Skip to main content
sharethis

เปรียบเทียบที่มาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตั้งแต่ยุครัฐธรรมนูญ 2540 ยุค คปค. รัฐธรรมนูญ 2550 จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ในยุค คสช. ที่กลไกการสรรหายึดโยงกับประชาชนลดน้อยลง ขณะที่ศาลและองค์กรอิสระ รวมทั้ง ส.ว.แต่งตั้งมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการสรรหา ป.ป.ช. และองค์กรอิสระต่างๆ

1. รัฐธรรมนูญ 2540

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลปกครองสูงสุด, อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (เลือกกันเอง) 7 คน และผู้แทนพรรคการเมืองในสภาพรรคละ 1 คน (เลือกกันเอง) 5 คน ให้เป็นผู้สรรหาและทำบัญชีรายชื่อว่าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. 18 คน เสนอประธานวุฒิสภา จะเห็นว่าโครงสร้างของคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ไม่ได้ให้น้ำหนักแก่ประมุขศาลมากกว่าฝ่ายผู้แทนราษฎร รวมทั้งให้บทบาทของอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย

เมื่อคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. เสนอรายชื่อว่าที่กรรมการ ป.ป.ช. มาแล้ว ถัดจากนั้นวุฒิสภาซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2540 วุฒิสภา 200 คน มีที่มาจากการเลือกตั้ง จะลงมติเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ โดยผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด และได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจะได้รับการเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 9 คน

2. ประกาศ คปค.

หลังรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งฉบับ และออกประกาศ คปค. เพื่อให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป

โดยในวันที่ 22 กันยายน 2549 มีการออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 19/2549 ทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ว่าด้วย ป.ป.ช. มีผลใช้บังคับต่อไป พร้อมใช้อำนาจของรัฐบาลทหารแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ที่มีปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานกรรมการ นอกจากนี้ยังมีกล้านรงค์ จันทิก, ใจเด็ด พรไชยา, ประสาท พงษ์ศิวาภัย, ภักดี โพธิศิริ, เมธี ครองแก้ว, วิชา มหาคุณ, วิชัย วิวิตเสวี และสมลักษณ์ จัดกระบวนพล

3. รัฐธรรมนูญ 2550

ต่อมามีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รวมทั้งประกาศใช้ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2550 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 พบว่าโครงสร้างของคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. น้ำหนักของประมุขศาลเพิ่มขึ้นกลายเป็นเสียงข้างมาก และลดสัดส่วนของฝ่ายการเมืองจากตัวแทน 5 พรรคการเมือง รวมทั้งตัดคณะกรรมการสรรหาที่มาจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ 7 คน

คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. 5 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะเสนอรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้วุฒิสภาเห็นชอบ อย่างไรก็ตามที่มาของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 100% แบบรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ลดสัดส่วน ส.ว. จากการเลือกตั้งลงเหลือครึ่งหนึ่ง โดยวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง 76 คน และมาจากการแต่งตั้ง 74 คน

(หมายเหตุ: โดยต่อมาเพิ่มจำนวน ส.ว. จากการเลือกตั้งเป็น 77 คน และแต่งตั้งลดเหลือ 73 คน เมื่อมีการตั้ง จ.บึงกาฬเป็นจังหวัดใหม่)

4. รัฐธรรมนูญ 2560
และร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับ กรธ.

หลังรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 24 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภามีอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยในช่วงที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. 2 ครั้ง ครั้งแรก 9 กันยายน 2557 แต่งตั้งสุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. แทนวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเข้าดำรงตำแหน่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อ่านเพิ่มเติม)

ครั้งต่อมา 30 ธันวาคม 2558 แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ ป.ป.ช. คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่ วิทยา อาคมพิทักษ์, สุวณา สุวรรณจูฑะ, สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และบุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. (อ่านเพิ่มเติม)

ถัดจากนั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อ 6 เมษายน 2560 ทั้งนี้แม้รูปแบบของคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. จะไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เมื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... ฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ได้ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเมื่อ 2 ตุลาคม 2560 นั้น (อ่านเพิ่มเติม)

จะพบว่าเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. 9 คน แต่เพิ่มน้ำหนักมาที่ประมุขศาลและตัวแทนที่องค์กรอิสระแต่งตั้ง รวมไม่น้อยกว่า 7 คน ส่วนตัวแทนจากฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรมีเพียง 2 คน

โดยคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ตามร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับ กรธ. ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ กรรมการที่เหลือประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้ง องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ และมีประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ

จากนั้นคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. จะเสนอรายชื่อต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบ อย่างไรก็ตามองค์ประกอบของวุฒิสภา 250 คน ในวาระแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net