Skip to main content
sharethis

เอฟทีเอ ว็อทช์ แสดงความกังวล เหตุ พล.อ.ประยุทธ์ หารือร่วม รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ หวั่นกดดันให้ไทยแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ให้รับจดสิทธิบัตรง่ายๆ และให้ไทยยุติแบนการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตราย

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

27 ก.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (27 ก.ย.60) เมื่อเวลาเวลา 15.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หารือร่วมกับ วิลเบอร์ แอล รอสส์ จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกานั้น

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) แถลงท่านทีระบุว่า ค่อนข้างมีความกังวลว่า รัฐบาลทหารของไทยซึ่งต้องการแสวงการยอมรับจากประเทศมหาอำนาจจากสหรัฐฯ จะยอมตามแรงกดดันของสหรัฐในหลายเรื่อง

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ กล่าวว่า เรื่องที่เราเป็นห่วงมาก คือ การที่สหรัฐไม่ต้องการให้ประเทศไทยแบนการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตราย 2 ตัวคือ พาราควอท และ คลอไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสท ซึ่งขณะนี้ ประเทศต่างๆเริ่มทยอยเลิกใช้ แต่ประเทศไทศซึ่งประกาศจะเป็นครัวโลก นำเข้าสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงเช่นนี้ อย่างพาราควอทนำเข้าเป็นอันดับ 6 ของโลก บรรษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาจึงใช้โอกาสนี้ในการกดดันไทยห้ามแบน เช่นเดียวกับที่มีความพยายามกดดันให้ไทยแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ให้รับจดสิทธิบัตรง่ายๆ ทั้งที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่มีความใหม่หรือแทบไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้นเลย เพื่อคงการผูกขาดสิทธ์ในทรัพย์สินทางปัญญาด้านยา

"เพียงแค่ 2 ประเด็นนี้จะเป็นการทำลายการวิจัยและพัฒนาในประเทศ เพิ่มภาระด้านสาธารณสุข และทำลายความสามารถทางการแข่งขันของไทย เรายังหวังว่า รัฐบาล คสช.จะไม่ยอมแลกชีวิตของผู้คน กับการยอมรับจากสหรัฐฯ เช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีรัฐบาลรัฐประหาร สหรัฐฯจะฉวยโอกาสกดดัน เช่นในสมัยรัฐบาล รสช. ก็เคยกดดันให้ไทยแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร ให้สิทธิบัตรยา และยกเลิกภาษีนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งสร้างความเสียหายมาตราบจนทุกวันนี้แล้ว"  รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ กล่าว

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานด้วยว่า พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้สรุปการหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการบริหารงานตลอดช่วง 3 ปีว่า รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับ IUU ICAO  การค้ามนุษย์ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล  รวมทั้งขจัดอุปสรรคการค้า การลงทุน และเร่งปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ  สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนด้วย  โดยมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือพัฒนาประเทศให้ “มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” สำหรับพัฒนาการทางการเมืองนั้น  รัฐบาลเดินหน้าตาม Roadmap เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวชื่นชมการลงทุนของทั้งไทยและสหรัฐ ฯ ว่า มีแนวโน้มที่ดี  และขอให้สหรัฐอเมริกาช่วยดูแลนักลงทุนไทยในสหรัฐ ฯ ด้วย ที่ผ่านมามีเอกชนไทยจำนวนมากที่ได้เข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา ช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับชาวอเมริกัน ภายใต้สนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย – สหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1966 นักลงทุนสหรัฐอเมริกาได้รับสิทธิพิเศษเทียบเท่ากับคนไทย  การลงทุนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย สำหรับประเด็นข้อห่วงใยด้านการค้าและการลงทุนต่างๆ นั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อมั่นสหรัฐ ฯ ทราบถึงความจริงจังและจริงใจของรัฐบาลไทย และมั่นใจว่า การเดินทางเยือนสหรัฐ ฯ และการร่วมหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net