Skip to main content
sharethis

องค์กรคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศอิสราเอล เผยแพร่ข้อมูล 'สวัสดิการแรงงานต่างชาติภาคเกษตรกรรม' โดยได้ระบุสิทธิต่าง ๆ เอาไว้ ..คนทำงานไทยในอิสราเอลควรอ่าน!

ที่มาภาพประกอบ: Pxhere (CC BY 2.0)

8 มี.ค. 2561 องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) องค์กรคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศอิสราเอล ได้เผยแพร่เอกสาร 'สวัสดิการแรงงานต่างชาติภาคเกษตรกรรม' (ภาคภาษาไทย) โดยได้ระบุสิทธิต่างๆ ไว้ดังนี้

อัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ (ปรับขึ้นเมื่อ 1 ธ.ค. 2017) ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนงานทำงานเต็มเวลา 5,300 เชคเคล ของการทำงานเต็มต่อเดือน (186 ชั่วโมงต่อเดือน)

212 เชคเคลต่อวัน (ทำงาน 6 วันต่ออาทิตย์)

28.49 เชคเคลต่อชั่วโมง

วันจ่ายเงินเดือน นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเดือนแก่คนงานภายในวันที่ 9 ของเดือนสำหรับการทำงานของเดือนที่ผ่านมา

เงินค่าล่วงเวลา (OT) ถ้าทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับ 2 ชั่วโมงแรกที่เกินเวลาทำงานปกติ คนงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างคิดเป็นร้อยละ 125% ของอัตราค่าแรงปกติต่อชั่วโมง (35.6 ต่อชั่วโมง) สำหรับชั่วโมงที่เกินมาหลังจากนั้นคนงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างคิดเป็นร้อยละ 150% ของอัตราค่าแรงปกติต่อชั่วโมง (42.73 ต่อชั่วโมง)

ที่พักอาศัย นายจ้างจำเป็นต้องจัดสรรที่พักอาศัยในสภาพที่เหมาะสม ทางเข้า-ออก สะดวกปลอดภัย จัดหาเตียงเดี่ยว ที่นอน หมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ตู้ใส่ของใช้ส่วนตัวและเสื้อผ้า ที่พักอาศัยรวมถึง ห้องครัวตู้เย็น เตาหุง ต้ม (แก๊ส หรือ ไฟฟ้า) ที่นั่งสำหรับกินข้าว ห้องส้วม ห้องอาบน้ำ พร้อมน้ำเย็นและน้ำอุ่น (ภายในที่พักหรืออยู่บริเวณใกล้เคียงที่พักอาศัย) ทุกห้องจะต้องมีไฟฟ้าและแสงสว่างเพียงพอ และต้อง มีกุญแจล็อกเพื่อป้องกันข้าวของสูญหาย! กรณีเลิกจ้างงาน คนงานมีสิทธิอยู่ต่อ ที่พักอาศัยเดิมได้อย่างน้อย 7 วันหลังหยุดทำงาน นายจ้างหักค่าที่พักอาศัยได้ตามขอบเขตที่กำหนดตามกฎหมาย

การโยกย้ายชั่วคราว นายจ้างสามารถโยกย้ายคนงานไปทำงานชั่วคราวกับนายจ้างคนอื่นมากสุดไม่เกิน 6 เดือนต่อปี นายจ้างจำเป็นต้องมีเอกสารแสดงการโยกย้ายงานและให้สำเนาแก่คนงานเก็บไว้หนึ่งฉบับระหว่างการทำงานชั่วคราว ถ้าโยกย้ายคนงานไปยังนายจ้างที่อยู่ภายในคิบบุสหรือโมชาฟเดียวกันไม่จำเป็นต้องมีเอกสารแสดง

ใบเสร็จแจ้งรายละเอียด ใบเสร็จแจ้งรายละเอียดเงินเดือนเงินเดือนนายจ้างจำเป็นต้องให้ใบเสร็จแจ้งรายละเอียดเงินเดือนแก่คนงานทุกเดือน ใบเสร็จต้องมีรายละเอียด การจ่ายชั่วโมงทำงานและส่วนหักต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน คนงานทุกคนควรมีสมุดเพื่อจดเวลาทำงานของตนเอง เพื่อใช้ในการตรวจเช็คค่าจ้าง กรณีต่างๆ ที่เกิดปัญหาหรือแม้แต่การเรียกร้องสวัสดิการ โดยสมุดนี้ควรเก็บรักษาไว้อย่างดีจนกว่าจะหมดสัญญาและกลับเมืองไทย สมุดลงเวลาควรเขียนเวลาเริ่มงานจริง ๆ ช่วงเวลาพักตั้งแต่เวลาไหนถึงเวลาไหน และเลิกงานเมื่อเวลาใด หยุดวันไหนบ้างเหตุผลอะไร

