Skip to main content
sharethis

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ความคิดจากเสรีนิยมถึงเสรีนิยมใหม่ กลุ่มจารีต-อนุรักษนิยมของไทย และความท้าทายที่มนุษยชาติต้องเผชิญ ที่พระเจ้าเท่านั้นถึงจะควบคุมได้

  • เสรีนิยมใหม่มีรากฐานดั้งเดิมจากแนวคิดเสรีนิยมที่เกิดขึ้นเพื่อให้ปัจเจกชนสามารถต่อสู้ต่อรองกับอาณาจักรและศาสนจักร
  • กลุ่มจารีตและอนุรักษนิยมไทยที่มีความเหนียวแน่น เข้มแข็ง มีอิทธิพลสูงขึ้นในจังหวะที่กระแสต้านเสรีนิยมกำลังเพิ่มสูงขึ้น
  • ความท้าทายของเสรีนิยมใหม่คือปัญหาผู้อพยพ, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และเงินตราที่จับต้องไม่ได้
  • การตั้งคำถามกับค่านิยมตะวันตกจะเป็นท้าทายลัทธิเสรีนิยมใหม่

ในเชิงประวัติศาสตร์ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ก่อตัวมาจากแนวคิดเสรีนิยม แล้วจึงปรับเปลี่ยนไปตามสภาษเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แม้ว่าขณะนี้จะเป็นกระแสหลักของโลก แต่มันก็เผชิญความท้าทายจากสิ่งที่มันสร้างขึ้น และเราก็มีหนทางที่จะโต้กลับ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายประวัติศาสตร์ความคิดจากเสรีนิยมถึงเสรีนิยมใหม่และความท้าทายที่มันกำลังเผชิญ รวมถึงวิเคราะห์ว่าชนชั้นจารีต-อนุรักษนิยมของไทยที่มีอิทธิพลมากขึ้นสอดรับกับกระแสต้านเสรีนิยมอย่างพอดิบพอดี ในงานเสวนาหัวข้อ ‘ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์’ ที่จัดขึ้นโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา

เสรีนิยมสู่เสรีนิยมใหม่

วันก่อนผมไปเจอบทความน่าสนใน Bangkok Post ชื่อว่า Three Liberal Prophets of Doom แปลไทยน่าจะได้ประมาณว่า สามศาสดาพยากรณ์วันสิ้นโลกแห่งเสรีนิยม บทความพูดถึงคน 3 คนได้แก่ มหาเศรษฐีจอร์จ โซรอส ประธานาธิบดีคนล่าสุดของฝรั่งเศส เอมานูลเอล มาครง และอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบาม่า สามคนนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนลัทธิเสรีนิยมใหม่มาโดยตลอด แต่มาวันนี้ทั้งสามคนออกมายอมรับว่าเสรีนิยมใหม่กำลังมาถึงจุดวิกฤต โซรอสได้พูดถึงวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจในยุโรปว่า “สิ่งที่อาจจะผิดพลาด ล้วนผิดพลาด” นั่นแปลว่าเสรีนิยมใหม่กำลังเจอกับความท้าทายที่ไม่เคยเจอมาก่อน

แต่ก่อนจะไปดูว่าเสรีนิยมกำลังเจอกับปัญหาอะไร เราต้องรู้ก่อนว่าเสรีนิยมใหม่พูดถึงอะไร ลัทธิเสรีนิยมรุ่นแรกให้ความสำคัญกับ 3 แนวคิดหลักคือ หนึ่ง-เสรีภาพของปัจเจกชน สอง-บทบาทของรัฐ และสามคือตลาดเสรี อาจจะเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เราต้องมองในแง่ของพัฒนาการของมัน สำนักเสรีนิยมก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17 นักคิดสายเสรีนิยมส่วนใหญ่จะยกให้ โธมัส ฮอบส์ เจ้าของตำราเรื่องเลอไวอะธัน (Leviathan) หรือองค์อธิปัตย์ เป็นคนแรกที่นำเสนอแนวคิดเสรีนิยมอย่างเป็นระบบ ตามมาด้วยจอห์น ล็อค และรุสโซที่เป็นนักคิดสายสัญญาประชาคม คนเหล่านี้ถือเป็นผู้วางรากฐานให้กับสำนักเสรีนิยม 

