Skip to main content
sharethis

ทางการจีนลั่นให้ความช่วยเหลือในแอฟริกาอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ทั้งแบบให้เปล่าและเงินกู้ หลังประชุมสุดยอดผู้นำ จีน-ภูมิภาคแอฟริกาที่จัดขึ้นแบบไม่แคร์เสียงวิจารณ์ว่าโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ของจีนกำลังทำให้แอฟริกาจมลงไปในกองหนี้สิน เสียเปรียบการแข่งขันของธุรกิจในประเทศเมื่อเจอนายทุนจากแดนมังกร

ภาพงานประชุมสุดยอดผู้นำจีน-ประเทศในทวีปแอฟริกา (ที่มา: focac.org)

6 ก.ย. 2561 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำจากกลุ่มประเทศในแอฟริกาเข้าร่วมประชุมท่ามกลางข้อกังขาที่ว่าโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road - OBOR)’ ที่จีนเข้าไปก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในแอฟริกานั้นยิ่งทำให้ปัญหาหนี้สินของประเทศแอฟริกาบางประเทศย่ำแย่ลงกว่าเดิมหรือไม่

การประชุมซัมมิทในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยเจ้าหน้าที่ทางการจีนและแอฟริกาต่างก็ไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และทางการจีนยังจะปล่อยเงินช่วยเหลือแอฟริกาเพิ่มในวงเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ในการประชุมเมื่อปี 2558 ก็เคยให้เงินช่วยเหลือในวงเงินเดียวกัน

แมคกี ซัลล์ ผู้นำประเทศเซเนกัลบอกว่าข้อตกลงกับจีน "อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างสมบูรณ์แบบ" โดยไม่สนใจเสียงวิจารณ์ ส่วน ไซริล รามาโฟซา ผู้นำแอฟริกาใต้กล่าวว่าพวกเขาสามารถทำข้อตกลงกับจีนได้ในการพยายามทำให้ "เกิดการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสู่จีน" และบอกว่าการประชุมนี้เป็น "การเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในความสัมพันธ์จีน-แอฟริกา"

นอกจากให้สัญญาเรื่องวงเงินช่วยเหลือประเทศแอฟริกา 60,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 3 ปีถัดจากนี้แล้ว สีจิ้นผิงยังบอกว่าจะยกเลิกหนี้สินให้กับประเทศที่ยากจนที่สุดในแอฟริกาด้วย โดยในวงเงินดังกล่าวจะประกอบด้วยทั้งเงินให้เปล่า 15,000 ล้านดอลลาร์ เงินกู้ระบบต่างๆ 20,000 ดอลลาร์ สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "การจัดสรรเงินทุนพัฒนา" 10,000 ล้านดอลลาร์ และเงินที่ใช้ซื้อของนำเข้าจากแอฟริกา 5,000 ดอลลาร์ และจะมีการส่งเสริมให้บริษัทจีนเข้าไปลงทุนในประเทศแอฟริกาในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ฉู่จิงหู ผู้แทนพิเศษของจีนในกิจการแอฟริกากล่าวว่าทางการจีนได้พยายามอย่างมากในการสร้างความร่วมมือกับแอฟริกา และมีการค้นคว้าอย่างละเอียดแล้วก่อนเลือกทำโครงการ ทั้งยังบอกกับสื่อว่าจีนไม่ได้กำลังเพิ่มหนี้ให้กับแอฟริกา

สื่ออัลจาซีราระบุว่าในขณะที่สีจิ้นผิงชื่นชมโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ให้เงินกู้ยืมเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ และอื่นๆ แต่ก็มีนักวิจารณ์มองว่าโครงการอุปถัมภ์เหล่านี้กำลังทำให้ประเทศบางประเทศจมอยู่ภายใต้ภาระหนี้สินมหาศาล

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์เคยเปิดเผยข้อมูลว่าจีนให้เงินกู้ยืมประเทศแอฟริกันรวมแล้ว 125,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงระหว่างปี 2543-2559 ขณะที่งานวิจัยของศูนย์เพื่อการพัฒนาโลกจากสหรัฐฯ ระบุว่าโครงการเช่นนี้ของจีนทำให้เกิดความ "น่าเป็นห่วงอย่างมาก" เกี่ยวกับเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในแถบเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาที่รับทุนจากจีน

สะพานข้ามแม่น้ำบริษัทจีนสร้างในเคนยาถล่ม เจ็บ 28 ราย

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่คนในประเทศที่รับทุนจากจีนทักท้วงคือการที่จีนมักส่งแรงงานประเทศตัวเองเข้าไปทำงานก่อสร้าง รวมถึงมองโครงการให้เงินกู้ยืมของจีนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัทของชาวจีนเองเท่านั้น ความกังวลเหล่านี้อาจจะเพิ่มมากขึ้นในประเทศอื่นๆ ของโลกที่ตั้งคำถามว่า "การช่วยเหลือ" ของจีนมีราคาที่ต้องจ่ายสูงเกินไปหรือไม่

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดลีเนชัน ก็เขียนวิจารณ์เรื่องนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ก.ย.) ว่าถึงเวลาแล้วที่เหล่าผู้นำประเทศแอฟริกาเหล่านี้จะพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องความสัมพันธ์กับจีน บท บ.ก. ดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่าทุนจีนไม่เพียงแต่จะสร้างเรื่องน่าเจ็บปวดทางการเงินให้แอฟริกาเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งอิทธิพลเข้ามาในระดับสังคมแอฟริกัน ไม่ว่าจะเป็นการแย่งงานคนในพื้นที่ หรือการส่งผู้จัดทัวร์จีนเข้ามาแย่งพื้นที่ของไกด์ทัวร์ภายในประเทศเคนยาเอง

ทั้งนี้ เคยมีกรณีที่อดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด นาชีด ของมัลดีฟส์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปัจจุบันของประเทศตัวเองที่ทำให้ประเทศติดค้างหนี้สินจีน สร้างความเสียเปรียบในการต่อรองถ้าหากจีนจะอ้างยึดครองพื้นที่มัลดีฟส์ นอกจากนี้ยังวิจารณ์ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทำกับจีนเป็นโครงการจำพวกที่ทำในเชิง "อวดเบ่ง" ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง

อดีตผู้นำมัลดีฟส์เตือนประเทศอาจถูกจีนยึด เหตุหนี้สินมหาศาลในโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์

เรียบเรียงจาก

At China-Africa summit, officials dismiss debt criticism, Aljazeera, Sep. 5, 2018

Africa should weigh China ties for gains, Daily Nation, Sep. 3, 2018

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net