Skip to main content
sharethis

นอน-ไบนารี่ (Non-binary) คือคำนิยามทางเพศที่อาจยังไม่ค่อยคุ้นหูในสังคมไทยนัก เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ เราอาจต้องทำความเข้าใจกับคำสองคำที่ต่างกันก่อนนั่นคือ สำนึกทางเพศ (Gender Identity) หมายถึง การที่เรามองตัวเองหรือสะท้อนตัวเองว่าเป็นเพศอะไร กับอีกคำหนึ่งคือ รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) หมายถึง รูปแบบพื้นฐานของอารมณ์ ความใคร่ ความสนใจทางเพศต่อชาย หญิง หรือทั้งสองเพศ หรือเพศอื่น

นอน-ไบนารี่ เป็นสำนึกทางเพศชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่ชายและหญิง ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคม เป็นคำกว้างๆ ที่พูดถึงเพศต่างๆ ที่ไม่ใช่ชายและหญิง นอน-ไบนารี่เป็นร่มใหญ่ ที่แตกย่อยออกไปอีกคือสำนึกทางเพศหลายรูปแบบ ไม่ว่าคุณจะเป็นการผสมผสานระหว่างสองเพศ (androgyne) เป็นกลางหรือรู้สึกไม่มีเพศ (agender) หรือมีเพศที่ลื่นไหลไปมา (Gender Fluid) หรืออื่นๆ

ไบนารี่ (Binary) คือหลักคิดที่ว่าคนเรามีสองเพศคือชายกับหญิง ขณะที่นอน-ไบนารี่คือการปฏิเสธหลักคิดนี้ และเชื่อว่ามีตรงกลางระหว่างนั้นอีก ไม่จำเป็นต้องถูกผลักไปเป็นขั้วชายหรือขั้วหญิงเสมอไป

มีคำถามที่ว่า เมื่อมีกลุ่ม LGBT (Lesbian-Gay-Bisexual-Transgender)  เกิดขึ้นแล้ว ทำไมจึงยังต้องเกิดกลุ่ม นอน-ไบนารี่ ขึ้นอีก ทำไมกลุ่มนอน-ไบนารี่ไม่อาจรวมกับกลุ่ม LGBT และขับเคลื่อนประเด็นร่วมกันได้ และรวมถึงข้อถกเถียงที่ว่าหรือนอน-ไบนารี่จะเป็นแค่ความ “เรื่องมาก” ของคนที่ไม่อาจเข้าพวกกับกลุ่มอื่นได้

ประชาไทชวนคุยกับ คณาสิต พ่วงอำไพ และมณีนันท์ ช่อมณี นักขับเคลื่อนสิทธิและเสรีภาพทางเพศ กลุ่มนอน-ไบนารี่ไทยแลนด์ เพื่อทำความรู้จักกับคำว่า ’นอน-ไบนารี่’ ซึ่งอันที่จริงมีความหมายลึกลงไปถึงระดับสรีรวิทยา วิพากษ์กรอบแนวคิดแบบไบนารี่ ตอบคำถามที่ว่านอน-ไบนารี่แตกต่างจากกลุ่ม LGBTQ อย่างไร และข้อเสนอของกลุ่มนอน-ไบนารี่ตั้งแต่เรื่องการศึกษาไม่แบ่งแยกเพศ ห้องน้ำกลาง จนถึงความเป็นกลางทางภาษา
 

สำนึกทางเพศกับรสนิยมทางเพศของนอน-ไบนารี่เป็นยังไง?

คณาสิต: ถ้าเขาถามสำนึกทางเพศของเรา เราเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ชายและหญิง หรือก็คือนอน-ไบนารี่ ส่วนรสนิยมทางเพศ คนที่เป็นนอน-ไบนารี่ ก็มีทั้งที่ชอบเพศตรงข้าม (heterosexual) ชอบเพศเดียวกัน (Homosexual) ชอบสองเพศ (Bisexual) หรือ ชอบได้ทุกคนไม่ได้สนใจที่เพศ (Pansexual) หรือชอบเพศหลากหลาย (Polysexual) หรือชอบกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจำเพาะ เช่น Androsexual ชอบคนที่มีลักษณะโดยรวมเป็นชาย หรือเอียงไปทางด้านชาย เช่น เกย์ ทรานส์แมน ทอม

อย่าง LGBT คือสำนึกทางเพศไหม?

คณาสิต: ไม่ใช่ เป็นรสนิยมทางเพศ อย่างเกย์เวลาไปถามเรื่องสำนึกทางเพศของเขา เขาจะบอกว่าเขาเป็นผู้ชายคนหนึ่ง เพียงแต่มีรสนิยมที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานทางสังคมคือชอบเพศเดียวกัน หรือถ้าถามกะเทยบางคนก็จะบอกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง นั่นคือสำนึกแบบไบนารี่ คือยังมีความเป็นเพศชายหรือหญิงอยู่

แล้วเควียร์กับนอน-ไบนารี่ต่างกันยังไง?