นายจ้างสามารถหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนของคนงานที่ต้องจ่ายตามกฎหมายได้ดังนี้
ก.หักภาษีเงินได้และค่าประกันสังคม (คิดคำนวนมากน้อยตามรายได้ของคนงานแต่ละเดือน)
ข.ค่าประกันสุขภาพ - 124.73 เชคเคลต่อเดือน
ค.ค่าน้ำ+ค่าไฟรวมแล้วหักสูงสุดไม่เกิน 300.10 เชคเคลต่อเดือน
ง.ค่าที่พักอาศัยนายจากหักได้ไม่เกิน 228.20 เชคเกลต่อเดือน

วันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์ คนงานจะต้องได้รับวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์ 36 ชั่วโมงติดต่อกัน หากว่าจะต้องทำงานในวันหยุดพักผ่อนจะต้องมีสิทธิได้รับค่าแรงคิดเป็น 175% ของอัตราค่าแรง ปกติต่อ 10 ชั่วโมงแรก ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1 จะได้รับ 200% นอกจากนี้ก็จะต้องได้รับวันพักผ่อนชดเชยอีก 1 วันด้วย

วันหยุดพักร้อนประจำปี สำหรับ 5 ปีแรกของการทำงานได้รับวันหยุดพักร้อน 16 วันต่อปี (ไม่รวมวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์) สำหรับ 6 ปีของการทำงานได้รับ 18 วันต่อปี ระหว่างลาพักร้อนคนงานต้องได้รับค่าแรงปกติต่อวันตามจำนวนวันลาพักร้อนตามสิทธิ เมื่อเลิกจ้างงานวันลาหยุดพักร้อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้คนงานสามารถคิดคำนวนเป็นค่าแรงปกติต่อวันตามจำนวนวันที่ไม่ได้ใช้ทั้งหมด การขอหยุดพักร้อนต้องแจ้งนายจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

วันหยุดเทศกาล หรือ/และวันหยุดทางศาสนา ทั้งของไทยและอิสราเอล รวมแล้วคนงาน ต้องได้รับ 10 วัน ต่อปี หลังจากที่ได้ทำงานแล้ว 3 เดือน (ทั้งนี้ไม่รวมวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์) ซึ่งคนงานต้องได้รับค่าแรงปกติต่อวัน ถ้าทำงาน วันหยุดเทศกาล หรือ/และ วันหยุดทางศาสนา คนงานต้องได้รับค่าแรง 175% ของค่าแรงปกติต่อวัน และได้รับชดเชยวันอื่นแทน

เงินค่าพักฟื้น คนงานที่ทำงานกับนายจ้างเป็นระยะเวลาเกินหนึ่งปีขึ้นไปมีสิทธิได้รับ 'เงินค่าพักฟื้น' หนึ่งครั้งต่อปีจากนายจ้าง เงินเพิ่มพิเศษรายปีคิดคำนวณจากอัตรา 378 เชคเคลต่อวัน คูณด้วย 7 วันต่อปี, ในปีที่ 1 แรงงานมีสิทธิได้ 5 วันต่อปี ปีที่ 2-3 แรงงานมีสิทธิได้ 6 วันต่อปี ปีที่ 4-10 แรงงานมีสิทธิได้ 7 วันต่อปี

วันลาป่วย คนงานสามารถลาป่วยและได้รับค่าแรงตามปกติ ตามระยะเวลาทำงาน (วันครึ่งต่อเดือนที่ได้ทำงาน) คนงานสามารถลาป่วยได้ไม่เกิน 90 วันต่อปี โดยจะต้องมีใบแพทย์มาแสดง คนงานไม่ได้รับค่าแรงสำหรับวันแรกที่ลาป่วย แต่สำหรับวันที่ 2 และ 3 ของการลาป่วย นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงให้คนงาน 50% ของค่าแรงปกติและ 100% ของค่าแรงปกติในวันที่ 4 และวันต่อๆ ไปที่ลาป่วย

การแจ้งล่วงหน้าในการเลิกจ้างงาน หรือการถูกไล่ออก แรงงานที่ได้ทำงานมากกว่า 7 วันขึ้นไป และต้องการที่จะลาออก จะต้องแจ้งนายจ้างและบริษัทจัดหางาน (ออฟฟิศ) ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร และขึ้นอยู่กับว่า แรงงานได้ทำงานนานเท่าไหร่ ดังต่อไปนี้:
หากแรงงานได้ทำงานเป็นเวลา 7 วันถึง 3 เดือน จะต้องแจ้ง 7 วันล่วงหน้า
หากแรงงานได้ทำงานเป็นเวลา 3 เดือนถึง 6 เดือน จะต้องแจ้ง 14 วันล่วงหน้า
หากแรงงานได้ทำงานเป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี จะต้องแจ้ง 21 วันล่วงหน้า
หากแรงงานได้ทำงานเป็นเวลา 1 ปีขึ้นไป จะต้องแจ้ง 1 เดือนล่วงหน้า

