Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



มีเหตุที่อาจเป็นผลสำคัญของความตกต่ำ (ขาลง/ห่วย) ของมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่บางประการ นั่นคือ การขาดความเชื่อมโยงหรือขาดความสัมพันธ์ที่มากพอกับชุมชน

สถาบันระดับอุดมศึกษาถือเป็นแหล่งผลิตงานวิชาการที่สำคัญของชุมชนในระดับต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ กล่าวคือ เป็น think tank ของความรู้สำหรับชุมชนนั่นเอง ทว่าปัญหาที่เราเห็นกันมากซึ่งเกิดขึ้นกับสถาบันอุดมศึกษาของไทยก็คือ การวางตำแหน่งของสถาบันอุดมศึกษาเอง ไม่สอดคล้อง ไม่ตอบสนองต่อความต้องการหรือต่อกระแสที่เป็นอยู่ของชุมชนในเวลาและสถานที่นั้นๆ กล่าวคือ สถาบันเหล่านี้อยู่ผิดที่ผิดทาง

แปลว่า นอกจากสถาบันอุดมศึกษาของไทยผลิตบัณฑิตที่ไม่ตอบสนองต่อทิศทางหรือกระแสความต้องการของชุมชนแล้ว มิหนำซ้ำความรู้ด้านวิชาการที่ผลิตกันในห้องเรียนไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาของชุมชนในขณะนั้นๆ เลย

ทำให้นักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาของไทยจำนวนไม่น้อย มีสภาพไม่ต่างจากผู้ทำงานบนหอหอยงาช้างที่ไม่ผสานสัมพันธ์กันข้อเท็จจริงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในสังคม

ตัวอย่างเช่น เรามีหน่วยงานวิชาการด้านสันติศึกษาแปะไว้ตามสถาบันอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) บางแห่ง แต่สถาบันการศึกษาเหล่านี้ มักไม่ค่อยลงพื้นที่จริงหรือร่วมกิจกรรมเพื่อทำการแสวงหาข้อเท็จจริง แต่กลับอาศัยข้อมูลชั้นรองลงไปซึ่งเป็นข้อมูลเชิงเอกสาร ไม่ได้ลงไปสัมผัสพื้นที่จริง

ฉะนั้นเมื่อดูผลงานเชิงวิชาการหรืองานวิจัยที่ออกมาทำให้เกิดลักษณะการวิจัย “แบบนั่งเทียน” ขึ้นได้ แม้กระทำได้แบบเนียนๆ แต่มันเป็นงานวิจัยที่แทบไม่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าสารัตถะอะไรต่อสังคมหรือชุมชนเอาเลย

ตรงกันข้ามถ้านักวิชาการเหล่านี้ลงไปคลุกคลีในพื้นที่จริง เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่กำลังมีปัญหาการเมืองและความขัดแย้ง หรือกิจกรรมการเรียกร้องของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็อาจตระหนักและเข้าถึงอารมณ์ละข้อเท็จจริงของกลุ่มคนผู้เรียกร้องเหล่านี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

มากกว่าการคาดเดาแบบส่งเดชจากในห้องแอร์

อย่างเช่น กรณีหลักสูตรสันติศึกษานั้น กรณีของ รศ.โคทม อารียา  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น นับว่าน่าสนใจยิ่ง เจ้าตัวคือ อาจารย์โคทมเอง ได้ลงพื้นที่จริงเจอกับบุคคล (ชาวบ้าน) ที่มีปัญหาเดือดร้อนจริง ก่อนการนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข ซึ่งส่วนหนึ่งของแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมดังกล่าวนับว่าตอบโจทย์ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยได้มาก

ส่วนจะมีการนำแนวทางมาปฏิบัติใช้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าสถาบันสันติศึกษาของบางมหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่การทำงานจริงกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า ทั้งถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ

หากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สอก.) เองไม่สายตาสั้น และนิ่งดูดายก็จะเห็นว่า สถาบันสันติศึกษานอกเหนือไปจากของมหิดลหรือ ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) ไปแล้วนั้น เป็นสถาบันจำอวดเยี่ยงไรบ้าง

ในกรณีสถาบันที่เปิดหลักสูตรสันติศึกษานั้น ใคร่จะตั้งข้อสังเกตว่า แปลกมากที่ไทยเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองมาตลอดในห้วงระยะเวลานานกว่า 10 ปี แต่สถาบันจำพวกนี้กลับทำงานได้ไม่คุ้มค่างบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี

ยิ่งสถาบันที่โยงยึดอยู่กับพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว ยิ่งเห็นชัดว่า ไม่ได้ทำงานแบบตรงไปตรงมา ดังข้อครหาของชาวพุทธกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยที่ว่า “ยิงกัน 99 ศพ กลับไม่เห็นมีพระผู้ใหญ่แม้แต่สักรูปเดียวออกมาพูดหรือเทศนาว่าการฆ่าประชาชนใจกลางเมืองหลวงในครั้งนั้นสัมพันธ์กับศีลข้อปาณาติบาตในศาสนาพุทธอย่างไรบ้าง”และบทบาทของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาควรเป็นอย่างไรในกรณีเช่นนี้ ควรแสดงท่าทีวางเฉยเพียงอย่างเดียวหรือไม่?