คณาสิต: เควียร์หมายถึงกลุ่มคนที่เขานิยามตัวเองว่าเป็นขบถต่อบรรทัดฐานสังคม แหกไปจากกรอบเดิม เควียร์จะพื้นที่ใหญ่ ไม่ได้พูดถึงสำนึกทางเพศอย่างเดียว แต่เป็นเพศวิถี รสนิยมทางเพศ ออกไปไกลถึงเรื่องการเมือง การแหกขนบอื่น เควียร์เกิดมาตั้งแต่ยุคฮิปปี้แล้ว ต้านระบบเก่า แต่นอน-ไบนารี่เพิ่งเกิดมาประมาณยุค 90 แต่มีความชัดเจนว่าโฟกัสแค่เรื่องสำนึกทางเพศของมนุษย์

เควียร์จึงไม่ใช่เพียงสำนึกทางเพศ (Gender Identity) แต่เป็น identity label ในอดีตกลุ่มเกย์ก็เคยเรียกตัวเองว่าเป็นเควียร์ เป็นการรวมการนิยามตัวเอง รสนิยมทางเพศ การแสดงออก ฯลฯ ทุกอย่างที่แหกไปจากขนบ เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็นเควียร์ สำนึกทางเพศของเขาอาจจะยังเป็นชายอยู่ เพียงแต่รสนิยมทางเพศที่เขามีมันแหกไปจากขนบเดิมคือเขาไม่ได้ชอบเพศตรงข้าม เขาก็อาจจะระบุว่าตัวเองเป็นเควียร์

แต่สำหรับนอน-ไบนารี่ จริงๆ เราค่อนข้างใกล้เคียงและทับซ้อนกับคำว่าเควียร์ แต่ของเราจะเป็นเควียร์ในด้านของสำนึกทางเพศโดยตรง มันขัดแย้งกับบรรทัดฐานทางสังคมตั้งแต่สำนึกทางเพศของเราเลย เหมือนนอน-ไบนารี่เป็นซับเซ็ตของเควียร์ เพราะทฤษฎีของเควียร์ก็สามารถใช้อธิบายได้ทั้งเควียร์ทั้งนอน-ไบนารี่ แต่พวกเราจะเน้นทางด้านสำนึกทางเพศโดยตรง

เควียร์แปลว่าแหกกรอบขนบเดิม แต่นอน-ไบนารี่คือไม่ใช่ชายและหญิง สำหรับเราเราชอบคำนี้เพราะสื่อสารชัดเจน เพราะถ้าเราบอกว่าเราคือเควียร์ก็ต้องมาถามอีกว่า เควียร์อะไร แหกจากอะไร แต่ถ้าเราบอกว่านอน-ไบนารี่ไม่ใช่ชายหญิง คนจะเข้าใจว่าเราแหกจากเรื่องของเพศไม่ได้มีแค่ชายหญิง แต่ถ้าคนจะมองว่าเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ จะต่างกันก็ได้แล้วแต่คน 


 

ค้นพบตัวเองว่าเป็นนอน-ไบนารี่ได้ยังไง?

มณีนันท์: ณ วันนี้มองย้อนไปตอนยังเป็นเด็ก จะเห็นตัวเองมีการแสดงออกทางเพศค่อนไปทางกลางๆ มาโดยตลอด เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ตัดผมสั้นมาตั้งแต่เด็ก ก่อนหน้านั้นเราจะเข้าใจว่าตัวเองเป็นสาวห้าวมาตลอด เราเคยลองแต่งตัวใส่สั้นๆ สายเดี่ยวอยู่ครึ่งปี แต่สุดท้ายพบว่ามันไม่ใช่ ก็กลับมาที่จุดเดิม

แต่ถ้าช่วงที่ค้นพบตัวเองจริงๆ คือประมาณปี 2554 เราไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ เริ่มสังเกตตัวเองว่าไม่ชอบแสดงออกว่าเป็นหญิง จะเอียงไปทางกลางๆ ทอมๆ ทีนี้ไปชอบนักร้องผู้ชายคนหนึ่ง ตอนแรกมันเหมือนอารมณ์ผู้หญิงอยากมีแฟนแบบนี้ จนมาถึงวันหนึ่งเรารู้สึกว่าเราไม่ได้แค่ชอบเขา เราอยากเป็นแบบเขาด้วย มันเกินปกติ เลยเบนความสนใจตัวเองว่าหรือเราจะเป็นเกย์ทรานส์แมน (Transman-ผู้ชายข้ามเพศหรือหญิงที่ข้ามเพศเป็นชาย) อยากได้เขาและอยากเป็นเหมือนเขา

ช่วงปีนั้นก็พีคมาก ปฏิเสธทุกอย่างที่ใส่แล้วเป็นหญิง เวลาเห็นผู้ชายสักเยอะๆ หุ่นดีๆ หนวดๆ เราจะรู้สึกอยากได้ร่างแบบนั้นและอยากได้คนแบบนั้นมาเป็นแฟน มันรู้สึกอึดอัดอยู่ในใจมาก ตอนนั้นเรานิยามตัวเองว่า เหมือนเป็นเกย์ที่ติดอยู่ในร่างสาวห้าว

พอถึงช่วงที่สับสนว่าตัวเองเป็นทรานส์แมนรึเปล่า ก็พยายามหาบทความเกี่ยวกับทรานส์แมนมาอ่านแล้วก็พบว่ามันไม่ใช่ เราไม่ได้สำนึกว่าเราเป็นผู้ชาย เราแค่ชอบลุคที่เป็นมาสคิวลีนมากกว่าเฟมินีน บวกกับเราค้นพบว่าเราชอบได้ทั้งสองเพศ หรือถ้าให้เจาะจงก็คือเราเป็น androsexual คือชอบคนที่มีความเป็นชายสูงแต่ไม่สนใจเพศกำเนิด ทั้งลุคและความคิดแมนเท่าๆ กับเราหรือมากกว่า แต่ถ้าผู้หญิงจ๋าๆ ก้นเด้งๆ เราจะไม่ชอบ เราไม่อยากเป็นและไม่อยากได้  

