Skip to main content
sharethis

สมาคมส่งเสริมการวิจัย จัดเสวนาร่างกฏหมายตั้ง 'กระทรวงอุดมศึกษา' ชี้โครงสร้างใหม่กระทบงานวิจัยและนวตกรรม หวั่นการทำงานผิดฝาผิดตัว หาก วช.ถูกปรับบทบาทไปทำงานด้านมาตรฐานการศึกษาแล้วงานวิจัยสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะมีพื้นที่อยู่ตรงไหน

เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมาว่า ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ สมาคมส่งเสริมการวิจัย จัดประชุมเสวนาเรื่อง 'ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ...... จะบวกหรือลบกับระบบวิจัยและนวัตกรรมของชาติ' โดย ศ.ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ.....ที่ทำให้เกิดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)โดยโครงสร้างของกระทรวงใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีทั้งส่วนที่เป็นระบบราชการ มี 6 หน่วยงาน และมีส่วนองค์การมหาชนหรือองค์การอิสระ คือสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กับ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชึ่งหน่วยงานที่โดนควบรวม หรือยุบรวม ถ้าไปทำหน้าที่ตามโครงสร้างนี้จะเกิดการผิดฝาผิดตัว

ศ.ดร.กาญจนา กล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะการนำสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนมากำหนดและดูแลนโยบายของรัฐ และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่เดิมทำหน้าที่กำหนดนโยบายการวิจัยของชาติและจัดสรรงบประมาณการวิจัย ไปทำงานด้านมาตรฐานการศึกษา ซึ่งก็จะมีผลทำให้โครงสร้างและหน้าที่การทำงานไม่ตรงกับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และผลงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขาดการบูรณาการทั้งระบบ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการเชื่อมต่อและเกื้อหนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย อีกทั้งจะไม่มีระบบการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลที่เหมาะสม

ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผู้อำนวยการศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ (Center of Excellence in Electromagnetic Energy Utilization in Engineering ) หรือ CEEE กล่าวว่าการปรับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งจะไม่มีคำว่ากองทุนแล้วเป็นการปรับบทบาทภารกิจของ สกว. จากเดิมจเป็นองค์กรให้ทุนวิจัยที่เน้น Basic Research จัดสรรเงินลักษณะ โครงการวิจัยสู่ผู้รับทุนโดยตรง และมีการประเมิน แบบครบวงจร มาเป็นแบบไม่ให้ สกว. ให้ทุนวิจัยแบบเดิม แต่อาจจะมีองค์กรอื่นมาทำหน้าที่แทนซึ่งก็ไม่รู้ว่าองค์กรนั้นจะมีประสบการณ์ในการทำงานตรงนี้ได้ดีขนาดไหน และงานวิจัย Basic Research ของประเทศนี้จะมีพื้นที่อยู่ตรงไหน

รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการศูนย์ประสานงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) กล่าวว่าหาก วช.ถูกปรับบทบาทไปทำงานด้านมาตรฐานการศึกษาแล้วงานวิจัยสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะมีพื้นที่อยู่ตรงไหน และหน่วยงานใดจะมาทำหน้าที่ในการบูรณาการระบบวิจัย ทั้งนี้ระบบการวิจัยควรพัฒนาทั้งระบบ ไม่ใช่การพัฒนาแบบแยกส่วน การปรับเปลี่ยนโครงสร้างและบทบาทของหน่วยงานโดยมองเพียงด้านใดด้านหนึ่งอาจแสดงถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจอย่างรอบด้านในการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมที่ไม่สามารถเติบโตจากศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะแนวคิดให้ สวทน. เข้าไปเป็นคณะเลขานุการในสภานโยบายโมเดลใหม่ฝ่ายเดียว จากเดิมเลขานุการจะมีตัวแทนจาก วช. และ สวทน.ด้วย

ด้าน ผศ.ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการออกแบบกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องดี แต่การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียอาจจะไม่ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสและอุปสรรคในระบบวิจัย นอกจากนี้ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา และร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. จะต้องสอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่ระบุว่านักวิจัยจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินการวิจัยและนวตกรรม ตามมาตรการ 34 การรับรองเสรีภาพทางวิชาการและ มาตรา 69 ที่รัฐจะต้องจัดให้มีการวิจัยและนวัตกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net