Skip to main content
sharethis

เวทีอภิปรายจับตาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ เปิดข้อมูลแรงงานประมง แรงงานภาคเกษตรถูกบังคับใช้แรงงานมากที่สุด เผยกลโกงนายจ้างทั้งกักขังหน่วงเหนี่ยวและสร้างภาระหนี้บังคับให้ลูกจ้างไม่มีทางเลือก ขณะที่เลขาฯคสรท. เผย ลูกจ้างภาครัฐเป็นอีกหนึ่งแรงงานที่ถูกใช้แรงงานแบบบังคับมากที่สุด ยังไร้สิทธิ-ไร้เสียง-ไร้สวัสดิการ พร้อมประสานเสียงสนับสนุนคลอดกฎหมายหวังใช้อุดช่องว่างกม.คุ้มครองแรงงาน -ปราบปรามค้ามนุษย์ ที่ยังไม่ครอบคลุม  มั่นใจหากกม.ผ่านการบังคับใช้จะทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานทุกประเภทดีขึ้น ด้าน Human Rights Watch เชื่อ ยกระดับภาพลักษณ์ไทยในสายตานานาชาติ แนะ ใช้ประโยชน์จากการนั่งปธ.อาเซียนปีหน้า สวมบทผู้นำแก้ไขปัญหาแรงงาน  พร้อมร่วมกันชงข้อเสนอ กำหนดนิยาม“แรงงานบังคับ” แบบกว้างใหม่ในกม.เพื่อรองรับรูปแบบการบังคับใช้แรงงานที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต  ขณะที่ “ไทยยูเนี่ยน” ประกาศ ต่อต้านเอาเปรียบแรงงานประมง

 

4 ก.ย.2561 วันนี้ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ร่วมกับมูลนิธิ ไอเจเอ็ม จัดแถลงข่าว และ เวทีอภิปรายเรื่อง "จับตาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. .... ทิศทางและระดับการคุ้มครองแรงงานในประเทศไทย" โดย Phil Robertson รองผู้อำนวยการสำนักงานเอเซีย Human Rights Watch กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในประเทศไทยในมุมมองนานาชาติ ว่า ต่างชาติมองว่าทำไมสถานการณ์แรงงานไทยถึงย่ำแย่ถึงเพียงนี้ โดยเฉพาะเรื่องการใช้แรงงานบังคับ เนื่องจากหลายประเทศได้ยกเลิกการทำแรงงานบังคับแล้ว แต่ในไทยยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานบนเรือประมง หรือ หลายๆสถานที่ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เพราะคนเหล่านี้ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลตระหนักถึงปัญหามานานแล้วแต่ไม่ได้รับการแก้ปัญหา แต่อย่างน้อยถือเป็นเรื่องดีมีความพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับฯในขณะนี้ ที่ถือเป็นการดำเนินการตามที่ภาคประชาสังคมได้ให้คำแนะนำไปก่อนหน้านี้ 

 Phil Robertson รองผู้อำนวยการสำนักงานเอเซีย Human Rights Watch

"ถือเป็นเรื่องดีที่ในที่สุดรัฐบาลได้ผลักดันร่างกฎหมายนี้ เราเห็นด้วย ว่าต้องมีกฎหมายโดยเฉพาะการที่มีบทลงโทษ แต่ยอมรับว่ากระบวนการร่างกฎหมายยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร และยังมีการคัดค้านจากสมาคมประมง ซึ่งทำให้เราเป็นกังวลว่า อาจมีการสร้างอุปสรรคในการนำไปสู่การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีความเข้มแข็ง และเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำ" Phil Robertson กล่าว

รองผู้อำนวยการสำนักงานเอเซีย Human Rights Watch ระบุด้วยว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการบังคับใช้ เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตานานาชาติดีขึ้นด้วย และยังเป็นสิ่งที่ไทยได้ให้คำมั่นไว้กับองค์กรสากล และ สหประชาชาติ (UN) ซึ่งหากกฎหมายนี้นำไปสู่การบังคับใช้ได้จริง จะถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ และจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับ  นอกจากนี้ยังเห็นว่าไทยควรใช้โอกาสที่กำลังจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า เป็นผู้นำในการร่างร่างสนธิสัญญาระหว่างประเทศอาเซียน ที่จะช่วยปกป้องแรงงานต่างด้าวที่ถูกใช้บังคับด้วย เพราะในปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติในอาเซียนมากมาย ซึ่งสมควรที่จะได้รับการปกป้องสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน

ปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด

ปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า  ในส่วนของ บ.ไทยยูเนี่ยน ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ตามโครงการ SeaChange ทำให้หลายฝ่ายมองเห็นถึงความพยายามของ บ.ไทยยูเนี่ยน ในการต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก นอกจากนี้กลยุทธ์ SeaChange ยังช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการส่งเสริมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วย 

ทั้งนี้นโยบาย SeaChange ของเรา หลักๆ คือการ จ้างงานอย่างเป็นธรรม  พนักงานสามารถร้องเรียน และพูดคุยกับนายจ้างได้ โดยตรง พร้อมกันนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวด้านกฎหมายแรงงาน  เก่ลูกจ้างอีกด้วย นอกจากนี้เรายังมีนโยบาย การสรรหาแรงานต่างด้าวอย่างเป็นธรรม เรากำหนดเลยว่าคนที่เป็นนายหน้าหรือเอเจนซี่ต้องทำอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เราได้ลดแรงงานขัดหนี้ ที่เกิดขึ้นจากประเทศต้นทาง ซึ่งทางบริษัทจะทำการคัดเลือกและรับรอง โดยเดินทางไปยังประเทศต้นทางเพื่อดำเนินการเอง เรื่องนี้ถือว่าสำคัญเพราะเกี่ยวเนื่องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ พร้อมกันนี้บริษัท ยังหนุนเสริมเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย เช่น ไม่สนับสนุนให้มีการจับปลามากเกินไป ลดปัญหาเรือนกระจก เป็นต้น

ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตามการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมต้องใช้ความร่วมมือหลายฝ่าย ไม่ใช่ความพยายามเพียงแค่องค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านความยั่งยืนจะต้องอาศัยความแน่วแน่  การร่วมมือกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความตั้งใจจริง  ดังนั้นบ.ไทยยูเนี่ยน ขอสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะปกป้องแรงงานบนเรือประมง และรู้สึกกระตือรือร้นที่จะร่วมมือและช่วยเหลือรัฐบาลไทยสร้างมาตรการปกป้องแรงงานให้ดียิ่งขึ้นต่อๆไป

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) กล่าวว่า แรงงานไทยมีลักษณะการใช้แรงงานบังคับแบบไม่มีทางเลือก แม้กระทั่ง ลูกจ้างภาครัฐ เองที่สวัสดิการไม่มี และค่าจ้างก็ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อีกทั้งยังไม่ให้สิทธิ และไม่ให้อำนาจในการเจรจาต่อรอง ทั้งที่ในบางครั้งลูกจ้างภาครัฐเหล่านี้อยากมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง แต่กฎหมายก็ไม่เอื้อ  เรื่องนี้เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐเอาประโยชน์จากตัวแรงงาน ซึ่งเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงาน

"ยกตัวอย่าง ลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข หรือ แม้แต่พยาบาลเอง เขาทำงานหนักแต่ค่าตอบแทนน้อย หรือ พนักงานรถจักร ของการรถไฟ คนขับรถเครน ในท่าเรือ คนเหล่านี้ไม่มีห้องน้ำที่จะเข้าระหว่างการปฏิบัติงาน  หรือ แรงงานที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย ครูสัญญาจ้าง สิ่งที่ได้รับไม่เป็นไปตามกฎหมาย แตกต่างจากพนักงานประจำ จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือแม้แต่พนักงานในธนาคารที่บังคับพนักงานขายประกัน ตอนจ้างมาให้ทำงานนั่งเคาเตอร์ แต่ตอนนี้ต้องออกไปขายประกันด้วย ให้ไปพบลูกค้าแบบนี้ถือเป็นการบังคับข่มขืนจิตใจ เพราะมีการข่มขู่ว่าถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็จะตกงาน" นายสาวิทย์ กล่าว 

สาวิทย์ กล่าวด้วยว่า แรงงานนอกระบบอย่าง แรงงานก่อสร้าง แรงงานปะมง  เสี่ยงถูกละเมิดจากการจ้างงานอย่างมาก  คนเหล่านี้ไม่ได้รับการจ้างที่เป็นธรรมเนื่องจาก กฎหมายไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะ แรงงานประมงจะเปราะบางมาก มีทั้งการถูกจับ  การถูกนายจ้างยึดบัตรกดเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของอาชีพอิสระ เช่น วินมอเตอร์ไซด์ หาบเร่ แผงลอย  ปัจจุบันกฎหมาย ยังไม่คลอบคลุมถึงสิทธิดูแล ทั้งการรักษาพยาบาล การมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม เป็นต้น