นิสัยตัวเอง ความคิด ทัศนคติ เรารู้สึกว่าเราไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้หญิง หรืออยู่ใน norm ของผู้หญิง เรารู้สึกว่าเราเข้ากับเขาไม่ได้มาตลอดตั้งแต่ตอนเราเป็นเด็ก เราเอียงไปทางชายตลอด เวลามีประเด็นทางเพศที่เขาเถียงกัน เราจะอยู่ฝ่ายผู้ชายตลอดแบบ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่บ้านหรือเพื่อนๆ ก็จะชอบบอกตลอดว่าเราขวางโลก เราเลยฝังใจว่าเราเป็นคนแปลก แต่พอได้ศึกษามากขึ้นเราก็เห็นว่าเรามีคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับฝั่งผู้หญิง ศึกษามาเรื่อยๆ จนมาลงตัวที่คำว่า Gender non-conforming คือปฏิเสธที่จะเป็นตามเพศเดิม ทั้งสภาพร่างกาย บทบาทตามที่สังคมมอบให้ จนได้มาเจอคำว่านอน-ไบนารี่ในที่สุด

เรามองว่าที่ต้องพูดเรื่องสำนึกทางเพศแยกกับรสนิยมทางเพศ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่สังคมยังจับแปะป้ายพ่วงกันอยู่ พอเขามีลักษณะทางเพศแบบไหน รสนิยมทางเพศเขาก็จะต้องเป็นแบบนั้นด้วย เช่น คนมักเข้าใจว่าเราเป็นทอม ต้องชอบผู้หญิง ทั้งที่เราชอบคนที่แมนๆ มีความเป็นหญิงน้อยๆ ดังนั้นการแสดงออกไม่ได้ชี้วัดถึงสำนึกทางเพศ

คนอื่นจะมองว่าทำไมต้องมีคำจำกัดความเฉพาะเจาะจงให้ยุ่งยากขนาดนี้ แต่สำหรับคนที่เป็นแบบพวกเรา เราจะรู้สึกว่าสำคัญ มันไม่ใช่แค่รสนิยม มันยิ่งใหญ่กว่านั้น มันคือจิตวิญญาณของเรา เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่ใช่ผู้หญิง เราไม่มีความเป็นส่วนหนึ่งกับเพศหญิง เราลาออกจากความเป็นเพศหญิงมา แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ได้ไปสมัครใหม่เป็นเพศชาย หรือทรานส์แมน เพราะเราก็ไม่ได้อยากเป็นผู้ชาย เราเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ชายและหญิง

 

คณาสิต: เราออกสาวตั้งแต่เด็ก เห็นรูปตอน 7 ขวบก็ยืนพ้อยท์เท้า สาวกว่าตอนนี้อีก ทุกคนก็จะเรียกเราว่าตุ๊ดๆๆ ก็รู้ว่าเราเป็นบางอย่างที่แตกต่างออกไป และเราก็รู้จักแต่คำว่าตุ๊ด พอสมัยมัธยม เรียนโรงเรียนชายล้วน มันก็เริ่มชัด มันจะมีกลุ่มกะเทยที่เขาพร้อมจะเป็นหญิงข้ามเพศ คือเตรียมตัวแปลงเพศ ก็จะทำตัวสวยๆ แต่งตัว เตรียมบำรุงร่างกาย พวกที่เป็นเกย์ก็คือเกย์เลย จะแมนๆ อาจจะมีสาวบ้างเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็เป็นกลุ่มเด็กผู้ชายธรรมดา

ทีนี้เราถูกกีดกันออกมาจากกลุ่มที่เป็นกะเทยหรือตุ๊ด มันมีการปกครองในแบบของเขาอยู่ การปกครองแบบลำดับชั้น พี่สาวน้องสาว ตุ๊ดรุ่นน้องจะต้องไหว้ตุ๊ดรุ่นพี่ ใครไม่ไหว้ต้องตบ มีการรวมกลุ่มกันเพื่ออบรม ซึ่งในตอนนั้นเรารู้สึกเป็นลัทธิอะไรบางอย่างที่ดูน่ากลัว เราถูกกีดกันออกมา เพราะเราไม่ใช่ในแบบที่เขาต้องการ เรามีลักษณะบางอย่างที่เขาไม่ยอมรับ

เราเลยลองไปเข้ากับกลุ่มเกย์แต่ก็เข้าไม่ได้ เราสาวเกินไป ทุกคนไม่เรียกเราว่าเป็นเกย์ถึงเราจะพยายาม ทุกคนเรียกเราเป็นตุ๊ด แต่พอเป็นตุ๊ด เราก็ไม่ได้เป็นตุ๊ดที่ได้รับการยอมรับแบบตุ๊ด เพราะเรามีลักษณะที่ไม่เหมือนกับทั้งสองฝั่งโดยจำเพาะ เช่น เราไม่ได้รักสวยรักงามเท่าไหร่ ไม่ได้ชอบการประกวด เดินแบบไม่เป็น เต้นไม่ได้ ประดิษฐ์ผ้าไม่ได้ ถ้าจัดอยู่ในกลุ่มตุ๊ดก็จะเป็นตุ๊ดง่อย ไม่มีสกิลการเป็นตุ๊ด แต่พอจะเป็นเกย์ เราก็ไม่เล่นฟิตเนส ไม่ได้ดูมีความเป็นชาย แต่ไม่ใช่ว่าเราคุยกับเขาไม่ได้ เราคุยได้ แต่เรารู้สึกไม่เป็นพวกเดียวกันกับเขา เรามักจะจับกลุ่มกับเด็กเนิร์ดที่เล่นเกมส์การ์ด ดูอนิเมะ เขียนนิยาย เขียนการ์ตูน เป็นพื้นที่ที่เขายอมรับเรา

เราไม่ได้โกรธที่เขากีดกัน เรารู้สึกมันติงต๊อง แต่พอเรามาทบทวนตัวเองจริงๆ เรามีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนตุ๊ดและเกย์จริงๆ เพราะฉะนั้น identity ช่วงแรกสุดของเราคือเกย์สาว แต่ในความรู้สึกเราเกย์สาวไม่ได้อยู่ใต้เกย์ แต่เป็นสิ่งใหม่ เป็นสำนึกใหม่อย่างหนึ่ง

