Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงเปิดเรียนของระดับมหาวิทยาลัยทุกปีเรามักจะได้ยินข่าวการรับน้องของแต่ละที่ที่แสดงออกมาในรูปแบบแฝดคนละฝา กล่าวคือ มีลักษณะที่คล้ายกันแต่จะเรียกวิธีการรับน้องไม่เหมือนกัน  แน่นอนว่าข่าวนั้นมีทั้งที่เป็นกระแสดีและไม่ดีปล่อยออกมาให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตลอดเวลา  ซึ่งการรับน้องรูปแบบหนึ่งก็ได้เป็นข้อถกเถียงไม่จบสิ้นสักที  นั่นคือการรับน้องด้วยการใช้ระบบโซตัส ( SOTUS )  

เมื่อพูดถึงระบบโซตัสแล้ว  บางท่านก็อาจนึกภาพไปว่ามีรุ่นพี่ต่างมายืนว้าก  ไซโค หรือบังคับให้รุ่นน้องทำกิจกรรมแปลกประหลาดต่าง ๆ   แท้จริงแล้วสิ่งในข้างต้นไม่ใช่กระบวนการแท้จริงของระบบโซตัส หากแต่มันเป็นสิ่งปลูกสร้างจากจินตนาการที่คนแต่ละรุ่นคิดขึ้นมาสำหรับใช้ประกอบการรับน้องโดยอ้างรูปแบบของโซตัสเท่านั้น  เช่นนั้นแล้วระบบโซตัสจึงไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการรับน้อง  หากแต่ปัจจุบันระบบโซตัสถูกทำให้เหมือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรับน้อง

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าระบบโซตัสคืออะไรและมีที่มาอย่างไร 

การรับน้องระบบโซตัสในยุคแรกนั้น สันนิษฐานว่าได้นำมา (พัฒนา )จากระบบอาวุโสของโรงเรียนกินนอนในประเทศอังกฤษ (Public School) [i]  และได้เข้าสู่ประเทศไทย (ขณะนั้นเรียกว่าสยาม) ราวปี พ.ศ. 2440  อันเป็นช่วงที่ประเทศกำลังเกิดการปฏิรูปโดยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ( Centralization ) เพื่อให้ประเทศมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น  เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก  ดังนั้นเพื่อแสดงถึงความเข้มแข็งของประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องใช้การปฏิรูปเพื่อนำไปสู่ความศิวิไลซ์  (Civilization)   ระบบอวุโสถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปและถูกใช้ครั้งแรกในสยาม เมื่อมีการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือน   สำหรับผลิตข้าราชการพลเรือนไปปกครองตามหัวเมืองต่าง ๆ และดินแดนอดีตอาณานิคมของสยาม เช่น ล้านนา อีสาน เป็นต้น ภายหลังดินแดนเหล่านั้นถูกรวมเป็นรัฐชาติ ( Nation State ) ในเวลาต่อมา[ii]   ในโรงเรียนสำหรับฝึกหัดข้าราชการพลเรือนนี้เองก็ได้มีการตั้งตำแหน่ง “ดรุณาณัติ” ( Fagging System )[iii] โดยจะมีการนำนักเรียนชั้นปีที่สูงกว่า (การใช้ความอวุโสกว่าในการเข้ามาอยู่ก่อน ) ที่มีผลการเรียนและความประพฤติดีมาเป็นผู้ช่วยครู เพื่อช่วยอบรมสั่งสอนและดูแลคณะนักเรียนชั้นปีอื่น ๆ  ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกคนเหล่านี้ว่า Fag – master หรือ Perfect   

