Skip to main content
sharethis

ในบางรัฐของอเมริกา การวางแผนครอบครัวรวมถึงการทำแท้งอาจจะเป็นเรื่องยากลำบาก ทั้งข้อห้าม นโยบายรัฐ หรือแม้แต่การต่อต้านจากผู้ประท้วงที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งพยายามต่อเหตุต่างๆ นานา ในรัฐเคนทักกี คลินิคทำแท้งแหล่งเดียวที่เหลืออยู่จึงต้องมีการฝึกฝนผู้ดูแลที่ไม่เพียงแค่คอยรักษาความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการเท่านั้น แต่ยังคอยดูแลความรู้สึกไม่ให้ผู้มาใช้บริการรู้สึกว่าทุกอย่างภายนอกกำลังต่อต้านพวกเธอ

ที่มาภาพจาก abortiondocs.org

7 ก.ย. 2560 สิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงหรือเรียกง่ายๆ ว่าสิทธิในการเลือกที่จะมีลูกหรือทำแท้งของผู้หญิงนั้นกำลังถูกโจมตีในสหรัฐฯ จากกลุ่มคนบางกลุ่ม จนทำให้คลินิคให้คำปรึกษาด้านอนามัยเจริญพันธุ์รวมถึงคลินิคทำแท้งบางส่วนถูกโจมตีหรือปิดตัวลง

อย่างไรก็ตามในรัฐเคนทักกี มีหญิงและชายสิบกว่าคนปฏิบัติการคุ้มครองคลินิคทำแท้งด้วยตนเอง พวกเขาสวมเสื้อกั๊กสีส้มที่เขียนว่า "อาสาสมัครคุ้มครองคลินิค" เรียงกันเป็นแถวอยู่ตรงข้ามกับศูนย์ศัลยกรรมสตรีอีเอ็มดับเบิลยู ในเมืองหลุยส์วิลล์ พวกเขาคอยดูแลความปลอดภัยให้กับคนรับบริการ จากการที่ในบางวันก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนรวมตัวกันหน้าคลินิคเพื่อแจกแผ่นพับและถือป้ายรูปที่ดูน่ากลัวเพื่อชักจูงให้คนไม่เข้าไปทำแท้ง

นิตยสาร Yes! นำเสนอเรื่องราวนี้โดยระบุว่าอีเอ็มดับเบิลยูเป็นสถานที่ทำแท้งที่เหลืออยู่ที่เดียวในรัฐเคนทักกี ทำให้ผู้หญิงในรัฐนี้มีความยากลำบากถ้าจะทำแท้ง คริสทีนผู้รับบริการรายหนึ่งที่ได้รับการคุ้มครองและนำทางโดยอาสาสมัครกลุ่มนี้บอกว่าทุกคนควรจะมีสิทธิเข้าถึงแหล่งบริการทำแท้งได้โดยไม่ถูกล่วงละเมิดรังควาญ

หน้าที่ของอาสาสมัครกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่ช่วยคุ้มกันลูกค้าเข้าสู่คลินิคเท่านั้นพวกเขายังให้การสนับสนุนทางความรู้สึกต่อผู้ป่วยด้วย ในรัฐที่มีคนพยายามขัดขวางไม่ให้คนเข้าทำแท้ง รวมถึงมีบริการแปลภาษาสำหรับผู้ที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ

คริสทีนบอกว่า ไม่มีผู้ประท้วงที่ไหนยืนขัดขวางไม่ให้คนที่ต้องการผ่าตัดหัวเข่าเข้ารับคำปรึกษา มีแต่ผู้ประท้วงที่ข่มขู่คุกคามบังคับให้คนอุ้มท้องต่อไป เธอเรียกสิ่งนี้ว่า "การบังคับขู่เข็ญให้สืบพันธุ์" (coerced reproduction)

เคนทักกีเป็นหนึ่งใน 7 รัฐที่มีคลินิคทำแท้งเพียงแห่งเดียวในรัฐ จากนโยบายจำกัดการทำแท้งโดยรัฐเองก็ยิ่งทำให้ผู้หญิงเข้าถึงคลินิคนี้ยากขึ้น เช่นการกำหนดให้ต้องได้รับคำปรึกษาจากรัฐโดยตรงก่อนและต้องรอเป็นเวลา 24 ชั่วโมง สวัสดิการสุขภาพของรัฐนี้ก็ครอบคลุมแค่การทำแท้งเมื่อชีวิตของผู้หญิงอยู่ในอันตรายเท่านั้น ทั้งนี้ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายทำแท้งที่แพงขึ้นด้วย

