Skip to main content
sharethis

หนังสือระบุ กทม. ไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลง 4 ฝ่าย ที่จะเก็บบ้านไว้ 18 ตามกรอบพิจารณาคุณค่าของวิถีชีวิตการเป็นชุมชนดั้งเดิม ขอให้ กทม. ดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้ข้างต้น ให้ กอ.รมน.กทม. ออกจากพื้นที่ชุมชน ให้ตั้งคณะกรรมการติดตามการเยียวยาคนย้ายออก ล่าสุด วันนี้รื้ออีกหนึ่งหลัง ชาวบ้านที่ย้ายออกมาเยอะ หวั่นมีเหตุทะเลาะกัน

พื้นที่หัวป้อมที่เคยเป็นชุมชน ปัจจุบันถูกลาดยาง และเคยใช้เป็นที่ตั้งโรงครัว และสุขาสาธารณะเมื่อพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

29 ม.ค. สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เรื่องมาตรการที่รัฐพึงปฏิบัติในการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ โดยเดินทางไปยื่นที่ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อม 

หนังสือมีใจความว่าจากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ประกอบด้วยทาง กทม. ฝ่ายความมั่นคง ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ และนักวิชาการที่เสร็จสิ้นไปเมื่อ 27 ก.ค. 2560 ได้มีมติให้อนุรักษ์บ้านจำนวน 18 หลังไว้ แต่ทาง กทม. ไม่ได้ดำเนินการตามข้อผูกพันที่ลงนามไว้ดังกล่าว สมาคมสถาปนิกสยามฯ จึงได้ขอให้คณะกรรมการอนุรักษ์ฯ พิจารณาทบทวนมาตรการที่รัฐพึงปฏิบัติในการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ ดังข้อเสนอแนะในแถลงการณ์ มีใจความโดยย่อ ดังนี้

  1. ขอให้ กทม. ดำเนินการให้เป็นไปตามผลสรุปการประชุมที่ได้ลงนามร่วมกันเมื่อ 27 ก.ค. 2560 ของคณะเจรจา 4 ฝ่าย ในการอนุรักษ์บ้านไม้ในบริเวณพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬจำนวน 18 หลัง ภายใต้การนำประเด็นเรื่องวิถีชีวิต อันเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มาพิจารณา รวมถึงการออกแบบพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกลมกลืนกัน จัดให้มีกิจกรรมในพื้นที่ เพื่อให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีชีวิต และเป็นตัวอย่างในการอนุรักษ์ที่มีส่วนนร่วมจากภาคประชาชนและรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ โดยการอนุรักษ์บ้านควรพิจารณาตามกรอบการพิสูจน์คุณค่าบ้าน 5 ข้อ ที่เสนอต่อที่ประชุมของคณะกรรมการอนุรักษ์ฯ ไปแล้ว ได้แก่ 1) เป็นชานพระนครแห่งเดียวที่เหลืออยู่ 2) เป็นแบบอย่างของพื้นที่ใน กทม. ที่เหลืออยู่น้อยมาก เรียกว่า “ภูมิทัศน์ชุมชนดั้งเดิม” 3) เป็นแหล่งรวมของกลุ่มบ้านพักอาศัยในกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สะท้อนถึงพัฒนาการของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น 4) เป็นพื้นที่แสดงออกถึงการประกอบอาชีพในครัวเรือน และ 5) เป็นแหล่งมรดกทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ยังมีชีวิต

  2. ขอให้ยกเลิกการควบคุมพื้นที่ป้อมมหากาฬ โดย กอ.รมน.กทม. เนื่องจากการพิจารณาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ยังไม่ยุติ จึงไม่ควรมีการควบคุมการดำรงชีวิตของประชาชน และไม่ควรละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น  อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ

  3. ขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามผลการเยียวยาประชาชน เพื่อติดตามผลการเยียวยาชาวชุมชนที่รวมตัวกันเป็นชุมชนป้อมมหากาฬที่ย้ายจากพื้นที่

ในวันเดียวกันนี้ ที่ชุมชนป้อมมหากาฬมีการรื้อบ้านอีกหนึ่งหลัง เป็นบ้านหมายเลข 113 ทางชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่ย้ายออกไปส่วนหนึ่งได้เข้ามาพร้อมแรงงานเพื่อรื้อสังกะสีด้านหลังชุมชนเพื่อขนย้ายสิ่งของและวัสดุที่รื้อออกมา หนึ่งในผู้ที่ย้ายออกได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประชาไทว่า พากันมาโดยสมัครใจเพราะกลัวว่าคนที่มาย้ายออกจะทะเลาะกับชาวชุมชนที่ยังอาศัยอยู่

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (1) : ‘คนอยู่’ เล่ารอยร้าวชุมชน ในวันที่ กอ.รมน.รุกถึงหน้าบ้าน

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (2): ‘คนย้าย’ เล่าแรงกดดันจาก กทม. ชุมชน ปากท้องและความมั่นคงทางที่อยู่

บ้านหมายเลข 113 ที่รื้อวันนี้

 

บริเวณสังกะสีด้านหลังชุมชนที่ถูกรื้อออกเพื่อขนย้ายวัสดุต่างๆ จากบ้านที่รื้อ สวนด้านหลังนี้แต่เดิมก็เคยเป็นชุมชนป้อมมหากาฬ

จากการสอบถามอดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ พรเทพ บูรณบุรีเดช พบว่า ปัจจุบันเหลือชาวชุมชนป้อมมหากาฬอยู่ราว 45-48 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยอดเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้ย้ายจากชุมชนป้อมมหากาฬไปยังสถานพักพิงชั่วคราวที่การประปาแม้นศรีมีจำนวนราว 15 ครัวเรือน โดย กอ.รมน.กทม. จะเป็นผู้ประสานงานหลักกับกรมธนารักษ์ เพื่อขอเช่าที่บริเวณเกียกกายจำนวนเกือบ 1 ไร่เพื่อให้ชาวชุมชนป้อมฯ ที่ย้ายออกมาไปเช่าอยู่ร่วมกับชุมชนอื่นๆ ที่จะย้ายไป ซึ่งเบื้องต้นอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ภาพจดหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net