เราเริ่มเข้าสู่โซเชียลตอนม.ปลาย เราไปเจอเว็บหนึ่งเป็นชุมชนเกย์เล็กๆ ในเน็ต เพื่อเข้ามาหาคู่ มาพูดคุย แต่เราค้นพบว่าเราไม่ได้เป็นที่ต้องการของใคร เกย์จะเขียนโปรไฟล์แปะไว้เลยว่า “ไม่พูดคุยกับพวกที่ออกสาว” และเรารู้ตัวดีว่าเราไม่สามารถอำพรางสิ่งที่เราเป็นได้ เรารู้ว่าเรามีความสาวและเราไม่เคยคิดจะอำพรางมัน พอจะไปคุยกับใครก็จะเจอคำถามว่า “สาวป้ะๆ?” จากทุกคน แล้วก็โดนกีดกันออกมาเรื่อยๆ

จนเราตั้งกลุ่มในห้องแชตเป็นกลุ่มเกย์สาวขึ้นมา เพื่อรวบรวมคนที่รู้สึกอึดอัดจากการถูกกีดกันจากกลุ่มเกย์ เรารู้สึกอึดอัด เรายอมรับได้ที่เขาไม่คุยกับเรา แต่มันต้องไม่ถึงขั้นเขียนด่าเหมือนเราไม่มีคุณค่า และมันไม่ควรอยู่ในโปรไฟล์สาธารณะ ถ้าไปด่าเราในแชตโอเคได้ แต่นี่คือเหมือนทุกคนจะได้รับค่านิยมความเกลียดชังเกย์สาว ตอนนั้นเรายังไม่มีนิยามที่ดีกว่าเกย์สาว ตอนนั้นเราคิดว่าเกย์สาวก็ต้องทัดเทียมกับเกย์ คุณค่าต้องเท่ากัน ต้องไม่มีใครมากดคุณค่าหรืออัตลักษณ์ของเราว่ามันต่ำต้อยกว่า ไม่เป็นที่นิยม ไม่ได้ คุณต้องให้เกียรติ

การต่อสู้ในตอนนั้นเรายังไม่สมาทานความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและเหตุผล การต่อสู้ก็เลยกลายเป็นการด่า ด่าจนกว่าจะยอมฉัน สิ่งที่เราต่อสู้ก็คือใครก็ตามที่เขียนโปรไฟล์เหยียดเกย์สาว พูดไม่ดีมากๆ จนถึงจุดหนึ่ง เราจะต้องไปบังคับให้เขาเปลี่ยน เป็นการต่อสู้ของคนบ้ากลุ่มหนึ่ง (หัวเราะ) จนทุกคนต้องคอยเปลี่ยนโปรไฟล์ ให้เวลาสามสิบนาที ไม่เปลี่ยน ด่า

วันหนึ่งเรารู้สึกว่าเกย์สาวมันยังไม่พอ ตราบใดที่เรายัง label ตัวเองว่าเป็นเกย์อยู่ ยังไงเราก็ไม่ใช่ค่านิยมกระแสหลักของเกย์ เราก็ยังเป็นชายขอบที่ถูกกดทับอยู่ดี ทุกวันนี้ก็ยังเป็น ค่านิยมเกย์เป็นอะไรที่นับถือบูชาความเป็นชายมากๆ จนบางทีมันเลยกว่าผู้ชายในสังคมไปอีก อะไรที่สาวก็จะโดนกด การต่อสู้ที่เรายังนิยามว่าเราเป็นเกย์มันไม่มีประโยชน์ เราไปหาคำใหม่ดีกว่า คำที่นิยามตัวเราได้ดีกว่านี้

ตอนแรกเราเลือก androgyne คือการผสมผสานระหว่างชายหญิง แต่ไปๆ มาๆ เรากลับรู้สึกว่า คำว่า “ผสมผสานระหว่างชายหญิง” มันคือการที่เราต้องรู้สิ่งที่ผู้ชายและผู้หญิงเป็น แต่เราไม่รู้ เราเป็นอะไรอย่างอื่น เราไม่ได้มีสำนึกร่วมของทั้งสองอย่าง

จนเรามาเจอคำว่านอน-ไบนารี่ ตอนนั้นขนาดรู้แค่ว่า นอน-ไบนารี่คือกลุ่มสำนึกทางเพศที่ไม่ใช่ชายและหญิง แค่นั้น แค่คีย์นั้น เรารู้เลยว่ามันคือเรา มันเป็นสิ่งที่เราตามหามานาน มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เกย์ ไม่ใช่เลส ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่หญิง และเราภูมิใจกับสิ่งที่เราเป็น อะไรก็ได้ที่เราเป็นตอนนี้ มันเหมือนการตื่นรู้อะไรบางอย่าง ตอนนั้นเราร้องไห้ ตัวสั่น เหมือนเราตามหามานาน ทำให้เรารู้สึกว่าในที่สุดเราค้นพบคำที่เราจะใช้ในการต่อสู้ มันคือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นฉันได้มากกว่าและถูกต้อง

เราเรียกภาวะนี้ของเราว่าเป็นการตรัสรู้ทางเพศ ขนาดนั้นเลย การตรัสรู้หรือเข้าใจแจ่มแจ้งในอะไรบางอย่างที่มันเคยกดทับลดทอนเรา ที่เราตามหามันมีอยู่จริง เหมือนเป็นการปลดล็อก คือยังไม่ได้ทำอะไรเลยแต่ในความคิดของเราคือเราหลุดพ้นแล้วซึ่งความทุกข์และสิ่งที่กดดันเรามาตลอด เรารู้สึกว่าสิ่งนี้คือแสงสว่าง คือสิ่งที่มอบพลังให้กับเรา ให้เรายืนหยัดและต่อสู้ไปได้

