Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ช่วงต้นปีพ.ศ. 2561 ประเด็นการเลือกปฏิบัติและการคุกคามทางเพศในที่ทำงานกลายมาเป็นประเด็นที่ตกเป็นเป้าความสนใจของสังคมเกาหลีอีกครั้ง หลังจากการออกมาให้ข่าวของอัยการซอจีฮยอน อัยการหญิงแห่งเมืองทงยองจากเขตชางวอน ที่ตั้งข้อหาการถูกลวนลามต่ออัยการรุ่นพี่ในเขตเดียวกัน[1] ปรากฏการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้สังคมเกาหลีที่เพิกเฉยกับประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศที่สะสมมานาน[2] เริ่มกลับหันมาให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้น ผนวกกับกระแส #MeToo ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนทั่วโลกในขณะนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงกลับมาเป็นประเด็นที่สังคมเกาหลีต้องขบคิด ถกเถียงอีกครั้ง

ปัจจุบัน เรามองเห็นการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้หญิงและการก้าวขึ้นมารับบทบาทสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้น เราพบตัวอย่างจากความสำเร็จ (และบางกรณีคือความล้มเหลว) ของบรรดานักการเมืองหญิงรุ่นใหม่จากหลายประเทศ รวมไปถึง CEO หญิงที่เข้ามากุมบังเหียนบริษัทขนาดใหญ่อีกหลายต่อหลายคน เช่น อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเยอรมนี แมรี่ บาร์รา CEO ของบริษัท General Motor พวกเธอเหล่านี้นี่เองที่เป็นเสมือนหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เราเห็นถึงความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ของกลุ่มผู้หญิงในสังคมยุคปัจจุบัน หรือหากมองในระดับชีวิตประจำวัน เราจะพบว่า สัดส่วนของผู้หญิงทำงานเองก็เพิ่มสูงขึ้นจากแต่ก่อน

ในส่วนกรณีของสาธารณรัฐเกาหลีนั้น หากพิจารณาจากข้อมูลทางตัวเลข เราจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเช่นกัน หากแต่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างช้าและยังคงตามหลังสมาชิกประเทศในกลุ่ม OECD อยู่มาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) ได้มีการรวบรวมสถิติอัตราการจ้างงานผู้หญิงทั่วโลก[3]  จากสถิติดังกล่าว (ภาพที่ 1) เราพบว่า อัตราการจ้างงานของผู้หญิงเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จากร้อยละ 39.55 ในปีค.ศ. 1998 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 41.4 ในปีค.ศ. 2017 นอกจากนี้ หากพิจารณาข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีประกอบ เราจะพบว่า ความแตกต่างระหว่างชายหญิงด้านอัตราการจ้างงานเองก็ลดลง จากร้อยละ 23.7 ในปีค.ศ. 2000 มาเป็นร้อยละ 21.2 ในปีค.ศ. 2015[4] (ตารางที่ 1) ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เช่น เยอรมนี ที่ความแตกต่างด้านอัตราการจ้างงานระหว่างเพศลดลงจากร้อยละ 15.1 ในปีค.ศ. 2000 มาเป็นร้อยละ 7.9 ในปี ค.ศ. 2015[5] (ตารางที่ 2) เราจะเห็นได้ว่า ในช่วงระยะเวลาที่เท่ากัน

อัตราการจ้างงานของผู้หญิงเกาหลีระหว่างปี 1998 - 2017

แหล่งที่มา : องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

 

ตารางที่ 1: อัตราการจ้างงานของเพศหญิงและเพศชายเกาหลี

 

อัตราการจ้างงาน

จำนวนรวม

เพศหญิง

เพศชาย

ความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและชาย

2000

58.2

47.0

70.7

23.7

2005

59.7

48.4

71.6

23.2

2010

58.7

47.8

70.1

22.3

2011

59.1

48.1

70.5

22.4

2012

59.4

48.4

70.8

22.4

2013

59.5

48.8

70.8

22.0

2014

60.2

49.5

71.4

21.9

2015

60.3

49.9

71.1

21.2

แหล่งที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี


ตารางที่ 2: อัตราการจ้างงานของเพศหญิงและเพศชายเยอรมัน

 

อัตราการจ้างงาน

จำนวนรวม

เพศหญิง

เพศชาย

ความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและชาย

2000

65.4

57.7

72.8

15.1

2005

65.4

59.5

71.2

11.7

2010

71.0

66.0

75.9

9.9

2011

72.5

67.7

77.3

9.6

2012

72.8

68.0

77.6

9.6

2013

73.3

68.8

77.7

8.9

2014

73.6

69.3

77.8

8.5

2015

73.8

69.8

77.7

7.9

แหล่งที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และค่อนข้างน้อยของเกาหลี เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการคงอยู่ของการกีดกันและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ทั้งในภาครัฐและเอกชน ด้วยแต่เดิมสังคมเกาหลีเป็นสังคมที่ยึดถือหลักคิดขงจื้อ ตามบรรทัดฐานของหลักคิดดังกล่าว บทบาททางสังคมของผู้หญิงมีความแตกต่างจากบทบาทของพวกเธอในยุคปัจจุบันโดยสิ้นเชิง และความเชื่อเหล่านี้เองที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อกลุ่มผู้หญิงทำงานในปัจจุบัน บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ของผู้หญิงทำงานในสังคมเกาหลี ประกอบกับความยากลำบากที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเผชิญ ผ่านการทำความเข้าใจกรอบแนวคิดบทบาทหน้าที่ผู้หญิงตามลัทธิขงจื้อ