การมี Fag – master คือ การรวมอำนาจการตัดสินใจ การจัดการบางอย่างไว้ที่คน ๆ เดียว อันมาจากการแต่งตั้งของครูหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในโรงเรียน  เพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพในการจัดการด้านต่าง ๆ  นั่นหมายความว่า บุคคลอื่นก็มีความจำเป็นที่จะต้องเคารพบุคคลนั้นด้วย  การกระทำในลักษณะนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวคิดเจ้าอาณานิคม (Colonialism)[iv] โดยมีครู อาจารย์เป็นเจ้าอาณานิคมที่มีอำนาจเด็ดขาดแท้จริงและได้ใช้กลไกอำนาจนั้นผ่านตัวแทนนักเรียนที่จะไปคอยสอดส่องพฤติกรรมนักเรียนคนอื่น  ดังนั้นเองการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือนจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ใช้อำนาจ (สยาม) เพื่อไปคอยสอดส่องดูแลหัวเมืองต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย  โรงเรียนสำหรับฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือนปัจจุบันกลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและได้รับเอาวัฒนธรรมอวุโสแบบอังกฤษเข้าผสมกับวัฒนธรรมอวุโสแบบไทยจนกลายเป็นระบบโซตัสที่เรารู้จักในปัจจุบัน    

คำว่าโซตัส ( SOTUS )  ประกอบไปด้วยคำว่า  Seniority  หมายถึง  การเคารพความอวุโสซึ่งไม่ได้หมายถึงความอวุโสจากอายุเท่านั้น  หากแต่ยังรวมถึงความอวุโสในตำแหน่งการเข้ามาอยู่ในองค์กรนั้น ๆ ก่อนด้วย  แน่นอนว่าหัวใจของระบบโซตัสคือความอวุโสนี่เองและจะนำไปสู่ด้านอื่นต่อไป  คำต่อมาคือ Order  หมายถึง  ความมีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม  เนื่องจากว่าการที่คนหมู่มากมาอยู่รวมกันนั้นจะมีความแตกต่างกันอยู่มากน้อย  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างกฎเกณฑ์เพื่อรักษาความเรียบร้อยต่อไป, Tradition หมายถึง การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีอันดีที่คนแต่ละยุคร่วมสร้างกันมาเพื่อสืบทอดให้ประเพณีนั้นอยู่ยั่งยืนต่อไป  แต่ก็แน่นอนว่าคำว่าประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่คนในแต่ละยุคมีฐานคิดฐานมองที่แตกต่างกัน  เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนไปฐานคิดฐานมองก็อาจเปลี่ยนตาม  ส่งผลให้ประเพณีบางอย่างต้องปรับตัวตามเช่นกัน, Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สมานสามัคคีของคนในสังคม  เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สามารถดำรงอยู่ต่อไป  และสุดท้ายคือ Spirit  หมายถึง ความเสียสละ  ความมีน้ำใจ 

จากความหมายในข้างต้นก็มิอาจจะเห็นได้ว่าระบบนี้มันดีหรือมันเลวอย่างไร  เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงเวลาหนึ่งระบบนี้ได้ถูกยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกระทั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ยึดถือเป็นคำขวัญประจำสถาบัน และถ่ายทอดอุดมการณ์ดังกล่าวผ่านบทเพลง “เกียรติภูมิจุฬาฯ” [v]  ผู้เขียนก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าไม่มีระบบใดที่เลวที่สุดและก็ไม่มีระบบใดที่ดีที่สุด  เพียงแต่ว่าเราต้องหาระบบที่เหมาะสมกับช่วงของบริบทดังกล่าวได้อย่างลงตัวที่สุด  คำถามก็จะมีต่อไปอีกว่า “แล้วระบบที่ใช้ในการรับน้องอย่างไรที่เรียกว่าเหมาะสม” (หากยังยืนกรานที่จะจัดกิจกรรมรับน้องใหม่) ผู้เขียนคงให้คำตอบแบบชัดเจนไม่ได้  ซึ่งอาจจะหมายถึงระบบที่เมื่อใช้แล้วเกิดความสบายกาย สบายใจแต่ทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่ต่อไป