ในชีวิต สิ่งที่เราขบคิดมาตลอดเวลาคือเรื่องเพศ สิ่งที่เราเป็นมันแตกต่างไปนะ ทำไมทุกคนถึงต้องเชื่อในความเป็นชายเป็นหญิงกันขนาดนั้น มันมีคำถามนี้มาตลอดก่อนจะมาพบคำว่านอน-ไบนารี่ พอมาพบมันคือคำอธิบาย และ เฮ้ย! มันมีคนคิดเหมือนเราว่ะ ตั้งคำถามเหมือนกับเรา

เพศของเราตอนนี้คือเราตั้งขึ้นมาใหม่ เรียกมันว่า Gender Enlightenment มันคือคนๆ หนึ่งที่มีความต้องการสูงสุดที่จะหลุดออกมาจากกรอบของชายหญิง เราจะไปเทียบกับสมณเพศเลยไง เหมือนเราหลุดออกมาแล้วเราก็อยากเผยแพร่ให้ทุกคนได้ปลดปล่อย คนที่เคยตกระกำและทุกข์ทนกับกรอบชายหญิง คนที่เป็นเหมือนเราแล้วเขาได้หลุดออกมาเราจะดีใจมาก คืออย่างน้อยเราได้หลุดพ้นออกมาจากความทุกข์ภายในใจของเราแล้ว

ตอนนี้ถ้าใครถามเราก็จะบอกว่าเป็นนอน-ไบนารี่ซึ่งเป็นร่มใหญ่ๆ แต่สิ่งที่เราเน้นคือภาวะหนึ่งๆ ที่เราตื่นรู้ เหมือนประสบการณ์ชีวิตทำให้เราไปเจอคำว่าอะไร และคำไหนคือเราจริงๆ

ตั้งแต่นั้นเราก็เริ่มมาศึกษาเรื่องนอน-ไบนารี่ เรื่องสิทธิมนุษยชน การด่าทอสุดท้ายมันเหนื่อยและมันไม่ได้อะไรไปมากกว่าการแค่ด่าเขา ทุกคนไม่ได้เข้าใจแต่แค่กลัวที่เราจะด่า สิ่งที่ตอบโจทย์คือการใช้เหตุผล


 

ในกลุ่มนอน-ไบนารี่ดูจะมีสำนึกทางเพศที่หลากหลายมาก?

คณาสิต: นอน-ไบนารี่คนอื่นก็จะมีสำนึกอีกหลายแบบที่ไม่เหมือนกัน เช่น มีคนที่เป็น Agender ไม่ต้องการมีเพศใดๆ androgyne ผสมผสานระหว่างสองเพศ Gender Fluid เพศที่ลื่นไหลไปมา และอีกมากมาย
 

ปัญหาของกรอบคิดแบบไบนารี่?

คณาสิต: กรอบค่านิยมแบบไบนารี่ชายหญิงมันกดทับและสร้างปัญหาบางอย่าง ล่าสุดที่คุยกันในกลุ่ม เรามองว่าปัญหาการข่มขืนส่วนหนึ่งมาจากกรอบไบนารี่ การแบ่งแยก เราให้สิ่งเด่นกับผู้ชาย สิ่งด้อยกับผู้หญิง และมันทำให้ผู้ชายรู้สึกตัวเองมีอำนาจ ถูกหล่อหลอมให้ต้องใช้อำนาจนั้นกับผู้หญิง

ส่วนใหญ่พอเป็นเพศสภาพชาย แม้คนจะรับรู้ว่าเป็นตุ๊ด แต่เราก็ยังถูกคาดหวังในคุณค่าของความเป็นชายอยู่ดี เช่น อยู่กับเพื่อน ถึงมึงจะเป็นตุ๊ดแต่มึงก็มีโครงร่างของผู้ชาย มึงต้องยกของหนัก ซึ่งจริงๆ มันช่วยกันยกก็ได้

เราสนใจเรื่อง feminist แต่ในมุมมองของเราถ้าคุณยังแบ่งตัวเองว่าเป็นชายและหญิงแล้วสู้กัน มันก็เหมือนการสู้กันในขั้วตรงข้าม มันจะไม่มีวันจบสิ้น และมันไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด

เราเข้าใจว่าการต่อสู้ทางด้านเพศต้องเข้าใจในความหลากหลายของเพศ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นสลายกรอบ แต่ต้องบาลานซ์ทุกเพศให้เท่ากัน เพราะตอนนี้คือครึ่งหนึ่งของชีวิตเราโดนปิดกั้นบทบาททางเพศไปแล้ว
 


ทำไมต้องแบ่งออกมาเป็นนอน-ไบนารี่อีก ทำไมไม่ขับเคลื่อนร่วมกับกลุ่ม LGBT?