I. สถานะและบทบาททางสังคมของผู้หญิงเกาหลีตามหลักขงจื้อ

ลัทธิขงจื้อเป็นลัทธิที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมเกาหลีตั้งแต่ยุคโคโชซอน (อาณาจักรโชซอนโบราณ) ผ่านการยึดครองของจีน แม้จะเริ่มเสื่อมความนิยมไปบ้างในบางช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ (ยุคสามอาณาจักรและยุคโครยอ) ลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) ก็ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักในสมัยของพระเจ้าเซจง ราชวงศ์โชซอน แนวคิดขงจื้อใหม่กลายเป็นมาหลักคิดในการบริหารจัดการบ้านเมือง (Baker, 2008) นักปราชญ์ราชบัณฑิตของราชสำนักในยุคโชซอนล้วนแล้วแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในหลักคิดขงจื้อทั้งสิ้น ด้วยอิทธิพลที่ปกครองจากบนลงล่าง กล่าวได้ว่า ลัทธิความคิดแบบขงจื้อได้แทรกซึมจากราชสำนักผ่านสู่ประชาชน อีกทั้งยังสร้างปลูกฝังค่านิยมและความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ในสังคมเกาหลี

หลักคิดของแนวคิดขงจื้อเป็นลักษณะแนวคิดครอบคลุมทุกมิติของการใช้ชีวิต ทั้งนี้ รวมไปถึงสถานภาพและบทบาททางเพศที่แตกต่างกันด้วย ในยุคกลางของโชซอนนั้น ผู้ชายมองว่าผู้หญิงฉลาดเป็นผู้หญิงในอุดมคติ โดยมองว่า ภรรยาที่เฉลียวฉลาดจะสามารถทำหน้าที่เป็นภรรยาและมารดาที่ดี คอยให้การสนับสนุนกิจการงานในบ้านให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและเป็นกำลังสำคัญที่จะส่งเสริมให้สามีและบุตรชายของตนให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ แม้มีกลุ่มคนที่มองว่า ค่านิยมในช่วงนี้เป็นเสมือนเงื่อนไขที่รับประกันอิสรภาพและสิทธิของผู้หญิงในยุคนั้นได้ระดับหนึ่ง (박미해, 2010) ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผู้หญิง ‘เฉลียวฉลาด’ ที่กล่าวมานี้คงถูกวางสถานะไว้เป็นช้างเท้าหลังของครอบครัวอยู่นั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป หลักคุณธรรมของผู้หญิง (부덕; Womanly Virtue) ได้รับความสนใจและกลายมาเป็นหลักปฏิบัติของผู้หญิงในสังคมโชซอนตอนปลาย ตามหลักคุณธรรมดังกล่าว ผู้หญิงที่ได้รับการฝึกอบรมควรมีเรือนร่างที่ดีและกิริยามารยาทที่อ่อนหวาน ลักษณะภาพลักษณ์ดังกล่าวนำไปสู่แนวคิดที่ว่าผู้หญิงควรมีลักษณะเชื่อฟังและโอนอ่อนผ่อนตาม ค่านิยมดังกล่าวแพร่หลายมากในหมู่ยางบัน (ชนชั้นขุนนาง) สมัยนั้น ส่งผลให้สถานะของผู้หญิงในช่วงตอนกลางของศตวรรษที่ 16 ถูกผลักให้ไปอยู่ในสถานะที่ต่ำลง การกดทับทางสังคมดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ผู้ชายกลายมาเป็นผู้กุมบังเหียนและมีบทบาทในทางสังคมมากกว่าในท้ายที่สุด

 หากมองจากกรอบคิดแบบขงจื้อที่กล่าวมาข้างต้น ผู้หญิงถูกวางไว้ในสถานะที่เป็นรองกว่าผู้ชาย โดยบทบาทหน้าที่ทางสังคมที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้น หน้าที่ของผู้หญิงยังคงถูกจำกัดอยู่กับกิจการงานของครอบครัว โดยมองว่าหากสถานการณ์ในบ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้นำของครอบครัว (ซึ่งได้แก่ สามีและ/หรือบุตรชาย) จะมีขวัญกำลังใจและสามารถให้ความใส่ใจกับหน้าที่การงานได้อย่างเต็มที่ กรอบคิดดังกล่าวสร้างอัตลักษณ์ทางเพศที่ขีดเส้นแบ่งความเป็นชาย-หญิง (ผู้นำ-ผู้ตาม, งานนอกบ้าน-งานในบ้าน) ออกจากกันอย่างชัดเจน เส้นแบ่งของอัตลักษณ์ดังกล่าวฝังรากลึกในวัฒนธรรมเกาหลี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในแนวคิดขงจื้อในยุคสมัยหลังโชซอน แต่แนวคิดบทบาทหน้าที่ทางเพศที่ต่างกัน ยังคงได้รับการส่งทอดต่อกันมาและยังเป็นแนวคิดที่ทรงอิทธิพลอย่างมากมาจนถึงยุคปัจจุบัน


