Skip to main content
sharethis

ประชาไทโดยมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา จัดงานมอบรางวัลและฉายคลิปวิดีโอ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน" เล่าเรื่องสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายในสังคม จากท้องทุ่งถึงฝั่งน้ำเจ้าพระยา ชีวิตเด็กช่างถึงนักศึกษาที่ถูกขังไม่ได้ประกันตัว สิทธิในโลกไซเบอร์ถึงประวัติศาสตร์สามัญชน ผลงานทั้งหมดเตรียมนำเสนอผ่านเว็บไซต์ประชาไทเร็วๆ นี้

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิธีกรของงาน สัมภาษณ์และสนทนากับ ตาล วรรณกูล ผู้ผลิตผลงานวิดีโอ "ทางเลือกของชาวนา" และ ปิยมาส วงศ์พลาดิสัย ผู้ผลิตผลงานวิดีโอ   "เข้า ใจ ผิด" 

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารประชาไท กล่าวแนะนำโครงการ  "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน"

โดนิกา พ็อทธี (Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานและมอบประกาศนียบัตรและของที่ระลึกให้กับเจ้าของผลงานวิดีโอในโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน"

โดนิกา พ็อทธี (Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย มอบเกียรติบัตรและของที่ระลึก พร้อมถ่ายรูปร่วมกับเจ้าของผลงานวิดีโอในโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน"

ตัวอย่างผลงานวิดีโอจากโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน" โดยเตรียมเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไทเร็วๆ นี้

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 ประชาไทโดยมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย จัดงานมอบรางวัลและฉายคลิปวิดีโอจากโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน" โดยจัดที่โรงภาพยนตร์เอสพลานาด รัชดา ชั้น 3

สำหรับคลิปวิดีโอในโครงการ ซึ่งเป็นผลงานของเยาวชนและผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายในสังคม ซึ่งฉายในวันดังกล่าวประกอบด้วย 1) แปลไทยเป็นไทย ผลงานโดย รัชพงศ์ โอชาพงศ์ 2) สี่เสืออีสาน ผลงานโดย กฤติกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ 3) ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก ผลงานโดย จามร ศรเพชรนรินทร์ 4) เข้า ใจ ผิด ผลงานโดย ปิยมาส วงศ์พลาดิสัย 5) วันท้าอำนาจ ผลงานโดย ณัฐนนท์ ราตรี 6) ประชาธิปไตยบนอินเทอร์เน็ต ผลงานโดย คิริเมขล์ บุญรมย์ 7) บนแม่น้ำ ผลงานโดย ชัยภัทร แก้วจรัส 8) 15 ปีอุดรธานี ไม่เอาเหมือง ผลงานโดย มิ่งขวัญ ถือเหมาะ และ 9) ทางเลือกของชาวนา ผลงานโดย ตาล วรรณกูล

โดยในงานชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารประชาไทเป็นผู้กล่าวแนะนำโครงการ และโดนิกา พ็อทธี (Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย เป็นผู้กล่าวเปิดงาน พร้อมกันนี้เอกอัครราชทูตแคนาดายังเป็นผู้มอบประกาศนียบัตรและของที่ระลึกให้กับผู้ผลิตผลงานวิดีโอที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งมอบรางวัลชนะเลิศให้กับ ปิยมาส วงศ์พลาดิสัย จากผลงาน "เข้า ใจ ผิด" และ จามร ศรเพชรนรินทร์ จากผลงาน "ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก"

จามร ศรเพชรนรินทร์ ผู้ผลิตงานวิดีโอ "ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก" รับรางวัลชนะเลิศจาก โดนิกา พ็อทธี (Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย นอกจากนี้ "ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก" ยังได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน จากการโหวตของผู้ชมวิดีโอ อีก 1 รางวัล

ปิยมาส วงศ์พลาดิสัย ผู้ผลิตผลงานวิดีโอ "เข้า ใจ ผิด" รับรางวัลชนะเลิศจาก โดนิกา พ็อทธี (Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย

"ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก" ผลงานของ "จามร ศรเพชรนรินทร์" เป็นเรื่องราวทำความรู้จักจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" เจ้าของคำพูดที่ว่า "เราปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นในสังคมได้ สักวันหนึ่งมันก็เกิดขึ้นกับคุณ" ทั้งนี้ไผ่ ผู้เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ถูกจองจำมากว่า 60 วันแล้ว หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีฐานความผิดมาตรา 112 "ไผ่ ดาวดิน" เป็นใคร ทำอะไรมาก่อน ลองฟังเองจากเสียงของเขาและครอบครัวผ่านวิดีโอคลิปเรื่องนี้

"เข้า ใจ ผิด" ผลงานของ "ปิยมาส วงศ์พลาดิสัย" ชวนลบภาพจำของ "เด็กช่างกล" แล้วทำความรู้จักพวกเขาใหม่ผ่านงานชิ้นนี้ที่ผสมผสานการนำเสนอในรูปแบบการทดลองทางสังคม (social experiment) และเรื่องเล่าชีวิตของเด็กช่างสามคนอย่าง ทีน อาร์ต และเอฟ เข้าด้วยกัน

"ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก" ได้รางวัลขวัญใจมหาชนอีก 1 รางวัล เฉือนกับเรื่อง "สี่เสืออีสาน" อย่างเฉียดฉิว

และภายหลังจากที่ผู้ชมได้ร่วมชมคลิปวิดีโอจากโครงการแล้ว ได้ร่วมกันให้คะแนนเรื่องที่ชื่นชอบที่สุด ผลปรากฏว่า "ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก" ยังได้รับรางวัลขวัญใจมหาชนไปครองอีก 1 รางวัล เฉือนเอาชนะ "สี่เสืออีสาน" ผลงานของ กฤติกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ ไปอย่างเฉียดฉิว

สำหรับ "สี่เสืออีสาน" ผลงานของ กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ เริ่มต้นสร้างผลงานจากความคิดที่ว่า "เรื่องเก่าถ้าไม่เล่าก็จะลืม" โดยเป็นรูปแบบทบทวนประวัติศาสตร์ภาคพลเมืองที่ไม่เคยอยู่ในตำราวิชาสังคม บอกเล่าเรื่องราวชีวิตแบบย่นย่อในเวลา 7 นาทีจบของ 4 นักการเมืองอีสานประกอบด้วยทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และเตียง ศิริขันธ์ 

โดยภายหลังงานมอบรางวัลและฉายคลิปวิดีโอจากโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน" ผลงานวิดีโอทั้งหมดจะได้รับการนำเสนอออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ประชาไทต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net