Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ Do You Believe in Reality ? ”---- วิทยาศาสตร์กลายเป็นศาสตร์หนึ่งที่บทบาทกับสังคม อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นความจริงสูงสุดของยุคสมัยก็ว่าได้ แต่ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์เริ่มถูกตั้งคำถามถึงที่มาของความรู้ เช่นที่กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (Science and Technology Studies) หรือ STS คือ การศึกษาเกี่ยวกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคม (Edge, 1995, pp.3-24)  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาถือเป็นการศึกษาแขนงใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นเป็นต้นมา เพราะกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้กับโครงการพัฒนาทั้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและนอกประเทศ

งานที่ถือว่ามีอิทธิพลกับแนวทางการศึกษาของกลุ่ม STS คือ The Structure of Scientific Revolution ของ Thomos Kuhn ในงานของ Kuhn(1962) ได้กล่าวถึงนับตั้งแต่คริสตวรรษที่ 17 -18  เป็นต้นมา เกิดการปฏิวัติความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่จนทำให้ศาสตร์ในสาขาดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม การเมือง และนโยบายสาธารณะอย่างแนบแน่น

กระทั่งในเวลาต่อมาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ถูกตั้งคำถามเรื่อยมาจากนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์โดยเฉพาะกลุ่มสำนักหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) อย่างเช่น ปิแยร์ บูร์ดิเยอ(Pierre Bourdieu) ชี้ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นวงการ(field)หนึ่งที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสถาบัน วงการดังกล่าวเป็นเหมือนพรมแดนของการต่อสู้(field as the playing field) เพื่อเอาชนะคู่ตรงข้ามเพื่อกลายเป็นชนชั้นนำและผูกขาดการครองกฎ/ออกกฎ ในวงการนั้นๆ เช่น สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์พยายามแข่งขันเพื่อสร้างความยอมรับและสิทธิชอบธรรมเหนือศาสตร์อื่นๆ เช่นเดียวกับมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) เห็นว่าความรู้และอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันร่วมถึงความสงสัยในวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นความรู้ที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับสูงสุดของความรู้ เพราะปลอดจากค่านิยมและเป็นอิสระจากอุดมการณ์ทางการเมือง แต่  ฟูโกต์แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์กลับเป็นความรู้ที่สร้างระเบียบเพื่อควบคุม/ประกอบสร้างเรือนกายผู้คนเพื่อประโยชน์ในการผลิต(productive)

นอกจาก human ที่เป็นผู้สร้าง “ความรู้” หรือ “ความจริง” ทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว Bruno Latour Michel Callon และ John Law ได้นำแนวทางการศึกษา ANT หรือ actor-network theory มาใช้ศึกษาปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ แนวคิด Actor – network มีที่มาจากแนวคิด assemblage ซึ่งมาจากคำศัพท์ฝรั่งเศสที่ว่า agencement ของ Gilles Deleuze และ Felix Guattari ในงาน Anti-Oedipus (Deleuze and Guattari, 1983)

Assemblage ถูกอธิบายใน 4 ลักษณะ 1.Assemblage คือ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการจัดการกับความแตกต่างกันให้เชื่อมโยงเข้าหากันโดยเป็นความสัมพันธ์แบบภายนอก กล่าวคือ ผู้กระทำการแต่ละตัวมีความเป็นอิสระจากความสัมพันธ์ระหว่างกัน คุณสมบัติของผู้กระทำการกลุ่มหนึ่งไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ขององค์ร่วมได้ทั้งหมด (Delanda, 2006, p.10) 2.Assemblages เป็นความสัมพันธ์ที่สร้างให้เกิดสิ่งใหม่ การร่วมตัวกันของผู้กระทำการได้ก่อให้เกิดการจัดองค์กรแบบใหม่ พฤติกรรมแบบใหม่ เกิดผู้กระทำการใหม่ ความจริงแบบใหม่ ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่การจำลองหรือเป็นภาพตัวแทนของสิ่งเดิม 3.Assemblage เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างผู้คนแต่ยังสัมพันธ์กับสิ่งที่สังคมศาสตร์ไม่เคยนับรวมเข้ามาพิจารณา เช่น สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์ เป็นต้น 4.Assemblage เป็นเรื่องจุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายดังกล่าวเป็นผลของการร่วมกันของส่วนเสี้ยวของสิ่งที่ต่างๆ (Deleuze and Guattari, 1983, p.6) ยกตัวอย่างกระบวนการ Assemblage เช่น การสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมาสักเครื่องเกิดขึ้นจากการถกเถียงภายในกลุ่มผู้กระทำการหลายกลุ่มทั้งกลุ่มบุคคล แผงวงจรและเครื่องมือต่างๆ จนทำให้เกิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมาโดยคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมีคุณสมบัติแบบใหม่และแตกต่างไปจากคุณสมบัติของผู้กระทำการที่มีส่วนในการสร้างมันขึ้นมา เป็นต้น