ระบบโซตัสเริ่มมีการว้ากเข้ามาเป็นส่วนประกอบเมื่อใด

อย่างที่รู้กันว่าระบบโซตัสได้เกิดครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่กระบวนการว้ากไม่ได้เกิดขณะนั้น  หากแต่การว้ากได้เกิดในยุคที่ 2 ของระบบโซตัสโดยโรงเรียนป่าไม้แพร่ทางภาคเหนือ[vi]  กล่าวคือ  เมื่อเริ่มตั้งสถาบันการศึกษาในยุคบุกเบิก  ผู้นำได้มุ่งเน้นสร้างวิชาการและครู อาจารย์โดยมีการส่งนักเรียนไปศึกษาที่ต่างประเทศ แน่นอนว่านักเรียนไทยที่จบจากต่างประเทศไม่ได้รับเอาความรู้มาเท่านั้น  หากแต่ยังรับเอาประเพณี วัฒนธรรมบางอย่างกลับมาด้วย  สันนิษฐานว่านักเรียนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นฉบับของการว้ากและกิจกรรมรุนแรง เช่น การคลุกโคลน  ปืนเสา เป็นต้น[vii]  เป็นผู้รับเอาวัฒนธรรมการว้ากมาใช้ในโรงเรียนป่าไม้แพร่ (ในฐานะบุคลากร) ซึ่งภายหลังก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน    การนำวิถีการว้ากมาผสมกับระบบโซตัสที่ก่อตั้งโดยจุฬาฯ ส่งผลให้ระบบโซตัสในยุคที่ 2 นี้ถูกปรับโฉมใหม่ให้มีความรุนแรงมากขึ้น  การตีความของความหมายเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยให้ค่ากับการกดดันรุ่นน้องอันจะมีการอ้างว่าเพื่อเป็นการละลายพฤติกรรม  ลดความแตกต่าง และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นแก่นักศึกษาใหม่ จะเห็นว่าการเกิดขึ้นของกิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรเฉกเช่นเดียวกับระบบโซตัสในยุคแรก การสร้างความอุปถัมภ์โดยใช้ระบบโซตัสกับการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ในเรื่องของการเคารพอวุโสกว่า (ในที่นี้ยังรวมถึงการเข้ามาศึกษาก่อน)โดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลของการเคารพ  ซึ่งจะเห็นจากการสร้างคุณค่าแก่ผู้อวุโสผ่านวรรณกรรม  คำพังเพย เช่น  เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด  อาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นต้น  ที่ถืออ้างกันมา  ประกอบกับสภาพสังคมที่ยังไม่ตื่นตัวในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ จึงเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่จะทำให้คนเชื่องต่อระบบได้ง่าย  และในยุคนี้เองที่สร้างภาพจำว่าเมื่อพูดถึงระบบโซตัสจะต้องนึกถึงการว้ากด้วย

การรับน้องด้วยระบบโซตัสที่มีการว้ากเข้ามาเป็นตัวชูโลงนี้ไม่สามารถอยู่ได้ยั่งยืนได้นานนัก  เมื่อภายหลัง พ.ศ. 2512 กระแสของความเป็นประชาธิปไตยเริ่มจะขยายวงกว้างแก่หมู่นักศึกษามากขึ้น  อันนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับน้องและความรุนแรงในการรับน้อง  ต่อมาการรับน้องภายใต้ระบบโซตัสจึงสั่นคลอนกระทั่งเลือนหายไปในช่วงหนึ่ง  มากไปกว่านั้นการหลั่งไหลของแนวคิดประชาธิปไตยยังทำให้คนตระหนักในสิทธิเสรีภาพมากขึ้นจนสามารถตั้งคำถามกับรัฐบาลซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องของนักศึกษา  เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีการปลุกกระแสต่อนักศึกษาว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์และมีวาทกรรมต่าง ๆ ออกมามากมาย  ผลสุดท้ายคือเกิดการปราบนักศึกษาครั้งใหญ่ในเหตุการณ์  6 ตุลาฯ   ด้วยเหตุนี้รัฐอาจกังวลต่อความมั่งคงทางสถาบันจึงมีการนำระบบการรับน้องด้วยโซตัสแบบมีการว้ากเข้ามาใช้อีกครั้ง  เพื่อสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ให้นักศึกษาอยู่ในกรอบและสืบเนื่องเรื่อยมา[viii]

