Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านทราบโดยบังเอิญ บริษัทยื่นอีไอเอของโครงการโรงไฟฟ้าที่จะป้อนไฟฟ้าให้เหมืองโปรแตช รอบ2 หลังสผ.สั่งแก้ ชาวบ้านจึงยื่นเรื่องคัดค้าน ระบุไม่เห็นการทำอีไอเอ-รับฟังความเห็นใหม่ในพื้นที่ พร้อมเสนอ สผ.ปรับระบบแจ้งให้ชาวบ้านทราบด้วยจะได้เสนอข้อมูลโต้แย้ง ผู้ชำนาญการพิจารณาสรุปมีมติไม่เห็นชอบ

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ชาวบ้านจาก อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จำนวน 30 คน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการรับรายงานอีไอเอโรงไฟฟ้าถ่านหินบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เนื่องจากการจัดส่งรายงานฉบับดังกล่าวไม่เป็นไปตามมติของ คชก. ที่ให้กลับไปเริ่มกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใหม่ทั้งหมดก่อนนำกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณารายงานของ คชก. อีกครั้ง แต่ในพื้นที่กลับไม่มีการจัดทำอีไอเอที่ชัดเจน อีกทั้งไม่เกิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจภายในพื้นที่อีกด้วย

ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นของบริษัทอาเซียนโปแตช ชัยภูมิ จำกัด(มหาชน) และจัดทำรายงานอีไอเอโดยบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่งแอนด์แมเนจเมนท์ จำกัด โดยทางบริษัทได้เสนอรายงานอีไอเอต่อ สผ. เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 และ คชก.มีมติไม่เห็นชอบรายงานเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2559 โดยต้องทำการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ คชก. กำหนด โรงไฟฟ้าดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในเหมืองแร่โพแทชซึ่งผ่านการประทานบัตรเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการขุดเจาะ สำรวจ และปรับหน้าดิน

การยื่นหนังสือคัดค้านในครั้งนี้มี สุโข อุบลทิพย์ ผู้อำนวยการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ รุ่งอรุณ ญาติบรรทุง ผู้อำนวยการกลุ่มงานพลังงาน สผ. เป็นผู้รับหนังสือคัดค้าน พร้อมตอบข้อสงสัยและชี้แจงประเด็นที่ชาวบ้านกังวลว่า ทำไม สผ.ถึงรับรายงานฉบับใหม่จากบริษัทดังกล่าวและส่งให้ คชก.พิจารณาในวันนี้

ผอ.กลุ่มงานพลังงาน ชี้แจงว่า ทาง สผ. ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ของ คชก. มีหน้าที่ต้องนำส่งรายงานต่อคณะกรรมการเท่านั้น และเป็นหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิที่จะไปตัดสิทธิหรือไม่ส่งรายงานต่อคณะกรรมการได้ ในส่วนของมติไม่เห็นชอบของกรรมการในรอบที่ผ่านมานั้น ทางกรรมการมองว่าสามารถนำข้อมูลในการจัดทำรายงานครั้งแรกมาใช้ได้ และต้องพิจารณาในประเด็นที่กรรมการไม่เห็นชอบในครั้งแรกมาปรับปรุงและแก้ไข ซึ่งในส่วนนี้กรรมการจะพิจารณาและใช้ดุลยพินิจเองว่าข้อมูลในอีไอเอรอบใหม่ใช้ได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายมีการประชุมของคชก. โดยตัวแทนชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าไปแสดงความคิดเห็นและมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อ คชก. คือ 1.ให้กลับไปแก้ไขรายงานอีไอเอใหม่ทั้งหมด 2 ในพื้นที่ไม่มีการทำเวทีรับฟังความคิดเห็น ค1 และ ค2 ใหม่ ถ้ามีการนำข้อมูลจากครั้งก่อนมาใช้เกรงว่าจะเก่าเกินไป รวมถึงกังวลว่าจะมีการแอบอ้างนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาใช้ 3.ในเมื่อไม่มีการจัดทำอีไอเอใหม่ทั้งหมด ทำไม คชก. จึงรับพิจารณารายงานฉบับนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการประชุม คชก. มีมติไม่เห็นชอบต่อรายงานอีไอเอฉบับดังกล่าว

สุภาภรณ์ มาลัยลอย นักกฎหมายมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ให้ความคิดเห็นต่อกรณีนี้ว่า กระบวนการพิจารณาอีไอเอนั้นมีปัญหาความไม่ชัดเจน เมื่อ คชก. มีมติไม่เห็นชอบต่อรายงานอีไอเอ แต่มีข้อคิดเห็นให้ปรับปรุงและสามารถส่งกลับมาให้พิจารณาใหม่ได้วนซ้ำไปไม่สิ้นสุด ถ้าหากโครงการนั้นไม่เหมาะสมกับพื้นที่จะเป็นอย่างไร ตัวอย่างจากวันนี้ที่ชาวบ้านมายื่นหนังสือเพราะบังเอิญได้เข้ามาเอาเอกสารจึงรู้ว่ามีการส่งอีไอเอเข้ามาพิจารณารอบที่ 2 อีกครั้งและจะมีการพิจารณาลงมติในวันนี้ (20 เม.ย.) โดยที่ทางชาวบ้านไม่รับรู้มาก่อนว่ามีการยื่นอีกรอบ อีกทั้งในชุมชนก็ไม่เห็นว่ามีการจัดกระบวนการเกี่ยวกับอีไอเอเลย หากชาวบ้านไม่มาในวันนี้ คชก.ก็จะพิจารณาเอกสารที่ส่งเข้ามาเพียงอย่างเดียว จึงอยากรู้ว่าในเชิงระบบแล้ว คชก. และ สผ. จะมีการปรับกระบวนการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