การไล่ออก เมื่อนายจ้างต้องการบอกเลิกจ้างงานแก่ลูกจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรดังต่อไปนี้
- ปีแรกของการจ้างงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า 1 วันต่อทุกเดียวของการจ้างงาน
- ปีที่ 2 ของการจ้างงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า 14 วัน บวก 1 วันต่อทุก 2 เดือนของการจ้างงานในปีที่ 2
- ปีที่ 3 ของการจ้างงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า 21 วัน บวกอีก 1 วันต่อทุก 2 เดือนของการจ้างงานในปีที่ 3
- ทำงาน 3 ปีขึ้นไป ต้องแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน

คนงานหรือนายจ้างที่มิได้แจ้งล่วงหน้าต่อกันตามกำหนดดังกล่าวต้องเสียค่าชดเชย ให้อีกฝ่ายหนึ่งเทียบเท่าค่าแรงหนึ่งเดือนปกติในระยะเวลานั้น

เงินชดเชย คนงานที่ทำงานกับนายจ้างเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปีขึ้นไปและนายจ้างได้ไล่ออก มีสิทธิได้รับเงินชดเชยในการไล่ออกดังในกรณีต่อไปนี้ :
1.นายจ้างได้ไล่ออก
2.ไม่มีการต่อวีซ่าทำงาน
3.การทำงานในสภาวะทุกข์ทรมาน ตัวอย่างเช่น การไม่ได้รับค่าแรง, สภาพสุขภาพร่างกายไม่อำนวยในการทำงาน4.การหมดอายุงานในเวลา 5 ปี 3 เดือน

นายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยภายใน 42 วัน หลังจากที่ได้รับเงินเดือน เดือนสุดท้ายแล้ว การคิดเงินชดเชย จะคิดจากเงินเดือนขั้นต่ำ คูณจำนวนปีที่แรงงานได้ทำงานสำหรับนายจ้างนั้น

เงินบำเหน็จ บำนาญ คนงานที่ทำงานที่อิสราเอลต้องได้รับสิทธิสวัสดิการบำเหน็จ บำนาญโดยหักเงินจากคนงานส่วนหนึ่ง และนายจ้างอีกส่วนหนึ่งทุกเดือนเพื่อฝากสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จ บำนาญ เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างงานหรือเมื่อนายจ้างเลิกจ้างแล้วนายจ้างต้องถอนเงินทั้งหมดรวมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมายเพื่อมอบให้คนงาน

สวัสดิการการครองชีพ นายจ้างต้องจ่ายค่าครองชีพเพิ่มเติมเดือนละ 100 เชคเคล

โบนัส คนงานมีโบนัสเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินเดือนปกติต่อปี ที่จะผ่อนจ่าย 2 ครั้งต่อปี

ประกันสุขภาพ นายจ้างจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพให้ลูกจ้างทุกคนตลอดระยะการทำงาน กรณีถูกเลิกจ้างงาน แนะนำให้คนงานจ่ายต่อค่าประกันสุขภาพเพื่อมิให้เสียสิทธิในการรักษาพยาบาล

การประกันแห่งชาติ (ภาษาฮีบรูว์เรียกบิตวก อภูมิ) ครอบคลุมการได้รับอุบัติเหตุและบาดเจ็บจากการทำงาน นายจ้างสามารถหักเงินเดือนคนงาน ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนด 0.04% เพื่อนำไปจ่ายค่าประกัน ในกรณีของอุบัติเหตุในการทำงาน ประกันสังคมจะรับผิดชอบในการจ่ายค่ารักษาตัว

การล่วงละเมิดทางเพศ ในประเทศอิสราเอลมีกฎหมายป้องกันการลวนลาม การล่วงละเมิดทางเพศ หรือหากนายจ้างการข่มขู่ในการไล่แรงงานชายหญิงออกจากงานเนื่องจากแรงงานปฏิเสธที่จะมีความสัมพันธ์ด้านชู้สาวกับนายจ้าง แรงงานสามารถแจ้งและร้องเรียนได้กับองค์กรคาฟลาโอเวด

ค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมที่แรงงานไทยจะต้องจ่ายเพื่อเดินทางมาทำงานในอิสราเอล เป็นจำนวนสูงสุดไม่เกิน 2,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึง 850 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับบริษัทจัดหางาน และ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ IOM (International Organization of Migration) นอกจากนี้ยังมีค่าตั๋วเครื่องบินประมาณ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 134 ดอลลาร์สหรัฐฯ ห้ามบริษัทจัดหางานเรียกเก็บเงินใดๆ ทั้งสิ้นจากแรงงานไทยที่ได้ทำงานในประเทศอิสราเอลแล้ว

