Skip to main content
sharethis

สัมมนาคู่ขนานเวทีเจรจาการค้าเสรี 16 ประเทศ 'RCEP' ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 'กรรณิการ์ กิจติเวชกุล' ชวนจับตาวงเจรจา RCEP แนะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพราะสัญญาการค้าเสรีที่ผ่านมาคนเล็กคนน้อยเดือดร้อนแบบไม่ทันตั้งตัว ขณะที่บรรษัท 'นกรู้' + คนวงในได้ประโยชน์ พร้อมแสดงความกังวล "กลไกระงับข้อพิพาทรัฐและเอกชน" หรือ ISDS ชี้เป็นมรดกตกค้างยุคอาณานิคม บรรษัทฟ้องรัฐบาลแบบลับได้ ที่สำคัญนโยบายที่เคยปกป้องประชาชนอาจกลายเป็นการละเมิด "สิทธินักลงทุน"

ภาพประกอบโดย อิศเรศ เทวาหุดี

ในการประชุมความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (The Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) หรืออาร์เซ็ป ซึ่งเป็นกรอบเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคี 16 ประเทศ ได้แก่อาเซียน 10 ประเทศ และคู่ค้าในเอเชียแปซิฟิกได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งรอบนี้ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 17-27 กรกฎาคมนั้น

ขณะเดียวกันมีเวทีคู่ขนานเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยตัวแทนภาคประชาสังคม 25 องค์กร โดยร่วมกันอภิปรายผลกระทบที่เกิดขึ้นหากไทยทำความตกลงใน RCEP และ CPTPP หรือ ความพยายามเข้าร่วมความตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากกลุ่ม FTA Watch อภิปรายว่าภายหลังการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีในกรอบขององค์กรการค้าโลก (WTO) ในปี 2545 ล่มลง ทำให้ประเทศใหญ่ๆ ก็หันไปทำการเจรจาแบบทวิภาคีคือ FTA กับประเทศเล็กๆ แทน และสุดท้ายประเทศเล็กมักจะถูกบังคับให้ยอมในเรื่องบางเรื่อง

FTA Watch ในตอนแรกจึงตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาการเจรจาการค้าเสรี และจาก FTA แบบประเทศต่อประเทศ ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นการคุยระหว่างกลุ่มประเทศ เช่นกรอบ RCEP หรือ CPTPP

กรรณิการ์ กล่าวว่า FTA ไทยเริ่มสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ FTA ไทย-จีน เริ่มจากผัก ผลไม้ ทำให้ผัก ผลไม้ราคาถูกจากจีนทะลักเข้าไทย ตีตลาดหอมไทย กระเทียมไทย ผลไม้ไทย กระเทียม หอมไทยในช่วงแรกแทบอยู่ไม่ได้ แต่ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ที่รู้และเตรียมตัวทันที่จะนำสินค้าไปขายในจีนได้ประโยชน์ คนที่เดือดร้อนจึงเป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่รู้และไม่มีการเตรียมการใดๆ เนื่องจากเป็นการเจรจาที่ไม่ถูกเปิดเผย ไม่ถูกตรวจสอบ

ขณะที่การเจรจา ไทย-ออสเตรเลีย ในช่วงนั้นคือจะให้ไทยเปิดตลาดวัวนม วัวเนื้อ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรรายย่อยอยู่ไม่ได้ เพราะวัวออสเตรเลียทั้งพันธุ์เนื้อและนมคุณภาพที่ดีกว่า มีมากกว่า ทำให้ราคาถูกกว่า แย่กว่านั้นคือช่วงนั้นมีโรควัวบ้าระบาดที่อังกฤษ ออสเตรเลียประกาศห้ามเอาเครื่องในวัวไปทำอาหารสัตว์ จึงนำมาส่งขายบางประเทศที่กินซึ่งหนึ่งในนั้นคือไทย ทำให้ราคาเครื่องในก็ราคาตก เกษตรกรจำนวนหนึ่งอยู่ไม่ได้ ที่อยู่ได้คือพวกที่ปรับไปเป็นสินค้าแบบพรีเมียม เพื่อหนีราคาถูก เช่น เดลีโฮม แต่ก็เป็นจำนวนเกษตรกรไม่ถึง 5% ขณะที่ส่วนที่ไทยได้ประโยชน์คือบริษัทรถกระบะของไทยสามารถส่งไปขายที่ออสเตรเลียได้ หรือดาวเทียมไทยคมสามารถไปดำเนินกิจการในพื้นที่แถบออสเตรเลียได้

