Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หลายคนอาจเคยตั้งคำถามว่าทำไมระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อตัวเราจึงไม่สมเหตุสมผลมากขึ้นทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กๆ แยกจากครอบครัวเพื่อไปเรียนโรงเรียนในเมืองหรือในกรุงเทพ  ภาพที่พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนพิเศษเพื่อสอบให้ได้เกรดสูงๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ทั้งๆ ที่วัยอนุบาลเป็นวัยที่เด็กควรจะได้เรียนรู้โลกและธรรมชาติรอบตัว รวมถึงมีโอกาสได้เล่นกับเพื่อนๆ และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตามธรรมชาติของเด็ก ทว่าสังคมในยุคปัจจุบันกลับบังคับให้เด็กต้องละทิ้งความสนุกสนานเหล่านั้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของระบบการศึกษาที่พยายามที่จะแสวงหาประโยชน์จากการเรียนของเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว ระบบการศึกษาในปัจจุบันจึงทำให้สมาชิกในครอบครัวห่างเหินกันมากขึ้น เด็กๆ จำนวนมากถูกบังคับให้ต้องเรียนหนังสือเพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวของระบบตลาดในสถาบันการศึกษา เด็กๆ จึงกลายเป็นเครื่องมือของระบบการศึกษาที่ถูกครอบงำโดยสถาบันเศรษฐกิจแบบตลาดที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์อย่างแยบยล โดยปลูกฝังให้สถาบันครอบครัวมีส่วนในการส่งเสริมให้เด็กเรียนหนังสือเพื่อเลื่อนลำดับชั้นภายใต้ระบบการศึกษาในโรงเรียน และเพื่อให้เด็กเรียนได้ผลการเรียนดีหรือเกรดสูงๆ มากกว่าสอนให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ด้วยเหตุนี้ความรู้หลายแขนงจึงไม่ต่างจากสินค้าที่ต้องแลกมาด้วยการซื้อขายผ่านผู้ผลิตคือสถาบันการศึกษาและผู้บริโภคคือเด็กๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เมื่อเป็นเช่นนั้นสถาบันการศึกษาจึงไม่ใช่พื้นที่ของการแสวงหาความรู้ของเด็กและนักศึกษาอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นสถาบันเศรษฐกิจที่ผลิตหรือแปรรูปความรู้ทางการศึกษาให้มีลักษณะเหมือนกันในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ โดยความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นเป็นองค์ความรู้ที่มีสภาพตายตัวเพื่อสอนให้ทุกคนคิดเหมือนกัน รู้เท่ากัน เชื่อฟังและคล้อยตามแบบเดียวกัน  การศึกษาในปัจจุบันจึงไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างเด็กให้เป็นคนที่คิดนอกกรอบ  แต่สอนให้เด็กรักษากรอบแบบเดิมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดการศึกษา  เพื่อให้ผู้ผลิตเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการทำให้ความรู้กลายเป็นสินค้าผ่านการผลิตซ้ำทางความคิดที่ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากเชื่อว่าเด็กจะประสบความสำเร็จต่อเมื่อเรียนได้คะแนนดีและสามารถสอบแข่งขันเพื่อประเมินความรู้ทางวิชาการได้เท่านั้น

กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นคือระบบตลาดได้ประโยชน์อย่างมากจากการที่ระบบการศึกษากำหนดให้เด็กทุกคนต้องไปโรงเรียนและเรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ จากโรงเรียนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดการศึกษานั่นคือการผลิตแรงงานเพื่อรองรับการทำงานในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การเปิดโอกาสให้ตลาดเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากเด็กๆ ในสถาบันการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นเพียงขั้นตอนเดียวคือขั้นตอนของการแปรรูปองค์ความรู้ทางการศึกษาเพื่อนำไปสอนตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงขั้นตอนที่ระบบการศึกษาได้เข้ามายึดครองความคิดของผู้ศึกษาผ่านการปลูกฝังค่านิยมและพฤติกรรมแบบบริโภคนิยมและปัจเจกชนนิยม ซึ่งเป็นการดึงความสัมพันธ์แบบตลาดเข้ามาเพื่อครอบงำมนุษย์ในระดับจิตใจ  ดังนั้นตลาดการศึกษาจึงเปรียบเสมือนโรงงานที่ทำหน้าที่เปลี่ยนความคิดและจิตสำนึกของมนุษย์ให้กลายเป็นมนุษย์ที่คำนึงถึงต้นทุนและกำไรเป็นสำคัญ

กระบวนการครอบงำทางความคิดเป็นกระบวนการที่ถูกกล่อมเกลามาเป็นเวลาหลายปี ไล่เรียงมาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยมและมหาวิทยาลัย  ลักษณะการหล่อหลอมแบบนี้จึงแสดงให้เห็นถึงวิกฤตของระบบการศึกษาอย่างชัดเจน ดังนั้นการเป็นพันธมิตรกับทุนเพื่อรับใช้กลไกตลาดอย่างสุดโต่งส่งผลให้สถาบันการศึกษาไม่ใช่พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ  หรือพื้นที่สำหรับการจรรโลงความคิดของผู้ศึกษาเพื่อออกไปทำงานรับใช้สังคมแต่เป็นการผลิตคนเพื่อรองรับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy) เพื่อให้การสะสมทุนทวีความเข้มข้นมากขึ้น  ระบบการศึกษาจึงเปรียบเสมือนพื้นที่ของการผลิตซ้ำวาทกรรมกระแสหลักผ่านกรอบคิดแบบปัจเจกชนนิยม (individualism) และนิยามความสำเร็จของปัจเจกบุคคลในมิติเดียวนั่นคือมิติของการมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม ความร่ำรวยและชื่อเสียงเกียรติยศ

