Skip to main content
sharethis

ชี้ข้อตกลงการค้าอาเซียน กับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งการเข้าร่วมหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาส่งผลกระทบทั้งเรื่องยาในระบบหลักประกันฯ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สิทธิพลเมือง สิทธิส่วนบุคคล ระบุ ‘รัฐบาลรัฐประหาร’ ไม่มีหน้าที่และความชอบธรรมตกลงการค้าเสรีที่มีผลไปชั่วลูกชั่วหลาน

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากภาคประชาสังคมทั้ง 25 องค์กร จัดการประชุมเกี่ยวกับเรื่องการเจรจา ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หรือ RCEP และความพยายามเข้าร่วมความตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP และได้ประกาศจุดยืนของภาคประชาสังคมต่อการเจรจา RCEP และความพยายามเข้าร่วม CPTPP ดังนี้

1. ภาคประชาสังคมไทยขอให้ยุติการเจรจา RCEP และความพยายามในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพราะเนื้อหาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนและสังคม อีกทั้งกระบวนการเจรจายังเป็นไปอย่างปิดลับและกีดกันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพียงเพื่อประโยชน์การค้าระยะสั้นๆของกลุ่มทุนบางกลุ่ม

2. ความตกลงการค้าเสรีใดๆที่จะเกิดขึ้นต้องอยู่ภายใต้เนื้อหาความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลกเท่านั้น โดยจะต้องไม่รับเนื้อหาใดๆที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า TRIPs+ ทั้งในเนื้อหาที่เกี่ยวกับยาที่จะกระทบกับระบบหลักประกันสุขภาพ, พันธุ์พืช/พันธุ์สัตว์ที่จะกระทบกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเกษตรกร, ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆที่จะกระทบการเข้าถึงความรู้ในอินเตอร์เน็ต สิทธิพลเมือง และสิทธิส่วนบุคคล

3. กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ในบทที่ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนนั้นจะต้องไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องในมาตรการที่เกี่ยวกับด้านสาธารณสุข มาตรการควบคุมยาสูบและแอลกอฮอล์ สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงความรู้ และความมั่นคงทางสังคม เพื่อให้รัฐยังสามารถทำหน้าที่กำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมได้

4. ความตกลงการค้าเสรีใดๆ ต้องไม่มีเนื้อหาที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และยังคงบทบาทของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างและการจัดบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ

5. ความตกลงการค้าเสรีใดๆ ต้องไม่ขัดกับหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง สิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิชุมชน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และ วัฒนธรรม รวมทั้ง กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่ รวมทั้งต้องเป็นไปตามคำมั่นที่ให้ไว้ต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

6. ‘รัฐบาลรัฐประหาร’ ไม่มีหน้าที่และไม่มีความชอบธรรมที่จะไปทำความตกลงการค้าเสรีอันมีผลผูกพันชั่วลูกหลาน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐสภา อย่างแท้จริงซึ่งต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก่อนที่จะไปเริ่มเจรจาความตกลงระหว่างประเทศใดๆ

สำหรับ 25 องค์กร ที่จัดกิจกรรมและประกาศจุดยืนดังกล่าวประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายผู้หญิงไม่เอา RCEP, สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย, สมัชชาคนจน โครงการส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายจับตาโลกร้อน (Climate Watch) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มศึกษาปัญหายา มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา, People Go เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายงดเหล้า และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net