Skip to main content
sharethis

ตัวแทนประเทศไทยรับธงจัดเวทีอาเซียนภาคประชาชน/ประชาสังคมต่อจากสิงคโปร์ เจ้าภาพเผยครั้งล่าสุดเผยความท้าทายรอบด้าน รัฐบาลไม่ให้งบ ไม่ให้พบผู้นำ กังวลเรื่องความปลอดภัย ด้านผู้ร่วมงานจากไทยพ้อง กระบวนการจัดการมีปัญหา ทำการประชุม-แถลงการณ์ด้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ผู้ร่วมประชุมจากไทยร่วมกันแสดงออกทางสัญลักษณ์หลังรับธง

4 พ.ย. 2561 ที่การประชุมอาเซียนภาคประชาชน หรือเวทีอาเซียนภาคประชาชน (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People Forum - ACSC/APF) ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้มีพิธีส่งผ่านเจ้าภาพเวทีให้กับตัวแทนประเทศไทย หลังจากประชุมมาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. โดยประชาสังคมจากประเทศไทยได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการแสดงออกทางสัญลักษณ์

ในการประชุมระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. มีการพูดคุยกันระหว่างองค์กรประชาสังคมที่ทำงานหลากหลายประเด็นจากทั่วอาเซียน รวมถึงติมอร์ เลสเตที่เป็นประเทศสมาชิกของ APF/ACSC ด้วย ในงานมีการจัดให้พบปะ อภิปรายกับสภาฝ่ายก้าวหน้าจากสหภาพยุโรปเพื่อพูดคุยถึงแนวทางนโยบาย และจัดเวิร์คชอปเพื่อระบุปัญหาและจัดทำข้อเสนอแนะใน 6 ประเด็นได้แก่ประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม การเคลื่อนย้ายที่ปลอดภัยของผู้ย้ายถิ่น สันติภาพและความมั่นคงแห่งมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม/ความยุติธรรม ชีวิตที่มีศักดิ์ศรี และการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ จากนั้นได้มีการร่วมกันร่างแถลงการณ์จากข้อเสนอแนะดังกล่าว

ผู้เข้าร่วมจากไทยแสดงคลิปเพลง "ประเทศกูมี"

โซ มินทาน สมาชิกคณะเตรียมการประชุมจากประเทศสิงคโปร์ หนึ่งในคณะจัดงานระบุว่า ร่างแถลงการณ์จะถูกส่งผ่านคณะกรรมการตามกลไกถึงเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ทั้งนี้ การให้มีการพบปะระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกและตัวแทนประชาสังคมแต่ละประเทศนั้นยังไม่ได้รับการยืนยัน ทางคณะผู้จัดทำจะพยายามผลักดันเรื่องการเข้าพบต่อไป และยังเล่าว่าการจัดประชุมมีความท้าทายหลายประการ

“สิงคโปร์มีความท้าทายในแบบของสิงคโปร์ ในทีมผู้จัดตัดสินใจว่าคุยกับทางกระทรวงการต่างประเทศก่อนว่ามีความเห็นอย่างไรกับการมีประชุมภาคประชาสังคม ซึ่งก็ได้เรื่องมาว่า ภาคประชาชนตัดสินใจอะไรก็เป็นเรื่องของประชาสังคม ทางกระทรวงต่างประเทศจะไม่ยุ่งเกี่ยว หมายความว่าไม่มีงบสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์ ทางหนึ่งก็ผิดหวังเพราะไม่สามารถร่วมงานกันได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็คือมีอิสระมากขึ้นเพราะไม่มีข้อบังคับจากผู้ให้ทุน”

ผู้ร่วมประชุมที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าและไทยถ่ายรูปร่วมกัน

“คิดว่ามีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยด้วยว่าเราจะไม่สามารถพูดบางเรื่องได้ มีหลายเรื่องที่ไม่เห็นบนเว็บหรือเฟสบุ๊ค แต่มีการพูดคุยภายในทีมจัดงานและกลุ่มที่เราคุยด้วย ว่าจะมีเรื่องที่น่ากังวลในการประชุมครั้งนี้หรือไม่ เพราะว่าการประชุมนี้ก็เป็นที่รับรู้เรื่องการพูดุคยในสิ่งที่รัฐบาลอาจจะอึดอัดใจ”

 “ความคาดหวังหลังจากนี้ ด้านหนึ่งก็คิดว่าเราหวังว่าเราน่าจะทำได้มากกว่านี้ แต่ด้วยทรัพยากร กำลังคน และเวลาที่มีก็คิดว่าเราพยายามเน้นไปที่การทำให้เกิดการร่วมงานกันต่อจากสิ่งที่เราทำให้การเวิร์คชอป ว่าจะมีการรณรงค์ใดๆ ตามมาอีกหรือไม่ในหมู่ภาคประชาสังคมในลักษณะของการร่วมมือกัน และการเข้าหากลไกอาเซียนอย่างเต็มตัว” โซมินทาน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การร่วมจัดทำแถลงการณ์ถูกคั่นด้วยการฉายภาพยนตร์ความยาวหนึ่งชั่วโมงกว่า เมื่อภาพยนตร์จบ ผู้เข้าร่วมได้หายไปจำนวนกว่าครึ่งจากจำนวนเต็มราว 200 คน จากนั้นการจัดทำแถลงการณ์ก็ดำเนินไปมีการอภิปรายเล็กน้อย

