Skip to main content
sharethis

กกต. ระบุชื่อ  'พรรคเกรียน' สังคมอาจสับสน จะขัดต่อความสงบหรือศีลธรรมอันดีของ ปชช. ขอให้แก้ไข ด้าน  'บก.ลายจุด' โพสต์จะไป กกต. เพื่อแก้ชื่อหรือไปศาลปกครองดี

4 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งพรรคเกรียน โพสต์จดหมายจากนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา แจ้งการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ขอให้แก้ไขชื่อพรรคการเมืองให้ถูกต้องและมีความหมายที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จและจัดส่งเอกสารให้นายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 15 วัน 

สมบัติ โพสต์ด้วยว่า กกต. มีจำหมายตอบว่ากลับแล้วว่าไม่ผ่านชื่อพรรคเกรียน กำลังคิดว่าไป กกต. เพื่อแก้ชื่อหรือไปศาลปกครองดี

สำหรับจดหมายชี้แจงของ กกต. ระบุด้วยว่า จากข้อเท็จจริงคําว่า “เกรียน สํานักงานราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายไว้หลายนัย โดยเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปผ่านวิทยุรายการ “รู้รัก ภาษาไทย ออกอากาศทางสถานี วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 ต.ค.2555 เวลา 7.30 น. กล่าวคือ ความหมายแรก หมายถึง สั้นเกือบติดหนังหัว หรือผิวหนัง หรือพื้นที่ เช่น เขาตัดผมเกรียนเหมือนนักเรียนเตรียมทหาร ทรงผม ทันสมัยของหนุ่มยุคใหม่ต้องทรงเกรียน สุนัขพันธุ์ไทยมักจะมีขนเกรียน บ้านนั้นเขาตัดหญ้าเกรียนดีจริงๆ ความหมายที่สองใช้เรียกแป้งซึ่งนวดด้วยน้ําร้อนแล้วยังไม่น่าย ยังเป็นเม็ดปนอยู่เมืดนั้น เรียกว่า เกรียน นอกจากนี้ยังเรียกปลายข้าวละเอียดๆ ว่า ข้าวปลายเกรียน ความหมายที่สาม เป็นชื่อไม้ต้นขนาดใหญ่ ตอกสีขาว หรือม่วงอ่อน เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง 

ปัจจุบันคําว่า เกรียน มีผู้นําไปใช้เป็นคําสแลงเพื่อเรียกบุคคลหรือ กลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทําอะไรโดยไม่สนใจใคร ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล หรือทําอะไรๆ ไปตาม อารมณ์โดยปราศจากการไตร่ตรอง เช่น หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของพวกเกรียน มีแต่เด็กขอบใช้อารมณ์ ไร้เหตุผล ในเว็บไซต์นี้ชอบมีพวกเกรียนมาก่อกวนเสมอและตามพจนานุกรมคําใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 ได้ให้ความหมายว่า เกรียน หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน ไร้เหตุผล

ดังนั้น จากความหมายดังกล่าวข้างต้นการใช้ชื่อพรรคการเมืองว่า “พรรคเกรียน” จึงอาจทําให้ สังคมเกิดความสับสนในความหมายอันอาจไม่มีความเหมาะสมและจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ ซึ่งจะไม่เป็นไปตามมาตรา 38 ประกอบมาตรา 35 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งอาศัยอํานาจตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และข้อ 250 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net