II. ผู้หญิงทำงานในสังคมเกาหลียุคปัจจุบัน

ปัจจุบัน เงื่อนไขของทุนนิยมและบริโภคนิยมผลักดันให้ผู้หญิงเข้าไปสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น (ลียองจา, 2002) ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นอีกหนึ่งความหวังถึงความเท่าเทียมทางเพศที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้น รัฐบาลเกาหลีเองก็มีความพยายามที่จะให้การสนับสนุนผู้หญิงในหลายๆ ทาง แต่ถึงกระนั้น การสืบทอดหลักคิดขงจื้อใหม่มาตั้งแต่ยุคโชซอนส่งผลให้แนวคิดดังกล่าวยังคงแทรกซึมและผสมผสานกับแนวคิดใหม่ของตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลในยุคหลัง ทั้งแนวคิดทางเศรษฐกิจ (ทุนนิยม) การเมือง (ประชาธิปไตย) และสังคม (เสรีนิยม) ในยุคร่วมสมัย (Sleziak, 2013) สอดคล้องกับแนวคิดของ Acker (2006)  ที่อธิบายถึงหลักการทำให้กระบวนการทำให้ความไม่เท่าเทียมกลายเป็นธรรมชาติ (Naturalisation of inequality) การแบ่งแยกสถานะตามเพศกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ดูเป็นธรรมชาติและฝังลึกลงไปในจิตสำนึกและการกระทำของคนในสังคม ไม่เพียงเท่านั้น ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อันเป็นผลผลิตจากหลักคำสอนขงจื้อ เช่น หลักการทำงานหนัก กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้แนวคิดขงจื้อยังคงทรงอิทธิพลในสังคมเกาหลีอย่างกว้างขวาง[6] การเลือกปฏิบัติและการกีดกันทางเพศยังคงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสถานที่ทำงานในเกาหลี ซ้ำโอกาสที่ผู้หญิงเกาหลีจะได้รับการจ้างงานยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเพศชาย ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ชายเกาหลียังได้เปรียบกว่าในเชิงต้นทุนทางสังคม สืบเนื่องจากสายสัมพันธ์ (Connection) ที่เกิดจากการเข้าไปเกณฑ์ทหารในกองทัพ[7]

เปรียบเทียบกับอดีต จำนวนของผู้หญิงเกาหลีที่ได้รับการศึกษาถึงระดับอุดมศึกษามีเพิ่มสูงขึ้น แต่ถึงกระนั้น สัดส่วนของคนทำงานในสายอาชีพที่ถือเป็นชนชั้นนำ (elite) ของสังคม เช่น ทนายความ แพทย์หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ล้วนแล้วแต่มีสัดส่วนของเพศหญิงไม่ถึงร้อยละ 25 (ทนายความหญิง ร้อยละ 19.4 แพทย์หญิง ร้อยละ 23.9 และอาจารย์ผู้หญิงในมหาวิทยาลัย ร้อยละ 23) ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานของนิตยสารวอลสตรีท (Wall Street Journal Report)[8] พบว่า ในบรรดาธุรกิจของเกาหลีกว่า 1,780 ธุรกิจนั้น มีเพียง 13 ธุรกิจที่ผู้หญิงมีโอกาสเติบโตไปถึงตำแหน่งในระดับผู้บริหาร หรือแม้แต่ในกลุ่มข้าราชการระดับสูงเอง ยังคงมีสัดส่วนข้าราชการหญิงอยู่เพียงร้อยละ 8.8 นอกจากนี้ การประชุมของ World Economic Forum[9] มีการรายงานอีกด้วยว่า สาธารณรัฐเกาหลีรั้งอันดับที่ 115 จาก 145 ประเทศด้านความแตกต่างทางรายได้ระหว่างเพศหญิงและเพศชายในภาคส่วนต่างๆ และโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงทำงานชาวเกาหลีจะได้เงินเดือนต่ำกว่าเพื่อนร่วมงานเพศชายร้อยละ 36.6

โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงเกาหลีจะเข้าสู่ตลาดในช่วงอายุ 20 เมื่อเช้าสู่ช่วงอายุ 30 ปี ผู้หญิงเหล่านี้มักจะออกจากงานด้วยเหตุผลการแต่งงานและภาระหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร จากนั้นอาจมีการกลับเข้ามาทำงานใหม่ในช่วงอายุ 40 ปี เมื่อจัดการสถานการณ์ในครอบครัวอยู่ตัวแล้ว ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่กล่าวมาข้างต้น นายจ้างจำนวนมากจึงเลือกที่จะจ้างงานผู้หญิงในอัตราที่ต่ำกว่า สืบเนื่องจากลูกจ้างผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะออกจากงานสูงกว่าผู้ชาย ปัจจัยดังกล่าวนี้ยังส่งผลต่อการเลื่อนตำแหน่งของพวกเธอเหล่านี้อีกด้วย เพราะนายจ้างต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและผลเสียจากความไม่ต่อเนื่องในการทำงานของลูกจ้างเพศหญิง[10] ปัจจุบัน จำนวนผู้หญิงเกาหลีที่เลือกจะทำงานและเลี้ยงดูบุตรในเวลาเดียวกันจะเพิ่มขึ้น การจ้างงานพวกเธอเหล่านี้มักเป็นการจ้างงานในรูปแบบที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมักเป็นงานที่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำหรืองานนอกเวลา (Part-Time Job) เท่านั้น และการจ้างงานในรูปแบบดังกล่าวนี้เองที่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ อันนำมาสู่ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ระหว่างชาย-หญิงของประเทศเกาหลี[11]

จากสถานการณ์ของผู้หญิงทำงานในสังคมเกาหลียุคปัจจุบัน เราสามารถมองเห็นถึงอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อต่อบทบาททางเพศที่ยังคงฝังแน่นอยู่ในความคิดของคนเกาหลี ในด้านหนึ่ง ผู้หญิงเกาหลีมีอีกหนึ่งบทบาทใหม่ นั่นคือบทบาทแรงงานในตลาดแรงงานยุคทุนนิยมเสรี แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเธอเหล่านี้ยังถูกคาดหวังให้รักษาบทบาทการเป็นภรรยาและมารดาที่ดี พวกเธอเหล่านี้ยังคงต้องรักษาหน้าที่ในการดูแลกิจการงานในครอบครัวให้เป็นไปอย่างลุล่วง แม้ว่าโดยภาพรวมแล้ว การมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้หญิงเกาหลีจะกำลังเพิ่มสูงขึ้นและสังคมเกาหลีมีความตื่นตัวและพยายามที่จะปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น คนเกาหลีจำนวนมากยังคงมองว่า กิจการภายในครอบครัวเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ลัทธิชายเป็นใหญ่นั่นยังคงหยั่งรากลึกอยู่ในจิตสำนึกของคนเกาหลีส่วนใหญ่ ความคิดเหล่านี้ไม่ได้พบในกลุ่มผู้ชายที่ยึดถือแนวคิดอนุรักษ์นิยมเพียงเท่านั้น แต่ยังพบในกลุ่มผู้หญิงอีกด้วย (Kang, 2009)  


III. ความยากลำบากที่ผู้หญิงทำงานเกาหลีต้องเผชิญ

พื้นฐานทางสังคมที่ยึดลัทธิชายเป็นใหญ่ ประกอบกับความซับซ้อนในบทบาททางสังคมกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความยากลำบากให้ผู้หญิงทำงานในสังคมเกาหลี พวกเธอเหล่านี้ต้องประสบปัญหาหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ภาระในการจัดการงานและกิจการในครอบครัว รวมไปถึงปัญหาด้านสุขภาพกายและจิต อันเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางบทบาท โดยในส่วนนี้จะอธิบายถึงความยากลำบากที่กล่าวไปเป็นข้อๆ ดังนี้