รัฐเคนทักกียังพยายามดำเนินคดีกับคลินิคทำแท้งแห่งนี้จนอาจจะทำให้เคนทักกีกลายเป็นรัฐเดียวในสหรัฐฯ ที่ไม่มีคลินิคทำแท้ง ทำให้ผู้หญิงหาทางทำแท้งอย่างปลอดภัยได้ยากลำบากมากขึ้น

ไม่เพียงแค่การกดดันจากรัฐเท่านั้น พวกเขายังต้องเผชิญการกดดันจากผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะมีการตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาใกล้ๆ กับคลินิคพวกเขาที่เน้นล่อลวงให้ผู้หญิงไม่ทำแท้ง และหลอกให้สับสนว่าเป็นศูนย์เดียวกับอีเอ็มดับเบิลยู ขณะเดียวกันก็มีผู้ปักหลักประท้วงหน้าคลินิคทุกวัน มีผู้ประท้วงบางคนเคยใช้ความรุนแรงอย่างการฉุกกระชากคนดูแลความปลอดภัย บางครั้งก็ปิดกั้นทางเข้าคลินิคจนทำให้ผู้ก่อเหตุถูกจับกุม

ผู้ดูแลเหล่านี้ถูกฝึกได้ขออนุญาตผู้มารับบริการก่อนว่าจะให้นำทางและดูแลพวกเขาหรือไม่ และคอยให้การสนับสนุนทางความรู้สึก เด็บบี้ หนึ่งในอาสาสมัครอายุ 53 ปี บอกว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับเธอคือ การทำให้ผู้เข้ารับบริการรู้สึกว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยู่ภายนอกที่นี่ต่อต้านเธอ 

อาสาสมัครเหล่านี้ยังมีการฝึกฝนทุก 3 เดือน ด้วยการเล่นจำลองบทบาทการเป็นอาสาสมัครผู้ดูแล ผู้รับบริการ และผู้ประท้วง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น เมื่อผู้ประท้วงพยายามสกัดกั้นอาสาสมัครผู้ดูแลพวกเขาต้องเคลื่อนตัวให้เร็วที่สุดเพื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้รับบริการ

แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญปัญหาใหม่เมื่อพวกผู้ประท้วงการทำแท้งเริ่มทำตัวระรานคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพวกเขารู้สึกมีอำนาจในยุคสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี มีคนต่อต้านการทำแท้งจากทีอื่นมาร่วมชุมนุมด้วยมากขึ้นและสร้างความโกลาหลมากขึ้นจนศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ต้องจัด "เขตกันชน" เพื่อไม่ให้ผู้ประท้วงไปออกันอยู่ที่หน้าคลินิค

ในรายงานของ Yes! ยังระบุถึงการที่ปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทำแท้งได้กลายเป็นอุปสรรคในชีวิตของคนยากจน สถาบันกุตต์มาเคอร์รายงานในปี 2559 ระบุว่าอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้ามีสูงในกลุ่มคนจนและคนที่เป็นชนกลุ่มน้อย และในรัฐเคนทักกีเองก็จัดว่าเป็นรัฐที่มีคนยากจนมากที่สุดในสหรัฐฯ ยังไม่นับว่ามีผู้หญิงต้องการเข้าถึงการคุมกำเนิดมากกว่า 10,000 คน ในรัฐนี้จากการสำรวจของโครงการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์อย่างไม่ได้มีการวางแผนขอสหรัฐฯ

ถึงแม้ว่าทางเครือข่ายเพื่อความยุติธรรมทางสุขภาวะแห่งเคนทักกีจะช่วยเหลือผู้หญิงรายได้น้อยทั้งจากค่าทำแท้งส่วนหนึ่งและค่าเดินทางไปคลินิค เนื่องจากมีคลินิคอยู่แห่งเดียวในรัฐบางคนจึงต้องเดินทางไกล 6 ชั่วโมงเพื่อไปถึง แต่ทว่าการที่ผู้ว่าการรัฐคนปัจจุบันของเคนทักกีผู้มีแนวคิดต่อต้านการทำแท้งอย่างชัดเจนกล่าวหาว่าสถานพยาบาลแห่งนี้ขาดคุณสมบัติของการเป็นสถานพยาบาลและกำลังมีการไต่สวนข้อกล่าวหานี้ในชั้นศาล ก็เป็นไปได้ว่าถ้าศาลตัดสินเข้าข้างผู้ว่าการรัฐ ชาวเคนทักกีก็อาจจะไม่เหลือแหล่งทำแท้งปลอดภัยและจะเหลือแต่การทำแท้งแบบตามมีตามเกิดแทน

 

เรียบเรียงจาก

The Volunteers Protecting Kentucky’s Last Abortion Clinic, Yes! Magazine, 05-09-2017

http://www.yesmagazine.org/people-power/the-volunteers-protecting-kentuckys-last-abortion-clinic-20170905

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net