Skip to main content
sharethis

ชาวนาร้องเรียนวิสาหกิจไร่เชิญตะวันติดเงินค่าข้าวกว่า 3 ล้าน ล่าสุดไกล่เกลี่ยที่ศาลากลางเชียงราย วิสาหกิจไร่เชิญตะวันขอแบ่งจ่าย 5 งวด พร้อมค่าปรับ-ดอกเบี้ย เริ่ม 1 ธ.ค. ตัวแทนพระจากไร่เชิญตะวันยัน ‘ว.วชิรเมธี’ ไม่เกี่ยวข้อง เป็นเพียงคนส่งเสริมตั้งกลุ่ม-อบรมโรงเรียนชาวนา ช่วยซื้อข้าวจากชาวนา 3 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นมีผู้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาทำต่อ


ภาพจากเฟซบุ๊ค มะลิ ภิญญาพัชญ์

1 พ.ย.2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (1 พ.ย.) ที่ห้องเวียงกาหลง ศาลากลาง จ.เชียงราย ลิขิต มีเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดให้มีการประชุมไกล่เกลี่ยระหว่างกลุ่มชาวบ้านจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านป่าเปา หมู่ 4 ต.เจริญเมือง อ.พาน จ.เชียงราย นำโดย จันทร์ติ๊บ คำอ้าย ประธานกลุ่ม และ เกษลักษณ์ หาราชัย ประธานวิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวัน โดยมีพระภิกษุและ ว่าที่ร้อยโท ทัศน์ไชย ไชยทน เลขาธิการมูลนิธิวิมุตตยาลัย ไปร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชาวนา

เนื่องจากก่อนหน้านี้ชาวบ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านป่าเปาเคยไปร้องเรียนต่อหลายหน่วยงานว่า ได้รวมกลุ่มจำนวน 69 ราย เข้ารับการส่งเสริมให้ปลูกข้าวอินทรีย์จากโรงเรียนชาวนาโดย เกษลักษณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวัน ให้การสนับสนุนและมีการรับซื้อข้าวจากชาวนาซึ่งปีที่ 1-3 ไม่มีปัญหาแต่งวดที่ 4 งวด วันที่ 21 ธ.ค.2560 ชาวบ้านระบุว่าคงค้างยังไม่ได้จ่ายรวมกัน 3,728,555 บาท ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักติดต่อกันมาเกือบ 1 ปีล่าสุดยังไปร้องต่อการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.เชียงราย มาแล้วด้วย

รายงานข่าวระบุด้วยว่า การหารือครั้งนี้ทางพระภิกษุจากไร่เชิญตะวันและว่าที่ร้อยโท ทัศน์ไชย ชี้แจงว่า ไร่เชิญตะวัน โดยความเมตตาของพระอาจารย์วุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มและอบรมโรงเรียนชาวนา มีภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุน วิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวันเคยไปช่วยซื้อข้าวจากชาวนาเพียง 3 ปีเท่านั้น เพราะต้องการให้ชาวบ้านออกไปจัดตั้งกลุ่มกันเองเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง แต่เมื่อพ้นจากนั้นถือว่าจบโครงการโดยไม่มีปัญหาใดๆ แต่เกษลักษณ์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ประสานโครงการได้ไปก่อตั้งบริษัทเองและอบรมชาวนาให้ทำข้าวอินทรีย์กันเอง กระทั่งปี 2560 ได้ซื้อข้าวจากชาวนาเองโดยยังคงใช้ชื่อวิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวันอยู่ ดังนั้น ไร่เชิญตะวันจึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลยกระทั่งเรื่องบานปลาย เพราะไม่สื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจ โดย พระอาจารย์วุฒิชัย แนะนำ ให้ไปยกเลิกวิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวันเสีย แต่ปรากฎว่าปีต่อมาไม่มีการยกเลิก แต่มีการปรับโครงสร้างกรรมการภายในเท่านั้น รวมทั้งเมื่อไปทำข้อตกลงกับชาวบ้านก็กลับยังใช้หัวหนังสือของวิสาหกิจชุมชนเดิมอยู่จนมาเกิดปัญหาในครั้งนี้ กระนั้นแม้ไม่เกี่ยวข้องพระอาจารย์ก็เมตตาช่วยเหลือและแนะนำมาโดยตลอดในฐานะครูอาจารย์กระทั่งเรื่องราวยืดเยื้อมาถึงศูนย์ดำรงค์ธรรมดังกล่าว

ด้าน เกษลักษณ์ ให้เหตุผลว่าสาเหตุที่ค้างชำระเพราะมีปัญหาทางการเงินและราคาข้าวในตลาดตกต่ำ ไม่ได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ ทั้งนี้ น.ส.เกษลักษณ์ ยืนยันว่าตั้งใจจริงที่อยากให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นและต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแข็งขันมาโดยตลอดจนบางครั้งประสบภาวะขาดทุนไปกว่า 20 ล้านบาท เพราะมีการจ่ายค่าต้นทุนและซื้อข้าวราคาแพงกว่าตลาดถึง 50%

หลังการประชุมไกล่เกลี่ยดังกล่าว ผู้สื่อข่าว ‘ประชาไท’ สอบถามไปยัง จันทร์ติ๊บ ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านป่าเปา กล่าวว่าหลังการเจรจาได้มีการทำข้อตกลงกันก็มีการทำข้อตกลงเพื่อจ่ายเงินให้กับชาวนา โดยงวดแรกวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จำนวน 1 ล้านบาท งวดที่ 2 วันที่ 1 ม.ค.2562 จำนวน 1 ล้านบาท งวดที่ 3 วันที่ 1 ก.พ.2562 จำนวน 1 ล้านบาท และอีก 2 งวดที่เหลือคือดอกเบี้ยและค่าปรับซึ่งจะจ่ายจนครบภายในเดือนมี.ค. 2562

ทั้งนี้ จันทร์ติ๊บ ยืนยันว่า ไม่มีการถูกข่มขู่ใดๆ สามารถตกลงกันได้ด้วยดี โดยก่อนหน้านี้ได้นัดเจรจาไปแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ครั้งนี้ก็ถือว่าพอใจที่ตกลงกันได้เพราะรอมานานเกือบ 1 ปีแล้ว มีการลงบันทึกข้อตกลงกันไว้เรียบร้อย หลังจากนี้จันทร์ติ๊บยืนยันว่าหากวิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวันจ่ายเงินจนครบจำนวนแล้ว หากต่อไปจะมีการทำการค้าขายกันอีกก็ยินดี โดยซื้อขายเป็นเงินสด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net