คณาสิต: ประเด็นคือเรามีปัญหาลึกๆ ที่มากกว่าแค่ต้องการคำนิยาม แต่สิ่งแรกคือคนต้องเข้าใจในนิยามของมันก่อน เพื่อจะเกริ่นไปสู่ปัญหาที่แท้จริง ว่าการที่เราเป็นแบบนี้มันมีปัญหาอะไรในการใช้ชีวิต มันมีความอึดอัด ปัญหาอะไรยังไม่ได้แก้ไข นำไปสู่การขับเคลื่อนทางการเมือง แต่ทุกคนก็จะคิดว่ามันเป็นความเรื่องมาก

การขับเคลื่อนบางอย่างของพวกเขามันก็เป็นปัญหาของเราด้วย เช่น แน่นอนเราสนับสนุนสิทธิการสมรสเพศเดียวกัน และร่วมขับเคลื่อนได้ แต่จะมีปัญหาหลายอย่างที่เราไปกันไม่ได้  เพราะใน LGBT ส่วนหนึ่งก็ยังมีความคิดแบบไบนารี่ แม้เขาจะบอกว่ามีเพศที่หลากหลาย แต่สุดท้ายแล้วความคิดของเขาคือสำนึกทางเพศของคนเรามีแค่ชายหรือหญิง

แต่เรามองว่าการที่คุณจะทำงานเคลื่อนไหวในเรื่องเพศ คุณต้องเข้าใจทุกกลุ่ม ต้องไม่มาปิดกั้นกลุ่มอื่น ถ้าเขาขับเคลื่อนว่าสุดท้ายสำนึกทางเพศมีแค่ชายกับหญิง เราก็ไม่สามารถที่จะไปขับเคลื่อนร่วมกับเขาได้ เพราะเขาปิดกั้นเราไปแล้ว เราไม่มีตัวตนแล้วสำหรับเขา เราเคยถกเถียงเรื่องนี้กับกลุ่ม LGBT ซึ่งบางส่วนก็มองว่าเราเป็นแค่คนที่เพ้อเจ้อ แปลกประหลาด แต่พวกเขาไม่ได้มองว่าสิ่งนี้มันเคยเกิดขึ้นกับพวกเขามาก่อน ตอนที่ LGBT ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าวันนี้

เรายินดีที่จะขับเคลื่อนร่วมกับ LGBT แต่ว่าแนวคิดบางอย่างมันจะทำให้บางเรื่องเราไม่สามารถไปกันได้จริงๆ ไม่ใช่อยากจะแยก ไม่ได้อยากจะเด่นแล้วตั้งนอน-ไบนารี่ขึ้นมาแข่ง แต่ถ้าเราเจอคนที่ไม่เข้าใจสำนึกแบบนอน-ไบนารี่ เราจะไปทำงานร่วมกับเขาได้ยังไง เราจะทำงานร่วมกับคนที่มองว่าเราไร้ตัวตน เป็นแค่ความเพ้อเจ้อได้ยังไง 
 

ปัญหาอะไรบ้างที่คุณอยากเสนอให้มีการแก้ไข?

คณาสิต: เรื่องแรกที่เราอยากเรียกร้องคือห้องน้ำกลาง อย่างคนที่เป็นหญิงข้ามเพศ แต่ยังมีโครงร่างใหญ่ เดินเข้าห้องน้ำหญิง เกิดอะไรขึ้น? ผู้หญิงบางคนกลัว เรียก รปภ. มีการถกเถียงกันมากมาย สมควรไหมที่จะให้เข้าห้องน้ำหญิง เป็นผู้ชายปลอมตัวมารึเปล่า ต้องมีมาตรการอะไร ต้องแปลงเพศหรือยัง ต้องตรวจสอบทางจิตรึเปล่า มันกลายเป็นว่าการที่เราจะเดินเข้าห้องน้ำเพื่อไปขี้ไปเยี่ยว เราต้องตรวจสอบทางจิตด้วยเหรอวะ หลายๆ คนการจะไปเข้าห้องน้ำเหนื่อยมาก โดนตาม รปภ. แม่บ้านมากั้นไม่ให้เข้า ขอตรวจบัตรประชาชน ผู้หญิงมอง ร้องกรี๊ด พอจะไปเข้าห้องน้ำชายด้วยสารร่างเป็นหญิงก็ไม่ได้อีก

ถ้ามันมีพื้นที่กลาง เป็นห้องน้ำที่ใครก็ได้เข้ามา ไม่ต้องมีใครมาตรวจสอบ ไม่ต้องมีใครรู้สึกไม่สบายใจ เข้าห้องน้ำมาทำกิจกรรมส่วนตัวแล้วออกไป จบ นี่คือสิ่งที่เราต้องการ เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกตรวจสอบจากใคร ไม่ถูกสงสัยจากใคร ไม่ถูกหวาดระแวง ไม่ถูกเรียก รปภ. ไม่ต้องกรอกแบบสอบถามทางจิตเพื่อเข้าห้องน้ำ

เพราะฉะนั้นห้องน้ำที่ไม่ระบุเพศถ้ามันเกิดขึ้นมา มันจะตอบโจทย์หมดเลย ไม่สบายใจคุณเข้าห้องน้ำกลางได้ หรือชายหญิงทั่วไปอยากเข้าก็เข้าได้ ใครก็ได้เข้าได้หมดเลย เราไม่มีการแบ่งแยกห้องน้ำของเรา แต่ทีนี้คนก็จะนึกถึงประเด็นความปลอดภัย มันจะมีการข่มขืนกันเกิดขึ้นไหม เราก็รับฟัง เพราะฉะนั้นเราก็เลยออกแบบโดยนึกถึงห้องน้ำคนพิการ ตามปั๊มที่ตั้งอยู่ข้างหน้าตรงกลาง ของเราก็อาจจะไปเรียงติดกับห้องน้ำคนพิการมีสักสองสามห้อง

