Skip to main content
sharethis

บทวิเคราะห์ในนิวยอร์กไทม์ระบุถึงหลายประเทศในเอเชียที่เริ่มรับอิทธิพลจากจีน มหาอำนาจขั้วตรงข้ามสหรัฐฯ โดยมีญี่ปุ่นและอินเดียที่เป็นปราการทัดทานอำนาจจีนไว้ ทว่านักวิเคราะห์ยังชี้ว่าหลายประเทศเริ่มหันมาใช้แนวทางแบ่งรับแบ่งสู้โดยไม่ได้อยู่ขั้วอำนาจใดชัดเจน และมีบางกรณีที่รับผลประโยชน์ด้วย พร้อมๆ กับการต้านอิทธิพลจีน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (ที่มา: แฟ้มภาพ/kremlin.ru)

นิวยอร์กไทม์ประเมินอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เริ่มแผ่ขยายอำนาจในเอเชียซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยมีอิทธิพลมากมาก่อน โดยที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่ามีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่สองมหาอำนาจคือจีนกับสหรัฐฯ กำลังพยายามช่วงชิงการแปลงโฉมเศรษฐกิจและการเมืองในเอเชีย ทวีปที่มีประชากรมากที่สุดในโลกให้เป็นไปตามจินตนาการของพวกเขาเอง ก็มีการประเมินว่าขณะที่ขีดความสามารถของกองทัพสหรัฐฯ ยังคงครอบงำเอเชียอยู่ แต่จีนก็เริ่มจะใช้อำนาจทั้งจากทางกำลังทหารและทางเศรษฐกิจจัดการระเบียบใหม่ในพื้นที่ กระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มานานอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

นิวยอร์กไทม์ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่จีนเร่งแผ่อิทธิพลในเอเชียได้มากขึ้น น่าจะมาจากนโยบายการต่างประเทศและการปฏิเสธทำข้อตกลงทางการค้าของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมามี 11 ชาติที่ลงนามในข้อตกลงทางการค้าโดยไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วยรวมถึงประเทศอย่างออสเตรเลียและญี่ปุ่น ซึ่งข้อตกลงทางการค้าดังกล่าวมาแทนที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

ทั้งนี้ยังมีแผนภูมิเปรียบเทียบให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียเริ่มหันไปค้าขายกับจีนมากขึ้นเทียบจากช่วงเวลาระหว่างปี 2554-2559 ประเทศที่เอนเอียงไปในทางจีนอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเวลาดังกล่าวคือพม่า กัมพูชา ลาว ส่วนไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เอียงไปในทางจีนมากขึ้นเล็กน้อย แต่ก็น่าสังเกตว่าฟิลิปปินส์ กัมพูชา ศรีลังกา และบังกลาเทศ เริ่มข้ามไปอยู่ฝั่งเน้นค้าขายกับจีนจากเดิมที่อยู่ในฝั่งการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า นั่นทำให้ตอนนี้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มแซงหน้าสหรัฐฯ แล้วในภูมิภาคนี้

สาเหตุของเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะผู้นำในเอเชียรู้ว่าเศรษฐกิจของพวกเขาซึ่งเกี่ยวโยงกับการเมืองภายในต้องพึ่งพาจีน โดยที่จีนใช้วิธีเสนอการลงทุนและพยายามลงโทษทางเศรษฐกิจกับประเทศที่ทำให้พวกเขาไม่พอใจ

ถ้าจะมีส่วนที่สหรัฐฯ ยังคงครองอำนาจมากในเอเชียน่าจะเป็นสัดส่วนของการค้าอาวุธให้กับภูมิภาคนี้ จากข้อมูลกราฟของนิวยอร์กไทม์ที่นำตัวเลขมาจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์มแสดงให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ หลายล้านดอลลาร์ ประเทศที่ซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ มูลค่าสูงสุดเฉลี่ยราว 2000-3000 ล้านดอลลาร์ได้แก่ ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อินเดีย, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ประเทศที่ซื้ออาวุธจากจีนมากกว่าสหรัฐฯ ได้แก่ ปากีสถาน พม่า และบังกลาเทศ ส่วนไทยซื้อจากสหรัฐฯ รวม 229 ล้านดอลลาร์ และจากจีน 131 ล้านดอลลาร์