  จากประวัติศาสตร์ของระบบโซตัสที่ถูกสร้างครั้งแรกนับว่าเปลี่ยนแปลงไปมากหากเทียบกับปัจจุบัน  เนื่องจากมีการนำกระบวนการอื่น ๆ มาร่วมกับตัวระบบตามที่คนแต่ละยุคสมัยจะคิดขึ้นมาได้   เช่นนั้นแล้วระบบโซตัสจึงอาจถือว่าเป็นประดิษฐกรรมทางความคิดและวัฒนธรรมที่คนแต่ละรุ่นรับเอาบริบทต่าง ๆ เข้ามาเสริมเติมแต่ง  แต่ไม่ว่าระบบโซตัสจะถูกเปลี่ยนไปมากเท่าใดก็ยังคงมีการตีความระบบที่คล้าย ๆ กันอยู่  คือ  อวุโส  ระเบียบวินัย ประเพณี สามัคคี มีน้ำใจ อันเป็นความหมายของคำว่าโซตัสแต่แรกเริ่ม   ผู้เขียนมุ่งเน้นให้เห็นคือรากเหง้าเดิมของระบบโซตัสนั้นเคยเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งในเวลาต่อมาระบบโซตัสนี้ได้เป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้ในการควบคุมคนในพื้นที่การศึกษา  อีกกประการหนึ่งคือตำแหน่งดรุณาณัติ หรือ Fag-master ก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปแต่เดิมที่มีการแต่งตั้งจากครูอาจารย์ ก็กลายเป็นว่ามีการเลือกกันเองจากกลุ่มนักเรียน(นักศึกษา)โดยถูกเรียกใหม่ว่า “ประธานปกครองหรือพี่วินัย”  ซึ่งตำแหน่งประธานปกครองหรือพี่วินัยนี้ก็ยังคงเป็นเครื่องมือของอาจารย์ที่เป็นผู้ใช้กลไกทางอำนาจผ่านตัวแทนสำหรับคอยสอดส่องดูแลนักเรียนใหม่(นักศึกษาใหม่)  แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าการอุปถัมภ์ต่อระบบก็ยังคงเป็นบุคคลากรอยู่ดี  และแม้ว่าในปัจจุบันหลายสถาบันได้มีการรับน้องด้วยระบบโซตัสที่มีการว้ากออกไปแล้ว  เช่น  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่ประกาศตัวเองว่ารับน้องด้วยระบบโซตัสนั้นก็ยังยืนยันว่าไม่มีความรุนแรง  แต่ระบบโซตัสก็ยังคงเปลี่ยนรูปร่างเพื่อให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมขณะนั้นอยู่ดีซึ่งคนเราหรือแม้กระทั่งผู้ดำเนินกิจกรรมยากที่จะมองเห็น  ระบบโซตัสในปัจจุบันจึงค่อนข้างถูกท้าทายจากคนรุ่นใหม่พอสมควรด้วยว่าคนเหล่านั้นมีภาพจำของการว้ากเป็นองค์ประกอบ  มากไปกว่านั้นยังมีกระบวนการอื่นเกิดขึ้นมาใหม่ ๆ เช่น  การไซโค  การสันทนาการ  การร้องเพลง เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้สามารถแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของโซตัสในปัจจุบันและซ่อนตัวเองเพื่อทำให้คนรู้สึกไปว่าตัวเองปราศจากจากอำนาจใด ๆ 

หากจะถามผู้เขียนแล้วว่าระบบโซตัสจะสามารถล้มหายตายจากประเทศหรือไม่  ก็คงตอบอย่างไม่ลังเลว่าคงไม่หายไป  เพียงแต่ว่าระบบโซตัสนี้จะทำการ (หรือถูกทำ) เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เกิดความเหมาะสมขึ้น  (การรับน้องสร้างสรรค์)  เพราะอย่าลืมว่าหัวใจหลักของโซตัสมันอยู่ที่คำว่า “อวุโส”  แค่คำนี้คำเดียวก็สามารถสร้างความหมายอื่นตามมาได้อย่างไม่ยากเย็น  ดังนั้นแล้วการรับน้องด้วยระบบโซตัส(ทั้งมีว้ากและไม่มี) จึงค่อนข้างหาการแก้ไขได้ยาก  ผู้เขียนก็คงเสนอได้แค่ว่าควรเป็นกิจกรรมที่ให้รุ่นน้องเข้าร่วมอย่างสมัครใจและการจัดกิจกรรมควรเป็นเหตุเป็นผลหรือถ้าหักดิบกว่านั้นก็คือการยกเลิกการรับน้องทุกรูปแบบ 

