Skip to main content
sharethis

นักวิจัย นักวิชาการ ตัวแทนภาคธุรกิจถกอนาคตเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง 5 ความเป็นไปได้ของรัฐบาลล้วนอายุสั้น ส่งผลกับนโยบายแจกจ่ายวนไป เศรษฐกิจไม่น่าบูม แนะ กระจายอำนาจลงท้องถิ่น แก้ไขจากคนจนสุด-รวยสุด กฎหมายไม่เอื้อราชการทำงานให้ดี พรรคการเมืองอ่อนนโยบายพัฒนามนุษย์

ซ้ายไปขวา: เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว เจน นำชัยศิริ นิพนธ์ พัวพงศกร อภิชาต สถิตนิรมัย

1 เม.ย. 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดสัมมนาจุด 70 เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เรื่อง “เดินหน้าเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง” จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. โดยมี รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เจน นำชัยศิริ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและอดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รศ.อภิชาต สถิตนิรมัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ร่วมเสวนา ดำเนินการเสวนาโดยเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

5 ความเป็นไปได้ของรัฐบาลล้วนอายุสั้น ส่งผลกับนโยบายแจกจ่ายวนไป

อภิชาตอธิบายฉากทัศน์ (Scenario) การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งโดยใช้ภาพอินโฟกราฟิกจากมติชน ระบุว่า หากตั้งว่าไม่มีงูเห่า ไม่มีอภินิหารใดๆ จะแบ่งได้เป็นสองฉาก ฉากแรกคือ พปชร. (พรรคพลังประชารัฐ) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เท่ากับคิดว่า พท. (พรรคเพื่อไทย) อย่างไรก็จัดตั้งรัฐบาลได้ไม่สำเร็จ พปชร. จะได้มากสุด 260 บนเงื่อนไขว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ปชป. อยู่ด้วย แต่ถ้าย้ายมิ่งขวัญไป พปชร. ก็จะเหลือ 254 ซึ่งปริ่มน้ำและในทางปฏิบัติก็อันตรายมาก แค่ ส.ส. ป่วย ลา หรือไม่มาประชุมก็ทำงานไม่ได้แล้ว

อีกฉากคือขั้วประยุทธ์เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย สมมติไม่มีงูเห่าใน ส.ว. กรณีนี้ ปชป. (พรรคประชาธิปัตย์) แตกเป็นพรรคอิสระ ไม่เข้ากับฝ่ายใดอาจจะมีเปิดฟรีโหวตคือใครยกให้ใครก็ได้ ก็เป็นไปได้ในเงื่อนไขพรรค ปชป. ในตอนนี้ ทั้งฉากหนึ่งหรือสอง รัฐบาลอยู่ได้เกินหกเดือนก็ถือว่าเก่งแล้ว

ฉากที่สาม ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ประยุทธ์เป็นรัฐบาลรักษาการไปเรื่อยๆ ยังมี ม. 44 อาจจะเป็นรักษาการตลอดกาลก็ได้ แต่จะขาดความชอบธรรมไปเรื่อยๆ เมื่อเวลายิ่งผ่านไป

ฉากที่สี่ มีรัฐบาลรูปแบบใหม่ อาจใช้ ม. 272 วรรคสองเพื่อผ่าทางตัน อาจเป็นนายกฯ คนนอก อาจเป็นรัฐบาลแห่งชาติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่อันนี้เป็นฉากที่ยังใช้มาตรการทางกฎหมาย ตีความตามตัวอักษรได้ อาจเป็นฉากที่เป็นไปได้ทางการเมืองแต่บอกไม่ได่วากี่เปอร์เซนต์

ฉากที่ห้า เกิดรัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญ อาจมาจากรัฐประหารทางกฎหมายหรือรัฐประหารด้วยกำลัง ไม่อยากให้เกิดแต่ก็ยังเป็นไปได้อยู่ การแจกใบเหลือง แดงส้ม อาจไม่เปลี่ยนผลเลือกตั้งเท่าไหร่เพราะสมมติไม่มี พท. ก็จะลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์แล้วเทไปอยู่กับฝั่งเดียวกันอย่าง อนค. (พรรคอนาคตใหม่) จึงเดาว่าจะไม่เปลี่ยนขั้วการเมืองพื้นฐาน