แนวคิดเรื่องปัจเจกนิยมสำคัญอย่างไร ความคิดทางการเมืองทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นมาในสุญญากาศ มันมีฐานของการต่อสู้ทางอุดมการณ์และมีการต่อยอดออกไปเรื่อยๆ สิ่งที่พวกเสรีนิยมรุ่นแรกๆ ต่อสู้ด้วยคืออำนาจ 2 อำนาจที่คุมยุโรปเอาไว้ คืออำนาจทางกายภาพคือสถาบันกษัตริย์และระบบศักดินาเจ้าขุนมูลนายต่างๆ และอำนาจทางจิตวิญญาณคือศาสนจักร ซึ่งคุมโดยองค์กรศาสนาของคาทอลิก

สองอำนาจนี้ประสานกันไปมาและพึ่งพากัน คนที่ตกเป็นข้าราชบริพารในระบบนี้ก็คือคนที่ไม่มีอะไร ไม่มีปากเสียงทางการเมืองจะไปต่อรองกับใคร มันจึงเกิดการตั้งเมืองขึ้นซึ่งเป็นการรวมตัวกันของพวกช่างฝีมือต่างๆ แล้วเริ่มสร้างอาชีพของตัวเองขึ้นมา จนกลายเป็นพวกชนชั้นกลาง ปรากฎการณ์แบบนี้ไม่เกิดในเอเชีย ยกเว้นในญี่ปุ่นที่มีการสร้างเมืองพ่อค้าในโอซาก้ามาตั้งแต่ก่อนปฏิวัติเมจิ ทำให้ตอนเขาเปิดรับทุนต่างชาติ เขาสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าประเทศอื่นๆ ญี่ปุ่นเปิดประเทศในเวลาไล่เรี่ยกับไทย มีหลายอย่างที่เราทำก่อนญี่ปุ่นด้วย เช่น ระบบรถไฟ ปฏิรูประบบการศึกษา แต่ทุกวันนี้เราตามญี่ปุ่นไม่ทำเลย

สรุปคือแนวคิดปัจเจกนิยมในยุโรปสามารถเฟื่องฟูขึ้นมาได้เพราะมีเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองที่ช่วยหนุนให้คนที่ไม่ได้มีเชื้อสาย ไม่ได้มีบรรดาศักดิ์และฐานันดร มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วยรายได้ของตัวเอง เขาถึงต้องการระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่เข้ามาหนุนช่วย เพื่อกันไม่ให้พวกขุนนางซึ่งอาศัยเครือข่ายเข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ ชนชั้นกลางจึงสนับสนุนแนวคิดตลาดเสรี เพราะในตลาด ทุกคนเท่าเทียมกัน

สำนักเสรีนิยมยังเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่เรา มนุษย์คือคนที่เปลี่ยนโลกนี้ด้วยความสามารถของเรา ไม่ใช่วาสนา เครือข่าย หรือวงศ์ตระกูล ด้วยแนวคิดนี้เรื่องเดียว แนวคิดเสรีนิยมสามารถอยู่มาได้นานกว่า 200 ปี จนบัดนี้แนวคิดเหล่านี้ก็ยังอยู่ เวลาเราไปถามคนอื่นที่ชีวิตยากลำบากว่าเขาจะทำอย่างไร เขาก็จะตอบว่าต้องสู้ สู้ด้วยสองมือ สู้ด้วยสติปัญญา แล้วหาเครือข่ายของเราเองผ่านตลาด คำตอบเช่นนี้สะท้อนชุดค่าเสรีนิยมอย่างชัดเจน ต้องยอมรับว่าแนวคิดเสรีนิยมได้สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกไม่น้อยในหลายประเทศทั่วโลก นี่จึงเป็นเหตุผลที่แนวคิดเสรีนิยมสามารถอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน เพราะเขาอยู่กับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