จากตัวอย่างนี้ อย่างน้อยสำนักทางวิชาการพระพุทธศาสนาอย่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในส่วนของเจ้าสำนักฯ หรืออธิการบดีก็ควรมีท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง แต่ทุกฝ่ายทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องศีลธรรมโดยตรงนั้น กลับเงียบสนิทไม่หือไม่อือกันมาตั้งแต่ต้นแล้วเห็นๆ 

ปรากฏการณ์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของภาวการณ์สถิตอยู่บนหอหอยงาช้างทางวิชาการแบบไทยๆ ด้วยหรือไม่? ผมคิดว่าหลายฝ่ายคงรวมไปอยู่ในนี้ด้วยแล้ว นับเป็นความหดหู่ทางวิชาการแบบไทยๆ มากที่สุดประการหนึ่ง

เพราะหากกลับไปดูประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมาแล้วก็จะเห็นว่า ในอดีตนั้นพระเถระผู้ใหญ่ของไทยจำนวนหนึ่งที่พาตัวเองเข้าทำหน้าที่ทางศีลธรรมอย่างตรงไปตรงมา ตระหนักว่าชีวิตมนุษย์นั้นมีค่ามหาศาลเพียงใด พระเถระเหล่านี้ท่านได้ขอบิณฑบาตชีวิตมนุษย์ที่กำลังจะถูกพรากหรือถูกฆ่าจากผู้ปกครอง โดยไม่จำกัดว่าชีวิตเหล่านั้นจะดีหรือเลว เคยประพฤติถูกหรือผิดศีลธรรมมาก่อนหรือไม่ เช่น นักโทษประหาร เป็นต้น ซึ่งหากเทียบกับสถานการณ์ความเห็นต่างทางการเมืองของไทยแล้ว คนผู้เห็นต่างเหล่านี้ยังไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงการก่ออาชญากรรมได้เลยด้วยซ้ำ แต่กลับต้องมาสังเวยชีวิตจากความเห็นต่างทางการเมืองอย่างน่าเสียดาย

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเดียวครับ เพียงแต่ว่ามันเห็นได้อย่างชัดเจนมากที่สุดตัวอย่างหนึ่ง

ไม่นับรวมการแข่งขันกันเปิดหลักสูตร เปิดสาขาแบบเพ้อเจ้อจำอวดกระจายออกไปยังส่วนภูมิภาคของไทย เพื่อแสวงหารายได้ ทั้งเพื่อส่วนตัวผู้สอนประจำหลักสูตรและเพื่อสถาบัน

ผมเข้าใจว่า สกอ. กำลังไล่บี้มหาวิทยาลัยที่เป็นลักษณะเหล่านี้อยู่ แต่บางทีสกอ.เอง โดนกลยุทธ์ซ่อนรูปเข้าก็ตามไม่ทัน มันจึงเป็นยุคขาลงของสถาบันอุดมศึกษาของไทยจริงๆ ยิ่งในยุคที่ประเทศไร้ประชาธิปไตย กลไกใต้ดินกลบเกลื่อนความเป็นจริงยิ่งดำเนินไปแบบสะดวกโยธินมากขึ้น

หากกลับไปดูว่า สถาบันทางวิชาการของไทยสัมพันธ์กับชีวิตจริงของคนไทยอย่างไรบ้าง ก็จะพบกับความมหัศจรรย์ที่ว่า มันแทบไม่มีความสัมพันธ์กันเลย วิชาการในสถาบันการศึกษาจำนวนหนึ่งเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นเพ้อฝัน ไม่สัมผัสแตะต้องกับความเป็นจริง กอปรทั้งความขี้กลัวของนักวิชาการบางคน หลบตัวกินเงินเดือนกันไปเดือนแล้วเดือนเล่า ดีกว่าเปลืองตัวจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม โดยในยามปกติก็ไม่เคยมีเวทีโต้แย้งแสวงหาความจริงเชิงวิชาการกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนก็ตาม

น่าเศร้าที่พบว่า มีพวกอีแอบวิชาการประเภทนี้อยู่มากในรั้วมหาวิทยาลัยไทย โดยไม่จำกัดว่าเป็นสถาบันของรัฐหรือเอกชนหรือแม้แต่มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใช้งบประมาณของรัฐ รวมถึงใช้เงินบริจาคด้วยก็เช่นเดียวกัน

และน่าเศร้าอีกที่ สกอ.และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่เคยตรวจสอบว่า สถาบันที่อ้างตัวเป็นองค์กรแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยใช้วาทกรรม “สลายความขัดแย้ง”อันสวยหรูนั้นมีกระบวนการในการทำงานอย่างไร ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่เชิงวิชาการหรือไม่ ขนาดไหน? หรือสักแต่รับคนเข้าศึกษาตามหลักสูตร รับทรัพย์ค่าเทอมแล้วเป็นอันจบกัน มุ่งปีนบันไดชนชั้นขึ้นไปยังองค์กรอิสระที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยบางองค์กร


    

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net