Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


การศึกษาเกี่ยวกับทุนนิยม ในความเข้าใจของคนทั่วไป เครื่องยนต์กลไกกำลังเข้ามาเป็น ปัจจัยการผลิต (mode of production) ทดแทนแรงงานคนและสัตว์และปรับเปลี่ยนธรรมชาติไปตลอดกาล แต่ข้อเท็จแล้วสัตว์หลายประเภทซึ่งร่วมถึงมนุษย์ยังคงเป็นปัจจัยในการผลิตที่ถูกออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์เพื่อจุดประสงค์ในการใช้งาน 

ความรู้ที่นำมาใช้การออกแบบสิ่งมีชีวิต คือ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เทคโนโลยีชีวภาพ หมายถึง การใช้ระบบและสิ่งที่มีชีวิตเพื่อพัฒนา สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใดๆ ที่ใช้ระบบชีวภาพ อนุพันธ์ของสิ่งที่มีชีวิตนั้นเพื่อสร้างหรือปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการสำหรับการใช้งานเฉพาะอย่าง นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการเกษตร การผลิตอาหาร และการทำยารักษาโรค กลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น genomics เทคโนโลยียีนและการพัฒนาวิธีการรักษาและการตรวจวินิจฉัยทางเภสัชกรรม

1.“อุตสาหกรรมดีเอ็นเอ” เมื่อทุนนิยมทำให้รหัสพันธุกรรมกลายเป็นสินค้า

ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบันเริ่มมีบทบาทสำคัญกับชีวิตของเรามากขึ้นทุกขณะ เช่น นักวิทยาศาสตร์จีน เจียงกุย เหออ้างว่าใช้เทคโนโลยี คือ CRISPR-Cas9 ปรับแต่งพันธุกรรมกับเด็กแฝดเพื่อแก้ไขยีนที่ทำให้ติดเชื้อ HIV การทดลองดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงในเรื่องศีลธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งความรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมของมนุษย์มีความสำคัญกับการเยี่ยวยาโรคภัย 

ดีเอ็นเอเป็นหน่วยพื้นฐานของพันธุกรรมซึ่งเกิดจากการผสมผสานจากสิ่งมีชีวิตรุ่นก่อน คือ รุ่นพ่อและแม่ ทั้งยังสามารถถ่ายทอดลักษณะดังกล่าวไปยังสิ่งมีชีวิตรุ่นถัดไป คือ รุ่นลูก หรือ รุ่นหลาน (Offspring) การแสดงออกของยีนทำให้เกิดลักษณะอันหลากหลายกับสิ่งมีชีวิตร่วมถึงภาวะผิดปกติหรือโรคหลายชนิดในมนุษย์ซึ่งเกิดจากการทำหน้าที่ของยีนที่ผิดปกติ ดังนั้นความรู้ด้านเรื่องยีนจึงถูกพัฒนาจากนักวิทยาศาสตร์เพื่อการรักษาโดยนำยีนที่ปกติจากภายนอกเข้าสู่เซลล์ของร่างกายเพื่อให้ทำงานทดแทนหรือแก้ไขยีนที่ผิดปกติ นักวิทยาศาสตร์เรียกวิธีการรักษานี้ว่า การรักษาด้วยยีน หรือ gene therapy การรักษาด้วยยีนได้เริ่มทดลองในมนุษย์เมื่อปี ค.ศ.1990 

ในบริบทสหรัฐอเมริกาในการรักษาและวินิจฉัยโรคในระดับพันธุกรรมถูกตั้งคำถามอย่างน่าสนใจในงาน Biocapital : The Constitution of Postgenomic Life(2006) (1) โดย เคาชิก ซันเดอร์ ราจาย เขาได้กล่าวถึงธุรกิจยาในอเมริกาว่า ในอดีตว่าบริษัทยาทำหน้าที่คล้ายธนาคารที่ปล่อยเงินลงทุนด้านงานวิจัยให้แก่สถาบันวิจัยเพื่อสังเคราะห์ตัวยาสำหรับการรักษา แต่ปัจจุบันภายหลังเมื่อความรู้ genomic ได้รับนิยม สถาบันวิจัยกลับเป็นผู้กำหนดว่าอะไรเป็นโรคใหม่ บริษัทยาต้องให้เงินทุนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการวินิจฉัย และบริษัทยามีหน้าที่ผลิตยาเพื่อเป็นการป้องกันโรค