ฉากที่สามและสี่คาดว่าจะไม่มีอายุยืนยาวไปกว่าฉากที่หนึ่งและสอง แต่เดาไม่ได้แล้วว่าอายุรัฐบาลใหม่จากฉากทัศน์ที่สี่และห้า จะเป็นอย่างไร แต่ยิ่งใช้วิธีที่คาดไม่ได้เท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้ความไม่แน่นอนมากขึ้นเท่านั้น รัฐบาลที่มาจากความไม่แน่นอนเหล่านี้ก็จะขาดความชอบธรรมและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ

ประยุทธ์จะรู้ว่าการเป็นรัฐบาลเลือกตั้งนั้นหนักหนาสาหัส เพราะต้องรองรับการเจรจาจากรัฐบาลผสม และยังมีขั้วพลังดูดที่คิดเป็นคะแนนหนึ่งในสามที่ พปชร. ได้ อำนาจต่อรองของมุ้งต่างๆ ที่เจนสนามทางการเมืองและใช้การเมืองแบบเก่าอย่างกลุ่มสามมิตรจะมีอำนาจมาก จนกระทั่งพรรคต้องรวบรวม ส.ส. จากพรรคเล็กๆ ที่คาดว่าจะได้อีก 12 คน แต่ละเสียงจะมีอำนาจต่อรองสูงมาก กระทรวงเกรดเอก็จะอยู่กับ ภท. (พรรคภูมิใจไทย) นายกฯ จะมีอำนาจน้อยมากในการควบคุมและประสานงานกับ ครม. การขับเลื่อน การกำหนดนโยบายให้บูรณาการและขับเคลื่อนไปแบบมีเอกภาพะจเกิดขึ้นได้น้อยมาก จะผลักดันงานอะไรก็ไม่สำเร็จ และจะเป็นการผลักดันที่ไร้เอกภาพ ต่างกระทรวงก็ต่างทำ ประชาชนก็จะเบื่อหน่ายอย่างรวดเร็ว ไม่นับว่าประยุทธ์คือคนเดิมที่ไม่มีผลงานทางเศรษฐกิจมาก่อน จะทำให้ไม่มีช่วงฮันนีมูน (Honeymoon period) เลย ภาพรัฐบาลอายุสั้นใน 2530 ก็จะกลับมา

ผลงานที่จะเกิดขึ้นก็น่าจะมีแต่การแจก เพราะทำได้ง่ายที่สุด และเมื่อรู้ว่าการเลือกตั้งรอบใหม่จะมาถึงในเวลาอันรวดเร็ว ก็จะรู้ว่าเวลาวางงานจะสั้น เรื่องยากๆ ก็จะไม่ต้องคิด รับบาลคงไม่มีสมาธิคิดกระทั่งเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศและระดับโลก ก็จะเกิดมาตรการเฉพาะหน้าต่างๆ ที่จะเป็นผลงานของรัฐบาลที่อ่อนแอและอายุสั้น ซึ่งจะมีอะไรง่ายไปกว่าการแจกในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมและชัดจน ซึ่งก็มีบางอย่างที่ดีเพราะมีคนต้องการจริงๆ

ทั้งนี้ ทุกฉากต้องใช้ผ่านระบบราชการรวมศูนย์  ปัจจุบัน คนรุ่นอายุ 50 ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงหรือกรม ต่างๆ จบการศึกษาพร้อมระบบเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คนที่เข้าระบบราชการก็คือคนเก่งอันดับสอง เพราะตอนนั้นราชการเงินเดือนน้อย อัตราผลตอบแทนระหว่างราชการกับเอกชนในยุคฟองสบู่นั้นเรียกข้าราชการเป็นคนจนรุ่นใหม่ แต่ระบอบ คสช. ที่ผ่านมาให้อำนาจในการอัตวินิจฉัยกับระบบราชการที่เสื่อมถอยลง อันนี้จะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะต้องแก้ด้วยการกระจายอำนาจ ปฏิรูประบบราชการ นอกจากจะสร้างผลทางเศรษฐกิจมหาศาลแล้ว จะทำให้กลไกส่วนกลางมีโฟกัสที่นโยบายมหภาค ส่วนท้องถิ่นก็ว่ากันตามท้องถิ่น

