Skip to main content
sharethis

เปิดตลาดนัดนโยบาย เครือข่ายคนรักหลักประกันเสนอ 3 นโยบายสวัสดิการสุขภาพที่จะเปลี่ยนประเทศไทย ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างระบบการเงินการคลังสำหรับการจัดการระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะ ระบบบริการสุขภาพต้องไม่อยู่ในมือขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง และสร้างระบบสวัสดิการสุขภาพระบบเดียว

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่รู้จักในชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือบัตรทอง เป็นนโยบายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อสังคมไทย คำว่า รัฐสวัสดิการ ที่ถูกรับรู้และแพร่หลายในปัจจุบัน หากกล่าวว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็คงไม่ผิดจากข้อเท็จจริงนัก

นับตั้งแต่ปี 2545 ที่เริ่ม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการสุขภาพถือว่าเดินมาไกลจากจุดตั้งต้นมาก ถึงกระนั้นก็ยังมีอีกหลายสิ่งอย่างที่ต้องพัฒนาต่อ

หลักประกันสุขภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ เป็นหลักการสำคัญที่เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพย้ำเสมอมา หากพิจารณาระบบสวัสดิการสุขภาพของไทย ณ เวลานี้ ยังมีจุดที่ไม่ใช่ ไม่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...ไม่เท่าเทียม และในบางจุดอาจเรียกได้ว่าพิกลพิการ เช่น การที่รัฐบาลทุ่มเงินให้กับกระทรวงกลาโหมมากกว่าสุขภาพของคนไทย

แสงศิริ ตรีมรรคา จากเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ นำเสนอนโยบาย 3 ข้อที่เชื่อว่าหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนำไปปฏิบัติจะเป็นการปฏิรูประบบสวัสดิการสุขภาพของไทยครั้งใหญ่ และจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำขนาดมหาสมุทรให้แคบลงอย่างมีนัยสำคัญ

1.สร้างระบบการเงินการคลังสำหรับการจัดการระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะ

“ประเทศไทยควรมีระบบการเงินที่ใช้เพื่อจัดสรรสวัสดิการสุขภาพ มีการจัดเก็บหรือจัดสรรงบประมาณที่ระบุชัดเจนว่า งบประมาณส่วนนี้มีไว้เพื่อจัดบริการสุขภาพสำหรับทุกคนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่ต้องมาต่อรองงบประมาณกันปีต่อปี ตัดนั่นตัดนี่ ซึ่งทำให้ไม่มีความมั่นคงพอในเชิงงบประมาณ การจะเกิดขึ้นรัฐต้องปฏิรูประบบการเงินการคลังทั้งประเทศ รวมถึงการเก็บภาษี เช่น เก็บภาษีเฉพาะด้านเพื่อนำมาจัดสรรด้านสวัสดิการ การทำให้คนทุกคนมีความมั่นใจว่าภาษีของเขาถูกนำไปใช้เพื่อตนเองจริงๆ รัฐต้องสร้างความมั่นใจนี้ การมีระบบการเงินลักษณะนี้จะทำให้ปัญหาเรื่องงบประมาณมีความชัดเจนขึ้น”

2.ระบบบริการสุขภาพต้องไม่อยู่ในมือขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง

“เวลานี้ระบบบริการอยู่ในมือของหน่วยงานรัฐที่มองว่าเป็นของตนเอง และเมื่อคิดว่าระบบบริการสุขภาพเป็นของตนเองและต้องจัดการ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาหรือไม่กล้าปฏิรูป เช่น วิธีคิดของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องดูแลโรงพยาบาลทั้งหมดของประเทศ ดูแลบุคลากรสาธารณสุขทั้งหมดของประเทศ ระบบราชการแบบนี้ไม่มีความคล่องตัว ไม่มีความก้าวหน้าในเชิงการบริหาร โรงพยาบาลควรมีอิสระมากพอในการบริหารตนเอง ควรมีกลไกที่บอกว่าโรงพยาบาลในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ต้องให้บริการประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนหนึ่งโรงพยาบาลได้เงินค่าหัวจากรัฐ ส่วนหนึ่งโรงพยาบาลต้องพัฒนาตนเอง แข่งขันกันในเชิงคุณภาพ เพื่อให้ตนเองสามารถพัฒนาเป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพได้

“ประเทศไทยควรมีระบบการเงินที่ใช้เพื่อจัดสรรสวัสดิการสุขภาพ มีการจัดเก็บหรือจัดสรรงบประมาณที่ระบุชัดเจนว่า งบประมาณส่วนนี้มีไว้เพื่อจัดบริการสุขภาพสำหรับทุกคนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่ต้องมาต่อรองงบประมาณกันปีต่อปี”

“การให้บริการอาจมีเงื่อนไขได้ แต่ต้องไม่ใช่เงื่อนไขที่จำกัดการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน ทุกโรงพยาบาลควรต้องรับผิดชอบประชาชนทุกคนภายใต้ระบบหลักประกัน จะมีเงื่อนไขแบบไหนต้องดูอีกทีในเชิงการบริหาร เช่นที่เกาหลีมีกฎหมายชัดเจนว่า ทุกโรงพยาบาลต้องให้บริการคนในระบบหลักประกันของเกาหลี ไม่ใช่ระบบสมัครใจ ปีนี้ขอเข้า ปีหน้าออก ซึ่งสร้างความไม่มั่นคงให้กับการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของประชาชน”

เมื่อถามว่าหมายถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถดูแลโรงพยาบาลในพื้นที่ของตนได้ใช่หรือไม่ แสงศิริ อธิบายว่า ไม่จำเป็นว่าโรงพยาบาลทุกแห่งต้องเป็นของท้องถิ่นทุกแห่ง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดและบริบทแตกต่างกัน รูปแบบการบริหารจัดการควรถูกออกแบบให้เหมาะสม แต่ถ้าท้องถิ่นใดมีศักยภาพดูแลโรงพยาบาลได้ รัฐก็ต้องปล่อยให้เกิดขึ้น

3.สร้างระบบสวัสดิการสุขภาพระบบเดียว

“การมีระบบเดียวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านการบริการ การเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำด้านงบประมาณของรัฐที่ลงมาสนับสนุนระบบสุขภาพ ไม่ใช่ว่ารัฐจ่ายเงินค่าสุขภาพให้กับคนกลุ่มหนึ่งมากกว่า โดยที่หาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมจึงจ่ายได้เยอะกว่า ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งได้น้อยกว่า มีข้อจำกัดมากกว่า”

ส่วนการร่วมจ่ายที่เป็นประเด็นร้อนเสมอเวลาพูดถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรถูกตัดออกจากกฎหมายหรือไม่ แสงศิริ กล่าวว่า

“ถ้าสามารถสร้างระบบการเงินการคลังสำหรับการจัดการระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะได้ก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการร่วมจ่ายอีกเลย เพราะมันจะทำให้ประชาชนมั่นใจในการบริหารงบประมาณประเทศ เรื่องร่วมจ่ายจะไม่จำเป็น เพราะทุกคนจะเต็มใจจ่ายจ่ายภาษีเพื่อเป็นหลักประกันให้ตัวเองในการเข้าถึงบริการ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net