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าประเทศที่เน้นซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ คือประเทศที่มีข้อผูกมัดทางการทหารและนโยบายต่างประเทศกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ส่งมายาวนานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ขณะเดียวกันประเทศราว 20 ประเทศในเอเชียก็เลือกไม่ถูกว่าจะอยู่ข้างมหาอำนาจรายใด ขณะที่จีนส่งอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ก็กุมอำนาจด้านความมั่นคง

ทันวี มาดาน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากสถาบันบรูกกิงส์กล่าวว่าประเทศในเอเชียเหล่านี้ไม่อยากเลือกข้าง ทำให้พวกเขาพยายามใช้ยุทธวิธีหาประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายให้มากที่สุดและสร้างความเสี่ยงที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโกรธให้น้อยที่สุดเพื่อรักษาความเป็นอิสระจากทั้งมหาอำนาจสองฝ่ายนี้ นั่นทำให้ผลลัพธ์น่าจะออกมาแตกต่างจากยุโรปสมัยสงครามเย็นที่มสองฝ่ายแบ่งชั้วกันชัดเจน แต่กลับเกิดอะไรที่กระจัดกระจายมากกว่านั้นจากการที่หลายประเทศทั้งรับและปฏิเสธหรือไม่ก็พยายามบริหารจัดการอิทธิพลของจีน ซึ่งประเทศเหล่านี้อาจจะกลายเป็นตัวอย่างของการจัดการกับโลกที่มีการขับเคี่ยวของจีนกับสหรัฐฯ

นิวยอร์กไทม์ประเมินว่าถ้าจะมีประเทศไหนในเอเชียที่คานอิทธิพลของจีนได้ก็คงเป็นญี่ปุ่นที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองจากจีนที่เป็นอันดับที่ 2 เป็นหนึ่งใน 4 ประเทศหลักที่คัดคานกับจีนคือ สหรัฐฯ, อินเดีย และ ออสเตรเลีย อีกทั้งญี่ปุ่นยังมีบทบาทเป็นลมต้านหลักๆ ในด้านการเป็นผู้นำเศรษฐกิจและประชาธิปไตยแทนการยอมอ่อนข้อให้จีน ทำให้ประเทศที่ไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจเท่าญี่ปุ่นก็อาจจะคอยตามหลังญ่ปุ่นเพื่อคานกับจีนได้ในช่วงที่สหรัฐฯ ล่าถอย เป็นจุดขัดขวางไม่ให้จีนมีอิทธิพลใหญ่ระดับสหรัฐฯ ได้ง่ายๆ

สิ่งที่กลายเป็นปัญหาสำหรับจีนอีกอย่างหนึ่งคือเกาหลีเหนือที่เริ่มทำตัวเป็นเอกเทศจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ การทดลองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของพวกเขาก็มักจะออกมาในช่วงเวลาที่ชวนให้จีนขายหน้า อีกทั้งการทดลองอาวุธแบบนี้ยังทำให้คู่แข่งจีนอย่างญี่ปุ่นมีข้ออ้างเสริมกองกำลังของตนเองมากขึ้น ตัวเกาหลีเหนือเองก็มีความหวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้และปีนออกมาจากการถูกครอบโดยจีนมาครึ่งศตวรรษ เมือจีนกุมรัฐลูกไล่อย่างเกาหลีเหนือเอาไว้ไม่ได้ ก็มีปัญหาในการยายามกุมอำนาจรัฐอื่นๆ

ในบทความมีข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีของศรีลังกาที่มีจีนเข้าไปสร้างท่าเรือเพื่อการลงทุนแล้วก็ใช้เป็นแหล่งจอดเรือดำน้ำของตัวเองไปด้วยกัน แสดงให้เห็นโฉมหน้าของจีนยุดใหม่ที่เปลี่ยนอำนาจทางเศรษฐกิจให้กลายเป็นอำนาจทางการทหาร และอิทธิพลทางการเมืองที่ทำให้ประชาธิปไตยแย่ลง นอกจากนี้ยังใช้วิธีการสร้างภาระหนี้สินมหาศาลกดดันประเทศคู่สัญญาอย่างศรีลังกาเพื่อยึดครองพื้นที่ของประเทศในนามการเช่าครองที่ดิน 99 ปี