อภิชาตกล่าวว่า ความแน่นอนทางการเมืองระดับสูงจะทำให้การลงทุนชะลอตัวต่อไป แรงกดดันจากสภาวะขาดรายได้จะเกิดขึ้น จะต้องสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ยั่งยืน ก็ต้องจัดความสำคัญว่าจะแจกอะไรให้ยั่งยืน แต่ทำไม่ได้เพราะทุกพรรคการเมืองจะสายตาสั้นหมด เพราะมีเวลาน้อย ก็จะใช้นโยบายมักง่าย เป็นวงจรนโยบายแบบสายตาสั้น ต่อให้มีการแจกเพิ่มขึ้นในระยะปานกลาง 4-5 ปีข้างหน้าเราก็ไม่ต้องตื่นตกใจว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบเวเนซุเอล่า เนื่องจากมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ระยะสั้นหลายเท่า แต่ก็ไม่มีเวลามากนักถ้าไม่ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น ความคับข้องใจจะค่อยๆ เกิดขึ้น ผ่านการเลือกตั้งไม่กี่วันคนก็เริ่มถามแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น จึงคิดว่ารัฐบาลที่จะมีนั้น จะเปิดเปลือยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญในเวลาอันรวดเร็ว

อีกหนึ่งฉากที่เป็นได้ยากคือ พท. จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ รัฐบาล พท ต่อให้มีเกิน 376 เสียงก็จะบริหารไม่ได้อย่างราบรื่นและจะอายุสั้นเช่นกันเพราะกับดักในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อำนาจองค์กรอิสระในการปลดรัฐบาลจากการเลือกตั้งมีอยู่ทุกจุด เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแต่คำที่เป็นนามธรรม เป้าหมายสวยหรูเต็มไปหมด เอื้อให้เกิดการตีความได้ง่ายว่าเข้าหรือไม่เข้ายุทธศาสตร์ชาติ คนจะตาสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ อีกประการหนึ่ง รัฐบาลก็แทบจะออกแบบมาให้แก้ไม่ได้เลย แต่ก็คิดว่ารัฐธรรมนูญจะมีอายุสั้นกว่าที่คาด บอกไม่ได้ว่าจะไปภายในกี่ปี แต่เชื่อว่าที่บอกว่าแก้ไม่ได้ ก็ฟันธงว่า 2-3 ปี รัฐธรรมนูญนี้ต้องไป ไม่รู้วาจะไปด้วยวิธีไหน อาจถูกฉีก ถูกแก้บางมาตราหรือทั้งหมด ซึ่งถ้าไปก็จะมีผลดีกับเศรษฐกิจในระยะยาวเพราะว่าเป็นการแก้กรอบเวลาความสายตาสั้นของนโยบายเศรษฐกิจ แต่สังคมไทยก็ต้องจ่ายด้วยผลทางเศรษฐกิจระยะสั้น

นักวิจัยคาด เศรษฐกิจไม่บูม แนะ กระจายอำนาจลงท้องถิ่น แก้ไขจากคนจนสุด-รวยสุด

นิพนธ์กล่าวว่า บรรยากาศการของการเมืองรอบนี้ ตอนนับคะแนนก็สับสน ไม่มีใครเชื่อมั่น กกต. มีกลุ่มบุคคลสามกลุ่มจะยื่นถอดถอน นิด้าโพลพบว่าร้อยละ 64 เชื่อว่าการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมในระดับปานกลาง-สูง สะท้อนว่ามีปัญหาค่อนข้างเยอะทั้งใหญ่เล็กไม่ว่าจะเรื่องข้อกฎหมาย การเตรียมตัวของเจ้าหน้าที่ กรรมการ สูตรการคิด ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ กกต. ควรเปิดเผยเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น สำคัญมากว่าจะปัดเศษก่อนหรือปัดเศษทีหลัง ทำให้สื่อมวลชนทำตัวเลขออกมาแล้วก็ไม่เท่ากัน

หลังเลือกตั้งแล้ว ต้องช่วงชิงความชอบธรรมจัดตั้งรัฐบาล แม้จะรู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่ๆ แต่ก็ต้องช่วงชิงความชอบธรรมไว้ก่อน เบื้องหลังเวลานี้ มีการเจรจา กดดัน วิ่งเต้นแน่นอน เป็นเรื่องที่ไม่น่าเปลกใจเพราะ รธน ออกแบบมาให้เป็นรัฐบาลผสม ต้องเจรจากันอยู่แล้ว ผู้ร่างฯ คิดไม่ถึงว่า อนค. จะได้คะแนนมากจนเป็นก้างขวางคอในการจัดตั้งรัฐบาล

