Skip to main content
sharethis

ตัวแทนภาคประชาชนและชาวชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยายื่นเอกสารประกอบคำร้องเพิ่มเติม กรณีโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โต้มหาดไทย-กทม. ยัน โครงการไม่ดำเนินการตามกรอบที่วางอย่างครบถ้วน ขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ทำแม่บท ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ 

(เสื้อสีเหลือง) ภารนี สวัสดิรักษ์ เดินทางเข้ายื่นเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมที่ศาลปกครอง

29 เม.ย. 2562 ที่ศาลปกครอง ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคมพร้อมด้วยทนายความ เดินทางมาเป็นตัวแทนยื่นเอกสารคำชี้แจงเพิ่มเติมกรณีที่เธอ ภาคประชาสังคมและตัวแทนชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฟ้องศาลปกครองกรณีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา (ต่อไปเรียกว่า โครงการฯ) ที่ฟ้องไปเมื่อ 21 พ.ย. 2561 ในคดีหมายเลขดำที่ ส.88/2561 ระหว่างเครือข่ายวางแผนผังเมืองเพื่อสังคมกับพวกรวม 12 คน และคณะรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คน

ภาค ปชช. ฟ้องศาลปกครอง พับโครงการทางเลียบเจ้าพระยา

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา: สำรวจข้อถกเถียง-การมีส่วนร่วม(ในกรอบที่วางไว้แล้ว)

ผู้ถูกฟ้องในคดีนี้คือคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร โดยทางผู้ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าโครงการฯ มีลักษณะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ระบบนิเวศในกรณีที่โครงการเริ่มดำเนินแล้ว และให้ ครม. มีกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อดำเนินการคุ้มครองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

หลังจากนั้น ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ผู้ฟ้องที่สามและสี่ (กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ) ได้มีหนังสือชี้แจง กรณีที่คำฟ้องเมื่อเดือน พ.ย.  2561 มีใจความโดยสรุปว่าการดำเนินโครงการฯ เป็นไปตามข้อสั่งการประชุม ครม. เมื่อ 21 ต.ค. 2557 มติ ครม. 9 ธ.ค. 2557 และ 12 พ.ค. 2558 ที่มีวัตถุประสงค์จะพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในลักษณะสะพานยกสูงเพื่อเป็นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน (Bike Lane) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ได้ทำสัญญาจ้างงานก่อสร้าง และหากศาลมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างหรือระงับการดำเนินโครงการฯ ไว้ก่อนจนกว่าคดีจะสิ้นสุด จะทำให้การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ซึ่ง กทม. ได้รับงบประมาณก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2562 จะทำให้เสียโอกาสพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้ปะรชาชนส่วนใหญ่ได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เช่น การชมกิจกรรมทางน้ำในเทศกาลต่างๆ การสันทนาการและการใช้ประโยชน์เพื่อการออกกำลังกายและพักผ่อน เป็นต้น

ในวันนี้ (29 เม.ย. 2562) ผู้ฟ้องจึงส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมให้กับศาลปกครองเพื่อยืนยันว่าการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำที่ถูกจัดลำดับว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามอนุสัญญาแรมซาร์จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์แห่งการปฏิบัติต่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญระดับชาติ และกฎหมายเกี่ยวกับการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่โครงการฯ กลับดำเนินไปก่อนแล้วในส่วนการจัดจ้างที่ปรึกษาให้ศึกษาโครงการ ชดใช้ค่าเสียหายให้การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปจนถึงขอความเห็นชอบดำเนินการจัดจ้างโครงการ

เอกสารยังระบุว่า ในส่วนของ TOR หรือรายละเอียดและขอบเขตของโครงการฯ ไม่ถูกดำเนินการครบถ้วนโดยเฉพาะขั้นตอนการจัดทำแผนแม่บท แต่กลับทำการออกแบบรายละเอียดโดยประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงหรือได้รับข้อมูลในขั้นตอนการจัดทำแผนแม่บท อีกประการหนึ่ง TOR ระบุว่าจำเป็นต้องศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขต กทม. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ช่วงสะพานพระราม 7 - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้านั้น ไม่มีการดำเนินการในกระบวนการที่สำคัญนี้

