Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางความไม่สงบ สิ่งที่ LGBT ในพื้นที่เผชิญคงเป็นได้เพียงชายขอบของปัญหา ความรุนแรงถูกทับซ้อนกันหลายระดับจนยุ่งเหยิง ทางออกเล็กที่พอมองเห็นในเบื้องต้นอาจต้องกลับไปที่ตัวบุคคลที่จะตีความคำสอนว่าใครกันแน่ที่สามารถพิพากษามนุษย์ได้

เอ๋เล่าว่า เพื่อนๆ ในพื้นที่ชนบทมีทัศนะว่าผู้หญิงเป็นทอมยังไม่น่าเกลียดเท่ากับผู้ชายเป็นเกย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เอกลับคิดว่าเกย์ใช้ชีวิตง่ายกว่ากะเทย ส่วนนาน่ามองอีกแบบว่า ทอมต่างหากที่เผชิญปัญหาหนักกว่าใคร เพราะการไม่คลุมฮิญาบเท่ากับการเปิดเผยตัวเอง ซึ่งผิดหลักศาสนา

ไม่มีคำตอบว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศกลุ่มไหน เป็นง่าย อยู่ง่ายกว่ากัน (คนหลากหลายทางเพศที่เป็นซีแยหรือพุทธอาจอยู่ง่ายกว่า เพราะมีแรงกดดันทางศาสนาน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เผชิญปัญหาหรือความรุนแรง) ที่พอบอกได้ ทุกเพศที่อยู่นอกกรอบชาย-หญิงล้วนต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากสังคม ศาสนา และครอบครัว บ้างเลือกแตกหัก บ้างเลือกต่อรองประนีประนอม บ้างเลือกเปลี่ยนแปลงตนเอง

คำถามสำคัญไม่ใช่เรื่องยากหรือง่าย แต่อยู่ที่ว่าอะไรคือหนทางที่มุสลิมในพื้นที่และความหลากหลายทางเพศจะสามารถอยู่ร่วมกันได้

...ไม่จำเป็นต้องมองหาคำตอบในงานชิ้นนี้ เพราะไม่มีให้

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าว่า จากการลงพื้นที่ เธอพบกรณีการทำร้ายร่างกายคนที่หลากหลายทางเพศ ซึ่งมักเกิดจากคนในครอบครัว บางรายถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสจนมีอาการทางจิตเภท บางรายหลังจากรับการรักษาตัวแล้วส่งกลับบ้านก็ยังถูกทำร้ายซ้ำอีก การกระทำเช่นนี้ผิดทั้งกฎหมายและหลักการอิสลาม แต่เธอยอมรับตรงไปตรงมาว่า การทำงานประเด็นนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องยาก ยังไม่ต้องล้ำหน้าไปว่ากันถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพียงแค่ประเด็นการละเมิดและทำร้ายร่างกายผู้หญิงก็ลำบากที่จะจัดการ

นอกจากนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่ต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนทับถมลงไปให้ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนหลากหลายทางเพศหรอก คนพิการ ผู้ติดยา ผู้ติดเชื้อ พนักงานบริการทางเพศ ฯลฯ ซึ่งเป็นคนชายขอบอยู่แล้ว ยิ่งถูกผลักไสออกสู่ชายขอบมากขึ้นๆ ท่ามกลางเสียงระเบิดและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ปัญหาที่เกิดกับคนกลุ่มน้อยและชายขอบเหล่านี้ดูไม่สลักสำคัญเท่ากับการยุติความไม่สงบลงเสียก่อน ด้วยการจัดลำดับความสำคัญทำนองนี้ พวกเขาจึงต้องอยู่อย่างไร้ตัวตนและเฝ้ารอ

“ถ้าเรามองความรุนแรงที่เกิดกับแอลจีบีทีในพื้นที่สามจังหวัด เราคิดว่ามันทับซ้อนกันหลายมิติ เวลาที่คนคนหนึ่งในสามจังหวัดเป็นมุสลิมด้วย เป็นแอลจีบีทีด้วย มันถูกกระทำรุนแรงจากหลายมิติ หลายรูปแบบ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นแอลจีบีทีอย่างเดียว เขาอาจถูกเลือกปฏิบัติจากมิติอื่นๆ จากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนของเขา” เป็นความเห็นของอันธิฌา

อัตลักษณ์ทางศาสนาและเชื้อชาติที่ถูกชูให้เข้มข้นขึ้นเพื่อต่อสู้ ต่อรองกับความเป็นสยาม มองความเป็นสมัยใหม่อย่างไม่เป็นมิตรนัก ความหลากหลายทางเพศถูกจัดหมวดหมู่เป็นผลพวงจากความเป็นสมัยใหม่ เรื่องมันก็เลยยิ่งหนักหนา แต่เอกรินทร์พยายามชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่

“ดูเหมือนว่าเรื่องแอลจีบีทีมาพร้อมกับโลกสมัยใหม่ ประเด็นสำคัญคือในทางประวัติศาสตร์สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกอิสลาม มันมีมานานแล้ว มีการต่อรองภายใต้เงื่อนไขบริบทสังคมนั้นๆ มาโดยตลอด แม้กระทั่งเมื่อเกิดรัฐชาติแล้วเรื่องอย่างนี้ก็ยังมีอยู่ ผมอยากบอกว่ามันไม่ใช่โจทย์เรื่องความสมัยใหม่ มันมีมาแต่โบราณแล้ว”