ในมุมเศรษฐกิจ ราคาหุ้นตกหลังเลือกตั้งเมื่อเทียบกับ 22 มี.ค. วันแรกตก วันหลังๆ ค่อยขึ้นมา หากมองย้อนไปจะพบว่ามีแค่สามครั้งที่หลังเลือกตั้งราคาหุ้นตก เวลานี้ราคาหุ้นคงต้องผันผวนในแนวแคบไปเพราะไม่มีความแน่นอน หากกลุ่มที่จะเป็นรัฐบาลไม่ได้เสียงในสภาล่างถึง 270 เสียงก็คงไม่มีเสถียรภาพ เงื่อนไขที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ของ พปชร. ก็ต้องไปดึงงูเห่าจากฝั่ง พท. และพันธมิตร ไม่เช่นนั้นก็อาจจะผ่านกฎหมายไม่ได้ อนค. (พรรคอนาคตใหม่) ค้านแน่หากมีการทุจริตในระหว่างการออกกฎหมาย ทั้งนี้ ขณะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ คสช. ก็ยังบริหารประเทศไปได้ต่อไปเรื่อยๆ

มองว่าเศรษฐกิจน่าจะไม่โตเกินร้อยละ 3.5-3.9 การลงทุนภาคเอกชนน่าจะสูงเพราะการลงทุนขนาดใหญ่เริ่มเป็นรูปร่าง แต่การลงทุนภาครัฐอาจชะลอตัว คณะกรรมการนโยบายการเงินได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ก.พ. เอาไว้ แสดงว่าเป็นห่วงเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนการท่องเที่ยวจากจีนก็คงขยายตัวไม่มาก

โจทย์คือ รัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้ไหม มีเงื่อนไขสำคัญดังนี้ หนึ่ง จะสานต่อ EEC ที่เริ่มมีความชัดเจนและทำให้มีการลงทุนจากเอกชนและต่างประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่ พท. บอกว่าจะทบทวน แต่จะทบทวนอะไร ควรจะทบทวนด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เรื่องความไม่คุ้มค่า ความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมในบางโครงการซึ่งก็มีอยู่ ไม่ใช่ทบทวนด้วยเหตุผลทางการเมือง

สอง การบูรณาการนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่พรรคใดคุมกระทรวงไหนก็ใช้นโยบายของพรรคนั้น ต้องมีการบูรณาการและแสดงให้เห็นว่าดีกว่าอย่างไร อย่างนโยบายกัญชาของ ภท. ว่าจะบูรณาการอย่างไรได้ ถ้าทำได้ประชาชนจะทึ่งมาก

สาม สร้างโอกาสทำมาหากินให้ประชาชนทั้งที่เป็นเอกชนขนาดเล็กและบรรษัทธุรกิจใหญ่ ที่ผ่านมาหาบเร่แผงลอย กทม. ประมง และบริษัทใหญ่ๆ ที่เข้าประมูลแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มี

สี่ ป้องกันไม่ให้รัฐมนตรีและเครือข่าย หรือผู้มีอำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญทุจริต คนไม่มีตำแหน่งทางการเมืองเดี๋ยวนี้ไม่ต้องอาศัย รมต. แต่อาศัยคนนอกรัฐธรรมนูญ ใช้นอมินี เราจะแก้ไขเรื่องนี้ที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีประจำชาติได้อย่างไร

นิพนธ์กล่าวต่อไปในส่วนงบประมาณของนโยบายประชานิยมแต่ละพรรค ระบุว่า เมื่อคำนวณงบประมาณนโยบายแบบประชานิยมจะพบว่า อนค. สูงที่สุด อยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาท รองลงมาเป็น พปชร. (5.5-6 แสนล้านบาท) พท. (มากกว่า 4 แสนล้านบาท) และ ปชป. ที่ 3.9 แสนล้านบาท โจทย์คือจะทำอย่างไร จากงบประมาณแผ่นดินจำนวนสามล้านล้านบาท เมื่อหักงบอื่นแล้วจะเหลือน้อยมาก ไม่พอ ทางเดียวคือขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีกร้อยละ 3 ก็จะได้มาอีก 1.5 แสนล้าน ได้เพียงครึ่งเดียวของที่สัญญาเอาไว้ ดังนั้นต้องมีการปรับลด แล้วออกมาขอโทษพี่น้องประชาชนว่าตอนหาเสียงไม่ได้ห่วงตัวเลข สิ่งที่คิดว่าน่าสนใจคือแนวคิดของ อนค. เรื่องการกระจายอำนาจที่ต้องทำและเป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ บุรีรัมย์โมเดลโดย ภท. (พรรคภูมิใจไทย) การค้าชายแดนครบวงจรและการวิจัยพัฒนาการเกษตรของพรรคประชาชาติ หรือเรื่องภาษีออนไลน์ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ แต่สื่อไม่ค่อยพูดถึง