สองคือเรื่องเครื่องมือของรัฐ เสรีนิยมมองว่ารัฐมีความจำเป็นเพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่อำนาจของรัฐต้องมีไม่มากเกินไป อดัม สมิธ ผู้เป็นบิดาของเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ จึงเสนอว่าให้มือที่มองไม่เห็น เป็นคนจัดการตลาดแทนรัฐ เพราะหากรัฐเข้ามาแทรกแซง รัฐก็จะสร้างผลประโยชน์กับกลุ่มการเมืองธุรกิจต่างๆ จนเกิดความไม่เป็นธรรมกับคนกลุ่มอื่นๆ แต่ถ้าให้มือของตลาดทำงาน ก็จะไม่มีรัฐมาเก็บค่าต๋ง หักเปอร์เซ็นต์ หรือค่านายหน้า แนวคิดเสรีนิยมจึงมองว่าการคอร์รัปชั่นทุกวันนี้ที่มากขึ้นไม่ใช่เพราะคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น แต่เพราะช่องทางในการแสวงหาผลตอบแทนมันมหาศาลมาก รัฐที่ควบคุมตลาดมากเกินไปจึงไม่ต่างจากรัฐพาณิชนิยมในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักเสรีนิยมต่อต้าน

ส่วนเรื่องตลาดเสรี อาจารย์กุลลดาและอาจารย์ผาสุกได้พูดไปมากแล้ว ผมจะขอข้ามไป 

พอเข้ายุค 1970 มา ก็มาถึงยุคเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเป็นยุคที่ทุนทางการเงินเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตลาดเสรีอย่างเดียวจึงไม่พอ แต่ต้องมีเสรีทางการเงินด้วย การจะมีเสรีทางการเงินได้ รัฐก็ต้องเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของตัวเองแบบยกเครื่อง ในประเทศไทยช่วงก่อนปี 2540 ก็พยายามจะเปิดเสรีทางการเงินเช่นกัน ในช่วงนั้นผมกลับมาสอนที่ไทยพอดี จำได้ว่าเงินมันเยอะมาก เพื่อนจะไปไหนก็กินแต่ร้านหรูๆ เดินกินไวน์ฝรั่งเศสราคาแพงในตลาดเหมือนกับเดินจิบน้ำชา ตอนหลังเราถึงได้รู้ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของวิกฤตที่จะตามมา เพราะธนาคารในตอนนั้นคิดแต่จะหากำไรผ่านการปล่อยเงินกู้เยอะๆ ต่อให้ไม่มีเงินเหลือแล้ว ก็ยังไปกู้จากสหรัฐฯ มาปล่อยกู้ในไทยต่ออีก เพราะต้องการกระตุ้นให้คนลงทุนเยอะๆ เอาไปซื้อรถ ซื้อบ้าน

แต่พอถึงจุดที่ธนาคารต้องการเงินกลับไปหมุน กลับไม่มีใครมีเงินจ่าย วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกาก็เกิดจากการปล่อยให้คนที่เป็นหนี้ไปกู้เงินจากสถาบันทางการเงินอื่นมาใช้หนี้ มันเลยกลายเป็นลูกโซ่ยาวเหยียดไม่รู้จบ พอไปถึงลูกโซ่สุดท้ายที่รัฐไม่สามารถแบกไหวฟองสบู่มันก็แตก ตลาดหุ้นก็พัง การลงทุนก็หาย สหรัฐฯ กำลังจะล้มละลาย แต่ด้วยความที่สหรัฐฯ เปรียบเสมือนกับหัวรถจักรของทุนนิยม ทุกประเทศทั่วโลกจึงพร้อมใจกันยอมรับว่าอเมริกาจะล้มไม่ได้ จึงต้องยอมเสียดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยปัญหาเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง นี่คือวิกฤตที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน

