Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ชี้การเผยแพร่การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี นอกจากจะไม่กระทบกับคดีแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสง่างามแก่ศาลทหารมากกว่าการพิจารณาโดยลับ หรือห้ามเผยแพร่กระบวนการพิจารณาคดีด้วย ย้ำการพิจารณาโดยเปิดเผยเป็นหลักการหนึ่งในสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตามกติการะหว่างประเทศ 

4 ต.ค.2561 จากกรณีที่ ศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวนทนายความอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา กรณีเผยแพร่เนื้อหาการสืบพยานโจทก์ พล.ต.วิจารณ์ จดแตงในคดีฐนกร (สงวนนามสกุล) แชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมาและสั่งให้ อานนท์ นำภา แจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลบข้อความที่ปรากฏในข่าว “ทหารผู้กล่าวหาคดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา ใช้เฟสบุ๊กไม่เป็น แต่เห็นว่าแค่กดไลค์เพจหมิ่นฯ ก็ผิด 112” (http://www.tlhr2014.com/th/?p=8950) บนเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกนั้น

ล่าสุดวันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งมิได้อยู่ในฐานะคู่ความในคดีจึงขอชี้แจงต่อสาธารณะดังต่อไปนี้

1. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐอันเกี่ยวเนื่องจากการรัฐประหารและคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงคดีความของพลเรือนซึ่งได้รับการพิจารณาคดีในศาลทหาร

จากสถิติกรมพระธรรมนูญ วันที่ 25 พ.ค. 2557 ถึง 30 มิ.ย. 2561 มีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 1,723 คดี และยังคงมีคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในศาลทหารจำนวนอย่างน้อย 281 คดี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือคดีพลเรือนในศาลทหารทั้งหมด 58 คดี ในจำนวนดังกล่าวมีคดีที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ 12 คดี คดีที่ศาลสั่งห้ามบันทึกกระบวนการพิจารณาคดี 4 คดี และล่าสุดศาลทหารสั่งห้ามเผยแพร่กระบวนการพิจารณาคดี 2 คดี คือ คดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2561 และคดีฐนกร เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561

2. การออกข้อกำหนดตามมาตรา 30 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปอย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้ามเผยแพร่กระบวนการพิจารณาในคดีนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และการเผยแพร่กระบวนการพิจารณาคดีไม่อาจทำให้ความยุติธรรมสูญเสียไป อันอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 30 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้

3. การพิจารณาโดยเปิดเผยเป็นหลักการหนึ่งในสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Rights to Fair Trial) ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม หลักการดังกล่าวรับรองว่า บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม ซึ่งการพิจารณาโดยเปิดเผย มิได้จำกัดเฉพาะเพียงบุคคลซึ่งสามารถเข้าไปนั่งอยู่ภายในห้องพิจารณาเท่านั้น

การพิจารณาโดยเปิดเผยเป็นไปเพื่อความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม และเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน ดังนั้นการพิจารณาโดยเปิดเผยนอกจากจะมีความสำคัญในตัวเองแล้ว การ พิจารณาโดยเปิดเผยยังเป็นสิทธิที่มีเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมประการอื่นและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่กระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

4. การรายงานข่าวของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในทุกคดีซึ่งศาลไม่ได้สั่งให้พิจารณาลับและห้ามรายงานการพิจารณา จะใช้การสรุปความจากการเบิกความและการสังเกตการณ์ในคดี
เนื้อหาที่นำเสนอมาจากถ้อยคำที่พยานเบิกความต่อศาล ไม่ใช่การนำเอกสารของศาลมาเผยแพร่ และการเผยแพร่ได้รับความยินยอมจากจำเลย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารที่จำเลยได้รับการประกันสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมต่ำกว่าศาลยุติธรรม

ดังนั้น การเผยแพร่การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี นอกจากจะไม่กระทบกับคดีแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสง่างามแก่ศาลทหารมากกว่าการพิจารณาโดยลับ หรือห้ามเผยแพร่กระบวนการพิจารณาคดีด้วย

"ขอยืนยันการทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือคดีพลเรือนในศาลทหาร และนำเสนอข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน เพื่อความโปร่งใสและเป็นหลักประกันสิทธิในการได้รับพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในภาวะที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยและนิติรัฐถูกทำลายต่อไป ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน" แถลงการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุตอนท้าย

ขณะที่เมื่อเวลา 22.40 น. ที่ผ่านมา อานนท์ โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงท่านตุลาการศาลทหารกรุงเทพ โดยระบุว่า ตนยืนยันว่าทุกครั้งที่ตนทำหน้าที่ทนายความเป็นการทำหน้าที่อย่างเคารพต่อวิชาชีพและกระบวนการยุติธรรม ตรงไปตรงมาและยินดีให้มีการตรวจสอบอย่างเปิดเผย

"หากศาลทหารกรุงเทพจะมีน้ำใจนักเลง (ขออนุญาตใช้คำนี้) ก็ควรเปิดให้มีการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ มิใช่หาช่องที่จะเอาผิดทนายความหรือปิดกั้นการตรวจสอบอย่างที่เป็นอยู่ และหากท่านเกรงว่าพยานจะเบิกความตอบคำถามค้านทนายความแล้วถูกตำหนิหรือถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อีก ก็ควรให้อัยการทหารเตรียมพยานมาให้ดีก่อนทนายความซักค้าน ซึ่งกระผมจะภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้สู้กันอย่างสมศักดิ์ศรี" อานนท์ โพสต์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net