Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


สองสามวันมานี้มีการถกเถียงทางเฟซบุ๊คว่า เรามีสิทธิสนับสนุนเผด็จการหรือไม่? หรือ การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิหรือไม่? ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นข้อดีของการมีสื่อโซเชียลที่ทำให้เราได้ถกเถียงกันในประเด็นปัญหาพื้นฐานที่ยากๆ และซับซ้อนได้ (ในระดับหนึ่ง) ผมอยากนำมาอภิปรายต่อผ่านบทความนี้

ปรัชญาการเมืองเสรีนิยม (liberalism) ฝ่ายที่ยืนยันสิทธิและเสรีภาพคู่กับประชาธิปไตย ย่อมปฏิเสธเด็ดขาดซึ่งอำนาจเผด็จการใดๆ ที่ล้มล้างหรือละเมิดหลักสิทธิและเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทรราชโดยบุคคล คณะบุคคล หรือทรราชเสียงข้างมาก โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็น และการแสดงออก แม้แต่รัฐบาลของประชาชนเองก็ไม่มีสิทธิ์อ้างการใช้อำนาจรัฐที่คล้อยตามความเชื่อ ประเพณี ทัศนะหรือความเห็นของคนส่วนใหญ่ปิดปาก หรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกของปัจเจกบุคคลได้

แปลว่า โดยหลักสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก เราแสดงทัศนะที่แตกต่างได้เต็มที่ แม้แต่ทัศนะที่สังคมมองว่าหรือเชื่อว่าเป็นทัศนะที่ผิดหรืออันตราย ตราบใดที่การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกนั้นๆ ยังเคารพหรือไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น (เช่นไม่ปลุกระดมให้คนไปตีหัวหรือเผาบ้านใครเป็นต้น)

แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องแยกให้ออกระหว่างข้อความว่า “ถึงผมจะรังเกียจสิ่งที่คุณพูดมากเพียงใด แต่ก็จะปกป้องสิทธิที่จะพูดของคุณด้วยชีวิต” ที่เป็นการยืนยันการคงไว้ซึ่งสิทธิที่ละเมิดไม่ได้ กับข้อความว่า “ถึงผมจะรังเกียจเผด็จการที่ละเมิดสิทธิผมมากเพียงใด ผมก็จะปกป้องสิทธิของคุณที่จะสนับสนุนเผด็จการที่ละเมิดสิทธิผมด้วยชีวิต” ที่เป็นการยืนยันการสนับสนุนการละเมิดหรือทำลายสิทธิ

พูดอีกอย่าง การยืนยันว่า “การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเป็นสิทธิและเสรีภาพ” แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการยืนยันว่า “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิและเสรีภาพ” เพราะข้อความแรกเป็นการยืนยันการคงไว้ซึ่งหลักสิทธิและเสรีภาพ หรือเป็นการยืนยันว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้ แต่ข้อความหลังเป็นการยืนยันว่า การล้มหรือละเมิดหลักสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ทำได้ และควรสนับสนุน

ถ้าคุณยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ละเมิดมิได้ พร้อมๆ กับการยืนยันสิทธิในการสนับสนุนอำนาจเผด็จการล้มหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพ คุณก็กำลังยืนยันหลักการสองหลักการที่ขัดแย้งกันเอง แต่ปรัชญาการเมืองที่ยืนยันหลักสิทธิและเสรีภาพคู่กับประชาธิปไตยจะไม่ยืนยันสองหลักการที่ขัดแย้งกัน มีแต่ยืนยันว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ละเมิดมิได้ และยืนยันว่า ประชาชนมีสิทธิล้มล้างอำนาจเผด็จการใดๆ ที่ทำลายหลักสิทธิและเสรีภาพได้