สาวิทย์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แรงงานไทยยังไม่รับทราบถึงรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดีพอ แต่หากมีการบังคับใช้จริงแรงงานทุกคนจะได้รับประโยชน์ เพราะเมื่อกฎหมายเข้มงวด นายจ้างก็จะไม่กล้าเอารัดเอาเปรียบแรงงาน จะทำให้คุณภาพ และสถานภาพของแรงงานดีขึ้น

ณิชกานต์ อุสายพันธ์ นักกฎหมายด้านการคุ้มครองแรงงานและค้ามนุษย์ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ขณะที่ ณิชกานต์ อุสายพันธ์ นักกฎหมายด้านการคุ้มครองแรงงานและค้ามนุษย์ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองบุคคลจากการถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกบังคับใช้แรงงานที่สำคัญอยู่แล้ว 2 ฉบับ คือ  1.พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่ยังมีเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมถึงการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ เพราะกฎหมายฉบับนี้กำหนดบังคับใช้เฉพาะสำหรับ นายจ้าง และลูกจ้างตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งถ้าดูเจตนารมณ์ของพิธีสาร ค.ศ.2012  ต้องการคุ้มครองแรงงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบหรือในระบบ 2. พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่มีบทบัญญัติพูดถึงการใช้แรงงานบังคับ ก็ยังมีช่องโหว่อยู่ เพราะการที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้คุ้มครองได้ จะต้องมีการกระทำที่ครบองค์ประกอบการค้ามนุษย์ เช่น มีการนำพา มีการหลอกลวง  ดังนั้นหากบุคคลที่ถูกบังคับใช้แรงงาน แต่ไม่ได้ถูกนำพามา หรือไม่ได้ถูกหลอกลวงเข้ามาในประเทศก็ไม่ใช่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ดังนั้นการคุ้มครองผู้เสียหายก็จะไม่เกิดขึ้น

ณิชกานต์ กล่าวว่า ในการทำงาน พบกรณีแรงงานถูกบังคับเกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มแรงงานอุตสาหกรรมประมง ทั้งอยู่บนเรือ และ อุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง โดยรูปแบบการบังคับใช้แรงงานในอดีตเป็นรูปแบบที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ออกไปข้างนอก ให้อยู่ในสถานที่ที่จำกัด บังคับใช้แรงงานจนทำให้เกิดความรุนแรงทางกาย แต่ในปัจจุบัน พบรูปแบบการบังคับใช้แรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป คือ มีการสร้างภาระหนี้ให้กับแรงงาน เช่น นายหน้า หรือ นายจ้าง ที่เป็นคนนำพาแรงงานเข้าประเทศ ได้ออกค่าใช้จ่ายบางอย่างให้แรงงานก่อน และนำค่าใช้จ่ายที่อ้างเหล่านี้มาเป็นภาระหนี้ของแรงงาน มีการคิดดอกเบี้ย และแรงงานต้องทำงานชำระหนี้เหล่านี้ พอถึงเวลาในการจ่ายค่าจ้างจะถูกหักเงินเพื่อชำระหนี้ ซึ่งหนี้เหล่านี้ไม่มีความชัดเจน ว่ามีจำนวนเงินที่แน่นอนเท่าใด ก่อให้เกิดเป็นวัฏจักร ทำให้แรงงานต้องจำใจทำงานต่อไปเพื่อชำระหนี้ที่ไม่รู้ระยะเวลาสิ้นสุด

นอกจากนี้ยังพบในรูปแบบเดียวกันนี้กับแรงงานภาคเกษตรกรรม โดยมีรูปแบบคล้ายๆกัน คือ สร้างภาระหนี้ การยึดเอกสาร และการหักค่าจ้างชำระหนี้ที่แรงงานไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน รวมถึงการข่มขู่ต่าง ๆ ทำให้แรงงานไม่กล้าหนีหรือออกจากงานได้