1.การเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน

ผู้หญิงเกาหลีส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เคยมีประสบการณ์การเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ด้วยสาเหตุจากเพศของตนเอง นับตั้งแต่การเริ่มต้นเข้าทำงาน ฐานเงินเดือนของผู้หญิงเกาหลีนั่นจะต่ำกว่าเพื่อนร่วมงานเพศชายที่เริ่มทำงานพร้อมกัน ปัญหาความไม่เท่าเทียมเรื่องฐานเงินเดือนนับเป็นปัญหาสำคัญและรัฐบาลเกาหลีเองก็มีความพยายามที่จะลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศ ผ่านการออกมาตรการและกฎหมายต่างๆ โดยกฎหมายสำคัญได้แก่ กฎหมายความเท่าเทียมด้านการจ้างงานระหว่างชาย-หญิง (남녀고용평등법) ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับดังกล่าว ผู้ใช้แรงงานของเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นเพศใด จะได้ต้องรับค่าจ้างในอัตราที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยของ Jung (2010) พบว่า ความแตกต่างของค่าแรงขั้นต่ำระหว่างเพศชายและหญิงยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไขไม่ได้ ซ้ำร้าย ผู้หญิงเกาหลียังคงประสบปัญหาการกีดกันในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรับเข้าทำงานไปจนถึงการเลื่อนตำแหน่งในที่ทำงานอีกด้วย กล่าวได้ว่า แม้จะมีความพยายามในการให้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเพศ การนำกฎหมายไปปฏิบัติยังคงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ปัญหาการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเป็นปัญหาที่พบได้ ทั้งในองค์กรของภาครัฐและองค์กรเอกชน จากการศึกษาของ Choi (2009) พบตัวอย่างของผู้หญิงที่เป็นลูกจ้างในห้างสรรพสินค้าที่ประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ การฝึกอบรมวิชาชีพเป็นเงื่อนไขที่จะส่งผลต่อการเลื่อนตำแหน่งของพนักงาน ในกรณีดังกล่าว พวกเธอถูกกีดกันจากการเข้ารับการฝึกอบรบวิชาชีพเพิ่มเติมจากรุ่นพี่ในแผนกงานเดียวกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการตัดช่องทางในการเลื่อนตำแหน่งของพวกเธอนั่นเอง หรือหากเป็นกรณีขององค์กรรัฐ ข้าราชการหญิงมีอัตราการเลื่อนตำแหน่งต่ำกว่าเพื่อนร่วมงานผู้ชาย หากมีกรณีที่ผู้หญิงได้รับการเลื่อนตำแหน่ง อำนาจในการสั่งการของพวกเธอยังคงมีอยู่อย่างจำกัดและอยู่ในขอบเขตที่แคบกว่าเพื่อนร่วมงานผู้ชายในตำแหน่งเดียวกัน (Lee และคณะ, 2007) กล่าวคือ ปัญหาเพดานแก้ว (직업 유리천장; Glass Ceiling) หรือการถูกจำกัดการเติบโตในด้านอาชีพการงานโดยเพดานที่มองไม่เห็น ยังคงเป็นปัญหาที่รุนแรงสำหรับผู้หญิงทำงานในสังคมเกาหลีอยู่นั่นเอง

ปัญหาการเลือกปฎิบัติจากหลายกรณีที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงบรรทัดฐานสังคมเดิมของเกาหลีที่วางผู้หญิงไว้ในตำแหน่งทางสังคมที่ต่ำกว่าผู้ชาย ผู้หญิงยังคงถูกผูกอยู่กับภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ตาม อำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจของพวกเธอจึงยังคงถูกจำกัด ประกอบกับความก้าวหน้าในการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงสุดก็เป็นไปได้ยาก มีบางกรณีที่ผู้หญิงสามารถก้าวขึ้นไปรับตำแหน่งสูงสุดในทางการเมือง เช่น อดีตประธานาธิบดีปาร์กกึนฮเย (โดยส่วนหนึ่งที่สังคมให้การยอมรับในตอนต้น สืบเพราะสถานะทางสังคมที่ได้มาจากปาร์กชองฮี อดีตประธานาธิบดี ผู้เป็นบิดาของเธอด้วยส่วนหนึ่ง) หรืออดีตนายกรัฐมนตรีฮันมยองซุก แต่พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น (ทั้งสองกรณีตรวจพบการทุรจิตในหน้าที่) ล้วนแล้วแต่สร้างความกังขาให้กับความสามารถในการบริหารของผู้หญิง จึงอาจส่งผลให้การกีดกันทางเพศยังคงอยู่ ซ้ำอาจมีแนวโน้มที่รุนแรงมากกว่าเดิม[12] ปัจจัยแวดล้อมทั้งหลายนี้เองที่ในท้ายที่สุดแล้วยังเป็นเสมือนอุปสรรคขนาดใหญ่สำหรับผู้หญิงเกาหลีที่จะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในองค์กรได้ แม้จะมีศักยภาพสูงก็ตาม


2.ความซับซ้อนของบทบาททางสังคม

ผู้หญิงทำงานเป็นกลุ่มปัจเจกที่สวมบทบาททางสังคมที่หลากหลายในเวลาเดียว ในด้านหนึ่ง ผู้หญิงเหล่านี้รับบทบาทการเป็นพนักงานขององค์กร ซึ่งด้วยหน้าที่ที่ถูกกำหนดควบคู่มากับบทบาทดังกล่าว พวกเธอต้องแสดงความทุ่มเทและแสดงศักยภาพของตนเองออกมาอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียว พวกเธอเหล่านี้ยังถือบทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่ง อันได้แก่ บทบาทของความเป็นแม่และภรรยาที่ดีของครอบครัวนั่นเอง

คนเกาหลียังมองว่า บทบาทที่สำคัญที่สุดของผู้หญิงคือบทบาทของความเป็นแม่ นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ภาพลักษณ์ที่ติดตัวมาโดยกำเนิดของเพศหญิงคือการเป็นมารดาและผู้ให้การดูแลสมาชิกในครอบครัว ในยุคปัจจุบัน แม้ผู้หญิงเกาหลีจะออกจากบ้านไปทำงานและกลายเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการจุนเจือครอบครัว พวกเธอยังไม่อาจหลีกหนีบทบาทความเป็นแม่ได้ หน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตรธิดายังคงถูกมองว่าเป็นงานของผู้หญิง รัฐบาลเองเล็งเห็นถึงปัญหาที่พวกเธอเหล่านี้กำลังประสบจากการเป็นคุณแม่ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวไปด้วยในเวลาเดียวกัน จึงได้มีความพยายามในการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านนโยบายและสวัสดิการ เช่น ศูนย์เลี้ยงดูเด็กในเวลากลางวัน ฯลฯ แต่ถึงกระนั้น คนเกาหลีโดยทั่วไปยังไม่เห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าวเท่าที่ควร ผนวกกับแนวคิดลำดับชั้นทางเพศที่ยังเข้มแข็ง ส่งผลให้นโยบายของภาครัฐไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร (Baek, 2015)