“กลไกระบบการพิจารณาอีไอเอไม่ใช่แค่เรื่องของ สผ.  คชก. บริษัทเจ้าของโครงการ และบริษัทที่ปรึกษา แต่เป็นเรื่องของชาวบ้านและชุมชนด้วย ในส่วนนี้ สผ.ในฐานะเลขาจะทำอย่างไรในการรับเรื่อง ทำอย่างไรที่จะเพิ่มกลไกว่ามีการยื่นเอกสารอีไอเอเข้ามาแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านและชุมชนได้ร่วมตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาหลายพื้นที่ใช้การโทรตามทุกอาทิตย์ว่ามีเอกสารเข้ามาไหม หรือสังเกตจากกิจกรรมในพื้นที่ที่เกิดขึ้น แต่ในทางปฏิบัติเมื่อ คชก. อ่านและพิจารณาเอกสาร จะมีข้อคำถามเกิดขึ้น บริษัทที่ปรึกษามีสิทธิเข้าชี้แจง ขณะที่ชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสียกลับไม่รู้กระบวนการ คชก.ควรเน้นย้ำไม่ใช่แค่แก้ไขในเล่มรายงานและตามข้อคิดเห็นเท่านั้น แต่ต้องสร้างกลไกการรับรู้และเข้าใจในระดับพื้นที่ด้วย เพราะมันเกี่ยวข้องกับชีวิต สุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชน” สุภาภรณ์กล่าว

สุวรรณี ศรีสูงเนิน ชาวบ้าน อ.บำเหน็จณรงค์ กล่าวว่า การคัดค้านในครั้งนี้สืบเนื่องจากในครั้งแรก คชก.มีมติไม่เห็นชอบ และทางชาวบ้านได้ยินข่าวว่าทางบริษัทยื่นเรื่องเข้ามาใหม่ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการจัดทำอีไอเอในพื้นที่ตามมติที่ คชก. แจ้งไว้ในครั้งแรก จึงเป็นกังวลต่อกรณีดังกล่าว

“อยากให้ คชก.เห็นใจและเข้าใจชาวบ้านเพราะสถานที่ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ ไม่เหมาะกับการก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้น ตอนนี้มีผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตชที่ได้ประทานบัตรแล้ว มีการเริ่มขุดเจาะ สำรวจ ทำให้ตอนนี้มีปัญหาดินเค็ม ปลูกของกินไม่ได้เลย ส่วนเรื่องแหล่งน้ำจากที่เคยแย่งกันใช้อยู่แล้ว ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกจะเป็นอย่างไร ต้องเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำกันอย่างแน่นอน ถ้ามติ คชก.ผ่าน ชาวบ้านคงต้องทำเรื่องส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะเป็นชุมชนเกษตรกร ทั้ง 95 หมู่บ้านต้องได้รับผลกระทบ จึงอยากขอความเห็นใจจากทุกฝ่ายด้วย ชาวบ้านทุกคนไม่เอาถ่านหิน ไม่อยากได้รับผลกระทบเหมือนที่แม่เมาะ อยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” สุวรรณี กล่าว

สุโข อุบลทิพย์ ผอ.สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สผ.อธิบายเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการพิจารณาอีไอเอ ตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535  ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 46-51 โดยมี สผ. เป็นเลขาฯ มีหน้าที่ต้องส่งรายงานต่อ คชก. เพราะเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย หากไม่ส่งจะผิดทั้งวินัยและทางกฎหมาย โดยจะเริ่มต้นจากการประกาศประเภทและขนาดของโครงการ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบำเหน็จณรงค์ มีขนาด 56 เมะวัตต์ ขนาดถึงกำหนดที่ต้องจัดทำอีไอเอ และต้องจัดทำโดยบริษัทที่ได้รับอนุญาต เมื่อบริษัทว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำรายงานเรียบร้อยแล้ว จะส่งเป็นรูปเล่มรายงานมาที่ สผ. โดยเริ่มนับหนึ่งจากวันที่รับและพิจารณาใน 30 วัน เพื่อตรวจสอบรายละเอียดเบื้องต้น และส่งต่อให้ คชก.พิจารณา ใน 45 วัน ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายใน 45 วัน ถือว่าให้ความเห็นชอบรายงานนี้ ซึ่งใน  45 วันนี้ หาก คชก. มีมติเห็นชอบจะแจ้งให้หน่วยงานที่มีหน้าที่อนุญาตทราบและแจ้งเจ้าของโครงการเพื่อดำเนินการต่อไป กรณีมีมติไม่เห็นชอบจะแจ้งเหตุผลที่ไม่เห็นชอบเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข และผู้จัดทำโครงการสามารถแก้ไขและส่งกลับมาที่ สผ. ได้อีกครั้ง แต่ครั้งที่สองนี้ต้องดำเนินการส่งให้ สผ. ภายใน 30 วัน และส่งต่อให้ คชก. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้าเห็นชอบจะแจ้งหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุญาตทราบและแจ้งเจ้าของโครงการเพื่อดำเนินการต่อไป กรณีไม่เห็นชอบถือว่าจบกระบวนการและต้องเริ่มต้นใหม่เช่นเดียวกับกรณีวันนี้

“เจ้าของโครงการควรมีเล่มรายงานอีไอเอฉบับสมบูรณ์ที่ส่งให้ คชก. พิจารณาไว้ให้ชาวบ้านอ่านด้วย เพราะทุกคนจะได้อ่านและสามารถส่งความเห็นมาให้ สผ.และคชก. เป็นหน้าที่โครงการที่ต้องให้ และถือเป็นประโยชน์ต่อโครงการอีกทางหนึ่งเพราะจะได้มีคนช่วยกันตรวจสอบโครงการ” สุโขกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net