นิพนธ์เพิ่มเติมว่า บุรีรัมย์โมเดลเป็นแนวคิดที่ดีมาก สะท้อนว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต้องเป็นไปตามศักยภาพของภูมิภาค อย่าไปเอาทุกจังหวัดเป็นเมืองท่องเที่ยวรอง เพราะแต่ละจังหวัดมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน บางเมืองเป็นเมืองหลวงอุตสาหกรรม การศึกษา กีฬา บุรีรัมย์โมเดลไม่ได้เป็นโมเดลเดียวในโลก ตัวอย่างที่มาเลเซียหรือสหรัฐฯ ก็มีแบบอื่น ต้องกระจายอำนาจทางการคลัง ถ้าไม่อยากเลือกผู้ว่าฯ ก็ให้อำนาจนายกสภาจังหวัด การสู้กับกระทรวงมหาดไทยนั้นยาก ต้องใช้เวลาค่อยๆ ทำ

นโยบายเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่พูดถึงกันเป็นเรื่องจุลภาค ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ใหญ่ ยุทธศาสตร์ใหญ่ต้องเน้นการเติบโตกระจายและทั่วถึง พัฒนาภูมิภาค นโยบายประชานิยมและสวัสดิการนั้นก็จำเป็นจะต้องมี โจทย์คือรัฐบาลจะคัดเอาอันที่มีความสำคัญเป็นขั้นต่ำและมีเงินพอ เพื่อไม่เป็นภาระต่อหนี้สินรัฐ หรือไม่ก็ตัดงบที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้มีงบเพิ่ม เข้าใจว่างบซื้ออาวุธบางอย่างสามารถลดได้ นอกจากนั้นต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย เวลานี้นโยบายประชานิยมสวัสดิการแก้ปัญหาข้างล่างคือคนจนสุด ต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงแก้ปัญหาคนรวยสุด ที่มีก็เห็น อนค. ในส่วนของรัฐบาล คสช. มีการทบทวนภาษีที่ดินใหม่ ถือว่ารัฐบาลขี้ขลาดมากที่บอกว่ายกเว้นภาษีที่ดินราคา 50 ล้านบาทแรกซึ่งไม่ถูก เพราะว่าการที่ที่ดินจะได้รับสาธารณูปโภคจากรัฐก็ต้องจ่ายภาษีให้รัฐคืน บางเรื่องต้องแก้ไข ให้คนเล็กๆ มีโอกาส มีความเป็นธรรมอย่างรถไฟสามสนามบิน เรียกร้องเลยว่าไม่เป็นธรรม ถ้าไม่แก้ไขก็รวยกระจุกและเรียกได้ว่าเป็นการผูกขาดกับรัฐบาล

ในเรื่องการศึกษาต้องจัดหลักสูตรให้สอดคล้องความต้องการตลาด ใช้ bigdata หรือ machine learning ตอนนี้ TDRI ทำไปแล้วโดยร่วมกับบริษัทในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก และมหาวิทยาลัยต่างๆ มีแพลตฟอร์มที่ทำให้รู้ว่าบริษัทต่างๆ ต้องการคนทำงานแบบไหน มหาวิทยาลัยก็นำไปปรับหลักสูตร สกอ. เป็นตัวปรับหลักสูตรนี้

