Skip to main content
sharethis

14 ก.ย. 2559 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 8/2559 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 ที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปพิจารณาศึกษาสูตรคำนวณใหม่ เพื่อเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลในการพิจารณารวมกว่า 10 รายกาย ได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ  ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย คาดว่าจะสามารถสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ได้ราวปลายเดือนตุลาคมนี้ ส่วนข้อเรียกร้อง 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศนั้น จะต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตามความเป็นจริงด้วย เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 มกราคม 2560

อรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า จากการพิจารณาข้อมูลของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองที่ส่งมาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ที่มีทั้งปรับและไม่ปรับอัตราค่าจ้าง โดยส่วนที่ปรับจะมาดูว่าคำนวณถูกหรือไม่ตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ โดยที่ประชุมมีมติส่งเรื่องไปให้อนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ไปศึกษาสูตรคำนวณใหม่ คาดว่าจะมีผลการพิจารณาของอนุเฉพาะกิจในช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีการพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง เน้นเรื่องผลิตภาพแรงงาน ส่วนจะขึ้นรูปแบบไหนต้องรอการพิจารณาแบบไตรภาคี ว่าจะคงอัตราเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศบังคับใช้อัตราค่าจ้าง ผู้ประกอบการที่ต้องเตรียมพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉลี่ยใช้เวลา 60 วัน

ด้าน สมบัติ น้อยหว้า กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวเพิ่มเติมพร้อมยืนยันว่า บอร์ดค่าจ้างไม่ได้ประวิงเวลาการปรับค่าจ้าง แต่ประสงค์ให้นำข้อมูลที่มีไปพิจารณา เพื่อให้สองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ หากปรับตามที่เสนอมาสูงสุดกว่า 60 บาท ต้องดูตามสภาพความเป็นจริง และกำลังจ่ายของนายจ้างด้วยเกรงว่าสถานประกอบการอยู่ไม่ได้ จึงไม่ควรให้ยึดติดว่าจะต้องอยู่ในรูปแบบใด และเชื่อว่าในปี 2560 จะมีการปรับค่าจ้างแน่นอน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net