การเติมเต็มบทบาทการเป็นภรรยาเองก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สร้างความรู้สึกขัดแย้งในจิตใจของผู้หญิงทำงานชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อย ตามหลักคิดขงจื้อ ผู้หญิงที่ถือบทบาทการเป็นภรรยา มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลกิจการงานในครอบครัวและปรนนิบัติสามีของตนให้ดี อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงาน ผู้หญิงทำงานเหล่านี้ต้องประสบปัญหาความขัดแย้งทางบทบาทในบ้านและที่ทำงาน การจะทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดีของสามีและเป็นพนักงานที่ดีขององค์กรในเวลาเดียวกันสร้างความกดดันและบีบคั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลาที่ไม่สามารถจัดสรรให้ชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานได้อย่างสมดุล โดยเราสามารถพบเห็นความขัดแย้งทางบทบาทที่เกิดขึ้นนี้จากงานวิจัยของ Lee และ Choi (2011) ที่พบว่า ภาระทางหน้าที่การงานทำให้ผู้หญิงทำงานชาวเกาหลีจำนวนมากรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถเติมเต็มบทบาทการเป็นภรรยาที่ดีได้ ความรู้สึกในแง่ลบดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องถึงการใช้ชีวิตคู่และทำให้ความสุขจากการใช้ชีวิตคู่โดยเฉลี่ยของผู้หญิงเหล่านี้ลดน้อยลงด้วย

กล่าวได้ว่า ภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น ตามบทบาททางสังคมที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้หญิงทำงานในสังคมเกาหลีประสบปัญหาที่เกิดจากความซับซ้อนทางบทบาทหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่พวกเธอเหล่านี้ถือบทบาทการเป็นมารดาและภรรยาของครอบครัว พวกเธอต้องรับหน้าที่ในการเป็นลูกจ้างขององค์กรเพิ่มอีกทางหนึ่ง แม้จะมีการสนับสนุนช่วยเหลือในแง่นโยบายและสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ด้วยลักษณะของสังคมที่ยังคงยึดถือหลักคิดชายเป็นใหญ่ ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงยังไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเท่าที่ควร ความกดดันที่เกิดจากความคาดหวังทางสังคมเหล่านี้ยังคงเป็นภาระหนักที่พวกเธอต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน


3. ปัญหาสุขภาพ

เพื่อที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังทางสังคม ผู้หญิงเหล่านี้รับบทหนักในการเติมเต็มบทบาททางสังคมของตนเองทั้งสองด้าน ผลสืบเนื่องอีกประการหนึ่งจากความกดดันต่างๆ เหล่านี้คือ ผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเธอ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะผู้หญิงทำงานเหล่านี้ต้องแบกรับทั้งความกดดันทางสังคมและความกดดันที่ตนเองสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัวในเวลาเดียวกัน ความกดดันที่รุมเร้าในท้ายที่สุดส่งผลออกมารูปแบบของอาการทางจิตในรูปแบบต่างๆ โดยจากงานวิจัยของ Cho และคณะ (2012) พบว่า ผู้หญิงทำงานจำนวนมากประสบปัญหาทางจิตความเครียดในที่ทำงาน ความเครียดจากการเลี้ยงดูบุตรและความเครียดในชีวิตประจำวัน และมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจากองค์กรในสังกัดและกำลังใจจากคนในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคได้

นอกจากนี้ มีการค้นพบอาการทางจิตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Superwoman Syndrome’ (수퍼우먼 신드롬) ในหมู่ผู้หญิงทำงานชาวเกาหลี Han และคณะ (2015) พบว่า กว่าร้อยละ 95 ของผู้หญิงทำงานเกาหลีล้วนแล้วแต่มีอาการ Superwoman Syndrome ทั้งสิ้น โดยลักษณะของอาการเหล่านี้จะเกิดในผู้ป่วยที่มียึดถือลัทธิความสมบูรณ์แบบนิยม (Perfectionism) และมีความพยายามจะรับมือกับบทบาททางสังคมที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน ภายนอกผู้หญิงเหล่านี้มักอยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีและมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่ภายในผู้หญิงเหล่านี้มักไม่มีความสุขและไม่รู้สึกดีกับตนเอง อาการ Superwoman Syndrome นั้นแสดงออกมาทั้งทางกาย (กล้ามเนื้อเกร็ง ปวดท้อง เหงื่อออก อาการนอนไม่หลับ) ทางจิต (อารมณ์อ่อนไหว คิดลบ ขาดความสามารถในการตัดสินใจหรือตั้งสมาธิ) ลามไปจนถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น[13] ทั้งนี้ จวบจนปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพของผู้หญิงทำงานเหล่านี้เป็นผลกระทบที่เชื่อมโยงได้กับความกดดันทางสังคม อันเป็นผลสืบเนื่องจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมเกาหลี ปัญหาเหล่านี้ยังคงได้รับความสนใจเพียงผิวเผิน ส่งผลให้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเพียงนโยบายที่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพียงเท่านั้น


