครองกึ่งประชาธิปไตยกึ่งอำนาจนิยม ย้อนประเทศถอยหลังกลับไปสู่เช่นเดียวกับยุคทศวรรษ 2510 (ระบอบถนอม ประภาส) และ ช่วงทศวรรษ 2520 (ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ สมัย พล.อ. เกรียงศักดิ์ พล.อ. เปรม) เพราะผู้มีอำนาจรัฐส่วนหนึ่งเห็นว่า ระบอบแบบครึ่งๆกลางๆ กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย เหมาะกับประเทศไทยมากกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ระบอบการปกครองกึ่งประชาธิปไตยกึ่งอำนาจนิยมดังกล่าวไม่สอดคล้องกับพลวัตของโลกในศตวรรษที่ 21 และ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเสริมสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในสังคมไทย     

ทั้งที่โดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยนั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในระยะเวลา 15-20 ปี หากเราสามารถมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง มีเสถียรภาพ ไม่มีการรัฐประหาร ไม่มีการบิดเบือนหลักนิติรัฐนิติธรรม มีความเป็นธรรมที่ช่วยลดความขัดแย้งรุนแรงลงได้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทยเอง

ประเทศไทยมีศักยภาพด้วยตำแหน่งทางภูมิยุทธศาสตร์ที่เราอยู่ใจกลางของประชาคมอาเซียน ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน Supply chain และ Logistics หากเรามีระบอบประชาธิปไตยที่มีความต่อเนื่องมั่นคง หลังทศวรรษแห่งความขัดแย้งและความเสื่อมถอย เราควรช่วยกันคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย   

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทย ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าของทุน กับ แรงงานรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรายย่อยปราศจากที่ดินทำกิน มหาเศรษฐี 100 อันดับแรกของไทยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยของประเทศทรัพย์สินและความมั่งคั่งไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยและหนี้สินต่อครัวเรือนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจึงติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับสามรองมาจากอินเดียและรัสเซีย ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย สถาบันการเงินเครดิตสวิส ได้เคยออกรายงานความมั่งคั่งของโลก ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลกโดยคนรวย ที่มีสัดส่วน 1% ของประชากร ครอบครองความมั่งคั่งสูงถึง 58% ของระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ข้อมูลของโครงสร้างเงินฝากในระบบสถาบันการเงินยังพบว่า คนรวย 0.1% หรือ 65,000 คน จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน มีเงินฝากเท่ากับ 49% ของเงินฝากทั้งระบบ กลุ่ม 10% แรกของประชากร เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ 

มหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยมีสัดส่วนทรัพย์สินเทียบกับจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 30% ( มีทรัพย์สินทั้งหมด 4.32 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2560 และ สัดส่วนทรัพย์สินต่อจีดีพียังเพิ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2561 และแนวโน้มสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ภายใต้รัฐบาล คสช หมายความว่า มีคนเพียง 50 คนที่ถือครองทรัพย์สินมากกว่า หนึ่งในสี่ ของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด  

ตนเชื่อว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและทรัพย์สินนี้น่าจะรุนแรงกว่าตัวเลขที่ปรากฎเผยแพร่เนื่องจากเราไม่สามารถสำรวจข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลการถือครองทรัพย์สินของกลุ่มประชากรที่มีรายได้และถือครองทรัพย์สินสูงสุด 5-10% ได้อย่างครบถ้วน ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์นี้จะนำมาสู่ความยุ่งยากในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอนาคต  การลดอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจจะทำให้สถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเคลื่อนตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน แม้นเป็นเรื่องที่แก้ไขยากและต้องใช้เวลา และ ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยจะทำให้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรมีการกระจายตัว มีการตรวจสอบถ่วงดุล 

สภาวะความเหลื่อมล้ำอย่างมากได้ทำลายศักยภาพของประเทศและคนไทยส่วนใหญ่ ทำให้ขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดรายได้และไร้ซึ่งทรัพย์สินและการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลง ตกอยู่ในวังวนของ ธนาธิปไตย และ ระบอบรัฐประหาร รัฐธรรมนูญปี 2560 และ การเลือกตั้งที่ผ่านมายังไม่ได้มีผลต่อการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะลดลงภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยและหลักการกระจายอำนาจที่มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุด พรรคการเมืองได้แข่งขันในการจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชน  รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดอำนาจผูกขาดและเพิ่มการแข่งขัน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เพิ่มสวัสดิการ ลดการรั่วไหลและการทุจริตงบประมาณช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ปฏิรูปภาษีด้วยการเพิ่มภาษีทรัพย์สิน ดำเนินการผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องคำนึงถึงการกระจายโอกาสและการกระจายผลประโยชน์ไปยังประชาชนส่วนใหญ่ด้วย และ ควรศึกษาการเก็บภาษีลาภลอยเพื่อนำผลประโยชน์ส่วนเกินที่ได้จากการลงทุนจากงบประมาณของรัฐไปพัฒนาพื้นที่อื่นๆของประเทศด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ลง ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 

ความเป็นจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือ หลังการเลือกตั้งระบอบการเมืองของประเทศไทยจะยังไม่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้กติกาสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้วุฒิสภาและองค์กรอิสระที่ยังไม่ยึดโยงกับประชาชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หากต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอันเป็นหลักประกันพื้นฐานต่อความมั่นคงและความก้าวหน้าของประเทศ, หลักประกันพื้นฐานต่อสิทธิเสรีภาพ, สิทธิมนุษยชนและคุณภาพชีวิตของประชาชน ความยุติธรรมและหลักการปกครองโดยกฎหมาย (นิติรัฐ)

หลัง 5 ปีแห่งการรัฐประหาร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง และ ทุกภาคส่วนจะช่วยหาทางออกให้กับบ้านเมืองไม่กลับไปสู่วังวนของวิกฤตการณ์ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองอีก และคาดหวังว่า รัฐสภาจะเลือกนายกรัฐมนตรีให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนและจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศต่อไป  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net