Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดหัวหินนัดสืบพยานจำเลย คดีเยาวชนถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพและตกเป็นจำเลยคดีปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ  นัดสุดท้าย เสร็จแล้ว นัดฟังคำพิพากษา 19 ก.ย.นี้ 

6 ก.ค.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า สืบเนื่องจากที่ ณัฐวัตร หรือเจมส์ ธนัฏฐิกาญจนา จำเลยที่ 1 และอดิศักดิ์ หรือเจมส์ สีละมุด จำเลยที่ 2 กล่าวหาว่า ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ถูกเจ้าหน้าที่บางคนทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพว่าตนกับพวกเป็นผู้กระทำผิด กรณีนักท่องเที่ยวชาวอิตาลี และชาวโมรอคโค ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.สามร้อยยอด ว่าทั้งสองได้ถูกคนร้ายซึ่งใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ร่วมกันทำร้ายร่างกายแล้วปล้นทรัพย์ ในวันที่ 26 ก.ค. 2559 ณ บริเวณริมถนนปราณบุรี-สามร้อยยอด หมู่ที่ 1 ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องบุคคลทั้งสามเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวต่อศาลจังหวัดหัวหินคดีหมายเลขคดีดำที่ ทอ.2/2560 โดยศาลได้ สืบพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 20 - 23 ก.พ. 2561 และสืบพยานจำเลยวันที่ 13 - 15 มี.ค. 2561 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงได้เลือนนัดสืบพยานจำเลยอีก 3 ปากมาสืบในที่ 5 - 6 ก.ค. 2561 นั้น

5 ก.ค.ที่ผ่านมา ทนายความจำเลยทั้งสามได้นำพยานจำเลยเบิกความต่อศาลทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ 1. ช่างเทคนิคที่ได้เข้าไปเก็บภาพถ่ายวีดีโอที่สถานที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และ 3 ในเวลาเกิดเหตุ ซึ่งอยู่กันคนละสถานที่กับที่เกิดเหตุ 2. ประจักษ์พยานซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งยืนยันว่าตนอยู่กับจำเลยที 1 และ 3 ในเวลาเกิดเหตุ ซึ่งเป็นคนละสถานที่กับที่เกิดเหตุ และ 3. เจ้าหน้าที่ตำรวจข้าราชการบำนาญ ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือจำเลยในการแสวงหาความเป็นธรรมจากการถูกดำเนินคดี โดยศาลได้เชิญนักจิตวิทยา เข้ามาพูดคุยและอยู่กับพยานเด็กในห้องที่ทางศาลจัดหาไว้ให้ขณะที่มีการสืบพยานด้วย ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นอันเสร็จสิ้นการสืบพยานจำเลยทั้ง 3 ปาก ภายใน 1 วัน

ทนายความจำเลยแถลงต่อศาลขอส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาต และมีคำสั่งให้มาฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 ก.ย.2561 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดหัวหิน

ในคดีนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เคยเบิกความถึงการพิจารณาให้การช่วยเหลือช่วยเหลือคดีแม้การซ้อมทรมานที่ไม่มีบาดแผลปรากฏให้เห็นเนื่องจากเป็นการใช้ถุงพลาสติกทำให้ขาดอากาศหายใจ 

“ผู้ต้องหาที่ถูกซ้อมทรมานบังคับให้สารภาพส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ สภาพความเป็นจริงคือผู้ต้องหาไม่สามารถได้รับการตรวจรักษาร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเป็นอิสระ  การซ้อมทำร้ายร่างกายบริเวณช่องท้องหน้าอกไม่อาจมองเห็นร่องรอยได้ด้วยตาเปล่า การใช้ถุงพลาสติกทำให้ขาดอากาศหายใจไม่มีพยานหลักฐาน การรับฟังคำสารภาพของจำเลยในคดีอาญาจึงต้องทำความระมัดระวังอย่างยิ่ง หลักการด้านสิทธิมนุษยชนหลักฐานที่ได้จากการบังคับให้ถ่ายวีดีโอรับสารภาพนั้นห้ามไม่ให้มีการรับฟัง” พรเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติม
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net