นิพนธ์ยังกล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังก้าวสู่สองนครายุคใหม่ สองนครายุคเก่าคือเมืองกับชนบท ผลการเลือกตั้งต่างจากโพลและนักวิเคราห์ส่วนใหญ่ สะท้อนความต่างสามกลุ่ม หนึ่ง กลุ่ม พท. ที่จงรักภักดีกับทักษิณ ชินวัตร สอง กลุ่มคนมีอายุที่เลือก พปชร. เรียกว่าอนาคตเก่า และคนหนุ่มสาวคืออนาคตใหม่ คนสองกลุ่มหลังจะสำคัญมากกับประเทศไทยเพราะนับวันจะเพิ่มขึ้น และเวลาผ่านไปคนแก่ก็มากขึ้น ในขณะที่ความต้องการและโลกทัศน์ของคนสองกลุ่มหลังต่างกันมาก ในองค์กรที่มีผู้สูงอายุมาก ทุกคนรวมทั้งคนหนุ่มสาวจะมีแพชชั่นต่ำ เพราะองค์กรจะไม่อยากใช้เทคโนโลยีใหม่ ในประเทศที่มีคนแก่มากก็จะพบว่าผลิตภาพต่ำ นี่คือปัญหาใหญ่ ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้คนสองกลุ่มได้ประโยชน์จากนโยบายที่เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน นักวิจัยเศรษฐศาสตร์สองท่านพบว่าสังคมที่ขาดแคลนคนหนุ่มสาวมากระดับหนึ่ง เขาจะเริ่มใช้หุ่นยนตร์มาทดแทนแล้วผลิตภาพจะเพิ่มขึ้น แต่เรารอวันนั้นไม่ได้ เมื่อรอไม่ได้ นโยบายการเมืองจะต้องเตรียมสร้างความรู้ให้คนรุ่นใหม่และเก่า คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ ความคิด วิเคราะห์ จะต้องมีวิธีใช้ประโยชน์จากเขา ให้เขาติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ

นิพนธ์ทิ้งท้ายว่า สิ่งหนึ่งที่อันตรายคือเงินนอกงบประมาณเช่นเงินที่ได้จาก ธกส. ธนาคารออมสิน ต่อไปก็ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นเงินนอกงบประมาณที่ไม่ผ่านรัฐสภา รัฐบาลยืมไปใช้ก่อนแล้วมาคืนทีหลังซึ่งเป็นภาระหนี้สิน อย่างนโยบายจำนำข้าวนั้นเห็นชัดเจนว่าเป็นเงินนอกงบประมาณที่เป็นภาระภาษีที่ต้องตั้งงบประมาณออกมาชดใช้ ตรงนี้เป็นจุดอันตรายของประเทศไทย อย่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังไม่ได้ปิดช่องนี้ ยังเป็นช่องโหว่ที่อันตรายมากสำหรับประเทศไทยในเรื่องวินัยการเงินการคลัง

กฎหมายไม่เอื้อราชการทำงานให้ดี พรรคการเมืองอ่อนนโยบายพัฒนามนุษย์

เจนกล่าวว่า เลือกตั้งครั้งนี้ถือว่ามีสีสัน ผลออกมาค่อนข้างไม่มีใครคาดคิดเท่าไหร่ ส่วนที่ภาคธุรกิจจะเกี่ยวกับการเมืองคือนโยบาย กฎหมายต่างๆ ส่วนนี้ต้องเรียนว่าภาคธุรกิจทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลอยู่แล้ว ทั้งกับรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือก่อนหน้านั้น ทั้งนี้หากดูจากความเป็นไปได้เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ ก็อาจมีคำถามเรื่องการออกกฎหมายใหม่เพราะว่าส่วนต่างในสภาน้อยมาก การออกกฎหมายก็อาจจะยากหน่อย

ในมุมภาคธุรกิจอยากจะเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงในสามส่วน ที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หนึ่ง เรื่องทรัพยากรมนุษย์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการศึกษา ซึ่งไม่ได้เป็นนโยบายหลักของพรรคใดพรรคหนึ่งเลย เท่าที่ดูไม่มีพรรคไหนพูดชัดเจนว่าจะปฏิรูปการศึกษาอย่างไร สอง เรื่องคอรัปชั่นที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจสูงขึ้น สาม เรื่องการแก้ไขกฎกติกาต่างๆ เพื่อให้การทำธุรกิจสามารถทำได้ง่ายขึ้น รัฐบาลที่แล้วทำไปหลายเรื่องเหมือนกัน แต่ก็ยังมีเรื่องที่จะต้องทำ แต่ก็ยังไม่เห็นว่าจะไปได้อย่างไร อย่างโครงการ EEC (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) มีกฎหมายออกมาให้หลายอย่างเป็น one stop service แต่คำถามสำคัญคือแล้วพื้นที่อื่นหรือกติกาอื่นล่ะ หรือในเรื่องใบอนุญาตของผู้ที่มาทำงานที่เป็นคนต่างชาติ อย่าลืมว่ายุคนี้แข่งกันในด้านเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลหรือวิทยาศาสตร์ ก็ต้องยอมรับว่าเรายังขาดบุคลากร จำเป็นจะต้องมีบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามาโดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) จำเป็นจะต้องนำเข้าบุคลากรเหล่านี้เข้ามาเยอะจนกว่าเราจะสร้างขึ้นมาได้เอง การสร้างก็ต้องอาศัยข้อแรกคือเรื่องการศึกษา