หลักสำคัญของความรุนแรงในการรับน้องปัจจุบันไม่ใช่ระบบโซตัส  เพราะโซตัสเป็นนามธรรม  แต่ตัววิธีการที่เอามาใช้กับระบบเป็นสิ่งที่เราควรสนใจมากกว่า  เฉกเช่นมีดที่วางอยู่เฉย ๆ ก็ทำอะไรใครไม่ได้  หากเรานำมีดไปฆ่าคน ความผิดนั้นก็ไม่ได้ตกอยู่ที่มีด  ระบบก็เช่นเดียวกันถ้ามันอยู่เฉย ๆ มันก็ทำร้ายใครไม่ได้

 

เอกสารอ้างอิง

ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง. (2548). ความเป็นมาของระบบโซตัส. ประชาไทย. ที่มา: https://prachatai.com/journal/2005/06/4297

ลักขณา  คำปัน. (คลิปวิดีโอ). (2556). รายการคิดเล่นเห็นต่างกับ คำ ผกา. ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=T_EfBnmSEeg

ลักขณา  คำปัน. (คลิปวิดีโอ). (2556). รายการคิดเล่นเห็นต่างกับ คำ ผกา(2). ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=VAgK9iyUxr8

ศิริพจน์  เหล่ามานะเจริญ. (2560). SOTUS ความรุนแรง หรือ ฝึกวินัย? ความเป็นไทยหรือลอกฝรั่ง?. THE MATTER. ที่มา: https://thematter.co/thinkers/sotus-thai-or-not-ja/6208

สุธาชัย  ยิ้มประเสริฐ. “รับน้อง-ว้ากน้อง.” โลกวันนี้  575 (30 กรกฎาคม-5 สิงหาคม 2559) : 7

 

 

[i] ลักขณา  ปันวิชัย, รายการคิดเล่นเห็นต่างกับ คำกา , ที่มา:

 https://www.youtube.com/watch?v=T_EfBnmSEeg

[ii] ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง, ความเป็นมาของระบบโซตัส, ประชาไทย

https://prachatai.com/journal/2005/06/4297

[iii] ศิริพจน์  เหล่ามานะเจริญ, sotus ความรุนแรง หรือ ฝึกวินัย? ความเป็นไทยหรือลอกฝรั่ง?, The Matter

https://thematter.co/thinkers/sotus-thai-or-not-ja/6208

[iv] ลักขณา  ปันวิชัย, รายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำ ผกา (2), ที่มา:

https://www.youtube.com/watch?v=VAgK9iyUxr8

[v] ศิริพจน์  เหล่ามานะเจริญ, sotus ความรุนแรง หรือ ฝึกวินัย? ความเป็นไทยหรือลอกฝรั่ง?, The Matter

https://thematter.co/thinkers/sotus-thai-or-not-ja/6208

[vi] ลักขณา  ปันวิชัย, รายการคิดเล่นเห็นต่างกับ คำกา , ที่มา:

 https://www.youtube.com/watch?v=T_EfBnmSEeg

[vii] ศิริพจน์  เหล่ามานะเจริญ, sotus ความรุนแรง หรือ ฝึกวินัย? ความเป็นไทยหรือลอกฝรั่ง?, The Matter

https://thematter.co/thinkers/sotus-thai-or-not-ja/6208

[viii] สุธาชัย  ยิ้มประเสริฐ, “รับน้อง-ว้ากน้อง,” โลกวันนี้  575 (30 กรกฎาคม-5 สิงหาคม 2559) : 7

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net