ส่วนการขับเคลื่อนด้านอื่นที่เราคิดคือเรื่องการศึกษา เราอยากเสริมสร้างพื้นฐานให้คนเข้าใจตั้งแต่เด็กว่าการเลี้ยงดูเด็กแบบแบ่งแยกเพศมันมีปัญหายังไง ถ้าสอนเด็ก ไม่ว่าเขาจะมีเพศกำเนิดอะไร ก็สอนให้เขาเข้าใจทุกมิติ ทุกเพศมีทั้งด้านมีอำนาจและด้านอ่อนหวานได้ ไม่ต้องไปกีดกันว่าเป็นเด็กผู้ชายห้ามหยิบของสีชมพู ให้เขาเรียนรู้สิ ปล่อยให้เขาทำสิ่งที่อยากทำ ให้เขาเป็น gender neutral ไม่ต้องไปปิดกั้น ถ้าเป็นแบบนี้เด็กก็จะไม่มีความรู้สึกแปลกแยกตั้งแต่แรกเลย ฉันชอบของเล่นสาวฉันก็ไม่ได้ต้องนิยามตัวเองว่าเป็นตุ๊ด ฉันก็ไม่ได้แปลกแยกจากสังคมอีกต่อไป เพราะฉันจะเป็นอะไรก็ได้และเด็กทุกคนก็จะเคารพว่าเป็นสิทธิของเขา ไม่ได้ผิดปกติ มันก็จะไม่สร้างปัญหาอื่นๆ เมื่อเด็กโตขึ้น ไม่ได้รับความรู้สึกถูกบีบหรือกดดันจากสังคม

มณีนันท์: เรามองว่าพื้นที่ของคนที่อยู่ตรงกลางมันควรต้องมี ควรต้องมีคำกลางๆ ไว้ใช้อย่างเป็นทางการ เช่น คำนำหน้านามที่ไม่ระบุเพศในเอกสารราชการ คำสรรพนาม คำลงท้ายที่ไม่แบ่งแยกเพศและเป็นทางการด้วย เพราะสำหรับสังคมไทยมันสำคัญ หรือถ้าเป็นต่างประเทศจะเป็นเรื่อง pronoun หรือกระทั่งเวลาไปร้านแล้วเขาเรียกเราว่าคุณผู้หญิง เราก็รู้สึกแปลกๆ ถ้าเรียกแค่ว่า คุณลูกค้า ก็น่าจะดีกว่า

นอกจากนี้ก็มีเรื่องการแต่งกายที่สุภาพถูกต้องทางราชการที่ไม่แบ่งแยกเพศ เคยมีประเด็นคือชุดที่จะเข้าไปไหว้พระบรมศพ แม้สำนักพระราชวังจะประกาศว่าแต่งกายสุภาพในแบบที่ต้องการได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงเจ้าหน้าที่กลับไม่ให้ทำแบบนั้น
 

นอน-ไบนารี่มีตัวอย่างตั้งแต่ในระดับสรีรวิทยา?

คณาสิต: ในฐานะที่เราเรียนมาทางด้าน Biology มันมีเปเปอร์หนึ่งเขียนเกี่ยวกับเรื่องสรีรวิทยา การแบ่งเพศตั้งแต่ในระดับชีวะ มันก็ไม่ได้แบ่งเพศเป็นแค่สอง มันมีกลุ่ม Intersex มีกลุ่มที่โน้มเอียงเป็น Sex Spectrum มันไม่ได้แบ่งเป็นแค่สองเพศ หรือในโครโมโซมก็ไม่ได้มีแค่ XX (หญิง) กับ XY (ชาย) แต่วิทยาศาสตร์จะตีความว่ามันเป็นความผิดปกติ ซึ่งคำนี้เราไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่

Intersex มีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบที่เกิดมาอวัยวะเพศกำกวม หรือแบบที่ ถ้าพูดแบบเข้าใจง่ายคือ เกิดมาตอนแรกมีอวัยวะเพศผู้หญิง แต่พออายุ 12 ปี อวัยวะเพศชายที่ซ่อนอยู่จะโผล่ออกมา กลายเป็นผู้ชาย หรือกลุ่มที่เกิดมามีโครงสร้างทุกอย่างเป็นผู้หญิงแต่พอไปตรวจโครโมโซมแล้วเป็น XY จะมารู้ตอนที่มีบุตรไม่ได้แล้วหมอบอกว่าเป็นหมัน คุณไม่มีรังไข่มาตั้งแต่แรกแต่คุณมีอัณฑะแฝงอยู่แทน หรือเคสที่มีอวัยวะเพศกำกวม คือมีอวัยวะเพศหญิงแต่ก็มีส่วนของอวัยวะเพศชายงอกออกมาด้วยนิดนึง ทำให้ส่วนของผู้หญิงใช้งานไม่ได้ ส่วนของผู้ชายก็ใช้งานไม่ได้ หรือคนที่มีโครโมโซมทั้งสองชุด XX XY  เพราะฉะนั้นการแบ่งแยกอย่างง่ายมันเลยไม่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก

ด้วยความที่เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย สนใจสิทธิมนุษยชนด้วย บางครั้งการตีความบางอย่างมันตั้งอยู่ในสมมติฐานที่แปลกๆ เหมือนกัน เช่น ชีววิทยาจะเน้นไปที่การสืบพันธุ์ สิ่งมีชีวิตคือสิ่งที่ต้องออกลูกออกหลานได้ ดำรงเผ่าพันธุ์ตัวเองได้ สิ่งใดที่สืบพันธุ์ไม่ได้จะถูกมองว่าไม่มีคุณค่าเชิงชีววิทยา เขาก็เลยมองว่า Intersex คือสิ่งที่บกพร่อง ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ แต่ถ้าเรามองเรื่องของความเป็นมนุษย์ ไม่มีคนไหนที่บกพร่องรึเปล่า คุณจะไปตัดสินว่า เธอบกพร่อง แบบนี้ได้เลยเหรอ แต่มันก็มีวิวัฒนาการของคำ กลุ่มการแพทย์หลายกลุ่มเขาเปลี่ยนคำที่ฟังไม่ค่อยดี เช่น คำว่า “โรคผิดปกติทางพันธุกรรม” เป็น “ความหลากหลายทางพันธุกรรม” มันมีคนที่คิดได้จริงๆ ว่าเราควรจะใช้คำที่มันดีกว่านี้ แม้กระทั่งในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ มันเลือกใช้ได้ มันไม่ใช่ว่าคุณต้องยอมรับว่ามันคือความผิดปกติ ความผิดปกติของอะไร คุณใช้อะไรมาเป็นบรรทัดฐานของความปกติ