อย่างไรก็ตามสถาบันการศึกษาในปัจจุบันจำนวนมากเน้นหนักไปที่การเรียนการสอนแบบแยกย่อย กล่าวคือ ระบบการเรียนการสอนในปัจจุบันไม่ได้นำการเรียนรู้หลากหลายมิติมาปรับใช้ในห้องเรียนทำให้กระบวนการคิดและทักษะการวิเคราะห์ของผู้เรียนไม่สามารถคิดเชิงวิพากษ์และหลุดจากกรอบคิดแบบจารีตในอดีตได้ ดังนั้นนอกจากเราจะพบปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทยแล้วเรายังพบปัญหาในเชิงเทคนิคร่วมด้วย กล่าวคือ ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งมีการออกแบบขั้นตอน เทคนิคและกระบวนการเรียนและการทำรายงานให้มีความซับซ้อนมากขึ้น  ทำให้ระบบการเรียนที่สลับซับซ้อน ที่มีขั้นตอนดำเนินการหลายขั้นตอนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้นคว้าวิจัยและแสวงหาความรู้ของอาจารย์และนักศึกษา เพื่อให้แต่ละคนสามารถผลิตงานวิชาการที่มีคุณภาพออกสู่สังคมอันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยในอนาคต ทว่ารูปแบบและกฎเกณฑ์การประเมินที่ซ้ำซ้อนและการวัดคุณภาพการเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพกลับสร้างภาระงานให้กับอาจารย์และนักศึกษาเกินความจำเป็น 

ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันถูกออกแบบเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดการศึกษาให้มีขอบเขตที่กว้างขวางออกไปโดยเน้นการทำรายงานและผลิตงานวิจัยเชิงปริมาณเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของระบบตลาด  ดังนั้นองค์ความรู้ที่เคยหลากหลายและมีคุณค่าจึงถูกหดให้แคบลง องค์ความรู้จากงานวิจัยหลายชิ้นจึงไม่เพียงพอที่จะนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาสังคมหรือคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างที่ควรจะเป็น 

ความรู้สึกสิ้นหวังกับระบบการศึกษาในห้วงเวลาปัจจุบันจึงกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้อย่างแพร่หลายผ่านการแสดงความคิดเห็นจากนักวิชาการจากหลากหลายสถาบัน  โดยเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม  เนื่องจากในอดีตมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของนิสิตนักศึกษาในการแสดงออกทางการเมือง ตลอดจนส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ และเคยเป็นพื้นที่ในการสร้าง "พลเมืองที่เข้มแข็ง" ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ที่มีการประกาศให้สถาบันการศึกษาบางแห่งออกจากระบบใน พ.ศ. 2541 ก็ทำให้ระบบการเรียนการสอน รวมถึงการประเมินคุณภาพการศึกษามีหน้าตาที่เปลี่ยนไป  มหาวิทยาลัยกลายเป็นสถาบันที่มุ่งผลิตแรงงานทักษะ (skill labour) เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดแรงงาน

ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันจึงไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้าง "พลเมืองที่เข้มแข็ง" เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนในการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ทว่าระบบการศึกษาไทยกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  ตลอดจนออกแบบกฎระเบียบที่ขัดขวางการสรรค์สร้างงานวิชาการที่มีคุณภาพของบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างขนานใหญ่ซึ่งนับว่าเป็นภัยคุกคามทางวิชาการที่ร้ายแรง

ดังนั้นปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่เรื้อรังมาหลายปี จึงควรถูกนำมาทบทวนเพื่อนำไปสู่การถกเถียงและหารือกันของภาครัฐ และภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาทั้งตัวครู อาจารย์ และนักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยอย่างจริงจังในอนาคต โดยอาจเริ่มจากการลดกฎระเบียบและลดขั้นตอนต่างๆที่ซับซ้อนและยืดเยื้ออันก่อให้เกิดการขัดขวางประสิทธิภาพทางการศึกษาของนักศึกษา และขยับขยายกรอบการปฏิรูปไปยังพื้นที่อื่นๆตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตามสิทธิทางการศึกษาเป็นสิ่งที่เกิดจากต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา อาจารย์และบุคคลากรในสถาบันแต่ละแห่ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐเข้าแทรกแซงและปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อลดทอนอำนาจของระบบตลาดที่ยึดครองและมีบทบาทชี้นำระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน

ดังนั้นรัฐต้องสร้างกลไกในการลดผลกระทบจากการนำระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบตลาด โดยอาจออกมาตรการเยียวยาหรือนโยบายที่ช่วยลดต้นทุนทางการศึกษาและตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลระบบการศึกษาภายในโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในอนาคตมากยิ่งขึ้นเพื่อปฏิรูปโครงสร้างและระบบการศึกษาทั้งระบบ

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นุชประภา โมกข์ศาสตร์ มหาบัณฑิตเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net