Skip to main content
sharethis

20 ก.ย. 2559 องค์กรภาคประชาชนเครือข่ายวางแผนการจัดการลุ่มน้ำห้วยหลวง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน 12 กลุ่ม ร่วมออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทบทวนการขุดเจาะสำรวจก๊าซ เพื่อรักษาระบบนิเวศลุ่มน้ำห้วยหลวง โดยมีข้อเรียกร้อง 2 ประเด็นต่อกระบวนการขออนุญาตขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ อาทิ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก แปลงสำรวจ L15/43 จำนวน 2 หลุม คือ NPH-B บ้านนาแค เทศบาลตำบลยางชุม อ.กุดจับ และ NPH-C บ้านหนองโอน ตำบลเชียงพิณ อำเภอเมือง ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ได้แก่ ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการอย่างครบถ้วนและรอบด้านก่อนการดำเนินโครงการขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ และขอให้เปิดพื้นที่การรับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการแก่ประชาชนอย่างจริงใจและเปิดเผย

 

แถลงการณ์
องค์กรภาคประชาชนเครือข่ายวางแผนการจัดการลุ่มน้ำห้วยหลวง
“ทบทวนการขุดเจาะสำรวจก๊าซ รักษาระบบนิเวศลุ่มน้ำห้วยหลวง”


จากสถานการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก แปลงสำรวจ L15/43 จำนวน 2 หลุม คือ NPH-B บ้านนาแค เทศบาลตำบลยางชุม อ.กุดจับ และ NPH-C บ้านหนองโอน ตำบลเชียงพิณ อำเภอเมือง ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ในช่วงที่ผ่านมา

กลุ่ม/องค์กรท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ มีความเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวข้างต้นเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญและมีความอ่อนไหวต่อระบบนิเวศวิทยาอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ระบบนิเวศที่สำคัญ คือ “ลุ่มน้ำห้วยหลวง” ซึ่งมีขนาดของลุ่มน้ำประมาณ 3,427 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 5.99 ของพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาทั้งหมดของลุ่มน้ำโขง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุมจังหวัดอุดรธานีเกือบทั้งจังหวัด คิดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม กว่าร้อยละ 67 ของพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด อาทิ พื้นที่การปลูกข้าว ร้อยละ 38, พื้นที่ปลูกพืชไร่ (อ้อย, มันสำปะหลัง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ร้อยละ 26, รวมไปถึงการอุปโภคบริโภคต่างๆ ของชุมลุ่มน้ำห้วยหลวง จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ลุ่มน้ำห้วยหลวง มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิต ระบบนิเวศทรัพยากร พืชและสัตว์ ได้อาศัยและเกื้อกูลตลอดมา

โดยพื้นที่บ้านนาแค เทศบาลตำบลยางชุม อ.กุดจับ และ บ้านหนองโอน ตำบลเชียงพิณ อำเภอเมือง เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในเขต “ลุ่มน้ำห้วยหลวง” และเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญ หากจะมีการดำเนินการใดๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะเกิดผลกระทบขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งต่อ แหล่งน้ำ สภาพอากาศ หรือวิถีชีวิตผู้คน

จากข้อมูลที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ที่มีกระบวนการขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ พบว่า การเข้าขุดเจาะสำรวจบริเวณบ้านนาคำน้อย ต.หนองใหญ่ อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ทำให้พืชผลทางการเกษตรเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก และในอีกหลายๆ พื้นที่ เช่น บ้านคำไผ่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์, ต.โนนสะอาด อ.หนองแสง จ.อุดรธานี, บ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ทำให้เชื่อได้ว่า หากมีการดำเนินโครงการต่อไปจะเกิดผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอย่างแน่นอน นอกเหนือจากความกังวลที่กล่าวมา การใช้สารเคมี และการระเบิดขุดเจาะก๊าซอาจจะส่งกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดิน ที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาเป็นแหล่งอุปโภคบริโภค อีกทั้งความเจ็บไข้ที่จะเกิดจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ “ก๊าซไข่เน่า” หากมีความเข้มข้นสูงจะก่อให้เกิดอาการไม่รู้สึกตัวและถึงแก่ชีวิตได้ แต่หากมีปริมาณความเข้มข้นต่ำจะก่อให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ และระคายเคืองตา ก่ออาการตาแดง สิ่งเหล่านี้คือความกังวลจากกระบวนการขุดเจาะสำรวจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้ง กระบวนการก่อนเข้าดำเนินการขุดเจาะ ในการสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชน กลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง มีเพียงการผลักดันเวทีรับฟังความคิดเห็นและรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งรีบ ไม่ได้เกิดการศึกษา พูดคุย และทำความเข้าใจร่วมกันถึงผลกระทบต่อเนื่องอย่างแท้จริง

พวกเราในนามกลุ่ม/องค์กร ท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงมีข้อเรียกร้อง ต่อกระบวนการขออนุญาตขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ อาทิ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก แปลงสำรวจ L15/43 จำนวน 2 หลุม คือ NPH-B บ้านนาแค เทศบาลตำบลยางชุม อ.กุดจับ และ NPH-C บ้านหนองโอน ตำบลเชียงพิณ อำเภอเมือง ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ดังต่อไปนี้

1.ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการอย่างครบถ้วนและรอบด้านก่อนการดำเนินโครงการขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ

2.ขอให้เปิดพื้นที่การรับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการแก่ประชาชนอย่างจริงใจและเปิดเผย

ท้ายสุดนี้ พวกเราหวังว่า ประชาชนจะมีสิทธิและการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินโครงการอย่างแท้จริง อันจะนำมาซึ่งการรักษาระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป

ด้วยความเคารพในมนุษย์และธรรมชาติ
20 กันยายน 2559

รายชื่อกลุ่ม/องค์กรแนบท้ายแถลงการณ์
- กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
- กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้า จ.อุดรธานี
- กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
- กลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศอ่างน้ำพาน
- กลุ่มไม่เอาโรงไฟฟ้า ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
- กลุ่มอนุรักษ์หนองแด
- กลุ่มเพื่อประชาชนกุดจับ
- กลุ่มชาวนาบล็อกน้อย (อ่างน้ำพาน)
- กลุ่มรักษ์นาแอง-ศรีชมชื่น
- กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
- กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านไทสวรรค์ ต.สร้างคอม อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี
- กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net