เริ่มต้นสถาบันวิจัยรับเงินจากบริษัทยาเพื่อการทดลองและสร้าง DNA chip หรือข้อมูลเบื้องต้นของยีนบุคคลซึ่งถูกสร้างให้เป็นวัตถุทางความรู้และกลายเป็นสินค้าแบบใหม่ นักวิจัยและบริษัทยาซื้อขายและส่งต่อข้อมูล DNA ดังกล่าวไปยังสถาบันวิจัยและบริษัทยาอื่นๆ เพื่อเป็นตัวอย่างของลักษณะพันธุกรรมในการวินิจฉัยและคิดค้นวิธีรักษาโรค ความรู้ genomic มีแนวโน้มเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยาโดยเฉพาะเรื่องการวินิจฉัยโรคเพื่อป้องกันมากกว่าการรักษาโดยตรง ด้วยเกิดจากกระบวนการสร้างความรู้ในเรื่องของโรคภัยซึ่งเครื่องมืออย่าง DNA chip บอกล่วงหน้าถึงความเสี่ยงของโรคจึงทำให้ผู้ป่วยต้องรอให้บริษัทยาพัฒนาตัวยา กระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดการขยายตัวของตลาดในการรักษาโรคและสร้างมูลค่าในบริษัทยาในตลาดหุ้นตามมา ดังนั้น พันธุกรรมที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายของเรากลายเป็นวัตถุทางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสินค้าในระบบทุนนิยม

กลุ่มบริษัทยาและสถาบันวิจัยนำเสนอ ความรู้ด้านจีโนมและสร้างให้ความรู้ดังกล่าวน่าเชื่อถือผ่านการเผยแพร่และส่งต่อข้อค้นพบสู่สังคม เช่น การเผยแพร่ผ่านรายการทีวี วารสาร ที่สำคัญความรู้ในด้านจีโนมให้ความหวังกับมนุษย์ชาติว่าพวกเราจะมีอายุยืนยาวมากขึ้นและปลอดภัยจากความบกพร่องของพันธุกรรม เช่น การสร้างแผนที่หน่วยพันธุกรรมในลักษณะที่เป็นฐานข้อมูลเพื่อวินิจฉัยโรคและผลกระทบหรืออาการแพ้ยาซึ่งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ความน่าเชื่อถือในความรู้ดังกล่าวทำให้บริษัทยามีอำนาจในการต่อรองผ่านโครงสร้างสถาบันทางสังคมและกฎหมาย 

ผู้เชี่ยวชาญด้าน genomic มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางการวินิจฉัยโรคที่แฝงอยู่ในยีน เพราะ ในฐานะที่ genomic เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีส่วนสำคัญในการวินิจฉัยโรค บ่งชี้ยีนที่บกพร่องหรือการใช้ยีนสำหรับเป็นยารักษา นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญต้องวางแผนและคิดคำนวณด้วยการประเมินเกี่ยวกับการรักษาส่วนบุคคล ( Personalized medicine ) 

ข้อเท็จจริงที่แอบแฝงเกี่ยวข้องกับ genomic คือ วาทกรรมในความเสี่ยงที่บอกได้ล่วงหน้าเกี่ยวกับโรคภัย บุคคลทั่วไปให้ความสนใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยและลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับระบบพันธุกรรม เป็นที่ทราบกันดีว่าค่ารักษาพยาบาลถือเป็นรายจ่ายสำคัญในชีวิตของมนุษย์เงินเดือนทั้งค่ารักษาตัวเองและลูก บางคนล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ฉะนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากโรคทางพันธุกรรมที่ตกทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ เช่น มะเร็ง ธาลัสซีเมีย โลหิตจาง เป็นต้น ทำให้บุคคลทั่วไปต้องทำงานและหารายได้มาเพื่อใช้จ่ายกับการป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวในอนาคต แม้โอกาสในการหายขาดจากโรคดังกล่าวมีเพียงน้อยนิดก็ตาม 