ดังนั้น Assemblage เป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เกิดจากผู้กระทำการหลากหลายแบบโดยเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีช่วงชั้นและไม่มีจุดเริ่มต้นจากจุดกำเนิดเพียงจุดเดียว ด้วยกรอบคิดดังกล่าวได้ทำลายเส้นแบ่งแบบคู่ตรงข้าม เช่น ข้อถกเถียง structure-agency การกระทำของมนุษย์ (human action) และ โครงสร้างสังคม (social structure) หมายถึง มนุษย์เราเป็นผู้กระทำที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถควบคุมชีวิตของพวกเราเองได้อย่างจริงจังหรือว่าสิ่งที่พวกเราทำทั้งหมดเป็นผลของพลังทางสังคมที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เป็นต้น

ในการศึกษาด้วยกรอบคิดดังกล่าวให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า nonhuman ในฐานะที่เป็นผู้กระทำ(actor)การแบบหนึ่งที่มีสถานภาพเท่าเทียมกับ human หรือให้ความสมมาตร (symmetry) ระหว่างผู้กระทำการที่เป็น human และ nonhuman โดยการปฏิสัมพันธ์ภายในเครือข่ายระหว่าง human และ nonhuman เรียกว่า association ถูกใช้อธิบายถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้กระทำการดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมอย่างไรและภายในเครือข่ายผู้กระทำการต่อรองกันอย่างไร ดังนั้น Latour เสนอว่าทั้งผู้คน เทคโนโลยี ธรรมชาติ การเมือง กฎระเบียบทางสังคมได้เข้ามาปฏิสัมพันธ์จนเกิดเป็นเครือข่ายผู้กระทำการที่หลากหลาย (heterogeneous) (Latour, 1987, p.268)

สำหรับตัวอย่างงานของ Latour อธิบายถึงกระบวนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ในการสร้างความรู้และความจริงทางวิทยาศาสตร์ 2 ชิ้น คือ Laboratory Life และ The Pasteurization of France

งาน  Laboratory Life  Latour ชี้ให้เห็นถึงปฏิบัติการภายในห้องทดลองที่ประกอบด้วยกระบวนการสร้างความรู้ที่สำคัญ 2 ส่วน คือ inscription และ interpretation สำหรับ 1.inscription แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ  literary inscription การบันทึกในรูปแบบของบทความวิชาการ บันทึก กราฟ (Latour, 1979, p.47) และ inscription devices เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่มีหน้าที่บันทึกข้อมูลในขั้นตอนการผลิตความรู้(Latour,1979,p.63) และ 2. interpretation หรือการตีความที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ (Latour, 1979, p.243) ในขั้นตอนของการตีความเกี่ยวข้องกับต่อรอง การประเมินรูปแบบที่ถูกสร้างขึ้นอย่างจงใจและไม่จงใจ (Latour, 1979, p.152, p.188)

งาน The Pasteurization of France ของ Latour กล่าวถึงหลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้ค้นพบเชื้อจุลินทรีย์ การค้นพบดังกล่าวทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบในวงการวิทยาศาสตร์โดยกระบวนการสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของปาสเตอร์ที่สำคัญประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ translation transformation และ transportation

กระบวนการสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของปาสเตอร์เกิดขึ้นในช่วงปี  ค.ศ.1881 ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อเกิดโรคระบาดในสัตว์ชนิดต่างๆโดยไม่ทราบสาเหตุจึงทำให้ปาสเตอร์หาสาเหตุความเจ็บป่วยของสัตว์ด้วยระเบียบวิธีวิทยาศาสตร์ ภายในห้องทดลองปาสเตอร์ทำงานร่วมกับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการแปลความ(translation)และการเปลี่ยนรูปแบบ (transformation) ของความรู้จนทำให้ปาสเตอร์ค้นพบต้นเหตุของความเจ็บป่วยนั้นเกิดจากจุลชีพ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นเหตุของโรคภัยที่ไม่เคยถูกนำมาพิจารณา เพราะก่อนหน้านี้วงการวิทยาศาสตร์ยังไม่เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ คือ กล้องจุลทรรศน์  

ปาสเตอร์เผยแพร่และส่งต่อ (transportation) ข้อค้นพบดังกล่าวสู่สังคมด้วยการจัดแสดงการทดลองต่อสาธารณชนเพื่อพิสูจน์ข้อค้นพบดังกล่าว การทดลองที่มีชื่อเสียงของปาสเตอร์พิสูจน์ให้เห็นว่าแกะและวัวที่ได้รับการฉีด “วัคซีน” ที่ทำจากเชื้อจุลินทรีย์บาซิลไลซึ่งเป็นสมมติฐานของโรคแอนแทรคที่ถูกทำให้อ่อนจางลงของเขาสามารถต่อสู้กับโรคระบาดที่มีอันตรายของสัตว์คือโรคแอนแทรคดังกล่าวได้โดยไม่ติดโรค เมื่อปาสเตอร์ดำเนินกระบวนการทั้งสามขั้นตอนโดยสมบูรณ์แล้วจึงทำให้ปาสเตอร์ได้รับการยอมรับ กระทั่งรัฐให้เงินสนับสนุนเพื่อสร้างสถาบันปาสเตอร์(Latour ,1988, pp.13-16, pp.59-62)

ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ศาสตร์มีพันธกิจเพื่อสังคมอย่างเช่นในกลุ่มงานที่กล่าวถึงวิทยาศาสตร์กับการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ นักวิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นบุคคลสำคัญดังเช่นในงานของ Knight(2009) ได้กล่าวถึงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา กลุ่มประเทศยุโรปต่างแข่งขันและสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ให้ผลิตความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับรัฐของตนเอง

เช่นเดียวกับ Carroll(2006) กล่าวถึงอังกฤษได้นำความรู้ทางวิศวกรรมและระเบียบการปกครองมาสร้างประเทศไอร์แลนด์ขึ้นใหม่  ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนกรอบทางความคิดของวิทยาศาสตร์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ที่วิทยาศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่และผู้คนผ่านการใช้แผนที่และโครงการในด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ

ดังนั้นความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ถูกสร้างขึ้นจากวาทกรรม(discourse)ที่สัมพันธ์กับแนวทางปฏิบัติ(practice)กฎระเบียบของการตรวจวัด กำหนดขอบเขต การเขียนกราฟด้วยการใช้วัตถุ(maternity)เช่น เครื่องมือทางวิศวกรรมศาสตร์ แผนที่ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ที่มีส่วนประกอบสร้างให้กลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ ผู้คนและสิ่งแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้น

หากพิจารณาในบริบทของงานที่กล่าวถึงการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียจะเห็นได้ว่ามีกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับประเทศเกิดใหม่ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นต้น ด้วยระบบคิดที่สำคัญ คือ วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนา(science for development)หรือวิทยาศาสตร์เพื่อรับใช้ชาติ(science in the nation is service) เช่นเดียวกับประเทศตะวันตกที่รัฐมหาอำนาจในเอเชียให้การสนับสนุนสาขาวิทยาศาสตร์เพื่อการสร้างชาติ 