แม้กระทั่งไม่กี่วันนี้ที่อ่านคอลัมน์หนังสือพิมพ์ที่คนอ่านเขียนเข้ามา เขาก็ยังบ่นว่าประเทศนี้เหมือนไม่ต้อนรับ expat หรือคนที่มาทำงานจากต่างประเทศ หลักๆ คือเรื่องกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง ถ้าเราจำเป็นต้องใช้บุคลากรแล้วไม่พยายามปรับปรุงอะไรที่ทำให้เขาอยู่ได้อย่างสะดวกหรือมีความสุขและมั่นคง ก็จะทำให้คนไม่อยากเข้ามา เราก็จะไม่ได้สิ่งที่อยากจะได้เช่นเทคนิคหรือการปรับกระบวนทัศน์ในการทำธุรกิจ นอกจากนั้นคนเหล่านี้จะไปที่ประเทศคู่แข่งของเราแทนอีก

สามเรื่องเหล่านี้พบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้พูดกันเลย พูดตรงๆ ว่าค่อนข้างผิดหวังกับนโยบายที่แต่ละพรรคหาเสียง เป็นส่วนที่ภาคธุรกิจต้องพึ่งตัวเอง นักข่าวถามว่าจะทำอย่างไร เราก็ตอบว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกเพราะเราดิ้นรนกันมาเองแต่ต้นอยู่แล้ว

เจนพูดถึงสิ่งที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง จากการที่เขาไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการนิติบัญญัติทำให้เห็นแง่มุมในกฎหมายบ้านเราที่แยกกันทำเป็นกระทรวงใครกระทรวงมันแล้วเสนอเข้าสภา ในกฎหมายมักจะมีมาตราหนึ่งที่อยู่มาตราต้นๆ คือ รมว. กระทรวงหนึ่งรักษาราชการแทนตาม พ.ร.บ. นี้ มีกฎหมายไม่กี่ฉบับที่มีรัฐมนตรีหลายกระทรวงอยู่ในมาตราดังกล่าว การทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกระทรวงจึงค่อนข้างยาก การทำกระบวนการจำพวก one stop service จึงลำบาก ที่มีทำไปค่อนข้างได้แล้วอย่างในกระทรวงพาณิชย์ หรือ BOI ก็มี แต่พอพูดถึงข้ามกระทรวงแล้วแย่เลย ไปไม่ถึงไหน เท่าที่ทราบคือในการบริหารราชการมีสิ่งที่เรียกว่าตัวชี้วัดร่วม หรือ KPI ร่วม เมื่อมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง แต่พอพูดเรื่องนี้แล้วมักได้รับความสำคัญน้อยกว่า KPI ระดับกระทรวง คิดว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ควรพิจารณาถึงผลกระทบว่าถ้าตรงนี้ได้ทำจะเป็นอานิสงค์กับประเทศอย่างไร แล้วถ้าไม่ทำจะเป็นอุปสรรคอะไรกับประเทศ

เจนทิ้งท้ายว่าเสถียรภาพการเงิน การคลังคือสิ่งที่เอกชนคือสิ่งที่นักลงทุนสนใจ ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ถ้ามีการใช้นโยบายประชานิยมแล้วกระทบเสถียรภาพการเงิน การคลัง จะเอากลับมาได้ยาก เมื่อเสียวินัยการเงินการคลังแล้วก็จะเอากลับมายาก จะส่งผลต่อภาคธุรกิจแน่นอน ความเชื่อมั่นในเงินบาทจะหายไป ถ้าถึงขนาดนั้นก็น่ากลัวว่าเงินจะไหลออกแบบสมัยคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีเสถียรภาพทั้งทางการเงินและการเมือง จุดแข็งเดียวของทไยตอนนี้คือเสถียภาพทางการเงินมั่นคง เงินสำรองระหว่างประเทศสูง การค้าเกินดุลสูง แต่บุคลากรและการศึกษาเราสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net