Skip to main content
sharethis

กระทรวงการต่างประเทศแถลงท่าทีกรณีไทยได้รับการปรับสถานะจากระดับ “เทียร์ 2 ต้องเฝ้าจับตามอง” ขึ้นเป็นระดับ “เทียร์ 2” จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ยันเดินหน้าแก้ปัญหาต่อ กสม.ชี้รัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

29 มิ.ย.2561 จากกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ตปี 2561 (TIP Report 2018) โดยประเทศไทยได้รับการปรับสถานะจากระดับ “เทียร์ 2 ต้องเฝ้าจับตามอง” ขึ้นเป็นระดับ “เทียร์ 2” นั้น

กระทรวงการต่างประเทศ ออกคำแถลงท่าทีถึงกรณีดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ ว่า การปรับอันดับของไทยให้อยู่ใน Tier 2 สะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาตระหนักถึงความจริงจัง ความพยายาม และความคืบหน้าในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบที่รัฐบาลไทยได้มุ่งมั่นสร้างขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด การคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย และการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยไทยพร้อมจะร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และนานาประเทศซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในเชิงกว้างและลึกมากยิ่งขึ้นในอนาคต

"การที่ไทยได้รับอันดับที่ดีขึ้นไม่ได้ทำให้รัฐบาลไทยนิ่งนอนใจต่อปัญหาการค้ามนุษย์ ไทยจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนากรอบกฎหมายและนโยบาย รวมทั้งหาทางเพิ่มพูนประสิทธิภาพการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อปกป้องคุ้มครองชาวไทยและชาวต่างชาติในไทย ซึ่งเสมอกันด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมที่ไทยยึดถือตลอดมา" แถลงท่าทีของทางการไทยระบุ

กสม.แนะรัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์

ขณะที่ ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า ว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป็นผลมาจากการร่วมมือกันทำงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทยอย่างจริงจังในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากจุดที่ต่ำสุดคือปี 2557-2558 ไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่เทียร์ 3 อยู่ 2 ปีซ้อน ซึ่งระหว่างนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 โดยเฉพาะฉบับที่ 3 ที่มีผลบังคับใช้ต้นปี 2560 มีการแก้ไขสาระสำคัญในนิยามของ “การค้ามนุษย์” ซึ่ง กสม.ได้เข้าไปมีส่วนให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะให้คำนิยามของแรงงานบังคับ
 
ประกายรัตน์ กล่าวว่า กสม. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลมาโดยตลอด และในฐานะที่รับผิดชอบด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ขอเรียนว่า ในปลายปี 2558-2559 กสม. ได้มีการตรวจสอบการค้ามนุษย์ในเรื่องสำคัญ คือ การใช้แรงงานไม่เป็นธรรมของแรงงานชาวเมียนมาในฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งกรณีดังกล่าว กสม. ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการค้ามนุษย์ ในเรื่องการยึดบัตรประจำตัวของแรงงานต่างชาติว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง สนช. ได้มีการแก้ไขให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการ “แสวงประโยชน์โดยมิชอบ”  ซึ่งถือเป็นการ “ค้ามนุษย์” ตามกฎหมายนี้
 
ประกายรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ยังได้มีการแก้ไขให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของ “แรงงานขัดหนี้” และการมีเด็กอยู่ในสถานที่ที่มีการค้ามนุษย์  เจ้าของสถานประกอบการก็จะมีความผิดด้วยแม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะไม่ได้ถูกค้ามนุษย์ก็ตาม เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กในเรื่องสิทธิการมีชีวิตที่ดีและมีการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย อย่างไรก็ตามทิปรีพอร์ตปี 2561 นี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยยังต้องทุ่มเทความพยายามเรื่องนี้ต่อไป ซึ่ง กสม. เห็นว่ากลไกระดับชาติที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จะต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว มีเขตอำนาจที่แข็งแรงและเพียงพอที่จะดำเนินการเอาผิดกับขบวนการค้ามนุษย์ที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างดี ซึ่งตรงนี้ กสม. จะได้ทำการศึกษาเจาะลึกและนำเสนอต่อรัฐบาลถึงมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

ขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ปีนี้สหรัฐฯ ปรับสถานการณ์ปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 Watch List มาเป็นระดับ Tier 2 ซึ่งหมายถึงประเทศที่ดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์ แต่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขปัญหา ซึ่งประเทศไทยเคยถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 2 ครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี 2552 หรือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่สูงขึ้นดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อทิศทางความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยในการป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล อาทิ เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ได้รับการพิจารณาเรื่องความช่วยเหลือจากสถาบันสำคัญระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) และธนาคารโลก (The World Bank) รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ขณะเดียวกันยังส่งผลดีต่อการค้าของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกคู่ค้าได้มากขึ้น เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่สินค้าไทยเพื่อการส่งออก เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าไทยไม่มีการผลิตจากการใช้แรงงานบังคับหรือการค้ามนุษย์ ตลอดจนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

“รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการทุ่มเทบูรณาการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข ยุติธรรม คมนาคม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกษตรและสหกรณ์ และอีกหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ ยืนยันว่า จะยังมุ่งมั่นขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจังต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมามีความก้าวหน้าไปมาก ด้วยมาตรการส่งเสริมและปกป้องสิทธิแรงงานทุกสัญชาติอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการแบ่งแยกสัญชาติของแรงงาน การขับเคลื่อนนโยบาย การตรวจแรงงานอย่างเข้มข้นเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงาน วางระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ประเทศเพื่อนบ้าน องค์การระหว่างประเทศ” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net