เช่นในงานของ Mizuno(2009) วิทยาศาสตร์ในบริบทของประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจดังเห็นได้จากกลุ่มเทคโนแครตด้านวิศวกรรมศาสตร์สร้างความภูมิใจให้กับชาติ (scientific nationalism) ในฐานะที่เป็นประเทศที่ทันสมัยกว่าประเทศอื่นๆในแถบเอเชียตะวันออกนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จนกระทั่งกลายเป็นประเทศทุนนิยมที่สำคัญ แม้พวกเขาจะแพ้สงครามครั้งที่ 2 แต่ญี่ปุ่นกลับเกิดใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ รัฐบาลญี่ปุ่นอธิบายสาเหตุของความพ่ายแพ้สงครามเกิดจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ด้อยกว่าประเทศสัมพันธมิตรจึงทำให้รัฐญี่ปุ่นสมัยชาติใหม่ให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศและกลายเป็นชุดความคิดสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น

ในบริบทของประเทศอินเดียในงานของ Prakash(1999) ได้ให้ภาพอินเดียในอดีตที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กลุ่มเจ้าอาณานิคมนำความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อแสดงสถานภาพที่เหนือกว่าเพื่อเอาชนะ/ควบคุม/การขูดรีดทรัพยากรอินเดีย เมื่อชนชั้นนำอินเดียได้รับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จากประเทศอังกฤษจึงได้ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ต่อต้านอังกฤษ ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นพื้นที่ประลองกำลังระหว่างเจ้าผู้ปกครองกับคนในอาณัติ กล่าวคือ ผู้ปกครองให้ภาพตนเองเป็นตัวแทนของความทันสมัย แต่ชนชั้นนำในอินเดียตอบโต้วาทกรรมดังกล่าวด้วยวาทกรรมที่ว่าอินเดียเป็นตัวแทนของสังคมทันสมัยและมีความเป็นวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกันก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชุดความรู้ดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการขับเคลื่อนการประกาศอิสรภาพในอินเดีย

ดังนั้นจากกลุ่มงานข้างต้นทำให้เห็นว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไม่เคยเป็นปฏิบัติการที่โปร่งใสและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ความรู้และผลผลิตทางวิทยาศาสตร์นั้นสัมพันธ์กับบริบททางการปกครอง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่

 

อ้างอิง

Carroll, Patrick.(2006). Science, culture, and modern state formation. Berkeley: University of California Press.

Deleuze Gilles and Felix Guattari. (1983). Anti-Oedipus: Capitalism & Schizophrenia, (Robert Hurley, Mark Seem, and Helen R. Lane, Trans). London: The Athlone Press.

Press.

Edge, D. (1995).Handbook of Science and Technology Studies.S.Jasanoff,G.Markle, J.Petersen and T.Pinch.Thousand Oaks,Sage.  

Hodge, Joseph Morgan. (2007). Triumph of the expert: Agrarian doctrines of development and the legacies of British colonialism. Athens: Ohio University Press.

Knight, David. (2009).The Making of Modern Science: Science, Technology, Medicine and Modernity: 1789 – 1791. Cambridge: Cambridge University Press.

Kuhn, Thomas S. (1996). The Structure of Scientific Revolutions (3rd ed.). Chicago: University of Chicago Press.

Latour, Bruno; Woolgar, Steve. (1979). Laboratory life: the construction of scientific facts. Princeton, New Jersey: Princeton University Press.

Latour, Bruno. (1988). The pasteurization of France. Translated by Alan Sheridan and John Law. Cambridge.Massachusetts: Harvard University Press.

DeLanda, Manuel. (2004). Intensive Science and Virtual Philosophy. London: Continuum.

Mizuno, Hiromi.(2009). Science for the empire: scientific nationalism in modern Japan. Stanford: Stanford University Press.

Prakash, Gyan. (1999). Another Reason: Science and the Imagination of Modern India. Princeton, N.J: Princeton University Press.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net