IIII. การเคลื่อนไหวต่อประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในเกาหลี

ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศและการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานยังเป็นประเด็นที่ยังได้รับการถกเถียงกันทั่วไปในสังคมเกาหลี และมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากความพยายามในการแก้ไขทางกฎหมายแล้ว รัฐบาลเกาหลีได้มีความพยายามในการส่งเสริมจิตสำนึกเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในระดับชาติและนานาชาติ ผ่านการตั้งศูนย์เผยแพร่และให้การศึกษาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (Korean Institute for Gender Equality Promotion and Education – KIGEPE) ตั้งแต่ปีค.ศ. 2003 โดยทางศูนย์มีหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลและให้การศึกษาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศให้กับสาธารณชน มีโปรแกรมการฝึกอบรมบุคลากรในวงการวิชาการและผู้นำในวงการต่างๆ เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมขึ้น[14]

ส่วนของกลุ่มอิสระนั้น ในปีค.ศ. 2015 กลุ่มสตรีนิยมในเกาหลีได้มีการรวมตัวกันบนเว็บไซต์ที่เรียกว่า Megalia ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์สังคมเกาหลีที่ยึดถือลัทธิชายเป็นใหญ่มาอย่างยาวนาน กลุ่ม Megalia กลายมาเป็นเสียงสะท้อนที่สำคัญในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในเกาหลี (ภายหลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนอินเทอร์เน็ตที่รุนแรงส่งผลให้เว็บไซต์ดังกล่าวต้องปิดตัวลง)[15]  ในส่วนของโลกออฟไลน์ กลุ่มสตรีนิยมยังออกมารวมตัวและเรียกร้องความเท่าเทียมบนท้องถนนที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น กลุ่มสตรีนิยม Flaming Feminist Action (FFA) กลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยซอกังในกรุงโซล เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านความเหลื่อมล้ำทางเพศในระดับการเมือง[16] นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแคมเปญรณรงค์ในหลากหลายโอกาส เช่น แคมเปญชื่อว่า A Day Without Women จัดขึ้นโดยองค์กรแรงงานหญิงในเกาหลี (Korean Women Workers Association – KWWA) กิจกรรมดังกล่าวเป็นการเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาแก้ไขปัญหาช่องว่างเรื่องอัตราค่าจ้างระหว่างเพศที่ยังคงเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลี โดยกิจกรรมนี้มีการรณรงค์ทางออนไลน์สำหรับผู้ที่ไม่สามารถมาเข้าร่วมงานได้ ผ่านการอัพโหลดรูปในสื่อสังคมออนไลน์อีกทางหนึ่ง[17] หรือแม้กระทั่งสื่อบันเทิงเองยังมีการนำเสนอรายการโทรทัศน์ ที่ให้ผู้ชายมาลองรับบทบาทในบ้านซึ่งแต่เดิมเป็นหน้าที่ของผู้หญิง เช่น การเลี้ยงดูบุตร จากรายการ The Return of Superman ทางช่อง KBS

แม้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นปัญหาที่ยังคงคาราคาซังและยังประสบปัญหาหลายด้าน สืบจากกระแสโต้กลับของกลุ่มต่อต้านสตรีนิยมในเกาหลี[18] ความพยายามและการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มเคลื่อนไหวทั้งในกลุ่มแรงงาน กลุ่มนักศึกษาและสื่อในรูปแบบต่างๆ ก็เป็นเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องอาศัยเวลา ทั้งนี้ ปลายทางของเส้นทางที่ยาวไกลนี้อาจนำไปสู่สังคมเกาหลีที่มีความเท่าเทียมทางเพศตามที่หลายๆ ฝ่ายคาดหวังไว้ก็เป็นได้


บรรณานุกรม

Acker, J. (2006). Class Questions: Feminist Answers. Lanham: Rowman & Littlefield.

Baek, Kyung Heun. (2015). A Study on Alternative Discourse for Employment Gender Equality of Working Mothers: a Shift from Work-Family Balance to Gender Equality and Child Well-Being. Journal of Korean Women’s Studies, 31(4), 181-216.

Baker, Don. (2008). Korean Spirituality. Hawai: University of Hawai’I Press.

Cho, In Sook, Ahn, Sukhee, Kim, Souk Young, Park, Young Sook, Kim, Hae Won, Lee, Sun Ok, Lee Sook Hee, Chung, Chae Weon. (2012). Depression of married and employed women based on social-role theory. Journal of Korean Academy of Nursing, 42(4), 496-507.