บอกว่า Intersex ผิดปกติ เขาผิดปกติยังไง เขาเพียงแต่ไม่สืบพันธุ์ตามหลักชีววิทยา Intersex มี 2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก มีเท่ากับคนที่มียีนผมสีแดง 2 เปอร์เซ็นต์ของโลกไม่น้อยนะ โลกนี้มีประชากรกี่พันล้านคน เรามอง Intersex ในฐานะที่เป็นนอน-ไบนารี่ทางธรรมชาติ หลายๆ คนพอคุยกันเขาก็ไม่ได้อยากจะเป็นชายหรือหญิง

มณีนันท์: ในไทย Intersex ไม่มีแม้แต่การรณรงค์ด้วยซ้ำว่าปล่อยให้เด็กเขาเลือกเพศเอง ในต่างประเทศเขาต่อสู้กันมาก บางทีหมออยากปัดปัญหาให้พ้นตัว บอกว่าเก็บอวัยวะเพศส่วนนี้ไว้เดี๋ยวก็เป็นมะเร็ง จัดการตัดนู่นนั่นนี้ แล้วพอเด็กโตขึ้นเด็กไม่ได้เป็นไปตามสรีระที่ได้รับก็มีปัญหา กลายเป็นว่าหมอกับผู้ปกครองเป็นคนเลือกเพศให้แก่เด็ก เด็กไม่ได้เลือกเองและก็มี Intersex หลายคนมาลงตัวที่นอน-ไบนารี่
 

เราสามารถดำเนินชีวิตโดยใช้หลักคิดแบบนอน-ไบนารี่ในการใช้ชีวิตประจำวันได้จริงไหม ในสังคมที่ยังมีการแบ่งแยกบทบาททางเพศอยู่?

คณาสิต: หลักคิดแบบนอน-ไบนารี่คือการเปิดกว้างต่อทุกสำนึกทางเพศ และเรียนรู้ทำความเข้าใจกับตัวตนที่หลากหลายของผู้คน ในสังคมที่มีการแบ่งแยกเพศ มันมีปัญหาอยู่มากเพราะสังคมกำหนดและคาดหวังให้ชายและหญิงมีภาระหน้าที่ต่อสังคมที่แตกต่างกัน

หลักคิดแบบนอน-ไบนารี่จะช่วยให้เราไม่แบ่งแยกโลกออกเป็น 2 ใบ คือโลกที่คิดแบบผู้ชาย กับ โลกที่คิดแบบผู้หญิง เปิดรับความเข้าใจทุกมิติของมนุษย์ที่จริงแล้วเราสามารถมีคุณสมบัติและบทบาททุกๆ อย่างได้ในคนๆ เดียว หลักคิดของนอน-ไบนารี่ทำให้เราไม่ตัดสินคนจากเพศกำเนิด ไม่คาดหวัง กดดันให้ใครเป็นไปตามบทบาททางเพศ ไม่สร้างแรงกดดันต่อตนเองและคนอื่นที่จะต้องดิ้นรนเพื่อเป็นไปตามบทบาทที่สังคมมอบให้ ที่หากใครก็ตามที่ทำไม่ได้ก็จะไม่ได้รับการยอมรับและด้อยคุณค่า หลักคิดของนอน-ไบนารี่จึงเจือจางปัญหาที่เกิดการการแบ่งขั้วทางเพศหรือชายเป็นใหญ่ การข่มขืนลวนลาม การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง และลำดับชั้นทางเพศ การเลือกปฏิบัติทางเพศ อันเกิดจากอคติที่ว่า ผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชายอีกด้วย

บทบาททางเพศ สถานะของคู่รัก ใครรุก รับ สถานะทางครอบครัว ใครสามี ภรรยา ใครผัว ใครเมีย ซึ่งเป็นบทบาทที่ถอดแบบจากสังคมชายหญิง นอน-ไบนารี่ไม่ฟิกซ์บทบาททางเพศและสถานะต่างๆ ไม่มีขั้วตรงข้ามเลย

ถ้าเป็นมิติมุมมองอื่นๆ คือ เราจะไม่แบ่งแยกและตัดสินทุกอย่างด้วยคู่ตรงข้าม ดี-เลว ขาว-ดำ ระลึกถึงความหลากหลายและซับซ้อนของทุกตัวตน ค่านิยมที่มีในสังคม ทำให้เราเป็นอิสระไม่ยึดติดกับการแบ่งแยกทางเพศ เช่น เสื้อผ้าสำหรับชายหญิง เราเดินดูหมดและสามารถแมทช์เสื้อผ้าที่เราต้องการได้ ทำให้มีทางเลือกที่หลากหลายเป็นอิสระได้มากกว่าเดิม

ภาระหน้าที่ต่างๆ พอเป็นนอน-ไบนารี่มันก็สามารถทำได้ทุกอย่างที่เราสนใจจะทำ ไม่มานั่งคิดจำกัดว่า นี่เป็นงานของผู้หญิงนะเราทำไม่ได้ นี่งานเฉพาะของผู้ชายเท่านั้น ทำให้เราทลายกำแพงอคติ ชุดค่านิยมที่แบ่งแยกเพศ และกีดกันไม่ให้เราเข้าถึงพื้นที่อีกครึ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกคนสูญเสียโอกาสที่จะมีความสมบูรณ์จากการเข้าถึงพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเท่ากับพื้นที่ทางการศึกษา การงาน บทบาทต่างๆ ก็ตาม

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net