ดังนั้น Biocapital เป็นระบบทุนนิยมที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะรหัสพันธุกรรมที่อยู่ภายในร่างกายของมนุษย์ เริ่มต้นบริษัทยาออกทุนให้สถาบันวิจัยศึกษา บริษัทยามีอิทธิพลและสร้างภาพให้ความรู้ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับต่อสังคม จนกระทั่งบริษัทเอกชนได้รับสิทธิบัตรในด้าน genomic โดยปราศจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับศีลธรรมในร่างกายของมนุษย์กับนวัตกรรมใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น เหตุผลหนึ่งที่สำคัญ คือ คนส่วนใหญ่ถูกทำให้เชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวกลายเป็นทางรอดและทำให้ชีวิตมนุษย์มีอายุที่ยาวมากขึ้น 

ในปัจจุบันความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บถูกคำนวณในฐานะเป็นต้นทุนของชีวิต เมื่อบุคคลทั่วไปต้องการลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากโรคซึ่งมีสาเหตุจากยีนของเราเอง รวมถึงยารักษาต้องมีความเฉพาะทาง ทำให้บุคคลทั่วไปต้องทำงานและหารายได้มาเพื่อจ่ายค่ารักษาหรือยาเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคร้ายที่ไม่ทางรักษา ดังนั้น ความรู้ทางด้าน genomic ได้สร้างขอบเขตทางการแพทย์แบบใหม่เพื่อการป้องกันโรคภัยซึ่งทำให้ตลาดยามีอนาคตในการลงทุนต่อไป 

2.อุตสาหกรรมชีวภาพ: ทุนนิยมทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับแบคทีเรียได้อย่างไร
 
Bonnie Bassler นักชีววิทยาโมเลกุล กล่าวไว้ใน ted talk ในหัวข้อ “ How bacteria talk “ ว่าแบคทีเรีย คือ สิ่งมีชีวิตเก่าแก่ที่สุดบนโลกใบนี้ พวกมันอาศัยอยู่ที่นี่มาเป็นพันล้านปี สิ่งมีชีวิตนี้ไม่ใช่พาหะเฉื่อยๆ พวกมันคือสิ่งสำคัญมากที่ทำให้เรายังอยู่ พวกมันปกป้องเรา เหมือนเป็นเกราะที่มองไม่เห็น ปกป้องเราจากสิ่งคุกคามตามธรรมชาติ ทำให้เราสุขภาพดี พวกมันย่อยอาหารของเรา พวกมันสร้างวิตามินให้และยังช่วยสอนระบบภูมิกันของคุณให้คอยไล่จุลินทรีย์ร้ายออกไป ดังนั้น พวกมันทำสิ่งที่น่าทึ่งแบบนี้ที่ช่วยเราและเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราอยู่รอด พวกมันไม่เคยได้ออกสื่อ แต่พวกมันได้ออกสื่อก็ต่อเมื่อพวกมันมีโทษ (2) ตัวอย่างแบคทีเรียที่มีประโยชน์กับมนุษย์ เช่น คณะนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯพบว่าแบคทีเรียชนิด Staphylococcus epidermidis ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และดำรงชีวิตอยู่ตามผิวหนังของคนทั่วไป สามารถผลิตสารที่ช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ซึ่งในอนาคตจะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำสารนี้ไปประยุกต์ใช้รักษาและป้องกันมะเร็งหลากหลายชนิด (3)

งานของ Haraway, Donna J. 2007. When Species Meet (4) กล่าวถึง สัตว์ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เริ่มต้นจากผู้เชี่ยวชาญศึกษาและเข้าใจวิถีชีวิตของสัตว์โดยสัตว์ถูกคัดสรรและปรับแต่งระบบพันธุกรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับวิถีชีวิตของมนุษย์เพื่อกลายเป็นเทคโนโลยีในการผลิตและเป็นสินค้าให้เหมาะสมกับหน้าที่ของแรงงานนั้น เช่น สัตว์เลี้ยง