นอกจากการยืนยันว่า “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ” จะขัดแย้งกับหลักสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเสียเอง การยืนยันดังกล่าวยังใช้ไม่ได้แม้ในระบบเผด็จการอีกด้วย เพราะในระบบเผด็จการไม่ได้ให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพ เช่นในระบบเผด็จการเกาหลีเหนือ ประชาชนก็ไม่ได้มีสิทธิสนับสนุนเผด็จการเลย เพราะอะไรที่เป็น “สิทธิ” ต้อง “เลือกได้” ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน แต่ในระบบเผด็จการประชาชนตกอยู่ภายใต้สภาพบังคับให้แสดงความคิดเห็นและแสดงออกในทางสนับสนุนเผด็จการได้ด้านเดียวเท่านั้น แสดงออกด้านตรงข้ามไม่ได้  

ดังนั้น การยืนยันว่า “มีสิทธิในการสนับสนุนเผด็จการ” หรือ “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ” จึงเป็นข้อยืนยันที่แปลกแยกจากหลักสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย และแปลกแยกแม้กระทั่งจากระบบเผด็จการเอง

จริงที่ว่าในสังคมประชาธิปไตยที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก ถือว่าประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพแสดงความคิดเห็น แสดงออกซึ่งแนวคิด อุดมการณ์ทางการเมืองแบบเผด็จการ ชื่นชมเผด็จการได้ แต่นี่เป็นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกภายใต้กรอบ หรือ “ขอบเขต” ของหลักสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการ “เคารพหรือไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น” เสมอ หลักแห่งสิทธิและเสรีภาพปฏิเสธการใช้กำลังหรืออำนาจเผด็จการรูปแบบใดๆ ล้มล้างหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง สังคมประชาธิปไตยที่เชิดชูหลักสิทธิและเสรีภาพไว้สูงสุดจึงไม่ได้ยืนยันว่า ประชาชน “มีสิทธิสนับสนุนเผด็จการที่ล้มล้างหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพ” หรือยืนยันว่า “การสนับสนุนเผด็จการที่ล้มล้างหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเองเป็นสิทธิ” แบบหนึ่ง 

ดังนั้น การยืนยันสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก จึงไม่ได้เท่ากับหรือครอบคลุมถึงการยืนยันว่า ประชาชนชนมีสิทธิสนับสนุนอำนาจเผด็จการล้มล้างหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเอง

สำหรับ “การสนับสนุนเผด็จการ” ที่เกิดขึ้นจริงในบ้านเราก็ครอบคลุมการกระทำต่างๆ ที่กว้างมาก ตั้งแต่พูด เขียนเชียร์ ชุมนุมเรียกร้องรัฐประหาร ล้มเลือกตั้ง สร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร เข้าไปร่วมงานกับรัฐบาลเผด็จการ ประชาสัมพันธ์ผลงาน และการแสดงออกอย่างปิดเผย (และโดยลับๆ) ด้วยวิธีการใดๆ ที่สนับสนุนให้อำนาจเผด็จการที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคงอยู่ หรืออยู่ยาว

ถามว่า การสนับสนุนเผด็จการดังกล่าวนั้น เป็นการใช้ “สิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก” ไหม? ก็ต้องย้อนไปที่ตัวหลักการว่าอะไรที่เป็นสิทธิและเสรีภาพต้อง “เลือกได้” ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน เช่นสิทธิและเสรีภาพในการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตย ย่อมหมายถึงประชาชนทุกคนเลือกได้อย่างเท่าเทียมว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านรัฐบาล แต่ภายใต้อำนาจเผด็จการ สื่อ นักวิชาการ เนติบริกร นักเขียน กวี ศิลปิน พระ ดารา นักร้อง มวลมหาประชาชน เอ็นจีโอ ฯลฯ แสดงออกในทางเชียร์ สนับสนุน หรือร่วมงานกับเผด็จการได้เต็มที่ ทว่าฝ่ายที่คัดค้านกลับถูกดำเนินคดี ติดคุก อยู่ในประเทศไม่ได้ (ชูป้าย “มหาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ก็ผิด มีปฏิทินสีแดงก็ไม่ได้-ฮาไม่ออก) และถูกข่มขู่คุกคามสารพัด ดังนั้นภายใต้อำนาจเผด็จการมันจึงไม่มีสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกอยู่จริง

