Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: facebook.com/pmove2011

10 ก.พ. 2562 เวลา 09.00 น. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move อันประกอบด้วยขบวนการภาคประชาชน 6 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ประมาณ 500 คน รวมตัวปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ดิน ตลอดจนยื่นข้อเสนอเพื่อเร่งรัดกระบวนการแก้ปัญหาต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
    
สุแก้ว ฟุงฟู ตัวแทนชาวบ้านจาก P-Move กล่าวว่า ที่มาชุมนุมวันนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อมาไล่รัฐบาล คสช. แต่มาเพื่อมาติดตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะแก้ปัญหาให้คนจนที่มีปัญหาที่ดิน ซึ่งผ่านมากว่า 4 ปีแล้ว แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา หรือในบางกรณีกลับได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น 
    
“คณะกรรมการแก้ไขปัญหามีมาตั้งแต่ปี 2557 ผ่านมาเกือบ 5 ปี แต่รัฐบาลชุดนี้แก้ปัญหาไม่ได้ ทีเรื่องการอนุมัติกฎหมาย หรือยกร่างกฎหมายที่เป็นโทษกับชาวบ้านทำได้เร็วเหลือเกิน แต่ปัญหาปากท้องของพี่น้องกลับทำช้า ที่เขาว่าคนจนจะหมดประเทศ คงหมายถึงคนจนต้องตายกันหมดประเทศ ไม่ใช่จะแก้ปัญหาให้” สุแก้วกล่าว
           
นอกจากนั้น ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ปัจจุบันจากการจัดอันดับโดย CS Global Wealth Report 2018 ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค. 2561 ชี้ชัดว่า ประเทศไทยเบียดรัสเซียและตุรกี ขึ้นแท่นอันดับ 1 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดแล้ว โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล คสช.
    
“ประชาชน 90 เปอร์เซ็นต์ เข้าถึงที่ดินได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มีคน 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของที่ดิน 90 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ต้องพูดถึงบริษัทเดียวที่ถือครองที่ดิน 6 แสนไร่ นี่คือต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลไม่คิดจะแก้ไข” สุแก้วอธิบาย
    
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 ก.พ. จะมีการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในวันที่ 13 ก.พ. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งทางกลุ่มยังยืนยันจะปักหลักชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้การแก้ไขปัญหาจะบรรลุข้อเสนอ

แถลงการณ์ P-MOVE ไทยแชมป์ความเหลื่อมล้ำ “100 กรณี 4 ปี แก้ปัญหาไม่เสร็จ”

ทั้งนี้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ออกแถลงการณ์ P-MOVE ไทยแชมป์ความเหลื่อมล้ำ “100 กรณี 4 ปี แก้ปัญหาไม่เสร็จ” โดยระบุว่าขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เป็นการรวมกลุ่มกันจากผู้ที่เดือดร้อนจากการพัฒนาของประเทศที่ไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มรากหญ้า มีการเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหากับ 3 รัฐบาล มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา และปัญหาโดยรวมเกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างๆ ทั้งสิ้น 7 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยมีปัญหารวมทั้งสิ้นกว่า 200 กรณี 

กล่าวเฉพาะในช่วงรัฐบาลปัจจุบัน ขปส. ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดกลไกการแก้ปัญหา และรัฐบาล ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2557 ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีว่าการประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไปตามกระทรวงต่างๆโดยมีปลัดกระทรวงเป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งสิ้น 8 คณะ

นับตั้งแต่มีการตั้งกลไกการแก้ปัญหาขึ้นมากว่า 4 ปี ขปส. มีอุปสรรคปัญหาภายในตัวกลไกเองคือ การสั่งการเชิงนโยบายที่ต้องข้ามกระทรวงไม่สามารถทำได้จริง สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการอุปสรรคอันใหญ่หลวงในการแก้ปัญหาของ ขปส. และที่สำคัญเรายังไม่เคยได้เห็นความห่วงใยต่อการแก้ไขปัญหาของ ขปส. จากตัวนายกรัฐมนตรีแม้เพียงการให้เข้าพบเพื่อเสนอ และรับฟังสภาพปัญหาของชาวบ้าน

การมาชุมนุมเรียกร้องครั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ไม่มีความประสงค์ที่จะมาทำให้สังคมเสียบรรยากาศในช่วงเตรียมการเลือกตั้งแต่อย่างใด เราคาดหวังเพียงการแก้ปัญหาให้กับสมาชิก ขปส. อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ขปส. ขอเรียนว่า เรามิใช่เป็นเพียงคนจนที่มีปัญหา หรือถูกระทำ แต่เรายังเป็นกลุ่มประชาชนที่มีรูปธรรมการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง เรามีกลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน มีระบบสวัสดิการชุมชน การสร้างบ้าน สร้างชุมชน การจัดการขยะ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ จนเป็นพื้นที่รูปธรรม ในหลากหลายรูปแบบ 

ในการนี้ พวกเรา ขปส. มีข้อเสนอเพื่อให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พิจารณา ดังต่อไปนี้ 1.กรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติจากการเจรจาของอนุกรรมการ และกรรมการแก้ปัญหาของ ขปส. ที่ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเห็นชอบ ให้นำเรื่องเข้าพิจารณาภายในวันที่ 19 ก.พ. 2562 ซึ่งมีดังนี้ 1.1 การคุ้มครองพื้นที่ชุมชนที่ยื่นเสนอขอใช้สิทธิที่ดินตามนโยบายโฉนดชุมชนทั้ง 486 ชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้พัฒนาชุมชน และทำมาหากินตามปกติ ในระหว่างการรอหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว 1.2 การปรับเกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านมั่นคง จากเดิม หน่วยละ 80,000 บาท เป็น 100,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน 1.3 การจ่ายค่าชดเชยเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง จังหวัดอุบลราชธานี 2.ให้นำเรื่องที่มีการเจรจาในทุกอนุกรรมการที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เข้า ครม. เพื่อรับทราบและเป็นกลไกการติดตามในรัฐบาลต่อไปข้างหน้า

ด้วยเหตุดังนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ยังคงมีความจำเป็นในการติดตามการแก้ปัญหาของรัฐบาลอีกต่อไปจนกว่าการแก้ปัญหาจะบรรลุข้อเสนอ และเกิดการปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่าเรื่องราวข้อเท็จจริง และหลักการทางนโยบายที่ ขปส. เสนอตลอดช่วงที่ผ่านมา คือเนื้อหาใจกลางของการปฏิรูปที่ดิน และทรัพยากรของสังคม ซึ่งเป็น 1 ใน 11 เรื่อง ที่รัฐบาลจะดำเนินการ ตามที่ได้กล่าวอ้างในการเข้ามาบริหารประเทศ และผู้นำในการปฏิรูปดังกล่าว ต้องมีวิธีคิดและท่วงทำนองที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ และรับฟังข้อเท็จจริงอย่างถึงที่สุด หาใช่การกล่าวร้าย และสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้คนในสังคม 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net