มีการตั้งข้อสังเกตจากมิรา แรปป์-ฮูเปอร์ นักวิชาการประเด็นความมั่นคงเอเชียจากวิทยาลัยกฎหมายเยลว่าจีนมักจะทำเช่นนี้กับประเทศที่สหรัฐฯ ไม่ได้มีอิทธิพลหรือไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออะไรมาก โดยที่จีนจะใช้กำลังแรงงานและกำลังทุนเข้าไปแผ่อิทธิพลในประเทศนั้นๆ ประเทศเล็กๆ ที่กำลังพัฒนามักจะต้องการให้จีนยื่นมือเข้าไป ทว่าในบางประเทศอย่างปากีสถานที่สหรัฐฯ เคยให้งบประมาณช่วยเหลือจำนวนมากมาก่อนก็มีแรงผลักดันให้หันไปหาจีนเหมือนกัน และนอกเหนือจากเอเชียแล้วจีนยังพยายามขยายอิทธิพลไปยังที่อื่นๆ จนวันหนึ่งอาจจะกลายเป็นเครือข่ายระดับโลกได้ อย่างไรก็ตามประเทศจนกว่าเหล่านี้ก็เป็นพันธมิตรที่ไร้กำลังเมื่อเทียบกับประเทศที่ร่ำรวยกว่าซึ่งมักจะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ รวมถึงการไร้ความสามารถของจีนในการทำสัญญากับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย

กระนั้นจีนก็มีจุดที่น่าที่น่าเกรงขามชวนให้ระวังอยู่ประการหนึ่งคือการพยายามล้อมอินเดียด้วยการทำข้อตกลงและการลงทุนกับประเทศโดยรอบติดพรมแดนอินเดีย ขณะที่อินเดียพยายามแข็งข้อกับจีนมากขึ้น

ในกรณีการเล่นบทสายกลางของประเทศแถบเอเชีตะวันออกเฉียงใต้นั้นนิวยอร์กไทม์ยกตัวอย่างกรณีของฟิลิปปินส์และเวียดนามที่มีแนวทางต่างกัน โดยที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์เคยประกาศหลังเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ๆ เมื่อปี 2559 ว่าจะยกเลิกความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ที่คงอยู่มาตลอด 65 ปี หลังจากนั้นก็เข้าหาจีนเพื่อแสวงหาความร่วมมือกันที ทำให้สหรัฐฯ ลดระดับสถานะข้อผูกมัดของพันธมิตรลงแต่ก็ยังยืนยันด้านสัญญาในการป้องกันประเทศ ส่วนจีนก็มีข้อเสนอการพิพาทเขตน่านน้ำในทางที่เป็นประโยชน์กับฟิลิปปินส์และอาจจะมีการลงทุนในฟิลิปปินส์ ส่วนดูเตอร์เตก็แค่แสดงท่าทีแต่ก็ไม่ได้ย้ายข้างไปอยู่กับจีนโดยสิ้งเชิง

ในกรณีเวียดนามที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนนั้นพยายามต้านอิทธิพลทั้งจีนและสหรัฐฯ มาโดยตลอด ในยุคสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา สหรัฐฯ เคยยกเลิกคว่ำบาตรการค้าอาวุธกับเวียดนามเพื่อหวังจะดึงเวียดนามเข้ามาเป็นพวก แต่เวียดนามก็ยังคงซื้ออาวุธส่วนใหญ่จากรัสเซียอยู่ดี

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ แรปป์-ฮูเปอร์ ก็เตือนว่าสหรัฐฯ ไม่ควรชะล่าใจกับการพยายามใช้ข้ออ้างการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน เรื่องนี้เกิดขึ้นแม้กระทั่งกับออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ มันจึงเป็น "บททดสอบ" สำหรับสหรัฐฯ กับอนาคตที่ประเทศทั้งหลายจะแบ่งรับแบ่งสู้กับทั้งสองมหาอำนาจไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ได้เป็นอิสระและไม่ได้แสดงตัวเข้าข้างฝ่ายใดอย่างเต็มที่

เรียบเรียงจาก

How China Is Challenging American Dominance in Asia, MAX FISHER and AUDREY CARLSEN, New York Times, 09-03-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net