“ดังนั้นเราจะพบว่าลักษณะการเจรจาการค้ายิ่งมันครอบคลุมหลายประเด็นเท่าไหร่มันยิ่งมีการเจรจาต่อรองแบบที่คนรู้วงในเท่านั้นถึงจะได้ประโยชน์ แต่ขณะที่ผลกระทบเกิดขึ้นทั่ว กลายเป็นผลได้กระจุก ผลเสียกระจาย” กรรณิการ์กล่าว

เธอเล่าว่าในตอนนั้น ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ วุฒิสมาชิกในเวลานั้น เป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ได้เรียกกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศมาชี้แจง แต่ทั้งสองกระทรวงไม่ชี้แจงรายละเอียดเนื้อหาเพราะบอกว่าเป็นความลับ จึงนำไปสู่การผลักดันให้การเจรจาการค้าเปิดเผยมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น

และนำไปสู่มาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะกำหนดให้ต้องมีงานวิจัยก่อน และทำกรอบการเจรจา ทำให้ชัดว่าอะไรเจรจาได้หรือไม่ได้ ถึงจะเจรจาได้ และเมื่อการเจรจาเสร็จต้องเอาข้อตกลงนั้นไปทำประชามติ รัฐบาลถึงจะทำตามข้อตกลงนั้นได้ และ RCEP หรือการเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ น่าจะเป็นกรอบเจรจาฉบับสุดท้ายที่เข้าสู่รัฐสภา จนได้ฤกษ์เจรจาในต้นปี 56-57 แต่ก็ยังติดขัดหลายเรื่องจนลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน

25 องค์กรร้องยุติเจรจาค้าเสรีอาเซียน +6 เข้า CPTPP ชี้กระทบสิทธิ-วิถีชีวิต ย้ำต้องไม่ใช่ยุครัฐประหาร, 21 ก.ค. 2561

คุ้มแน่หรือเจรจา RCEP? บทเรียนการคุ้มครองนักลงทุน (มากกว่าประชาชน), 11 ก.ค. 2561

ความตกลง RCEP ที่ไทยเตรียมเจรจา จะก่อผลกระทบต่อชาวนา ที่ดิน และอาหาร, 20 มิ.ย. 2561

ข้อตกลงการค้าข้ามชาติที่ไทยเจรจา ทำชาวนาสูญเสียการควบคุมเมล็ดพันธุ์, 6 มิ.ย. 2561

กรรณิการ์กล่าวว่า เหตุที่ RCEP ยังเป็นการเจรจาที่ไม่เลวร้ายมากนัก เพราะความต่างของแต่ละประเทศทำให้เกิดการประนีประนอม เศรษฐกิจแต่ละประเทศต่างกัน แต่ใน RCEP มีเกาหลีใต้ซึ่งทำ FTA กับอเมริกาและสหภาพยุโรปแล้ว ดังนั้นทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา สิทธิบัตรพันธุ์พืช หรือการคุ้มครองการลงทุน เกาหลีใต้จึงมีทั้งหมด

ขณะที่ญี่ปุ่นค่อนข้างหัวอนุรักษ์นิยมเกี่ยวกับภาคเกษตร ภาคเกษตรค่อนข้างเข้มแข็ง เป็นภาคสำคัญที่ชี้ชะตาว่าพรรคไหนจะได้รับการเลือกตั้ง แต่ระยะหลังสังคมก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ ภาคเกษตรจึงมีอำนาจต่อรองน้อยลง มีบริษัทผลิตยา และจดทะเบียนส่วนประกอบยา ซึ่งญี่ปุ่นก็ได้เอากัญชาและใบกระท่อมของไทยไปจดทะเบียนด้วย แต่ไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงอยากได้การคุ้มครองเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุน

นอกจากนี้ญี่ปุ่นซึ่งมีปัญหาเรื่องขยะล้น ได้ผลักดันการเจรจากับอาเซียน ส่วนหนึ่งเพราะหวังว่าจะเป็นที่ทิ้งขยะ โดยไทยรับการทิ้งขยะทั้งที่รีไซเคิลและไม่รีไซเคิลที่ทิ้งจากญี่ปุ่นมา จากการเจรจา JTEPA ดังนั้นขยะจึงจัดเป็นสินค้าและอยู่ในพิกัดของภาษีศุลากากร เช่น ขยะพิษจากโรงพยาบาล เถ้าจากเตาเผาขยะ ฯลฯ นั้นหมายความว่าเมื่ออยู่ในพิกัดแล้วก็สามารถนำเข้าได้ ประเทศอื่นๆ จึงมาใช้ไทยเป็นที่ทิ้งขยะ ทำให้ไทยกลายเป็นที่ทิ้งขยะของโลก

RCEP มีข้อดีที่ไม่จำเป็นต้องเป็นภาคีของ UPOV1991 หรืออนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืช ขณะที่ออสเตรเลียบอกไม่ว่าต้องเป็นภาคีก็ได้แต่ให้ลอกเนื้อหามา แต่อาเซียนก็ไม่เอาการผูกชาดสิทธิบัตร การเจรจาจึงยังไม่ค่อยคืบหน้า

 

ISDS เมื่อนักลงทุนได้รับการคุ้มครองก่อนประชาชน

กรรณิการ์กล่าวว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างหนึ่งของทั้ง RCEP และ CPTPP คือ การมีกลไก “การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน” (Invester-State Dispute Settlement - ISDS) อันเป็นการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งเป็นมรดกจากยุคอาณานิคมโดยปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาหลายฉบับระหว่างรัฐบาลอดีตประเทศอาณานิคมและรัฐบาลประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแปรรูปทรัพย์สินทางกายภาพของบรรษัทข้ามชาติให้เป็นของรัฐ ISDS ให้อำนาจกับบรรษัทในการฟ้องรัฐบาลกับอนุญาโตตุลาการแบบลับ กรณีที่รัฐบาลออกกฎหมาย นโยบาย หรือระเบียบปฏิบัติใดๆ ที่ขัดขวางศักยภาพการสร้างผลกำไรของบรรษัท

จากรายชื่อของคดีที่มีการฟ้องผ่านกระบวนการ ISDS จะพบว่าบรรษัทได้ใช้กลไกนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ขัดขวางนโยบายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ลงโทษรัฐบาลซึ่งจำกัดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือยกเลิกการแปรรูปกิจการให้เป็นของเอกชน ทั้งกฎหมายเพื่อผู้บริโภค กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและนโยบายด้านสภาวะภูมิอากาศ กฎหมายการสาธารณะสุข หรือกฎหมายกำหนดให้ปิดฉลากรายละเอียดของอาหาร นโยบายที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน อาจกลายเป็นการละเมิดต่อ “สิทธิของนักลงทุน” เช่น อินโดนีเซียถอนการให้สัมปทานกับบริษัทเหมือง เพราะเหมืองไปสร้างผลกระทบพื้นที่ต้นน้ำ ถูกบริษัทต่างชาติฟ้องกลับ หรือกรณี ปตท. ไปทำน้ำมันรั่วที่ทะเลของอินโดนีเซีย ก็กำลังจะโดนฟ้อง ปตท. ก็ไม่ยอมถอนการลงทุนและกำลังจะฟ้องอินโดนีเซียกลับ เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net