"คิดว่าแรงงานบังคับเกิดขึ้นได้ในทุกอุตสาหกรรม ทุกรูปแบบการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม แต่ปัจจัยเสี่ยงอาจจะเป็นที่ตัวสถานะของแรงงานมากกว่าว่ามีความเปราะบางในลักษณะใด เช่น ในอุตสาหกรรมประมง พบว่าแรงงานที่มีความเสี่ยงถูกบังคับใช้แรงงาน คือ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งในหลายกรณีไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการการจ้างงานที่ปลอดภัยได้ และมีสถานะเปราะบางง่ายต่อการถูกบงการ" ณิชกานต์ กล่าว

ณิชกานต์ กล่าวด้วยว่า การจ้างงานในลูกจ้างงานบ้าน หรือ อาชีพ แม่บ้าน ที่ผ่านมา มักถูกละเมิดสิธิแรงงาน ทั้งเรื่องการทำงาน โดยไม่ได้รับเงินเดือน ยังมีการจำกัดพื้นที่  การเสมือนการกักบริเวณเพื่อให้ทำงานโดยไม่ให้ไปไหน เป็นต้น บางกรณีแม่บ้านทำงาน ถึง 1 ปี ก็ยังไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งการละเมิดอาชีพแม่บ้านนี้ ข้อเท็จจริงบาเรื่องนี้ก็ยังไม่ถูกตีแผ่ในสื่อ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือ เพื่อหาข้อเท็จจริงว่า เป็นการบังคับใช้แรงงานหรือไม่

ณิชกานต์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับฯ ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาทั้งจากภายในกระทรวงแรงงาน รัฐบาล และการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ มาหลายครั้ง จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนความเห็นที่ได้ที่ได้เหล่านี้เพื่อให้กฎหมายที่ออกมามีคุณภาพและสะท้อนต่อปัญหาจริง นอกจากนี้ยังควรกำหนดนิยามของคำว่า "แรงงานบังคับ"  ให้มีลักษณะสอดคล้องกับคำนิยามตามพิธีสาร และนิยามที่มีอยู่ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งนิยามไว้อย่างกว้าง เนื่องจากรูปแบบการบังคับใช้แรงงานมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ได้จำกัดตายตัวอยู่ที่การทำร้ายร่างกาย สร้างภาระหนี้  หรือการยึดเอกสารเท่านั้น  ดังนั้นนิยามที่กว้างจะสามารถครอบคลุมถึงรูปแบบการบังคับใช้แรงงานต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอนาคตได้

“รัฐบาลร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นเพื่ออุดช่องว่างใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและพ.ร.บ.ค้ามนุษย์ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนว่าเมื่อตัวร่างตัวนี้ออกมา จะสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดรับกับกลไกของพ.ร.บ.อีกสองฉบับที่มีอยู่เดิมอย่างไร เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและพ.ร.บ.ค้ามนุษย์ก็ยังคงจะต้องเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้ความคุ้มครองผู้ใช้แรงงานจากการถูกเอารัดเอาเปรียบต่อไป นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่าการศึกษารูปแบบการออกกฎหมายด้านคุ้มครองแรงงานในประเทศต่าง ๆ เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว รูปแบบกฎหมายที่ออกมาควรสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยเป็นหลัก" ณิชกานต์ กล่าว

ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ยังได้ร่วมกันแถลงข้อเสนอถึงรัฐบาลเกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ.....ดังนี้ 1. อยากให้กระบวนการในการพิจาณา ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ.....ยังคงมีต่อไปจนสิ้นสุดกระบวนการและไม่ให้มีการถอนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว และ 2. ขอให้พิจารณาคำนิยามของร่างพ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ..... ใหม่เนื่องจากคำนิยามคำว่า “แรงงานบังคับ” ในพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังตีความถึงคำว่าแรงงานบังคับแคบเกินไปและไม่สามารถครอบคลุมการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับแรงงานบังคับได้หมด และหากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับแรงงานบังคับที่เกิดขึ้นใหม่รูปแบบใหม่ในอนาคตคำนิยามในพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็จะไม่ครอบคลุมความผิดนั้น  ทั้งนี้การพิจาณาคำนิยามใหม่เพื่อขอให้มีความสอดคล้องกับแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ที่ระบุชัดเจนว่า แรงงานบังคับต้องมีลักษณะนิยามของการกระทำความผิดที่กว้างและครอบคลุมการแสดงหาผลประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรมกับแรงงงานในทุกรูปแบบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net