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ การสนับสนุนเผด็จการจึงไม่ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพ แต่เป็นการ “สนับสนุนอำนาจที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพให้คงอยู่” บรรดาผู้สนับสนุนจึงไม่ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพ แต่เป็นการใช้ “อภิสิทธิ์” บนกติกาที่ไม่ฟรีและแฟร์ที่ฝ่ายต้านเผด็จการถูกไล่ล่า ส่วนฝ่ายสนับสนุนนอกจากจะแสดงออกถึงการสนับสนุนด้วยวิธีต่างๆ ได้เต็มที่แล้ว ยังช่วยเผด็จการชี้เป้าไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วย

นึกถึงภาพในคลิปล้อมปราบนักศึกษาธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการนอกจากจะปรบมือเชียร์ สร้างวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” แล้วยังมีอาวุธปืน ถือปืนช่วยเจ้าหน้าที่รัฐยิงนักศึกษาได้ด้วย ไม่ต้องพูดถึงการเอาเก้าอี้ฟาดศพต่อหน้าสาธารณ์ ถ้ายืนยันว่า “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ” ความเลวร้ายเหล่านี้ก็ย่อมเป็นสิทธิที่ทำได้ทั้งหมด (เพราะกฎหมายเผด็จการยุคนั้นก็ไม่เอาผิดอยู่แล้ว เขาคงถือว่าเป็น “สิทธิ” หรืออะไรไม่ทราบ ไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจได้) 

ปัญหาสำคัญที่ควรตั้งคำถามคือ เรากำลังต่อสู้ทางการเมืองบนการอ้าง “สิทธิที่ผิดเพี้ยน” กันอยู่หรือไม่? จำได้ไหมครับช่วงชุมนุมขวางเลือกตั้ง มีการปราศรัยบนเวที กปปส.ว่า “พวกเสื้อแดงเลือกนักการเมืองเข้ามาแล้วปล่อยให้นักการเมืองโกง ไม่ตรวจสอบ ก็เท่ากับละเมิดสิทธิของพวกเราเหมือนกัน” ดังนั้นมวลมหาประชาชนจึงออกมาทวงสิทธิของตนเอง และดูเหมือนพวกเขาจะเชื่อว่า การล้มเลือกตั้ง เรียกร้องรัฐประหารขจัดนักการเมืองโกง ฉลองที่ทำรัฐประหารสำเร็จ การเข้าร่วมงานกับรัฐบาลทหาร และสนับสนุนด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้รัฐบาลทหารอยู่ยาวก็เป็น “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ทั้งนั้น 

แล้ววันนี้ฝ่ายที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยยังออกมายืนยันว่าพวกเขาเหล่านั้น “มีสิทธิสนับสนุนเผด็จการ” หรือ “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ” อีก ยืนยันว่าการสนับสนุนให้อำนาจเผด็จการที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคงอยู่เป็นการใช้ “สิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก” มันก็เท่ากับคุณกำลังยืนยันว่าภายใต้อำนาจเผด็จการก็มีสิทธิและเสรีภาพอยู่แล้ว(?)

ปัญหาสำคัญที่ตามมาก็คือ ถ้ายืนยันว่า ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการกำลังใช้สิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกในการสนับสนุนอำนาจเผด็จการให้คงอยู่ เราจะสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยไปทำไม เพราะเท่ากับกำลังยืนยันว่า ภายใต้อำนาจเผด็จการมันมีสิทธิและเสรีภาพอยู่แล้ว การต่อสู้ทางการเมืองก็จะมีความหมายเพียงแค่ “สู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกลุ่มบุคคลเข้ามาใช้อำนาจปกครอง” (สู้เพื่อได้ “คนดี” มีคุณธรรมมาปกครอง?) เท่านั้น ไม่มีความหมายใดๆ ต่อการสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตยให้เป็นจริงเลย 

พูดอีกอย่างว่า ถ้ายืนยันสิทธิในการสนับสนุนอำนาจเผด็จการที่ล้มล้างหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพ การยืนยันว่า “สิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้” เป็นหลักการทั่วไปที่ทุกคนยึดถือร่วมกัน ก็ย่อมไร้ความหมาย

 

 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net