“ถ้าเรามองความรุนแรงที่เกิดกับแอลจีบีทีในพื้นที่สามจังหวัด เราคิดว่ามันทับซ้อนกันหลายมิติ เวลาที่คนคนหนึ่งในสามจังหวัดเป็นมุสลิมด้วย เป็นแอลจีบีทีด้วย มันถูกกระทำรุนแรงจากหลายมิติ หลายรูปแบบ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นแอลจีบีทีอย่างเดียว เขาอาจถูกเลือกปฏิบัติจากมิติอื่นๆ จากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนของเขา”

บทความชิ้นหนึ่งจาก www.gaystarnews.com เรื่อง The secret gay history of Islam ระบุว่า เดิมทีโลกอิสลามมองคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ทั้งยังเชื่อว่าศาสดามูฮัมหมัดให้การสนับสนุนและปกป้องคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ แต่ความคิดแบบคริสเตียนที่มาพร้อมการล่าอาณานิคมของตะวันตกต่างหากที่ทำให้โลกมุสลิมติดเชื้ออาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในที่สุด

............

“ศาสนาอิสลามจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร” เอกรินทร์ทวนคำถามของผม “เรื่องนี้ศาสนาไม่ได้ยอมรับอยู่แล้ว อิสลามก็คืออิสลาม เราไม่สามารถปรับบทบัญญัติศาสนาให้เข้ากับปรากฏการณ์ได้ แต่สิ่งท้าทายคือมุสลิมจะรับมืออย่างไร

“หนึ่งคือเราต้องมองก่อนว่า พวกเขาเป็นผู้ศรัทธาเช่นเดียวกับเรา คนมุสลิมต้องเข้าใจกันก่อนว่าคนที่เป็นแอลจีบีทีที่เป็นมุสลิมก็เป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า มีสถานะเท่าเรา มีคำในอัลกุรอานที่ผมอ่านอยู่ทุกวันคืออัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาและกรุณาปราณีกับเราเสมอ ผมชอบประโยคนี้มาก นั่นแปลว่าความเมตตาสำคัญมาก มันสอนให้เราเมตตาต่อคนอื่นด้วย ถ้าเราเป็นผู้ศรัทธา ผู้ที่เป็นแอลจีบีทีต้องกล้าแลกเปลี่ยนกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมคือเวลาที่เราคิดว่าเราเป็นคนเคร่งศาสนา เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ เราจะไม่คบกับคนที่เรารู้สึกว่าไม่ใช่บ่าวที่ดี

“สำหรับผมการแยกบ่าวที่ดีและบ่าวที่ไม่ดี มันทำให้ยากต่อการแก้ไขเรื่องแบบนี้ เป็นความท้าทายของชาวมุสลิมที่จะเข้าใจแอลจีบีทีในฐานะมนุษย์ด้วยกันและใช้ความเมตตาต่อกัน สุดท้าย เราไม่มีสิทธิกล่าวหาหรือทำอะไรกับเขาทั้งสิ้น เขากับเรามีสิทธิเท่ากัน

“สิ่งนี้เป็นเรื่องระหว่างคนคนนั้นกับพระผู้เป็นเจ้า เราไม่มีสิทธิไปตัดสินผิดบาปของเขาว่าเป็นคนดีหรือคนเลว นั่นไม่ใช่หน้าที่เรา”

น่าจะพอเป็นทางออกในแง่การตีความหลักศาสนาและในแง่ปัจเจกบุคคลในสถานการณ์นี้

..............

ในภาษามลายู คำว่า ‘ปอแน’ หมายถึงกะเทยหรือผู้ชายที่ทำตัวตุ้งติ้งเป็นผู้หญิง ส่วนเลสเบี้ยน เกย์ ทอม ดี้ ไบเซ็กชวล เควียร์ หรือคำเรียกเพศอื่นๆ ยังไม่มีการบัญญัติใช้ในภาษามลายู ด้านหนึ่งสะท้อนภาวะการปรับเปลี่ยนไม่ทันของภาษามลายูเพื่อใช้เรียกหรือนิยามสิ่งต่างๆ

คนในพื้นที่แสดงความเห็นว่า ปอแน ไม่สามารถตีความรวมถึงเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่กะเทยได้ แต่อีกบางคนบอกว่าสามารถทำได้ เป็นความอิหลักอิเหลื่อไม่น้อยยามที่ไม่มีภาษาใช้เรียกขาน พอพูดได้ว่า นอกจากกะเทยแล้ว แอลจีบีทีกลุ่มอื่นๆ ไม่มีที่ทางในภาษามลายู การใช้คำทับศัพท์เป็นทางแก้ช่วยให้มุสลิมในพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูรู้ว่าจะเรียกขานคนที่แตกต่างอย่างไร

มันไม่ง่ายเลยจริงๆ ที่จะเป็น ‘ปอแน’ ทอม ดี้ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล เควียร์...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net