สิ่งที่เสรีนิยมใหม่คาดไม่ถึง

กลับมาสู่คำถามที่ว่ามีอะไรบ้างที่เสรีนิยมใหม่คาดไม่ถึง สิ่งที่ชัดเจนที่สุด หนึ่งคือปัญหาทางชนชั้น เสรีนิยมบอกว่าอยากให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนทุกคน ทั้งผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้บริโภคควรจะมีความกินดีอยู่ดีเหมือนๆ กัน นั่นคืออุดมคติ แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าทุกคนได้เท่ากัน มันก็ไม่มีใครรวย ถ้าไม่มีคนรวย ปัจเจกชนจะทำงานให้เหนื่อยไปทำไม มันจึงต้องมีคนจนและคนรวย เพื่อกระตุ้นให้คนอยากทำงาน

ตอนนี้ถ้าคุณจบเศรษฐศาสตร์แล้วคุณอยากรวย คุณต้องไปทำงานกับบริษัททางการเงินใน Wall street คนที่จบ Ivy League ที่เก่งเรื่องการเงินหรือคอมพิวเตอร์ ถ้าเขารับคุณเข้าไป เงินเดือนคุณจะมหาศาลมาก อายุ 25 ปี แต่เงินเดือนเป็นล้าน ทำไปแค่ปีสองปีก็พอจะใช้ไปตลอดชีวิตแล้ว ที่เหลือก็ไปพักผ่อนใช้ชีวิตในโลกในฝัน นี่คือตัวอย่างของการให้รางวัลในระบบเสรีนิยมใหม่ และยิ่งบริษัทเหล่านี้สามารถดึงเอาคนมีความรู้เข้าไปทำงานมากขึ้น ก็จะยิ่งพัฒนารูปแบบการทำกำไรให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก ปัญหาชนชั้นและความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น นี่คือเรื่องแรกที่ผมคิดว่าเสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึง ต่อให้คิดถึงก็แก้ไม่ได้อยู่ดี

สองคือปัญหาเรื่องศาสนา อย่างที่กล่าวไปว่าแนวคิดเสรีนิยมโดดเด่นขึ้นมาได้เพราะเอาชนะความเชื่อทางศาสนาแบบไม่มีเหตุผลได้ แต่ว่าตอนนี้มันมีขบวนการศาสนาหัวรุนแรงซึ่งบังเอิญไปโยงกับศาสนาอิสลาม ต่อสู้ด้วยกำลัง ไม่มีการประนีประนอมหรือต่อรองใดๆ เพื่อมุ่งสร้างรัฐอิสลาม อิสลามเป็นตัวอย่างหนึ่งของศาสนาที่พยายามสู้บนฐานของมูลฐานนิยม (Fundamentalism) แต่ไม่อยากจะให้มองว่าเป็นปัญหาของศาสนาอิสลามทั้งหมด เพราะมันก็มีการต่อสู้ทางความคิดกันภายในกลุ่มของอิสลามเหมือนกัน แต่ตอนนี้อาจจะสามารถกล่าวได้ว่าแนวคิดที่จะมาต่อสู้กับรัฐแบบเสรีนิยมใหม่ในโลกปัจจุบัน ไม่ใช่รัฐสังคมนิยมอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นรัฐแบบ Fundamental State หรือรัฐศาสนา และตอนนี้รัฐในตะวันออกกลางก็กำลังทุ่มทรัพยากรทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาได้

อนุรักษนิยมไทยที่เข้มแข็งกับกระแสต้านเสรีนิยมใหม่

ผมคิดว่าเครือข่ายชนชั้นจารีตของสยามมีความยืดและหนุ่นเหนียวแน่นมากกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมในหลายๆ ประเทศในโลกนี้อย่างไม่น่าเชื่อ ภาพที่เราเห็นตอนนี้ก็คือพอมันเริ่มมีกระแสตีกลับของพวกเสรีนิยมเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กระแสต่อต้านเสรีนิยมในไทยไทยก็ขึ้นมารับแนวคิดดังกล่าวอย่างรวดเร็ว