Choi, Inyi. (2009). The Discrimination against Female Nonstandard Workers in the Work-Life – The Case of Outsourced Female Workers in Department Stores. Korean Journal of Sociology, 43(1), 89-129.

Han, Kyunghun, Park, Sojeong, Kim, Sehyun. (2015). Superwoman Syndrome of Married, Working Women and Health-related Quality of Life. Social Science Research Review, 31(2), 25-43.

Jung, Hyung-Ok. (2010). Criteria for Judging Gender-based Wage Discrimination and Related Issuses. Korean Association of Women’s Studies, 26(1), 157-188.

Kang, Joo Hyun. (2009). Public Perception on Gender Role and Social Participation of Korean Women. The 21st Century Political Science Association, 19(2), 173-198.

Lee, Jin-sook, Choi, Won-seok. (2011). A Study on Path of Work-Family Reconciliation Conflict of Married Working Women. The Journal of Asian Women, 50(1). 169-198.

Lee, Jo
o-Hee, Han, Young-Hee, Sung, Hyun-Jung, In Jung. (2007). The Glass Ceiling in the Korean Public Service. Journal of Korean Women’s Studies, 23(3), 79-115.

Singh, Emily, https://www.koreaexpose.com/megalia-south-korean-feminism-marshals-the-power-of-the-internet/ (visited by February 27, 2018).

Sleziak, Tomasz. (2013). “The Role of Confucianism in Contemporary South Korean Society” Rocznik Orientalistyczny, 1, p.27-46.

박미해. (2010). 유교 가부장제와 가족, 가산. 서울: 아카넷.

이영자. (2002). “소비문화와 여성의 성정체성” 동아시아의 근대성과 성의 정치학. 서울: 푸른사상.

통계청여성가족부. (2016). 2016 통계로 보는 여성의 삶. 서울: 공공누리.


เชิงอรรถ

[1] Kim Se-jeong, http://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2018/02/251_243446.html (visited by February 4, 2018)

[2] ชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร. https://www.matichonweekly.com/in-depth/article_79642 (visited by February 5, 2018)   

[3] ILO, Labor force, female (% of total labor force), https://data.worldbank.org/indicator/SL.TLF.TOTL.FE.ZS?end=2017&locations=KR&start=1997 (visited by December 5, 2017)

[4] 통계청여성가족부. (2016). 2016 통계로 보는 여성의 . 서울: 공공누리.

[5] Destatis, https://www.destatis.de/EN/FactsFigures/NationalEconomyEnvironment/LabourMarket/Employment/ TablesLabourForceSurvey/ETQ_1991_2016.html (visited by February 27, 2018)

[6] Korea Herald, http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20120213001231 (visited by February 27, 2018)

[7] The Diplomat, https://thediplomat.com/2016/08/the-struggles-of-south-koreas-working-women/ (visited by December 11, 2017)

[8] The Wall Street Journal, https://blogs.wsj.com/korearealtime/2013/06/17/south-korea-struggles-to-welcome-women-at-work/ (visited by December 11, 2017)

[9] World Economic Forum, http://reports.weforum.org/global-gender-gap-report-2015/economies/#economy=KOR (visited by December 11, 2017)

[10] The Economist, https://www.economist.com/news/asia/21700461-conservative-workplaces-are-holding-south-korean-women-back-careers-and-carers (visited by December 11, 2017)

[11] Kinoshita, Y, and Guo, Fang. (2015). What Can Boost Female Labor Force Participation in Asia?. IMF Working Paper, https://www.imf.org/external/pubs/ft/wp/2015/wp1556.pdf 

[12] Ramirez, Elaine. (2016). http://www.latimes.com/world/la-fg-south-korea-women-20161118-story.html (visited by February 5, 2018)

[13] Jean, Cari. (2016). https://wehavekids.com/parenting/Superwoman-Syndrome (visited by February 6, 2018)

[14] Korean institute for Gender Equality Promotion and Education, http://www.kigepe.or.kr/kor/com/adult.do? menuNo=12100 (visited by February 27, 2018).

[15] Singh, Emily, https://www.koreaexpose.com/megalia-south-korean-feminism-marshals-the-power-of-the-internet/ (visited by February 27, 2018).

[16] Preeti Jha, https://www.csmonitor.com/World/Asia-Pacific/2016/1208/As-South-Korean-women-fight-for-their-rights-the-gloves-come-off (visited by February 27, 2018).

[17] Park, Seohoi Stephanie, https://www.koreaexpose.com/day-without-women-south-korean-women-march-streets/ (visited by February 27, 2018).

[18] “South Korea’s Growing Feminist Movement Fights Back” [video]. https://www.youtube.com/watch?v=EGDj O5MfV64 (visited by February 6, 2018).


เกี่ยวกับผู้เขียน: ณัฐมน เกตุแก้ว เป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาสังคมวิทยา สถาบันวิจัยกลาง (Academy of Korean Studies)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net