Skip to main content
sharethis

ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง 'รักษ์เชียงของ' หวังปรับกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน ทั้งระดับระหว่างประเทศ และประชาชน นักวิชาการ พร้อมคำถามจีนจะยอมถอยหยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

9 ม.ค. 2561 เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ ให้ข้อมูลว่าจากการสอบถามกับ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ แห่งกลุ่มรักษ์เชียงของ เกี่ยวกับการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง Lancang-Mekong Cooperation (LMC) Leaders' meeting ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.61) ที่กรุงพนมเปญ โดยสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ร่วมเป็นเจ้าภาพ สรุปดังนี้ เมื่อได้รับรู้ข่าวถึงที่ รมว.ต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ในรายงานข่าวว่า จีนยอมถอยเรื่องการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ประเด็นที่น่าสนใจคือ เป็นความรู้สึกที่ดีของพี่น้องชาวบ้านในลุ่มน้ำโขง ที่อย่างไรก็จะยังยืนยันว่าโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์นั้น จะสร้างความเสียหายแก่แม่น้ำโขงอย่างใหญ่หลวง และสร้างความเดือดร้อนให้เรา 

ข้อสรุปของ เพียรพร จากการคุยกับ นิวัฒน์ ระบุด้วยว่า สิ่งที่สำคัญกับพี่น้องในลุ่มน้ำโขง ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เนื่องจากขณะนี้ยังมีโครงการขนาดใหญ่มากมายที่สร้างปัญหาให้แม่น้ำโขง แต่ยังไม่ได้รับการพูดคุยระหว่างรัฐบาลในลุ่มน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะผลกระทบจากเขื่อน ต้องยอมรับว่าเขื่อนได้สร้างวิกฤติแม่น้ำโขง ทั้งเขื่อนในจีนที่สร้างไปแล้วถึง 8 เขื่อนในมณฑลยูนนาน และเขื่อนที่จะสร้างเพิ่มบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาแม่น้ำโขงไปสู่ความสมดุล ทั้งส่งเสริมการค้า และการรักษาทรัพยากร จะต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน ทั้งระดับระหว่างประเทศ และประชาชน นักวิชาการ  เพราะที่ผ่านมาโครงการต่างๆ อาทิ เขื่อนแม่น้ำโขง และโครงการเดินเรือหรือระเบิดแก่ง การศึกษาผลกระทบเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถตอบประเด็นปัญหาผลกระทบในภาพรวมที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเพียงการศึกษาเป็นจุดๆ ไม่ได้ศึกษาในภาพรวมของแม่น้ำโขงทั้งลุ่มน้ำ ดังนั้นการยกระดับเพื่อการศึกษา ทำความเข้าใจแม่น้ำโขงร่วมกันในภูมิภาค จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะตอบปัญหาผลกระทบระดับลุ่มน้ำจากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ 
 
ปัจจุบัน องค์กรต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อบริหารแม่น้ำโขง เช่น คณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ เอ็มอาร์ซี และกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง LMC จะต้องให้ความสนใจ และยกเป็นวาระของการพัฒนาลุ่มน้ำโขงร่วมกัน เพราะที่ผ่านมา เรื่องราวต่างๆ ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการพูดถึงหรือผลักดันแก้ไขปัญหาร่วมกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบควรทำหน้าที่ หยิบยกประเด็นนี้เป็นวาระ 
 
ข้อสรุปของเพียรพรระบุด้วยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลจีนเริ่มเข้าใจมากขึ้นในเรื่องผลกระทบจากการที่จีนออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราในฐานะประเทศลุ่มน้ำโขง น่าจะใช้โอกาสนี้ในการปรึกษาหารือ พูดคุยกับรัฐบาลจีน เพื่อยกระดับการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net