เช่นเดียวกับในงาน Industrializing Organisms (5) กล่าวถึงความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาเป็นผู้คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสังคมมนุษย์ แต่เทคโนโลยีดังกล่าวก็ยังไม่สามารถสร้างธรรมชาติขึ้นมาได้ ดังนั้นธรรมชาติกับเทคโนโลยีได้ร่วมเข้าด้วยกัน เช่น ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเหมือนโรงงาน( biotechnology as factories ) กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตกลายเป็นผู้เปลี่ยนวัตถุดิบให้กลายเป็นผลผลิตได้ด้วยตัวเอง เช่น ยีสต์จากการคัดสรรของนักวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่ย่อยสลายสารตั้งต้นจนกลายเป็นสุรา ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพเป็นคนงาน (biotechnologies as workers ) เช่น นำจุลชีพบางชนิดนำมาใช้ในงานทดลองและทำความสะอาดอุปกรณ์ภายในห้องทดลอง และ เทคโนโลยีชีวภาพในฐานะเป็นผลผลิต (biotechnology as products) เช่น สัตว์ปีกในบางประเทศถูกออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์ให้มีความเหมาะสมกับการเป็นสินค้า อาจกล่าวได้ว่าทุนนิยมมีเครื่องมืออย่างวิทยาศาสตร์ในการขยายขอบเขตในการขูดรีดออกไปกว้างขวางมากกว่าแค่แรงงานมนุษย์ แต่ได้ขยายออกไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และสิ่งแวดล้อม

นอกจากแบคทีเรียมีประโยชน์กับระบบนิเวศและกลายเป็นแรงงานของระบบทุนแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งภาพตัวแทนของจุลชีพในด้านลบยังถูกสร้างเพื่อผลกำไรของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด มันกลายเป็นตัวร้ายในสายตาของเราได้อย่างไร ? Norah Campbell and Cormac Deane (6) ชวนเราตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ที่ถูกทำลายลงด้วยสื่อโฆษณาและบริษัทผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

หลายเหตุผลที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้เงิน 65 พันล้านเหรียญต่อปีกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด โฆษณาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมีรูปแบบที่คล้ายกัน คือ พวกเราถูกทำให้เชื่อว่า แบคทีเรียคุกคามวิถีชีวิต เราป้องกันได้ด้วยการใช้เจล สบู่ โฟมช่วยป้องกันแบคทีเรีย เอาเข้าจริงแล้วเราไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ ของแบคทีเรีย พวกเรารับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกมันผ่านโฆษณาผลิตภัณฑ์ป้องกันแบคทีเรีย จินตนาการเกี่ยวกับแบคทีเรียในโฆษณาตั้งแต่ ค.ศ.1848 จวบจนปัจจุบันมีลักษณะสำคัญ 4 ลักษณะ

1.แบคทีเรียดูเหมือนตัวการ์ตูน แต่น่าขยะแขยงและอันตราย ภาพลักษณ์ดังกล่าวเตือนให้เราต้องกำจัดหรือควบคุมพวกมัน ด้วยการใช้สารเคมีเพื่อฆ่าแบคทีเรีย ความน่ารักถูกใช้เพื่อทำให้เราไม่รู้สึกผิด เพราะพวกเราฆ่าสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ ภาพลักษณ์การ์ตูนของแบคทีเรียดังกล่าวได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับจุลชีพให้เป็นเหมือนเกมที่ผู้ฆ่าเหมือนกับดั่งเป็นฮีโร่ที่ปราบปรามวายร้าย 

