Skip to main content
sharethis

รัฐบาลอินโดนีเซียใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนในเขตพื้นที่ปาปัวตะวันตกเพื่อเป็นการโต้ตอบเพื่อเป็นการโต้ตอบกรณีกลุ่มติดอาวุธโจมตีไซต์ก่อสร้างในดูกา ตาย-พลัดถิ่นหลายพัน จากเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลและความขัดแย้งอื่นๆ ทำให้ประชาชนในปาปัวตะวันตกส่งคำร้องถึงสหประชาชาติ ล่าสุดทางสหประชาชาติเปิดเผยว่าพวกเขาได้รับคำร้องแล้วและจะส่งตัวแทนยูเอ็นเข้าไปในพื้นที่

ประชาชนกับป้ายผ้ามีข้อความขอบคุณผู้แทนยูเอ็นที่จะเข้ามาที่ปาปัวตะวันตก (ที่มา:freewestpapua.org)

30 ม.ค. 2562 ทางการอินโดนีเซียยอมรับหลักการในการอนุญาตให้กรรมาธิการสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดปาปัวตะวันตก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประชาชนชาวปาปัวตะวันตกส่งคำร้องถึงองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเรื่องนี้

จังหวัดปาปัวตะวันตกมีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างผู้ต้องการแยกตัวเป็นอิสระกับฝ่ายรัฐบาลกลางอินโดนีเซียมาเป็นเวลานานแล้ว ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ความรุนแรงยกระดับขึ้นหลังกองกำลังกลุ่มกบฏโจมตีไซต์ก่อสร้างในดูกา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย ซึ่งทางกลุ่มกบฏยืนยันว่าพวกเขาสังหารกลุ่มกองกำลังอินโดนีเซีย แต่ทางการอินโดนีเซียก็แย้งว่าคนที่กลุ่มติดอาวุธสังหารเป็นพลเรือน ฝ่ายรัฐบาลโต้ตอบด้วยการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้คนในพื้นที่จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและคนพลัดถิ่นถึงหลายพันรายที่หนีเข้าไปในป่า

มิเชลล์ บาเชเลต ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเปิดเผยว่าเธอได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการอินโดนีเซียในพื้นที่ปาปัวตะวันตกเพื่อขอเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ในแง่สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน

ระวีนา ชัมดาซานี โฆษกของสำนักงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็นได้แถลงยืนยันเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าเธอได้รับคำร้องจากประชาชนชาวปาปัวตะวันตกแล้ว หลังก่อนหน้านี้เธอเคยกล่าวว่าการใช้กำลังโจมตีไซต์ก่อสร้างโดยกลุ่มติดอาวุธนั้นเป็นความรุนแรงที่ไม่อาจยอมรับได้ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ไม่ได้พูดถึงรากฐานของปัญหาที่ทำให้เกิดกลุ่มแบ่งแยกดินแดนขึ้น

คำร้องดังกล่าวมีการลงนามจากประชาชนปาปัวตะวันตก 1.8 ล้านคน เข้ายื่นโดยตัวแทนจากวานูอาตูที่เข้าประชุมการประเมินประจำปีกับหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น คำร้องที่ว่านี้มีการลอบนำเอาออกจากพื้นที่ในปี 2560 มีเนื้อหาเรียกร้องให้ยูเอ็นสืบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่และขอให้นานาชาติเป็นผู้กำกับดูแลการโหวตลงมติแยกปาปัวตะวันตกเป็นอิสระ

เบนนี เวนดา ผู้แทนจากวานูอาตูกล่าวว่าคำร้องที่มายื่นในครั้งนี้ทำให้ประชาชนนับ 2 ล้านคนต้องเสี่ยงถูกจับกุม ถูกทารุณกรรม ถูกลอบสังหาร เพียงเพราะต้องการส่งเสียงของตัวเองผ่าน "คำร้องฉบับประวัติศาสตร์นี้" เนื่องจากมีการสั่งห้ามทำการล่ารายชื่อร้องเรียนในปาปัวตะวันตก

เนื้อหาคำร้องดังกล่าวมีข้อเรียกร้องหลักๆ อยู่ 3 ประการคือขอให้ระบุถึงปัญหาสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ขอให้มีการพิจารณาการที่สหประชาชาติเคยมีส่วนพัวพันกับภาคส่วนบริหารงานของปาปัวตะวันตกในอดีตจนทำให้เกิดการถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียที่ชาวปาปัวตะวันตกมองว่า "ไม่เป็นไปตามกฎหมาย" และกลายเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงขอให้มีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษเพื่อการสืบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีกระบวนการทำให้ปาปัวตะวันตกเป็นเอกราชและมีสิทธิในการปกครองตนเองอีกครั้งและให้นานาชาติเป็นผู้กำกับดูแลการโหวตลงมติแยกปาปัวตะวันตกเป็นอิสระ

ทางการอินโดนีเซียรวมถึงกองทัพอินโดนีเซียแสดงการโต้ตอบคำประกาศของยูเอ็นด้วยความไม่พอใจ โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ที่ยูเอ็นรับคำร้องของชาวปาปัวตะวันตก รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม รยามิซาด รยาคูดู กล่าววิจารณ์ยูเอ็นว่าการรับคำร้องดังกล่าว "ไม่แฟร์" กับอินโดนีเซีย ขออย่าให้เกิดอะไรแบบเดียวกับกรณีติมอร์ตะวันออก และขอให้ "เคารพในอธิปไตยของอินโดนีเซีย"

ขณะที่ชาวปาปัวตะวันตกพากันแสดงความยินดีและมีกลุ่มคนเขียนป้ายแสดงการขอบคุณต่อบาเชเลตที่ยอมรับคำร้องของพวกเขาและบอกว่าจะส่งตัวคนมาดูสถานการณ์

เรียบเรียงจาก

Indonesia to let UN workers into West Papua as violence continues, The Guardian, Jan. 30, 2019

UN Human Rights Commissioner confirms receiving the West Papuan petition, Free West Papua Campaign, Jan. 29, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net