แนวคิดที่ท้าทายเสรีนิยมใหม่อาจจะไม่ได้เกิดจากแนวคิดทางศาสนาเสมอไป เพราะเสรีนิยมเชื่อในรัฐที่เป็นประชาธิปไตย คือแนวคิดที่เชื่อว่าอำนาจของประชาชนต้องกำกับอำนาจของรัฐ เชื่อในอำนาจในการปกครองโดยอาศัยเสียงประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ในประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็เกิดขึ้นในบริบทที่โลกในตอนนั้นยอมรับแล้วว่าสังคมนิยมไม่ใช่คำตอบ แต่คือทุนนิยมกับประชาธิปไตย แต่พอหลังจากนั้นมา ประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายที่เข้าสู่ระบบเสรีนิยมก็เริ่มล้มลุกคุกคลานรวมทั้งประเทศไทยด้วย ผมมองย้อนกลับไปแล้วเริ่มคิดว่า ขบวนการพันธมิตรหรือเสื้อเหลืองที่ออกมาต่อต้านระบบทักษิณหรืออะไรต่างๆ มาจนถึง กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) จะเรียกว่าเป็นแนวคิดที่ต่อต้านเสรีนิยมใหม่ได้ไหม แต่ผมคิดว่าแกนนำในตอนนั้นเขาไม่ได้คิดลึกขนาดนั้น เพราะมีแต่คิดว่าจะเอาผู้นำคอร์รัปชั่น ระบอบคอร์รัปชั่น หรือการเลือกตั้งที่ไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรม ออกไปแล้วแทนที่ด้วยระบบที่เขาคิดว่าดี ลองดูนะครับปีหน้าจะดีไหม แล้วมันจะง่ายอย่างนั้นไหม

อีกเหตุผลหนึ่งที่แนวคิดเสรีนิยมถูกต่อต้านในประเทศไทยคือองค์ประกอบด้านพลังทางจิตวิญญาณของเราที่ไม่ถูกกระทบกระเทือนเลยตั้งแต่เราเปิดประเทศยุคสนธิสัญญาเบาว์ริ่งมาจนถึงปฏิวัติ 2475 ยิ่งเข้าปี 2500 มาแล้ว โครงสร้างทางสติปัญญาของเราเริ่มกลับไปสู่ระบบอนุรักษ์นิยมและระบบจารีตมากขึ้นกว่าหลายที่ต่างๆ ในโลก เพราะฉะนั้นการล่มสลายของระบบเสรีนิยมและทุนนิยมจึงมีองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ความคิด และโลกทัศน์ที่กำกับสังคมในแต่ละช่วง ในกรณีของไทยพิเศษกว่าที่อื่น เพราะเรามีชนชั้นจารีตที่มีความต่อเนื่อง ผมคิดว่าเครือข่ายชนชั้นจารีตของสยามมีความยืดและหนุ่นเหนียวแน่นมากกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมในหลายๆ ประเทศในโลกนี้อย่างไม่น่าเชื่อ ภาพที่เราเห็นตอนนี้ก็คือพอมันเริ่มมีกระแสตีกลับของพวกเสรีนิยมเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กระแสต่อต้านเสรีนิยมในไทยไทยก็ขึ้นมารับแนวคิดดังกล่าวอย่างรวดเร็ว

ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่กำลังเผชิญ

ประเด็นต่อมาคือความท้าทายและการปรับตัวของเสรีนิยม หากเสรีนิยมใหม่ต้องการจะอยู่รอด น่าจะต้องเริ่มจากการควบคุมตลาดก่อน เสรีนิยมใหม่ไม่ควรปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างเสรีแบบที่เคยเชื่อกัน เพราะจริงๆแล้วมันทำลายประสิทธิภาพในการผลิตของระบบทุนนิยมเสียเอง การกำกับตลาดก็ต้องมีกรอบระดับโครงสร้างระดับหนึ่ง สถาบันหรือแนวคิดอะไรที่จะควบคุมการทำงานของตลาดในยุคศตวรรษนี้ เมื่อก่อนเคยมีการเสนอแนวคิดสังคมนิยม แต่ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีมีประสิทธิภาพ ต่อมามีการเสนอแนวทางจัดการเศรษฐกิจแบบ Keynesian แต่ก็ถูกต่อต้าน จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีใครเสนอแนวคิดเช่นนี้ออกมาได้

ความท้าทายสามประการของเสรีนิยมในความคิดของผม อันแรกคือปัญหาด้านคนหรือปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือคนจำนวนหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้อพยพ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นหลังอเมริกาไปบุกประเทศอิรัก และอัฟกานิสถาน จนเกิดเป็นกระแสอาหรับสปริง เกิดปัญหาผู้ลี้ภัยจากประเทศอาหรับมหาศาลไหลเข้าสู่ยุโรป และบางส่วนก็ทะลักไปที่อเมริกา นี่คือหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่จะต้องเกิดขึ้นหากเสรีนิยมใหม่ยังไม่ปรับตัว

สองคือปัญหาเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทุกวันนี้มันทำให้เงินหมุนเวียนเร็วมาก จากการผลิตแต่ก่อนที่ต้องใช้ทุน ใช้โรงงาน ใช้ที่ดิน แต่ตอนนี้แม้ไม่มีทุนเหล่านั้น คุณก็สามารถทำธุรกิจได้ ผ่านโลกออนไลน์ เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทำลายเส้นแบ่งของการผลิตแบบเก่า และเทคโนโลยีไม่มีทางหยุดพัฒนา มันจะเปลี่ยนวิถีการบริโภค การสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลข่าสาร ไปจนถึงเทคโนโลยีการทำลายล้าง

สุดท้ายคือเงินตรา ตอนนี้เรามีบิทคอย มีเงินที่ไม่ใช่เงิน เป็นเงินที่เกิดจากการกดมือถือ ปัจจัยเหล่านี้ใครคุมมันได้บ้าง ผมว่ามีแต่พระเจ้าเท่านั้นถึงจะคุมได้
โต้กลับเสรีนิยมใหม่

ประเด็นสุดท้ายที่อยากฝากคือ คนที่ต้องการจะท้าทายลัทธิเสรีนิยมใหม่ต้องกลับไปสู้ในเรื่องคุณค่าทางสังคม เพราะว่าเสรีนิยมใหม่มีแนวคิดยึดโยงกับคุณค่าแบบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเจริญมั่งคั่ง ใครบ้างจะไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้ แต่บังเอิญว่าคนและประเทศที่สามารถทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงมีแต่ประเทศตะวันตก เพราะเขาเป็นคนคิดค้นเทคโนโลยี แล้วเข้ามาหาทรัพยากรในประเทศนอกตะวันตก เพื่อกลับไปสร้างความร่ำรวยให้ประเทศตะวันตก ถ้าจะสู้กับเสรีนิยมใหม่ก็ต้องสู้กันในระดับโลกทัศน์ว่าคุณค่าแบบตะวันตกทั้งหลายนั้นยังอยู่ไหม ยังถูกต้องชอบธรรมไหม เพราะทุกอย่างที่มาพร้อมกับคุณค่าแบบตะวันตกมีคำถามตามมาหมดว่าจริงไหม และเราต้องแลกกับอะไรบ้าง คนจำนวนหนึ่งต้องถูกกีดกัน พื้นที่ทางสังคมบางส่วนต้องเสียไปเพื่อให้ความเชื่อแบบตะวันตกอยู่ต่อไปอย่างนั้นหรือ ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เรากลับมายึดถือคุณค่าแบบตะวันออก ให้เป็นพุทธ ขงจื่อ เพราะแบบนั้นก็ไม่รอดอีกเหมือนกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net