2. ภาพของแบคทีเรียจำนวนมากในโฆษณาสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้บริโภค ภาพดังกล่าวไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เกิดขึ้นจากประชากรในเมืองหลวงประเทศอังกฤษที่เพิ่มจำนวนขึ้นในช่วง ค.ศ.ที่19 เป็นต้นมา ด้วยความรู้ในเรื่องแบคทีเรียวิทยา จุลชีพวิทยาและอิทธิพลของงานชิ้นสำคัญในช่วงเวลานั้นของ คาร์ล โปลานยี (Karl Polanyi) ที่ชื่อว่า “The Great Transformation” โปลานยีให้อรรถาธิบายเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1944 ถึงการก่อตัวขึ้นของความเชื่อในกลไกการทำงานของสังคมตลาดหรือตลาดเสรีภาย หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ก่อตัวมาพร้อมๆ กับแนวคิดของสำนักคลาสสิกกฏประชากรของโรเบิร์ท มัลทัส อธิบายว่า ปัญหาของสังคมเกิดจากการที่ประชากรเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าจำนวนการผลิตของอาหาร การเติบโตของเศรษฐกิจ ปัญหาประชากรล้นเมือง ถูกโยงเข้ากับการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งปฏิกูลที่ต้องถูกกำจัดออกไป ส่วนหนึ่งเป็นอาการของคนเมืองที่หวาดกลัวของประชากรจากชนบทที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองหลวงและต้องใช้ชีวิตร่วมกัน 

3.ความจนกับแบคทีเรีย ภาพของบุคคลเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียถูกนำเสนอภาพโฆษณา คือ ชายผู้สวมใส่เสื้อโค้ทเก่าๆ ทั้งฟันและผิวที่ดำ ดูซอมซ่อเหมือนคนไร้บ้าน ตรงข้ามกับหนุ่มนักธุรกิจที่ใส่สูทผูกไท แบคทีเรียพยายามเข้ามาในร่างกายและยอมสละตัวเองเพื่อแพร่เชื้อโรคให้กับหนุ่มดูดี แต่แบคทีเรียถูกกำจัดอย่างรวดเร็ว เพราะ ได้รับการปกป้องจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แบคทีเรียมักถูกให้ภาพว่าเกิดขึ้นในพื้นที่ต่ำตมและยากไร้ ในร่างกายที่ผอมบางและเรือนกายและอาภรณ์ที่ไม่สะอาดสะอาน เป็นภาพที่ตรงข้ามกับผู้บริโภคซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เรือนร่างดูดีสะอาด 

4.แบคทีเรียวิถีทางเพศที่ส่ำส่อน แบคทีเรียกลายเป็นตัวร้ายในสายตาของชนชั้นกลางในการขัดกับจารีตอันดีงามของชนชั้นกลางที่มีวิถีทางเพศแบบผัวเดียวเมียเดียว ครอบครัวที่ประกอบด้วยบิดา มารดาและบุตร และห้ามไม่ให้ผู้ชายยุ่งเกี่ยวกับเพศเดียวกันหรือผู้หญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาตัวเองซึ่งเป็นที่อยู่ของโรคภัยที่เกิดจากแบคทีเรีย

ภาพของแบคทีเรียในวัฒนธรรม pop เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความหวาดกลัวและควบคุมผู้คนอย่างที่สังคมต้องการ แต่อีกด้านหนึ่งของความหวาดกลัวในแบคทีเรียก็สร้างผลกำไรให้กับบริษัทผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 

ในอดีตเราแทบจินตนาการไม่ออกเลยว่าอนุพันธ์ขนาดเล็กของร่ายกายมนุษย์อย่างดีเอ็นเอและจุลชีพที่เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร แต่ในปัจจุบันสิ่งที่เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมและสร้างผลกระทบกับชีวิตพวกเราตามมา  


อ้างอิง
(1) Kaushik Sunder Rajan (2006 ) Biocapital: The Constitution of Postgenomic Life Duke University Press Books
(2) (https://www.bbc.com/thai/international-43275964)
(3) (https://www.irishexaminer.com/breakingnews/views/analysis/how-capitalism-ruined-our-relationship-with-bacteria-873833.html)
(4) Donna J. Haraway. ( 2008).When species meet Publication: Minneapolis : University of Minnesota Press, 
(5) Susan R. Schrepfer and Philip Scranton. ( 2004) . Industrializing organisms : introducing evolutionary history New York : Routledge
(6) http://theconversation.com/how-capitalism-ruined-our-relationship-with-bacteria-103944
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net