ผู้ร่วมประชุมไทยเผย กระบวนการจัดงานมีปัญหา ทำประชุม-แถลงการณ์ ด้อยกว่าที่ควร

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ จากมูลนิธิเสริมศักยภาพชุมชน สมาชิกกลุ่มอาเซียนรากหญ้าของประเทศไทยระบุว่า รอบนี้กลุ่มอาเซียนรากหญ้าเดินทางมา 23 คน โดยกลุ่มที่มานั้นทำงานในหลายประเด็น ซึ่งการมาครั้งนี้ก็ได้ประโยชน์ เครือข่ายได้รับรู้ว่าการประชุมอาเซียนภาคประชาชนคืออะไร และได้มามีส่วนร่วมในการนำเรื่องราวที่พวกเขาทำงานมานำเสนอ เชื่อมเครือข่ายระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ และได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ มีวัฒนธรรม เศรษฐกิจอย่างไร เข้าใจบริบทประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นแล้วมาเปรียบเทียบ

ประชาสังคมตั้งกรรมการรากหญ้าอาเซียน มุ่งให้ความรู้สังคม-ล็อบบี้รัฐบาล

สำหรับปีหน้าที่ไทยจะได้เป็นประธานอาเซียน รวมถึงเป็นเจ้าภาพเวทีประชาชนอาเซียนด้วยนั้น ชลิดาระบุว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่รัฐให้งบประมาณในการจัดงานอาเซียนภาคประชาชนและกลายเป็นโมเดลต่อมา ยกเว้นสิงคโปร์ที่ไม่ได้เพราะสิงคโปร์ไม่สนใจประชาสังคม โดยปีหน้านั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงบมาแล้วจำนวน 9.8 ล้านบาทเพื่อใช้จ่ายกับค่าใช้จ่ายในประเทศ ส่วนค่าเดินทางระหว่างประเทศนั้นต้องหาเอง และรัฐยังหวังเป้าหมายให้มีคนเข้าร่วมจำนวนมากกว่าสิงคโปร์

ชลิดากล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ค่อนข้างขลุกขลักทั้งด้านการจัดงานที่ไม่เป็นระบบและเรื่องของเนื้อหา ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่มีจากการไม่ได้รับการสนับสนุน หลายองค์กรที่ชำนาญในประเด็นต่างๆ ก็ไม่สามารถมาได้ เพราะจำกัดโควตาที่ประเทศละ 20 คน ทำให้แถลงการณ์ที่จะส่งให้เวทีสุดยอดผู้นำนั้นไม่แข็งแรงและมีประเด็นตกหล่นเยอะ นอกจากนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ก็ไม่ได้สนใจภาคประชาชน ไม่ได้สนับสนุน แค่ให้จัดพื้นที่และอนุญาตให้จัด แต่ไม่สนับสนุนเงิน ไม่มีส่วนร่วมในพิธีเปิด ไม่ให้ตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าพบเจ้าภาพด้วยซ้ำ

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมรณรงค์อิสระด้านความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการทางเพศจากประเทศไทยกล่าวว่า การมาครั้งนี้ถือว่าเรียนรู้ว่าแต่ละองค์กรในอาเซียนทำอะไรกันบ้าง แต่คิดว่าจะได้พูดคุยกันเรื่องประเด็นปัญหาในอาเซียนมากกว่านี้ ทั้งนี้ ในอาเซียนมักไม่พูดถึงความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการเท่าไหร่ เหมือนไม่ให้ความสำคัญ เวลาพูดกันก็มักพูดเรื่องเศรษฐกิจ แต่เรื่องสังคม วัฒนธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียนกลับไม่ค่อยเป็นที่พูดถึง แม้พูดกันก็ไม่พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่สำหรับในปีหน้าที่ไทยจะได้เป็นเจ้าภาพก็คิดว่าจะมีการพูดคุยประเด็นนี้เข้มข้นไม่แพ้ประเด็นอื่น

ออมสิน บุญเลิศ จากเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำงานรณรงค์ คุ้มครองสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ย้ายถิ่นในพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ไทย ยูนนานของจีนกล่าวว่า การมาครั้งนี้เห็นความพยายามของภาคประชาสังคมในการร่วมกันทำงานในระดับภูมิภาค แต่ผิดหวังที่มีการจำกัดจำนวนคนเข้าร่วม เพราะพื้นที่เวทีประชาชนอาเซียนควรเปิดกว้างที่สุด ให้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้และพูดคุยเรื่องต่างๆ ในลักษณะการส่งต่อ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งคนที่อายุงานสูงและคนที่มาใหม่

ชวีเหม็ง ภรรยาของสมบัด สมพอน นักกิจกรรมชาวลาวที่ถูกลักพาตัวไปกลางกรุงเวียงจันทน์เมื่อปี 2555 ก็เข้าร่วมในช่วงฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับสมบัด

เวทีภาคประชาชน หรือเวทีภาคประชาสังคมอาเซียนได้รับการริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีข้อครหาว่าเวทีความร่วมมืออาเซียนเป็นเวทีความร่วมมือของรัฐบาลเท่านั้น ในช่วงแรกเริ่มเป็นการประชุมกันระหว่างนักวิชาการและภาคประชาชน

ภาคประชาสังคมเดินขบวนคบเพลิง-ชุมนุมคู่ขนานการประชุมอาเซียนที่ฟิลิปปินส์

เปิดประชุมประชาสังคมอาเซียน-เรียกร้องรัฐสมาชิกตั้งกลไกการมีส่วนร่วม

ต่อมาในปี 2548 ในปีที่มาเลเซียเป็นเลขาธิการอาเซียน จึงได้มีการจัดตั้งเวทีภาคประชาชนอาเซียนในลักษณะที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยปรกติ ในการประชุมทุกปี แต่ละชาติจะส่งตัวแทนภาคประชาชนไปกล่าวแถลงการณ์กับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน แต่ในปีนี้จะไม่มี เพราะว่าเลยรอบการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนรอบแรกมาแล้ว โดยในรอบต่อไปจะเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนร่วมกับชาติอื่น (อาเซียนพลัส)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net