หนังสือเดินทาง สำคัญมากที่ลูกจ้างต้องเก็บรักษาหนังสือเดินทางไว้กับตนเอง ตามกฎหมายของอิสราเอลห้ามนายจ้างหรือบริษัทจัดหางานใดๆ ยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้างไว้ ในกรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องออกจากงานและหนังสือเดินทางถูกนายจ้างยึดไว้ ลูกจ้างต้องขอหนังสือเดินทางคืนทันที กรณีสูญหายหรือหมดอายุติดต่อสถานทูตไทยเพื่อขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ทันทีเพราะ ถ้าถูกตำรวจจับและไม่มีหนังสือเดินมาแสดงลูกจ้างอาจถูกส่งกลับเมืองไทยในฐานะอยู่แบบผิดกฎหมาย

เตรียมตัวก่อนเดินทางออกนอกประเทศ คนงานสามารถอยู่ต่อได้อีก 60 วันหลังจากสิ้นสุดวีซ่าทำงาน

กรณีถูกจับ ในกรณีที่ถูกจับลูกจ้างสามารถขออยู่ต่อได้โดยต้องมีนายจ้างคนใหม่มาประกันตัวและรับรองการจ้างงาน ควรติดต่อฮอทไลน์ (Hotline) สายด่วนแรงงานต่างชาติ 03-560-2530

ทันทีที่ถูกจับเพื่อที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ลูกจ้างจะไม่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจาก: ไม่มีหนังสือเดินทาง หรือหนังสือเดินทางหมดอายุ, ทำงานที่ไม่ตรงกับวีซ่าจ้างงาน เช่นลูกจ้างมีวีซ่างานเกษตรแต่ไปทำงานร้านอาหาร หรืองานก่อสร้างหรืองานบริการ, การถูกจับครั้งที่ 2 (ที่ไม่มีวีซ่าทำงาน)

ไม่มีผู้ใดสามารถ บังคับ ขู่เข็นให้แรงงานกลับบ้านได้  ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเท่านั้นที่มีอำนาจเนรเทศแรงงานต่างชาติกลับภูมิลำเนาเดิม กรณีลูกจ้างถูกนายจ้าง หรือบริษัทจัดหางานใช้กำลังบังคับให้กลับเมืองไทยอย่างไร้เหตุผล และถูกนำตัวไปสนามบินอย่างเร่งด่วน แนะนำให้ขัดขึ้นเท่าที่จะทำได้โดยเฉพาะที่สนามบิน อย่าเช็กอิน อย่าขึ้นเครื่องบิน ให้ขอความช่วยเหลือจากตำรวจสนามบิน หรือติดต่อองค์กรคาฟลาโอเวด

องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) ที่อยู่ ถนน นะคะลัท เป็นยามิน เลขที่ 75 ชั้น 4 (75 Nachalat Binyamin Street, 4th Floor) ติดต่อโทรสอบถามรายละเอียดกับล่ามไทยได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 052 534-9873 ทุกวัน จันทร์ และวันพุธ แรงงานสามารถเข้ามาทําเอกสารได้เฉพาะวันพุธเพียงวันเดียวเท่านั้น

คนงานสามารถร้องทุกข์หรือความช่วยเหลือด้วยตนเองที่สํานักงาน เทลาวีฟ มีพนักงานคนไทยเฉพาะวันพุธ ระหว่างเวลา 09:00-14:00 น.

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

คลินิครักษาพยาบาลเพื่อสิทธิมนุษยชน สําหรับคนงานต่างด้าวที่มีปัญหาเรื่องประกันสุขภาพหรือไม่มีประกันสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยและจําเป็นต้องได้รับการรักษาติดต่อคลินิคได้ที่ เทลาวีฟ, HaDror Street, Jaffa 03 687-3027/03 6873-718

ฮอทไลน์ (Hotline) สายด่วนแรงงานต่างชาติ (คาฟลาโอเวด) The Hotline for Refugees and Migrants (HRM) ที่อยู่ ถนน นะคะลัท เป็นยามิน เลขที่ 75 ชั้น 2 (75 Nachalat Binyarin Street, Tel Aviv. Floor 2) 03-5602530

 

ศูนย์นานาชาติการย้ายถิ่น และบูรณาการ The Center for International Migration and Integration (CIMI) Shiorizion HaMalta 10/3, Jerusalem 941460 ศูนย์ TIC: 1-700-707889

ศูนย์ร้องเรียนการล่วงละเมิดทางเพศ สำหรับหญิง: 1202 สำหรับชาย: 1203

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net