นอกจากนั้นผู้ฟ้องยังชี้แจงว่าการเร่งดำเนินโครงการจะทำให้เกิดความเสียหายและขาดการบูรณาการตามยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้ดำเนินการตมกระบวนการและสาระที่กำหนดตามข้อกำหนดการศึกษา และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ ไม่เคยมีการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อการมีส่วนร่วมแต่อย่างใด  การระงับโครงการไว้จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวเพื่อให้มีการมีส่วนร่วม ทบทวน และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ การจัดทำแผนงาน โครงการ รวมทั้งการออกแบบโครงการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

รู้จักทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ใน 12 แผนงานจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของกระทรวงมหาดไทย ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 9 ธ.ค. 2557 โดยให้สำนักการโยธา กทม.รับผิดชอบดำเนินโครงการ

เดิมทีการดำเนินโครงการเป็นไปอย่างเร่งรัด มติ ครม.วันที่ 12 พ.ค. 2558 ระบุว่าจะมีการลงนามในสัญญาจ้างภายในเดือน ธ.ค. 2558 แล้วใช้เวลาก่อสร้างรวม 18 เดือน  (ม.ค.2559 - ก.ค.2560) โดยขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโครงการอื่น เช่น สะพานปลากรุงเทพ อู่เรือกรุงเทพ ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

12 โครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ เจ้าพระยา ฟอร์ ออล (Chaophraya for All)

  1. ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
  2. ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน
  3. พัฒนาท่าเรือ
  4. พัฒนาศาลาท่าน้ำ
  5. พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ
  6. พัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่
  7. ปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์
  8. พัฒนาพื้นที่ชุมชน
  9. อนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน
  10. พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ
  11. พัฒนาจุดหมายตา (แลนด์มาร์ก) ริมแม่น้ำ
  12. พัฒนาสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

โดย นัฐพล ไก่แก้ว (คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

 

เฟสแรกจะดำเนินการโครงการที่ 1-6 ก่อน ในส่วนของทางเลียบฯ นั้นมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้มีการปรับแผนงานมาตลอด กระทั่งเดือน พ.ย. ปี 2561 มีข่าวว่าโครงการฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนขอความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อทำประกวดราคาก่อสร้างทางเลียบฯ ในส่วนนำร่อง เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 - สะพานพระปิ่นเกล้า ระยะทางฝั่งละ 7 กม. รวมสองฝั่งเป็น 14 กม. จากระยะทางทั้งหมดของโครงการ 57 กม.โดยใช้งบราว 8,363 ล้านบาท ในส่วนโครงการนำร่องแบ่งสัญญาก่อสร้างออกเป็น 4 ส่วน ส่วนละ 3.5 กม. ดังนี้

ช่วงที่ 1 จากพระราม7 - คลองบางซื่อ วงเงิน 1,770 ล้านบาท

ช่วงที่ 2 จากคลองบางซื่อ - สะพานปิ่นเกล้า วงเงิน 2,470 ล้านบาท

ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม7 - คลองบางพลัด วงเงิน 2,061.5 ล้านบาท

ช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด - คลองสามเสน วงเงิน 2,061.5 ล้านบาท

กระทรวงมหาดไทยและ กทม. ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษา สำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทโครงการด้วยงบประมาณราว 120 ล้านบาท

ข้อมูลจากกลุ่มภูมิสถาปัตยกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรระบุว่า ตลอดเส้นทาง 14 กม. มีชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความสำคัญ 32 ชุมชน การสำรวจจาก กทม. พบว่ามีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำริมแม่น้ำจำนวน 273 หลังคาเรือนใน 15 ชุมชน มีท่าเทียบเรือหรือโป๊ะเทียบเรืออีก 9 แห่ง จึงให้สำนักงานเขตที่รับผิดชอบ ได้แก่ เขตดุสิต บางซื่อ บางพลัด ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สอบสวนสิทธิ์ ประมาณราคาสิ่งปลูกสร้าง รื้อย้ายและจัดหาที่อยู่ใหม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีการทยอยรื้อย้ายบ้านเรือนตั้งแต่กลางปี 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net